ปลาเลียหินกัมพูชา
ปลาเลียหินกัมพูชา

ปลาเลียหินกัมพูชา

ปลาเลียหินกัมพูชา หรือ ปลามูดกัมพูชา หรือ ปลาเลียหินแม่น้ำโขง (อังกฤษ: Cambodian logsucker, Stone-lapping fish, Stonelapping minnow, False Siamese algae eater; ชื่อวิทยาศาสตร์: Garra cambodgiensis) เป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็กชนิดหนึ่ง เป็นปลาเลียหินชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae)มีลำตัวเรียวยาวเคลื่อนไหวได้รวดเร็ว อาศัยอยู่ตามบริเวณพื้นที่เป็นกรวดและหิน มีหนวดที่ปลายจะงอยปากหนึ่งคู่ ลำตัวด้านหลังเป็นสีเขียว เกล็ดมีสีขาวเงินสะท้อนแสง มีแถบสีดำพาดตามตัวจากหลังช่องเหงือกถึงโคนหาง ลำตัวด้านล่างเป็นสีขาว ครีบหลังมีขอบสีดำจาง ๆ ขอบครีบหางมีแถบสีดำจาง ๆ และมีเส้นสีดำตอนกลางครีบมีขนาดความยาวเต็มที่ประมาณ 11 เซนติเมตร พบตามแหล่งน้ำที่เป็นลำธารต้นน้ำและน้ำตกของลุ่มน้ำโขง หากินโดยดูดตะไคร่น้ำ, แพลงก์ตอน และแมลงน้ำเป็นอาหาร พบกระจายพันธุ์ตั้งแต่มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ลงมาถึงประเทศไทย นอกจากนี้ยังพบกระจายอยู่ในระบบแม่น้ำเจ้าพระยารวมถึงภาคใต้ในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช[2] แต่พบมากที่สุดในลุ่มน้ำน่านในเขตอำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน โดยเฉพาะในแม่น้ำว้าและแม่น้ำมาง โดยมีชื่อเรียกในภาษาถิ่นว่า "ปลาขึ้นนา" จากพฤติกรรมที่เมื่อวางไข่ขยายพันธุ์จะอพยพกันจากลำธารลงไปวางไข่กันในทุ่งนา จึงมักถูกจับมารับประทานบ่อย ๆ ด้วยเป็นปลาขนาดเล็กจึงสามารถบริโภคได้ทั้งตัว มีราคาซื้อขายสูงถึงกิโลกรัมละ 200 บาท ปัจจุบันภาควิชาการประมง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน สามารถเพาะขยายพันธุ์ได้แล้ว [3]นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม แม้จะเป็นปลาที่มีสีสันไม่สวยงาม แต่ก็มักเลี้ยงไว้กินตะไคร่และเศษอาหารที่ปลาอื่นกินเหลือ เพื่อทำความสะอาดตู้[4][5] รวมถึงยังนำไปในกิจการฟิชสปาหรือสปาปลาแทนที่ปลาเลียหินชนิด G. rufa ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศได้อีกด้วย[6]