ผีปะกำ

ผีปะกำอาจีง หรือ ผีปะกำ เป็นเทพเจ้าสูงสุด บ้างว่าเป็นผีดีในคติความเชื่อของชาวกูยหรือส่วย[1] กลุ่มชาติพันธุ์ในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้ของประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีอาชีพเลี้ยงช้างเท่านั้น[2] โดยชื่อเป็นภาษากูย ประกอบด้วยคำว่า "ปะกำ" แปลว่าบ่วงบาศ กับ "อาจีง" แปลว่าช้าง รวมกันจึงแปลว่า "บ่วงบาศคล้องช้าง"[3] ชาวกูยเชื่อว่าผีปะกำจะสิงสถิตอยู่ในหนังปะกำ ซึ่งทำจากหนังวัวหรือหนังควาย และเครือไม้ (ภาษากูยเรียกอะวาลแปรง) นำมาฟั่นเป็นเกลียวเชือกยาว 40 เมตรขึ้นไป ปลายเชือกข้างหนึ่งทำปลอกคู่เป็นบ่วงบาศ มีไว้สำหรับคล้องช้าง[4]ชาวกูยเชื่อว่ามีวิญญาณสองประเภทสถิตอยู่ในปะกำ อย่างแรกคือ "พระครู" เป็นวิญญาณศักดิ์สิทธิ์เทียบเท่าเทพยดา และอย่างหลังคือ "ผีบรรพชน" ในสายตระกูลที่เคยเป็นหมอช้าง พวกเขาเชื่อว่าผีปะกำให้คุณหรือโทษแก่มนุษย์ได้ จึงต้องทำการเซ่นสรวงบูชาอยู่เสมอ[3] ชาวกูยจะไหว้ผีปะกำก่อนออกไปคล้องช้าง และเมื่อคล้องช้างได้แล้วก็จะทำการเซ่นไหว้อีกครั้ง ในกรณีเมื่อจะนำช้างออกไปนอกหมู่บ้าน หรือมีลูกหลานเจ็บป่วย ก็จะมีการเซ่นหรือแก้บนกับผีปะกำกันอยู่บ่อยครั้ง[2][3] โดยชาวกูยจะทำการสร้างศาลผีปะกำให้ผีปะกำประทับอยู่ โดยมากสร้างอยู่ทางทิศตะวันออกของเรือน เป็นศาลมุงหลังคา มีสี่เสา สูงราวสองเมตร เพื่อกันไม่ให้เด็กและผู้หญิงเอื้อมมือถึง ภายในมีปะกำ หมอนใบเล็ก กรวยขันธ์ 5 แก้วบรรจุน้ำ และเครื่องเซ่นไหว้[4]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ผีปะกำ http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/ubu-art-culture... http://www.m-culture.in.th/album/96139 https://www.matichonweekly.com/column/article_2923... https://www.matichonweekly.com/column/article_6508... https://www.matichonweekly.com/featured/article_58... https://prachatai.com/journal/2018/11/79451 https://vajirayana.org/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0... https://www.car.chula.ac.th/display7.php?bib=b1457... https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/image_d... https://www.sac.or.th/databases/southeastasia/subj...