สงครามขุนวิลังคะ ของ พระนางจามเทวี

ด้วยพระนางจามเทวีทรงเป็นจอมกษัตริย์ผู้ทรงปกครองนครหริภุญชัยที่รุ่งเรือง ทั้งพระนางเองก็มีพระรูปเลอโฉม พระปรีชาญาณหลักแหลม เป็นที่สรรเสริญแก่บรรดาประเทศใหญ่น้อยทั่วไป บรรดาเจ้าครองนครหลายองค์จึงใคร่จะได้พระนางไปเป็นพระมเหสี โดยเฉพาะ ขุนวิลังคะ ผู้นำชาวลัวะ ซึ่งส่งทูตพร้อมเครื่องบรรณาการถึง 500 สาแหรก มาถวายสาส์นทูลเชิญพระนางเสด็จไปเป็นพระมเหสีแห่งระมิงค์นคร ซึ่งบางตำนานว่าตกในราวๆ ต้นปี พ.ศ. 1226 เมื่อพระนางทรงมีรับสั่งให้เข้าเฝ้า ทูตลัวะก็กราบบังคมทูลอย่างวางอำนาจว่า

“ข้าแต่มหาราชเทวีเป็นเจ้า ขุนแห่งข้าพเจ้ามีนามว่าวิลังคราชอยู่ทิศดอยละวะโพ้น เป็นใหญ่กว่าลัวะทั้งหลาย ใช้ให้ข้าพเจ้าทั้งหลายนำเครื่องบรรณาการมาถวายพระนางบัดนี้ โดยเหตุที่ขุนวิลังคราชมีความรักใคร่ในพระเทวีเป็นเจ้า จักเชิญพระแม่เจ้าไปเป็นอัครมเหสี”

พระนางจามเทวีตรัสถามว่า “ดูกรท่านอำมาตย์ เรายังไม่เคยได้เห็นขุนผู้นั้นแม้สักหนเดียวเลย ขุนผู้นั้นหน้าตาเป็นอย่างใดเล่า”

ทูตลัวะทูลตอบว่า “ขุนแห่งข้าพเจ้านั้นรูปร่างหน้าตาก็เหมือนดังตัวข้าพเจ้านี้แหละ”

พระนางจึงทรงมีรับสั่งว่า “ผิว่าขุนแห่งท่านมีหน้าตาเหมือนดังท่านแล้ว อย่าว่าแต่มาเป็นผัวเราเลย แม้แต่มือเราก็ไม่จักให้ถูกต้อง ท่านจงรีบไปเสียให้พ้นจากเรือนเราเดี๋ยวนี้”

แล้วทรงขับไล่ทูตลัวะออกไปเสียจากพระนคร ขุนวิลังคะได้ทราบเช่นนั้นก็บังเกิดความโกรธอย่างรุนแรง แต่ก็ส่งสาส์นเกลี้ยกล่อมอีกครั้งหนึ่ง ก็ได้รับคำตอบว่า พระนางยังไม่ตัดสินพระทัยเสด็จไปยังระมิงค์นครเพราะพระนางเพิ่งมีพระประสูติกาลพระโอรส พระวรกายยังไม่บริสุทธิ์พอจะทรงรับการอภิเษกเป็นพระมเหสีแห่งชาวลัวะได้ ขอให้รอไปก่อน ขณะเดียวกันภายในเมืองหริภุญชัยพระนางจามเทวีก็โปรดฯ ให้สั่งสมเสบียงและอาวุธยุทโธปกรณ์ไว้อย่างเต็มที่ รวมทั้งเตรียมกำลังทหารให้พร้อมรบที่สุด ทางฝ่ายขุนวิลังคะได้รับคำตอบเช่นนั้นก็เบาใจและรั้งรออยู่อย่างนั้น บางตำนานว่าหลงกลรอต่อไปเป็นเวลานานถึง 7 ปี

