หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ของ ผักคราดหัวแหวน

  1.  ฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่เมื่อฉีดน้ำคั้น สารสกัดน้ำ ความเข้มข้น 25% สารสกัดอัลกอฮอล์ 95% ความเข้มข้น 10% จากลำต้นพร้อมใบและดอก เข้าใต้ผิวหนังหนูตะเภา เปรียบเทียบกับ lidocaine 2% ตามจุดที่กำหนดไว้ 4 จุด ปริมาณชนิดละ 0.1 มล. ทดสอบความรู้สึกชาด้วยการใช้ไฟฟ้ากระตุ้น บันทึกการหดตัวของกล้ามเนื้อหลังหนู พบว่าน้ำคั้น สารสกัดน้ำ และสารสกัดอัลกอฮอล์ ทำให้หนูมีอาการชาทันที เช่นเดียวกับ lidocaine แต่ระยะเวลาการออกฤทธิ์น้อยกว่า สารสกัดอัลกอออล์ออกฤทธิ์ดีกว่าน้ำคั้นและสารสกัดน้ำ สารออกฤทธิ์น่าจะเป็นอัลคาลอยด์  และจากการนำสารสกัดอัลกอฮอล์จากส่วนเหนือดิน ความเข้มข้น 10% มาทดสอบกับเส้นประสาท siatic nerve ของกบ เปรียบเทียบกับ lidocaine 2% พบว่าสารสกัดอัลกอฮอล์ออกฤทธิ์ชาได้เร็วกว่า lidocaine และเส้นประสาทที่ถูกทำให้ชาไปแล้วสามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมได้ แสดงว่าสารสกัดไม่เป็นพิษต่อเซลล์ประสาท  เมื่อศึกษาดูผลของสารสกัดต่อเนื้อเยื่อบริเวณที่ถูกฉีดด้วยสารสกัดอัลกอฮอล์ ความเข้มข้น 10% ขนาด 0.1 มล. พบว่าภายใน 24 ชม. สภาพผิวหนังภายนอกไม่พบความผิดปกติ แต่เมื่อดูทางเนื้อเยื่อวิทยา ชั้นใต้ผิวหนังมีการบวมระหว่างเซลล์เล็กน้อย และมีการคั่งของหลอดเลือดฝอย ผิวหนังชั้น dermis มีลักษณะบวม แสดงให้เห็นว่าอักเสบ แต่ไม่พบเนื้อเยื่อตาย เมื่อผ่านไป 7 วัน ตรวจไม่พบความผิดปกติหลงเหลืออยู่ ส่วนผิวหนังบริเวณที่ฉีด lidocaine 2% ขนาด 0.1 มล. มีการบวมระหว่างเซลล์ และการคั่งในหลอดเลือดฝอยเช่นเดียวกับสารสกัด  7 วันหลังการฉีดยาตรวจไม่พบความผิดปกติของเนื้อเยื่อเช่นกัน[9]
  2. การศึกษาทางคลินิกของฤทธิ์ยาชาเฉพาะที่ทดลองในอาสาสมัคร 11 คน โดยการวางสารสกัดเอทานอลจากผักคราดหัวแหวน ความเข้มข้น 10% เปรียบเทียบกับ lidocaine 10% บนปลายลิ้น นาน 10 วินาที แล้วทดสอบอาการชาโดยการใช้ไฟฟ้ากระตุ้น พบว่ามีความแตกต่างของเวลาเริ่มต้นออกฤทธิ์ และระยะเวลาการออกฤทธิ์ระหว่างสารสกัดและยาชา สารสกัดจะออกฤทธิ์เร็วกว่า lidocaine (11.0 ± 4.3 และ 24.7 ± 9.6 วินาที ตามลำดับ) แต่สารสกัดมีระยะเวลาออกฤทธิ์สั้นกว่า lidocaine (7.0 ± 2.9 และ 9.1 ± 3.0 วินาที ตามลำดับ) [10] และมีการทดสอบในอาสาสมัคร 20 คน โดยวางสารสกัดเอทานอล 95% จากผักคราดหัวแหวน ความเข้มข้น 10% หรือ lidocaine 10% ที่เนื้อเยื่อบุผิวในกระพุ้งแก้ม บริเวณ upper canine นาน 5, 15 และ 30 วินาที แล้วทดสอบอาการชาโดยใช้เข็ม (gauge needle) เบอร์ 27 สอดเข้าไปในบริเวณที่ทดสอบ วัดระดับความเจ็บปวดจากการสอบถาม พบว่าทั้งสารสกัดและยาชาลดความเจ็บปวดได้ และไม่พบความแตกต่างระหว่างสารสกัดและยาชา มีเนื้อเยื่อตายในอาสาสมัครที่ได้รับสารสกัดนาน 15 และ 30 วินาที ในวันรุ่งขึ้น คาดว่าน่าจะเกิดจากภาวะขาดน้ำของเซลล์และการระคายเคืองจากเอทานอล แผลจะหายภายใน 2 วันต่อมา [11]แต่การศึกษาในผู้ป่วยหญิง 200 คน วางสำลีรองเฝือกลงบนตำแหน่งที่จะแทงเข็มให้น้ำเกลือที่หลังมือหรือแขนทั้ง 