ประวัติ ของ พงศพัศ_พงษ์เจริญ

พลตำรวจเอก พงศพัศ พงษ์เจริญ หรือที่รู้จักในนาม พลตำรวจเอก ดร.พงศพัศ พงษ์เจริญ มีชื่อเดิมว่า ไพรัช (เปลี่ยนชื่อตรงกับวันที่ปรับโครงสร้าง จากกรมตำรวจ เป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ)[7] เกิดเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2498 ที่จังหวัดจันทบุรี เป็นบุตรสุคนธ์ กับ พญ.เกื้อกูล พงษ์เจริญ มีพี่น้อง 8 คน จบการศึกษาระดับมัธยมจากโรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดจันทบุรี จบการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 15 (ตท.15) โรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 31 โดยสอบได้ที่ 1 ทุกชั้นปี เมื่อศึกษาจบแล้วได้รับเงินทุนการศึกษาจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ไปศึกษาต่อด้านอาชญาวิทยาจากมหาวิทยาลัยแซมฮิวสตันสเตต สหรัฐอเมริกา จนกระทั่งจบปริญญาเอก ชีวิตครอบครัว สมรสกับกรพัณณ์ (เดิมชื่อ วิริยา) มีบุตร-ธิดา 3 คน ได้แก่ จิตจุฑา (ญ) อินทัช (ช) และวนัชพรรณ (ญ)[7]

ราชการตำรวจ

พลตำรวจเอก ดร.พงศพัศ พงษ์เจริญ รับราชการครั้งแรกด้วยการเป็นนายเวรติดตาม พล.ต.อ.แสวง ธีระสวัสดิ์ ตั้งแต่ยังเป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบ.ช.น.) จนกระทั่งได้เป็นอธิบดีกรมตำรวจ ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับการศูนย์คอมพิวเตอร์ตำรวจและผู้บังคับการกองสารนิเทศ กรมตำรวจ และในปี พ.ศ. 2540 ได้รับพระราชทานยศเป็น พลตำรวจตรี (พล.ต.ต.) [8] ถือเป็นบุคคลแรกในรุ่น ที่ได้รับพระราชทานยศนายพล จากนั้นได้เลื่อนขึ้นรองผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และได้รับเลื่อนยศเป็น พลตำรวจโท (พล.ต.ท.) ในตำแหน่งผู้บัญชาการประจำตำรวจประสานงานนายกรัฐมนตรีและมหาดไทย

พล.ต.อ.พงศพัศ เป็นที่รู้จักดีของสังคม เนื่องจากเป็นโฆษกกรมตำรวจและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งการทำหน้าที่นี้นับว่าโดดเด่นมาก จนเป็นที่กล่าวขานกันโดยทั่วไป จากนั้นได้เข้ารับตำแหน่งผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจและดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2550[9] แต่ในต้นปี พ.ศ. 2551 ได้มีคำสั่งจาก พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ย้ายออกจากตำแหน่งโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยแต่งตั้ง พล.ต.ท.วัชรพล ประสารราชกิจ แทน โดยให้เหตุผลว่า พล.ต.ท.วัชรพล มีความเป็นนักวิชาการมากกว่า[10]

จนกระทั่งในวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2552 หลังจากที่ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รับตำแหน่งรักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแล้ว ก็ได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้ พล.ต.อ.พงศพัศ กลับเข้ามาทำหน้าที่โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติอีกครั้ง[11] ซึ่งในปลายปีเดียวกันนั้น สื่อมวลชนได้ตั้งฉายาให้แก่ พล.ต.อ.พงศพัศ ว่า "ดาราสีกากี" อันเนื่องจากมักปรากฏบทบาทผ่านทางสื่อต่าง ๆ แทบทุกวัน เสมือนดาราภาพยนตร์คนหนึ่ง[12]

ในกลางปี พ.ศ. 2553 พล.ต.อ.พงศพัศ ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยให้เหตุผลว่าดำรงตำแหน่งนี้ยาวนานถึง 5 สมัยแล้ว โดยเป็นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 อีกทั้งได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา (สบ.10) ด้านความมั่นคงและกิจการพิเศษ เทียบเท่ารองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และได้รับเลื่อนยศให้เป็นพลตำรวจเอก (พล.ต.อ.) [13] พล.ต.อ.พงศพัศ ยังรับตำแหน่งเป็นโฆษกด้านตำรวจประจำศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในปี พ.ศ. 2554 อีกด้วย[14]

กระทั่งวันจันทร์ ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับยศนายพลตำรวจ วาระประจำปี 2554 มีจำนวนทั้งสิ้น 46 ตำแหน่ง มีผลตั้งแต่วันที่ 18 พ.ย. 2554 แต่งตั้ง พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ที่ปรึกษา สบ 10 เป็น รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ [15] และเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) อีกตำแหน่งหนึ่ง ทั้งได้รับการเสนอชื่อให้เป็นกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) [16] และกรรมการการไฟฟ้านครหลวง

จากคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 84/2557 เรื่อง การกำหนดตำแหน่งเพิ่มและการแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่ง ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2557 ลงชื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ข้อ 5 มีคำสั่งให้ พลตำรวจเอกพงศพัศ พงษ์เจริญ พ้นจากตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และให้กลับไปปฏิบัติราชการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

การเมือง

ช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2555 มีกระแสข่าวว่า พล.ต.อ.พงศพัศ จะลงรับสมัครเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในสังกัดพรรคเพื่อไทย โดยการทาบทามของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี[17] แต่ในเวลาต่อมา พล.ต.อ.พงศพัศได้ปฏิเสธข่าวนี้[18] อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นยังคงมีกระแสข่าวมาอย่างต่อเนื่อง โดย พล.ต.อ.พงศพัศ มีท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้ โดยกล่าวว่าอยู่ที่มติของคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย และการตัดสินใจของตัวเขาเอง[19]

กระทั่งวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2556 นายภูมิธรรม เวชยชัย เปิดเผยว่าคณะกรรมการโซนกรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย ทั้ง 3 โซน มีมติเสนอชื่อ พล.ต.อ.พงศพัศ เป็นผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเพียงชื่อเดียว[20] และในวันที่ 13 มกราคม พรรคเพื่อไทย มีมติเอกฉันท์ให้ พล.ต.อ.พงศพัศ ลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทย[21]

พล.ต.อ.พงศพัศ ประกาศนโยบายในการหาเสียงว่า จะทำงานร่วมกับรัฐบาลอย่างไร้รอยต่อ และจากการสำรวจความคิดเห็น (โพล) แทบทุกสำนัก เป็นผู้มีความนิยมในอันดับที่หนึ่ง แต่คะแนนที่ได้รับจากการเลือกตั้งคือ 1,077,899 เสียง เป็นอันดับที่ 2 แม้จะไม่ได้รับการเลือกตั้ง แต่ก็ทำลายสถิติของนายสมัคร สุนทรเวช เมื่อปี พ.ศ. 2543

27 ตุลาคม 2558 พล.ต.อ.พงศพัศ ได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

แหล่งที่มา

WikiPedia: พงศพัศ_พงษ์เจริญ http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics... http://www.cmprice.com/forum/?content=detail&wb_ty... http://www.fm91bkk.com/home91/index.php/2011-12-29... http://hilight.kapook.com/view/64985 http://thai-th.listedcompany.com/directors.html http://www.naewna.com/politic/24401 http://www.pongsapatbkk.com/ http://www.posttoday.com/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%... http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TURO... http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsI...