วัตถุและสถานที่ ของ พญาสามฝั่งแกน

พระแก้วมรกต

ในปีพ.ศ. 1979 ณ เมืองเชียงราย เกิดอัสนีบาตฟาดใส่พระสถูปใหญ่ที่วัดพระแก้วจนพังครืนลงมา ต่อมาได้มีผู้พบพระพุทธรูปลงรักปิดทององค์หนึ่ง จึงได้มีการเชิญเข้าไปไว้ในวัดนั้น กาลเวลาผ่านไป รักปิดทองที่ลงไว้เกิดหลุดลอกออกมาจนเห็นเป็นสีเขียวมรกต เมื่อเจ้าอาวาสมาพบเข้าจึงได้นำมาชำระขัดสี แล้วพบว่าพระพุทธรูปนั้นเป็นแก้วมรกตทั้งองค์ ท่านจึงดีใจเป็นล้นพ้นเลยนำมาจัดการให้สระสรงตามประเพณีนิยม จากนั้นปรากฏว่ามีผู้คนมาเคารพสักการะเป็นอันมาก

ต่อมาเรื่องราวทราบไปถึงพระกรรณของพญาสามฝั่งแกน จึงมีรับสั่งให้เชิญพระแก้วมรกตไปเมืองเชียงใหม่ เจ้าเมืองเชียงรายจึงเชิญพระแก้วขึ้นสถิตบนหลังช้าง แล้วเดินออกไปเมืองเชียงใหม่ ครั้นถึงทางแยกจะไปทางเมืองเชียงใหม่ทางหนึ่ง และไปยังเมืองลำปางทางหนึ่งช้างก็ตื่นหนีไปทางเมืองลำปางทุกครั้ง หมื่นโลกพระนครพระญาติของพญาสามฝั่งแกน ซึ่งเป็นเจ้าเมืองลำปางก็ทูลขอพระแก้วไว้ที่เมืองลำปาง พระองค์ก็ทรงอนุญาต[6]

วัดศรีมุงเมือง

พญาสามฝั่งแกนโปรดให้สร้างวัดใหญ่ในตำบลพันนาฝั่งแกนอันเป็นที่ประสูติ จากนั้นพระองค์จึงขนานนามว่า “วัดวัดพึง” หรือ “วัดบุรณฉันท์” ในชิลกาลมาลินี ในภาษาบาลี คำว่า “ปุรจฺฉนฺน” สามารถแยกศัพท์ออกได้ คือ “ปุร” แปลว่า “เมือง” ส่วน “ ฉนฺน” แปลว่า “มุง” ในปัจจุบันชื่อวัดเปลี่ยนเป็น “วัดศรีมุงเมือง” แล้ว วัดศรีมุงเมืองตั้งอยู่ที่ ตำบลลวงเหนือ อ. ดอยสะเก็ต จ. เชียงใหม่

วัดเจดีย์หลวง

แต่เดิมวัดเจดีย์หลวงสร้างขึ้นในสมัยพญาแสนเมืองมา ก่อมาได้ 10 ปียังไม่แล้วเสร็จ พระองค์ก็เสด็จทิวงคตไปก่อน ครั้นมาในสมัยของพญาสามฝั่งแกนจึงได้มีการก่อสร้างต่อ โดยมีพระมาหาเทวี พระราชมารดาเป็นผู้ดูแลการก่อสร้างนั้น สืบเนื่องจากพญาสามฝั่งแกนยังทรงพระเยาว์อยู่

ตำนานเมืองเหนือ หน้า 396 กล่าวถึงการก่อสร้างพระเจดีย์หลวงไว้ดังนี้ “พระนางจึงโปรดให้ก่อพระเจดีย์ แต่หน้ามุขประสาทนั้นขึ้นไปอีกนานได้ 4 ปี ถึงปีตรีศก เพ็ญเดือน 10 พุทธศาสนาได้ 1955 พระนางก็ให้ยกฉัตรยอดมหาเจดีย์อันแล้วด้วยทองคำหนัก 8902 เสี้ยวคำ ทั้งเอาแก้ว 3 ลูก ชุมนุมกันใส่ยอดพระมหาเจดีย์นั้นแล มหาเจดีย์นั้นกว้างได้ 20 วาทุกด้าน ส่วนสูงนับแต่ธรณีถึงยอด 39 วา พระมหาเจดีย์นั้นประดับด้วยซุ้มประตูทั้ง 4 ด้าน มีพระพุทธรูปใหญ่นั่งสมาธิด้วยปูน นั่งโคมไม้มหาโพธิ์ทั้ง 4 ด้าน มีรูปนาค 8 ตัวโตๆ ละ 5 หัว อยู่ใน 2 ช้างบันได มีราชสีห์ 4 ตัวยืนค้ำตีนชายปราสาท มีรูปช้าง 28ตัว มหาเจดีย์นั้นปรากฏแก่คนทั้งหลายอันอยู่ไกล 2000 วาดูก็แลเห็น

ลำดับถัดแต่นั้นมา พระนางติโลกจุดาก็ให้สร้างวิหารหลังหนึ่ง แล้วพระนางจึงให้หล่อพระองค์หนึ่งสูง 18 ศอก กับทั้งอัครสาวก 2 องค์ ประดิษฐานไว้ในวิหารนั้นแล้ว พระนางก็ถวายที่นาและคนครัวไว้อุปฐากพระเจดีย์ และพระวิหารหลวงให้เป็นถาวรบูชา แล้วพระนางฉลองพระมหาเจดีย์เจ้าด้วยเข้าของเป็นอันมาก ก็ตรวจน้ำตกเหนือแผ่นดิน อุทิศส่วนบุญนั้นถวายแด่พญาแสนเมืองมา และถวายพญากือนา ผู้เป็นบิดาพญาแสนเมืองมา อุทิศส่วนบุญนั้นถึงแก่พระอินทร์ พรหม สมณะ พราหมณ์ ฤๅษี วิชาธร นางธรณี และชาวประชาราษรัฐทั้งหลาย พระนางเจ้าก็ปรารถนาอรหันตาทิคุณ พร้อมกับปฏิสัมภิทาญาณตั้งแต่ฉลองพระเจดีย์มาแล้วได้ 37 ปี พระนางมหาเทวีก็ถึงอนิจกรรมไปแล”

