บันทึกและข้อสันนิษฐาน ของ ปลาแรด

ดร.ฮิวจ์ แมคคอร์มิค สมิธ นักมีนวิทยาชาวอเมริกัน ผู้ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมรักษาสัตว์น้ำ (กรมประมงในปัจจุบัน) ได้บันทึกไว้ในหนังสือชื่อ "The Fresh-Water Fishes of Siam, or Thailand" ที่ตีพิมพ์โดยสถาบันสมิธโซเนียน ในปี ค.ศ. 1945 ซึ่งนับว่าเป็นหนังสือเกี่ยวกับปลาน้ำจืดเล่มแรกของไทย โดยในหน้าที่ 451 ได้กล่าวถึงปลาแรดไว้ว่า ต้นกำเนิดของปลาแรกอยู่ที่ชวา โดยอ้างถึงการค้นพบปลาชนิดนี้ โดย แบร์นาร์ แฌร์แม็ง เดอ ลาเซแปด นักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศส ที่บันทึกไว้ในปี ค.ศ. 1802 ว่า มีการค้นพบปลาชนิดนี้ได้ทั่วไปทั้งในจีน, อินเดีย และในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ซึ่งประเทศในแถบเอเชียตะวันออก มีประวัติการค้าขายทางเรือมาอย่างยาวนาน จึงเป็นการยากที่คาดได้ว่าปลาแรดที่ถูกพบในพื้นที่อื่น ๆ นอกเหนือจากชวา, บอร์เนียว และสุมาตรานั้น จะเป็นปลาท้องถิ่นจริง ๆ หรือเป็นปลาที่ถูกนำเข้ามาจากชวา โดยเรือสินค้าตั้งแต่อดีตกาล เนื่องจากปลาแรดเป็นปลาที่สามารถฮุบอากาศได้โดยตรงได้ และทนทาน จึงสามารถเลี้ยงไว้ในถังหรือภาชนะต่าง ๆ บนเรือได้อย่างนาน ๆ จึงมีความเป็นไปได้ว่า ปลาแรดที่พบกระจายพันธุ์อยู่ในประเทศไทยอาจจะมาจากประเทศเหล่านี้ โดยเรือสินค้าตั้งแต่โบราณก็เป็นได้

นอกจากนี้แล้ว ดร.สมิธ ยังได้ให้ข้อมูลถึงแหล่งที่พบปลาแรดไว้ว่า พบได้ที่แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำตาปี โดยเฉพาะในแม่น้ำตาปีนั้นจะพบได้มากที่สุดที่บึงขุนทะเล ซึ่งเป็นแหล่งน้ำจืดลักษณะคล้ายทะเลสาบที่มีคลองสาขาเชื่อมต่อกับแม่น้ำตาปี อยู่ไม่ไกลไปจากตัวเมืองบ้านดอนเท่าไรนัก ดร.สมิธจึงทำการวิเคราะห์อย่างง่าย ๆ ผนวกกับข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในอดีต ที่บริเวณนั้นถือเป็นเมืองท่าที่สำคัญตั้งแต่โบราณ ที่ใช้ทำการค้ากับต่างชาติโดยทางเรือ ยิ่งสนับสนุนแนวความคิดที่ว่า ปลาแรดน่าจะเป็นปลาต่างถิ่นที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยมาตั้งแต่โบราณ และน่าจะมีความเป็นไปได้สูงว่า ปลาแรดคือ ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นชนิดแรกที่เข้ามายังประเทศไทยเสียด้วยซ้ำ[3]