ความสัมพันธ์กับมนุษย์ ของ ปลา

สัญลักษณ์แทนราศีมีน ซึ่งเป็น 1 ใน 12 จักรราศีทางโหราศาสตร์ที่เป็นรูปหางปลาคู่ผูกเข้าด้วยกัน

ปลาเป็นสัตว์ที่มีความสัมพันธ์กับมนุษย์มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ด้วยใช้เนื้อเป็นอาหารหลัก มีหลักฐานทางโบราณคดีต่าง ๆ มากมาย ที่แสดงให้เห็นว่ามนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์มีการจับหรือล่าปลาเป็นอาหาร เช่น อุทยานแห่งชาติผาแต้ม ในจังหวัดอุบลราชธานี ของประเทศไทย มีภาพเขียนสีที่เป็นรูปปลาบึก[1][2]

เนื้อปลายังถือได้ว่าเป็นโปรตีนที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์ ด้วยอุดมไปด้วยสารอาหารอย่างครบถ้วน เช่น เกลือแร่, แคลเซียม, ฟอสฟอรัส และวิตามินชนิดต่าง ๆ ทั้ง วิตามินดี, วิตามินเอ เป็นต้น อีกทั้งไขมันในเนื้อปลายังถือว่าเป็นไขมันที่ไม่ก่อให้เกิดเป็นโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด เพราะเป็นกรดไขมันประเภท โอเมกา 3 ซึ่งช่วยลดคอเลสเตอรอลในเส้นเลือดได้ อีกทั้งยังถือว่าเป็นโปรตีนที่ย่อยได้ง่าย จึงเหมาะมากโดยเฉพาะกับทารกและผู้สูงอายุ[3]

ความที่ปลาผูกพันกับมนุษย์มานาน จนเกิดเป็นประเพณีและความเชื่อในวัฒนธรรมของชนชาติต่าง ๆ อาทิ ชาวอีสานหรือชาวลาวก่อนจะทำการล่าปลาบึกจะมีการทำพิธีบวงสรวงต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์[1] หรือเป็นปกรณัมต่าง ๆ เช่น พระวิษณุที่อวตารเป็นปลากรายทองเพื่อทำการปราบทุกข์เข็ญ ในความเชื่อของชาวญี่ปุ่นนั้น เชื่อว่าปรากฏการณ์แผ่นดินไหวเกิดขึ้นเพราะมีปลาใหญ่ที่หนุนโลกอยู่ขยับตัว คือ ปลาดุกขนาดใหญ่ ชื่อ นะมะสุ (鯰) เคลื่อนตัว เป็นต้น[4][5]

นอกจากนี้แล้ว ในทางการศึกษา ศาสตร์ที่เกี่ยวกับปลาโดยเฉพาะ จะเรียกว่า มีนวิทยา และเรียกนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาศาสตร์ประเภทนี้ว่า นักมีนวิทยา

ปลายังถือได้ว่าเป็นสัตว์เลี้ยงที่ถูกเพาะเลี้ยงเป็นสัตว์เศรษฐกิจมาอย่างยาวนานแล้ว ตั้งแต่ยุคสุเมเรียน คือ ปลาไนที่เพาะเลี้ยงกันในบ่อ และยังมีการเลี้ยงเพื่อความเพลิดเพลินใจด้วย ได้แก่ ปลาสวยงามชนิดต่าง ๆ เช่น ปลากัด, ปลาทอง, ปลาปอมปาดัวร์, ปลาการ์ตูน เป็นต้น