ประวัติ ของ ปลิว_ตรีวิศวเวทย์

ปลิวเป็นคนไทยเชื้อสายจีน มีพี่น้อง 10 คน ชื่อปลิวนั้น มารดาเป็นผู้ตั้งให้ โดยตั้งจากภาษาแต้จิ๋ว ว่า ปิว แปลว่า เสือดำ พอเปลี่ยนเป็นภาษาไทยเติม "ล" เป็น "ปลิว"[2] ปลิวได้ช่วยพ่อแม่เลี้ยงหมูเลี้ยงไก่ และโรงสีข้าวที่สุพรรณบุรี แต่ด้วยเป็นคนเรียนดี อาจารย์ที่สุพรรณบุรีจึงพาเข้ามาสอบชิงทุนที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และเป็น 1 ใน 2 คนของพี่น้องที่ได้เรียนหนังสือ แต่เป็นคนแรกในพี่น้องที่ได้เรียนสูง จากนั้นสามารถสอบชิงทุนมอนบุโชได้ไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่น (ปริญญาตรี และโทด้านวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยโอซากะ)[3]

ปี 2515 ปลิวร่วมกับพี่น้องก่อตั้ง ช.การช่าง ซึ่งทำกิจการอู่ซ่อมรถที่สี่แยกบ้านแขก ขณะนั้นปลิวมีอายุเพียง 29 ปี ต่อมาเล็งเห็นโอกาสของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง จึงได้หันมารับงานอาคารและงานโยธา โดยโครงการส่วนใหญ่นั้นเป็นโครงการจากภาครัฐและกองทัพเป็นหลัก กิจการของบริษัทเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนมีงานเพิ่มขึ้นมากตามลำดับ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน จนเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2537 บริษัทได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ในปี 2558 ปลิวติดอยู่ในทำเนียบมหาเศรษฐีในอันดับที่ 50 ของไทย จากการจัดอันดับของนิตยสาร ฟอบส์ไทยแลนด์ ซึ่งครอบครองมูลค่าทรัพย์สินรวม 1.43 หมื่นล้านบาท[4]

ด้านผลงานทางวิศวกรรมศาสตร์ ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างที่มีการพัฒนาโดยนำเทคโนโลยีวิศวกรรมขั้นสูง และนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น โครงการรถไฟฟ้าใต้ดินที่ใช้เทคโนโลยีก่อสร้าง Segmental External Post-Tensioned แบบ 6 ช่องทางจราจรที่ยาวที่สุดในโลก และใช้คานคอนกรีตอัดแรงรูปกล่อง Precast Segmental Box Girder และเสารองรับ H-Column ที่ประหยัดค่าใช้จ่ายและปลอดภัย ยังสามารถก่อสร้างได้รวดเร็ว โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายที่ใช้เทคโนโลยีการขุดอุโมงค์แบบ Pipe Roof ซึ่งเป็นอุโมงค์รถไฟฟ้าลอดแม่น้ำแห่งแรกของประเทศไทย, โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนน้ำงึม 2 ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ใช้เทคโนโลยีเขื่อนหินทิ้งดาดคอนกรีต Concrete Face Rock Filled Dam และการเจาะอุโมงค์ผันน้ำด้วยวิธีเจาะระเบิดด้วยรถเจาะจัมโบ้ โครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ซึ่งเป็นฝายน้ำล้นในลาว อันประกอบด้วยฝายทดน้ำ โรงไฟฟ้า ตลอดจนช่องทางเดินเรือ ช่องทางระบายตะกอนและทางปลาผ่าน ตามมาตรฐานสากลที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น[5]

นอกจากนี้ ยังลงทุนในโครงการสัมปทานด้านต่าง ๆ หลายโครงการเช่น ระบบทางด่วน ระบบไฟฟ้าขนส่งมวลชน ระบบน้ำประปา และด้านพลังงานและโครงการพัฒนาประเทศอีกหลายโครงการ

งานด้านสังคม ปลิวเป็นบุคคลสำคัญในการดำเนินงานก่อตั้งสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น และยังเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2548 ถึง 2549 เขายังบริจาคเงินสมทบเพื่อช่วยเหลือรัฐบาลญี่ปุ่นในการฟื้นฟูความเสียหายจากแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในโทโฮกุ พ.ศ. 2554

ปลิวได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Order of the Rising Sun, Gold Rays with Neck Ribbon จากประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นคนไทยจากภาคเอกชนคนแรกที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้[6]

ด้านชีวิตส่วนตัว สมรสกับสายเกษม ตรีวิศวเวทย์ มีบุตรด้วยกัน 3 คน ได้แก่ สุภามาส ตรีวิศวเวทย์, ธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ และ ณัฐวุฒิ ตรีวิศวเวทย์