ป่าชายเลน
ป่าชายเลน

ป่าชายเลน

ป่าชายเลน คือเป็นกลุ่มสังคมพืชซึ่งขึ้นอยู่ในเขตน้ำลงต่ำสุดและน้ำขึ้นสูงสุด บริเวณชายฝั่งทะเล ปากแม่น้ำหรืออ่าว อีกความหมายหนึ่ง หมายถึง สังคมพืชที่ประกอบด้วยพันธุ์ไม้หลายชนิดหลายตระกูล และเป็นพวกที่มีใบเขียวตลอดปี (evergreen species) ซึ่งมีลักษณะทางสรีรวิทยาและความต้องการสิ่งแวดล้อมที่คล้ายกัน ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยพันธุ์ไม้สกุลโกงกาง (Rhizophora spp.) เป็นไม้สำคัญและมีไม้ตระกูลอื่นบ้างได้มีการค้นพบป่าประเภทนี้มาตั้งแต่เมื่อโคลัมบัส เดินทางมาบริเวณชายฝั่งตะวันตกของเกาะคิวบา ต่อมา เซอร์ วอลเตอร์ เรลห์ ได้พบป่าชนิดเดียวกันนี้อยู่บริเวณปากแม่น้ำในตรินิแดดและเกียนาคำว่า "mangrove" เป็นคำจากภาษาโปรตุเกสคำว่า "mangue" ซึ่งหมายถึงกลุ่มสังคมพืชที่ขึ้นอยู่ตามชายฝั่งทะเลดินเลน และใช้กันแพร่หลายในประเทศแถบลาตินอเมริกา ส่วนประเทศอื่น ๆ ก็ใช้เรียกตามภาษาของตัวเอง เช่น ประเทศมาเลเซียใช้คำว่า "manggi-manggi" ประเทศที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสเรียกป่าชายเลนว่า "mangrove" ส่วนภาษาไทยเรียกป่าชนิดนี้ว่า "ป่าชายเลน" หรือ "ป่าโกงกาง"บริเวณที่พบป่าชายเลนโดยทั่วไป คือตามชายฝั่ง ทะเล บริเวณปากน้ำ อ่าว ทะเลสาบ และเกาะ ซึ่งเป็นบริเวณที่น้ำทะเลท่วมถึงของประเทศ ในแถบภูมิภาคเขตร้อน ส่วนเขตเหนือหรือใต้เขตร้อน จะพบป่าชายเลนอยู่บ้างแต่ไม่มาก โดยพื้นที่ที่พบป่าชายเลน เช่น ในกลุ่มประเทศของภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า ไทย เป็นต้นสำหรับพื้นที่ป่าชายเลนของโลกทั้งหมดมีประมาณ 113,428,089 ไร่ อยู่ใน เขตร้อน 3 เขตใหญ่ คือ เขตร้อนแถบเอเชียพื้นที่ประมาณ 52,559,339 ไร่ หรือร้อยละ 46.4 ของป่าชายเลนทั้งหมด โดยประเทศอินโดนีเซียมีป่าชายเลนมากที่สุด ถึง 26,568,818 ไร่ สำหรับในเขตร้อนอเมริกามีพื้นที่ป่าชายเลนทั้งหมดประมาณ 39,606,250 ไร่ หรือร้อยละ 34.9 ของพื้นที่ป่าชายเลนทั้งหมด ในเขตร้อนอเมริกาประเทศที่มีพื้นที่ โดยประเทศบราซิล มีพื้นที่ป่าชายเลนประมาณ 15,625,000 ไร่ รองจากอินโดนีเซีย ส่วนเขตร้อนอัฟริกามีพื้นที่ ป่าชายเลนน้อยที่สุดประมาณ 21,262,500 ไร่ หรือร้อยละ 18.7 ของพื้นที่ป่าชายเลนทั้งหมด โดยประเทศไนจีเรีย มีพื้นที่ป่าชายเลน 6,062,500 ไร่ มากที่สุดในบริเวณนี้ โดยป่าชายเลนที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือ สุนทรพน ซึ่งเป็นปากแม่น้ำคงคาระหว่างประเทศอินเดียกับบังกลาเทศ ซึ่งมีเนื้อที่ 10,000 ตารางกิโลเมตร (3,900 ตารางไมล์)[1][2][3][4][5] ซึ่งถูกประกาศให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติโดยองค์การยูเนสโก[4]