การปกครองของอังกฤษช่วงแรก ของ พม่าภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักร

การบริหาร

ทหารอังกฤษได้นำพระเจ้าธีบอ ขึ้นเรือเพื่อลี้ภัยไปยังเมืองรัตนคีรี ประเทศอินเดีย

อังกฤษเริ่มปกครองพม่าในฐานะมณฑลหนึ่งของอินเดียเมื่อ พ.ศ. 2429 โดยมีเมืองหลวงที่ย่างกุ้ง และกลายเป็นยุคใหม่ทางด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจของพม่า ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างรัฐบาล ราชวงศ์ถูกล้มเลิก พระเจ้าธีบอลี้ภัยไปอินเดีย แยกการเมืองและศาสนาออกจากกัน ซึ่งแต่เดิม พระสงฆ์จะขึ้นกับการสนับสนุนจากราชวงศ์ และราชวงศ์จะรับรองสถานะทางกฎหมายของพุทธศาสนา ทำให้องค์กรทางศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองระดับชาติ นอกจากนั้น อังกฤษยังเข้ามาจัดการศึกษาในระบบโรงเรียนที่ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา โดยจัดตั้งโรงเรียนที่สอนเป็นภาษาอังกฤษและภาษาพม่า และสนับสนุนให้มิชชันนารีเข้ามาสร้างโรงเรียน โดยในโรงเรียนทั้งสองระบบนี้พุทธศาสนาและวัฒนธรรมดั้งเดิมของพม่าไม่ถูกกล่าวถึง เพื่อทำลายความเป็นเอกภาพทางวัฒนธรรมของพม่าที่ต่างจากอังกฤษ ทำให้เกิดการต่อต้านทั่วไปในพม่าตอนเหนือจนถึง ปีพ.ศ. 2433 ซึ่งเป็นปีที่อังกฤษเข้าไปปราบปรามในระดับหมู่บ้านโดยเผาทำลายหมู่บ้านที่ต่อต้านอังกฤษ สั่งให้ผู้คนอพยพลงไปพม่าภาคใต้และปลดเจ้าหน้าที่ที่สนับสนุนฝ่ายกบฏออก นำกลุ่มคนที่สนับสนุนอังกฤษเข้ามาแทนจึงทำให้การต่อต้านสิ้นสุดลง

สภาพเศรษฐกิจในอาณานิคม

สภาพเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมของพม่านั้นจะกำหนดราคาโดยภาครัฐ อุปสงค์และอุปทานไม่มีความจำเป็น การค้าไม่ใช่เศรษฐกิจหลักของประเทศ แต่ตำแหน่งของพม่าอยู่ในตำแหน่งสำคัญทางการค้าระหว่างจีนกับบอินเดีย เมื่ออังกฤษมาถึง เศรษฐกิจของพม่าถูกบีบคั้นด้วยเศรษฐกิจโลกและกลายเป็นส่วนหนึ่งของการส่งออกของอาณานิคม มีการส่งเสริมให้ปลูกข้าวในที่ราบลุ่มแม่น้ำอิรวดี เนื่องจากขณะนั้น ข้าวเป็นที่ต้องการของยุโรป และมีการอพยพผู้คนจากที่สูงลงมายังที่ลุ่มเพื่อปลูกข้าว ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจของประชากร

การปกครองของอังกฤษทำให้เกิดกลุ่มชนลูกผสมระหว่างชาวยุโรปและชาวพม่า ซึ่งมีความโดดเด่นในสังคมยุคอาณานิคม สภาพทางเศรษฐกิจค่อยๆเปลี่ยนแปลง หลังจากมีการเปิดคลองสุเอซ ความต้องการข้าวจากพม่าเพิ่มมากขึ้น มีการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น ในการเตรียมที่ดินเพื่อการปลูกข้าว ชาวนาพม่ามักจะยืมเงินจากพ่อค้าอินเดียในอัตราดอกเบี้ยที่สูง เกิดการขูดรีด มีการนำแรงงานชาวอินเดียเข้ามาเป็นปัจจัยการผลิตเนื่องจากได้ค่าแรงต่ำ และได้เข้ามาแทนที่ชาวนาพม่า มีการพัฒนาอุตสาหกรรมมากขึ้น มีการสร้างทางรถไฟผ่านที่ราบลุ่มแม่น้ำอิรวดี และมีเรือเครื่องจักรไอน้ำแล่นขึ้นล่องระหว่างแม่น้ำ บริการสาธารณะจัดขึ้นเพื่อชาวพม่าเชื้อสายอังกฤษและชาวอินเดีย สิ่งเหล่านี้มีอังกฤษเป็นเจ้าของ และชาวพม่าต้องจ่ายเงินจำนวนมากในการใช้บริการเหล่านี้ หลายหมู่บ้านกลายเป็นหมู่บ้านนอกกฎหมายเนื่องจากมีกองโจรติดอาวุธ เศรษฐกิจของพม่าเติบโตขึ้นโดยอำนาจทั้งหมดอยู่ในมือหุ้นส่วนชาวอังกฤษและผู้อพยพจากอินเดีย การเติบโตทางเศรษฐกิจในสมัยอาณานิคมส่งผลร้ายต่อพม่า เพราะได้ใช้ทรัพยากรของพม่าไปเพื่อผลกำไรของอังกฤษ ชาวพม่าถูกห้ามเป็นทหาร โดยทหารส่วนใหญ่เป็นชาวอินเดีย ชาวพม่าเชื้อสายอังกฤษ ชาวกะเหรี่ยง และชนกลุ่มน้อยอื่นๆในพม่า หลังจากที่อังกฤษยึดครองพม่า พม่ายังคงส่งบรรณาการไปปักกิ่ง[2]ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงในการประชุมเรื่องพม่า พ.ศ. 2429 ที่จีนยอมรับการยึดครองพม่าของอังกฤษ แต่อังกฤษต้องยอมให้พม่าส่งบรรณาการให้จีนทุกสิบปี[3]

แหล่งที่มา

WikiPedia: พม่าภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักร http://books.google.com/books?id=WKRFAAAAIAAJ&pg=P... http://books.google.com/books?id=v2NCAAAAIAAJ&pg=P... http://www.time.com/time/magazine/article/0,9171,7... http://web.archive.org/web/20060819090402/http://w... http://www.burmalibrary.org/reg.burma/archives/199... http://www.ibiblio.org/obl/docs/panglong_agreement... http://www.irrawaddy.org/database/1997/vol5.4.5/au... http://jstor.org/stable/20067745 http://jstor.org/stable/3024126 https://encyclopedia.1914-1918-online.net/article/...