2 ข้าง แต่ตำแหน่งต้องตรงกันทั้ง 2 ข้างในคนเดียวกัน หยดอัลกอฮอล์ 70% ปริมาณ 0.5 มล. หรือหยดสารสกัดจากผักคราดหัวแหวนปริมาณ 0.5 มล. ลงบนสำลีรองเฝือกคนละข้าง ปิดทับด้วยเทบใสกันการระเหย กลุ่มที่ 1 ทิ้งไว้นาน 15 นาที กลุ่มที่ 2 ทิ้งไว้นาน 30 นาที แล้วจึงใช้เข็มเบอร์ 18 แทงตรงตำแหน่งที่ทายาไว้ข้างละเข็ม ประเมินผลความเจ็บปวดด้วยการสอบถาม  พบว่าในกลุ่ม 15 นาที สารสกัดมีมัธยฐานของฤทธิ์ระงับความเจ็บปวดอยู่ที่ระดับปานกลาง และอัลกอฮอล์อยู่ที่ระดับเจ็บนิดหน่อย ในกลุ่มที่ทาไว้ 30 นาที มัธยฐานของทั้งสารสกัดและอัลกอฮอล์อยู่ที่ระดับเจ็บปานกลาง เมื่อเปรียบเทียบในคนเดียวกันกลุ่มที่ทานาน 15 นาที สารสกัดจะระงับความเจ็บปวดได้ดีกว่าอัลกอฮอล์ร้อยละ 70 จำนวน 29 ราย  แย่กว่า 43 ราย และเท่ากัน 28 ราย และไม่พบความแตกต่างของสารสกัดและอัลกอฮอล์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แสดงว่าสารสกัดไม่มีความสามารถระงับความเจ็บปวดจากการแทงเข็มให้น้ำเกลือแตกต่างจากอัลกอฮอล์ 70% เลย แม้ว่าจะทิ้งไว้นานถึง 30 นาที ทั้งนี้คาดว่าสารสกัดไม่สามารถซึมผ่านผิวหนังได้ ซึ่งแตกต่างกับเนื้อเยื่อบุผิวที่ซึมผ่านได้ง่าย[12]
  3. ฤทธิ์ระงับปวดการศึกษาฤทธิ์ระงับปวดของสารสกัดจากผักคราดหัวแหวน พบว่าไม่มีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้เป็นยาแก้ปวด เมื่อศึกษาด้วยวิธี Haffner’s tail clip   วิธีกระตุ้นให้เกิดการบิดของลำตัวด้วย acetylcholine  และทำให้เกิดความเจ็บปวดด้วย bradykinin ในหนูถีบจักรและหนูขาว พบว่าส่วนสกัดด้วยอีเทอร์ระงับความเจ็บปวดต่ำ  ส่วนสกัดด้วยอัลกอฮอล์ 70% ระงับความเจ็บปวดด้วยความแรงที่ต่ำกว่าส่วนสกัดด้วยอีเทอร์  ส่วนที่ไม่ถูกสกัดด้วยอีเทอร์ไม่แสดงฤทธิ์ลดความเจ็บปวดในทุกการทดลอง[13] และสารสกัดเอทานอลจากผักคราดหัวแหวนออกฤทธิ์ระงับปวดเล็กน้อย เมื่อศึกษาในรูปแบบของยาระงับปวดที่ออกฤทธิ์ระบบประสาทส่วนปลาย และไม่มีฤทธิ์ระงับปวด เมื่อศึกษาในรูปแบบของยาออกฤทธิ์ระงับปวดต่อระบบประสาทส่วนกลาง  (6)
  4. หลักฐานความเป็นพิษและการทดสอบความเป็นพิษเมื่อฉีดส่วนสกัดอีเทอร์  ส่วนสกัด 70% อัลกอฮอล์  และส่วนสกัดที่ไม่ถูกสกัดด้วยอีเทอร์ จากผักคราดหัวแหวนเข้าช่องท้องหนูถีบจักร  ความเข้มข้นของส่วนสกัดที่ทำให้หนูตาย 50% เท่ากับ 153 มก./กก. , 2.13 ก./กก. และ 3.5 ก./กก.  ตามลำดับ  ส่วนสกัดอีเทอร์มีความเป็นพิษเฉียบพลันมากที่สุด [14]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ผักคราดหัวแหวน http://www.horapa.com/content.php?Category=Herb&No... http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage... http://www.bs.ac.th/2548/e_bs/g7/rangsan/spilanthe... http://www.medplant.mahidol.ac.th/pubhealth/spilan... http://ittm.dtam.moph.go.th/Service/herb_data/herb... http://www.thaihealth.in.th/2011/09/08/%E0%B8%9C%E... http://www.doctor.or.th/article/detail/4927 http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_18_4... http://www.tistr.or.th/essentialoils/plant_%E0%B8%...