เวียงเจ็ดลิน

ดูบทความหลักที่: เวียงเจ็ดลิน

พัฒนาการและความเจริญของเวียงเจ็ดลินนั้นมีมานานแล้ว ในตำนานสุวรรณคำแดง และตำนานเชียงใหม่ได้กล่าวถึงการก่อร่างสร้างเมืองของชนพื้นเมืองในแถบดอยสุเทพว่า เจ้าหลวงคำแดงเป็นผู้สร้าง“เวียงเชฏฐปุรี” หรือเวียงเจ็ดลิน ขึ้นเป็นแห่งที่สอง (เมืองแรกชื่อเมืองนารัฏฐะ) ซึ่งอยู่ทางตะวันออกตีนดอยอุสุปัพพตา แต่พอมาในสมัยพญาสามฝั่งแกน ตามหลักฐานแล้วพระองค์ทรงเพียงเป็นผู้สถาปนาเวียงเจ็ดลิน หรือสร้างขึ้นใหม่จากที่มีมาแต่เดิมเท่านั้น

ช่วงนั้น เชียงใหม่กับสุโขทัยได้ทำการประลองยุทธ์สู้รบด้วยการส่งทหารที่มีฝีมือเพลงดาบ ผลปรากฏว่าสุโขทัยเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ทำให้ต้องถอยกำลังออกไปตั้งค่ายพักกำลังพลอยู่ที่ดอยเจ็ดลินตลอดเวลาที่อยู่ ณ ที่นั่น พระองค์ทรงสุบินเห็นแต่ช้างไล่ราชสีห์ติดต่อกัน 7 คืน ยิ่งมาทราบข่าวว่า ทางเชียงใหม่ได้จัดตั้งกองทัพ โดยใช้เกวียน 220 เล่มเกวียนตั้งเรียงรายจากแจ่งหัวลินไปทางเชิงดอยเจ็ดลิน ก็ทำให้ทรงมีความกลัวเกรงยิ่งนัก เกิดมีใจครั่นคร้ามจนเลิกทัพกลับไป

ด้วยเหตุนี้ พญาสามฝั่งแกนจึงได้ถือเอานิมิตของพระยาไสยลือไทยนั้นมาสถาปนาเวียงเจ็ดลินขึ้น วัตถุประสงค์ในการสร้างเวียงเจ็ดลิน หนังสือพิมพ์พลเมืองเหนือกล่าวไว้ว่า พระองค์สร้างขึ้นใหม่เพื่อเป็นวัตถุประสงค์ในการใช้เป็นป้อมปราการป้องกันข้าศึกที่จะมารุกรานเชียงใหม่ รวมทั้งใช้เป็นพระราชวัง ในการแปรพระราชฐานของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ดังหลักฐานในการเสด็จย้ายเคราะห์มาประทับ ณ เวียงเจ็ดลินเป็นระยะนับแต่พญาสามฝั่งแกน (พ.ศ. ๑๙๕๔) ถึงเจ้าหลวงพุทธวงศ์ (พ.ศ. ๒๓๖๙ – ๒๓๘๙)

กรณีของการสถาปนาเวียงเจ็ดลินนี้อาจหมายความถึงการกระจายความเจริญเข้ามาสู่เขตพื้นที่เชิงดอยสุเทพ โดยการให้ขุนนางหรือบุคคลในราชวงศ์มาปกครองดูแลขึ้นตรงต่อเมืองเชียงใหม่ ภายหลังจากที่เป็นเขตชุมชนที่อาศัยของกลุ่มคนพื้นเมืองตั้งแต่ระยะก่อนสมัยล้านนา

ประตูสวนปรุง

เดิมในอดีตประตูสวนปรุงคือกำแพงเมืองเชียงใหม่ด้านใต้ แต่พอมาในช่วงพ.ศ. 1954-1985ได้มีการเจาะทำเป็นประตูขึ้นตามพระประสงค์ขององค์พระราชเทวี พระราชมารดาของพญาสามฝั่งแกน

ช่วงเวลานั้น พระราชเทวีทรงประทับตำหนัก ณ ตำบลสวนแร ซึ่งตั้งอยู่นอกเวียง ทางทิศใต้นอกเขตกำแพงเมือง ส่วนภายในเขตเมืองนั้นก็มีการก่อสร้างพระเจดีย์หลวง โดยหน้าที่แล้วพระองค์ต้องเสด็จเข้าไปทอดพระเนตรการก่อสร้างทุกๆ วัน ด้วยเหตุที่พญาสามฝั่งแกนยังทรงพระเยาว์อยู่ พระองค์ทรงดำริเห็นว่าการเสด็จผ่านประตูทางท้ายเวียง (ประตูเชียงใหม่) เป็นระยะทางอ้อมจึงรับสั่งให้เจาะกำแพงตรงข้ามกับพระตำหนักสร้างขึ้นเป็นประตูแทนระยะแรกเรียกชื่อประตูนี้ว่าประตูสวนแรอยู่ระยะหนึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นประตูสวนปุงหรือสวนปรุง (คือแทงพุง) เนื่องจากได้นำพวกกบฏส่วนหนึ่งมาประหาร โดยใช้หอกหรือหลาวแทงพุง