สิ้นสุดสมัยพญาสามฝั่งแกน ของ พญาสามฝั่งแกน

ในปีพ.ศ. 1952 ท้าวลกราชบุตรของพญาสามฝั่งแกนทรงครองเมืองพร้าวอยู่ไม่นานเท่าใด ก็ทำความผิดอาชญาจนพระบิดาทรงพิโรธ ให้นำตัวไปไว้ยังเมืองยวมใต้ ต่อมาในปีพ.ศ. 1985 ได้เกิดเหตุการณ์ กบฏท้าวลกชิงราชสมบัติ ทำให้รัชสมัยพญาสามฝั่งแกนถึงคราวสิ้นสุด

ช่วงเวลานั้นพญาสามฝั่งแกนผู้ครองนครเมืองเชียงใหม่ทรงประทับสำราญอยู่ ณ เวียงเจ็ตริน ก็ได้มีอำมาตย์ผู้หนึ่งชื่อว่าสามเด็กย้อย คิดไม่ซื่อจึงแปรพักตร์เข้ารับใช้ท้าวลก คิดการไกลถึงกับจะเอาราชสมบัติให้พระองค์ หลังจากนั้นสามเด็กย้อยจึงรวบรวมซ่องสุมกำลังจนพร้อม แล้วจึงลอบไปรับเจ้าท้าวลกจากเมืองยวมใต้ มาซุ่มซ่อนไว้ในเวียงเชียงใหม่ เมื่อเจ้าท้าวลกกับขุนสามเด็กย้อยเตรียมการทั้งปวงพร้อมแล้ว ตกเวลาเที่ยงคืนก็ให้คนลอบไปจุดไฟเผาเวียงเจ็ดลินไหม้ขึ้น พญาสามฝั่งแกนจึงทรงม้าหนีออกมาเข้าในเวียง พระองค์นั้นหารู้ไม่ว่าในขณะนั้นท้าวลกนั้นยึดครองราชย์มนเทียรอยู่ พอเข้ามาถึงคุ้ม ท้าวลกก็ให้กุมเอาตัวพญาสามฝั่งแกนพระบิดาไว้บังคับให้มอบราชสมบัติแก่ตน

ครั้นรุ่งขึ้นเช้า พญาสามฝั่งแกนได้นิมนต์ชาวเจ้าสังฆะเข้าประชุมในพระราชมณเฑียร แล้วจึงประกาศมอบราชสมบัติ และหลั่งน้ำให้แก่ราชบุตรในท่ามกลางประชุมสงฆ์ ให้ท้าวลกเป็นเจ้านครพิงค์เชียงใหม่ตามความประสงค์ เสนาอำมาตย์ทั้งหลายก็ตั้งการ ปราบดาพิเษกเจ้าท้าวลกเป็นพระมหาราชเจ้านครพิงค์เชียงใหม่ใ นปีจอ จัตวาศก จุลศักราชได้ 804 เดือนแปด (คือเดือนหก) เพ็ญวันศุกร์ ถวายพระนามว่า พระมหาศรีสุธรรมติโลกราช เมื่อได้เถลิงราชสมบัติพระชนมายุได้ 34 พรรษาจึงปูนบำเหน็จหมื่นสามเด็กย้อยผู้ต้นคิดเอาราชสมบัติให้นั้น ตั้งให้เป็นเจ้าครองพันนาขาน ชื่อเจ้าแสนขาน ส่วนพญาสามฝั่งแกนนั้นพระเจ้าติโลกราชเนรเทศไปไว้เมืองสาด

ฝ่ายเจ้าท้าวช้อย พระอนุชาท้าวลกผู้ครองเมืองฝาง รู้ข่าวว่าเจ้าท้าวลกเป็นขบถ แย่งราชสมบัติบิดา แล้วเนรเทศพระบิดาไปไว้เมืองสาดก็มีความแค้นเจ้าท้าวลกพระเชษฐายิ่งนัก จึงให้ไปรับเสด็จพระบิดาจากเมืองสาดมาไว้ในเวียงเมืองฝาง เตรียมกำลังตั้งมั่นแข็งเมืองอยู่ เมื่อเจ้าพระยาติโลกราชได้ทราบข่าวดังนั้น จึงให้หมื่นหาญแต่งตั้งผู้ครองเมืองเขลางค์ยกพลหนึ่งหมื่นไปตีเมืองฝาง ชาวฝางรู้ข่าวก็ยกกองทัพออกโจมตีหมื่นหาญแต่ท้องแต่กลางทาง หมื่นหาญแต่ท้องเสียที แตกฝ่ายหนีมา เจ้าพระยาติโลกราชจึงให้หมื่นโลกสามล้าน (คือหมื่นโลกนคร) ยกพลสี่หมื่นเศษพันไปตีเมืองฝางให้จงได้ ครั้งหลังนี้ชาวฝางต้านทางกำลังไม่ได้ ทัพเชียงใหม่จึงเข้าปล้นเอาเมืองฝางได้ จับได้ตัวพญาสามฝั่งแกนส่งมาเมืองนครพิงค์เชียงใหม่ แต่เจ้าท้าวช้อยนั้นหนีไปเมืองเทิง เจ้าท้าวช้อยสู้รบเป็นสามารถ จนสิ้นพระชนม์ในที่รบ

ล่วงถึงปี พ.ศ. 1991 (จุลศักราช 809 ปีเถาะนพศก) พญาสามฝั่งแกนถึงแก่ทิวงคต พระเจ้าติโลกราชจัดการปลงพระศพ ณ ป่าแดงหลวง แล้วสถาปนา พระสถูปบรรจุอัฐิธาตุไว้ ณ สถานที่นั้น