ปลากระดี่หม้อ
ปลากระดี่หม้อ

ปลากระดี่หม้อ

ปลากระดี่หม้อ ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Trichopodus trichopterus ในวงศ์ปลากัด ปลากระดี่ (Osphronemidae) มีรูปร่างคล้ายปลากระดี่นาง (T. microlepis) ซึ่งเป็นปลาที่อยู่ในสกุลเดียวกัน แต่กระดี่หม้อมีรูปร่างป้อมกว่า ส่วนท้ายไม่เรียวเล็ก หัวเล็ก ตาเล็ก ปากเล็กอยู่ปลายสุดของจะงอยปาก ลำตัวแบนข้างเล็กน้อย ส่วนหลังยกสูงเล็กน้อย ครีบอกเล็ก ครีบท้องเป็นเส้นยาว ครีบหางเว้าตื้นปลายใน เกล็ดมีขนาดใหญ่ ตัวมีสีเทาอมสีฟ้าหรือสีคล้ำตามแนวพาดขวางหรือพาดเฉียง ตลอดลำตัวด้านข้างหลายแถบรวมถึงที่ข้างแก้มกลางลำตัวด้านข้างและโคนครีบหางมีจุดสีดำขนาดใหญ่แห่งละจุด ครีบก้นมีจุดประสีส้มหรือเหลือง ขอบครีบสีเหลือง ครีบอื่นสีใส ครีบหางใสมีสีประคล้ำ ขนาดโดยเฉลี่ยมีความยาวประมาณ 8-10 เซนติเมตร พบใหญ่สุดคือ 15 เซนติเมตรปลากระดี่หม้อเป็นปลาที่มีสีสันต่างตากหลากหลายกันออกไปตามพันธุกรรมและถิ่นที่อยู่อาศัย จึงมีหลากสีมาก เช่น ปลาที่พบในพื้นที่ภาคใต้จะมีลำตัวสีฟ้าเข้มกว่าปลาที่พบในที่อื่น นอกจากนี้ยังมีที่พบสีออกเหลืองทองหรือออกขาวนวลด้วย แต่ปลาที่พบโดยทั่วไปมักมีลำตัวออกสีน้ำตาลใสเป็นปลาที่พบได้ในแหล่งน้ำนิ่งทุกภาคของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคนี้ จัดเป็นปลาสกุล Trichopodus ที่พบชุกชุมที่สุดนิยมบริโภคในท้องถิ่น เช่นเดียวกับปลาสลิด (T. pectoralis) และปลากระดี่นาง นอกจากนี้ยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามอีกด้วย มีชื่อเรียกในภาษาอีสานว่า "กระเดิด" หรือ "เดิด" ภาษาเหนือเรียก "สลาก" หรือ "สลาง" ชื่อในภาษาอังกฤษเรียกว่า "กระดี่สามจุด" (Three spot gourami) หมายถึง จุดดำสองจุดใหญ่ตามลำตัวและนับลูกตาด้วย ชื่อที่นิยมเรียกกันในแวดวงปลาสวยงามคือ "กระดี่นางฟ้า"[2]