ในที่สุดขุนวิลังคะก็นำทัพเข้าล้อมเมืองด้วยทหารจำนวนถึง 80,000 คน พระนางจามเทวีมีพระราชโองการให้พระโอรสทั้งสองซึ่งเจริญพระชมมายุได้ 7 พรรษาแล้วขึ้นประทับเหนือช้างผู้ก่ำงาเขียวนำทัพออกศึก โดยพระมหันตยศประทับคอช้าง พระอนันตยศประทับกลางช้าง กองทัพของหริภุญชัยมีจำนวนเพียง 3,000 คน แต่เมื่อกองทัพของทั้งสองฝ่ายประจันหน้ากัน พลรบชาวลัวะก็ให้บังเกิดอาการหน้ามืดตามัวหมดกำลัง เพราะเผชิญหน้ากับช้างภู่ก่ำงาเขียวในเวลาเที่ยงวันพอดี จนในที่สุดไม่มีผู้ใดทนได้ก็พากันแตกทัพอลหม่านโดยไม่ทันได้สู้รบทิ้งอาวุธและสิ่งของไว้เป็นอันมาก พระนางจามเทวีจึงทรงมีรับสั่งให้ชาวพระนครพากับออกไปรวบรวมสิ่งของเหล่านั้นไปเป็นของตนเองเสีย ทำเลที่ทหารลัวะทิ้งของไว้นั้นจึงมีชื่อว่า ลัวะวาง ในกาลต่อมา

หลังจากนั้น พระนางจามเทวีจึงเสด็จไปยังระมิงค์นครในฐานะผู้ชนะศึก เพื่อทรงช่วยเหลือบำรุงขวัญประชาชนให้กลับเป็นปกติสุขอีกครั้ง จากนั้นจึงพระราชทานเอกราชให้แก่ชาวระมิงค์นครมิให้ต้องตกเป็นเมืองขึ้นของหริภุญชัยเป็นการแสดงพระกรุณา โดยจารึกไว้ในพระสุพรรณบัฎเมื่อวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 8 ปีจอ พ.ศ. 1230

ในตำนานจามเทวีวงศ์มีขยายความเรื่องเกี่ยวกับลัวะต่อไปอีกคือ ภายหลังการสงครามขุนวิลังคะ พระมหันตยศและพระอนันตยศ ก็ทรงได้พระธิดาขุนวิลังคะเป็นชายาด้วย ดังนั้นพระนางจามเทวีจึงมีพระสุณิสาลำดับแรกเป็นเจ้าหญิงชาวลัวะ

เรื่องเผชิญพวกลัวะนี้ ตำนานพื้นเมืองอีกฝ่ายหนึ่งกล่าวไว้พิสดารออกไป คือ หลวงมิลังคะ (ไม่ใช่ขุนวิลังคะ) ผู้นำเผ่าลัวะเกิดหลงใหลพระสิริโฉมแห่งพระนางจามเทวีจนไม่เป็นอันกินอันนอน จึงได้แต่งทูตมาสู่ขอ แต่พระนางจามเทวีไม่ทรงสนพระทัยและไม่ให้คำตอบใดๆ ทั้งสิ้น เป็นเหตุให้หลวงมิลังคะยกไพร่พลมาประชิดเมือง พระนางจึงทรงพระดำริว่า ถ้าจะรบกับหลวงมิลังคะบ้านเมืองคงย่อยยับแน่ จึงออกอุบายแก่หลวงมิลังคะว่า หากหลวงมิลังคะพุ่งเสน้า (ธนู) จากดอยสุเทพมาตกกลางเมืองลำพูนพระนางก็จะทรงตกลงเป็นพระมเหสี หลวงมิลังคะจึงดีใจถือธนูขึ้นดอยสุเทพ บริกรรมคาถาอาคมแล้วพุ่งเสน้าจากดอยสุเทพเพียงครั้งแรกก็มาตกที่นอกเมืองทางทิศตะวันตก ห่างกำแพงเมืองไปเพียงไม่กี่วาเท่านั้น สถานที่เสน้าตกนี้เรียกกันว่า หนองเสน้า เวลาต่อมา

พระนางจามเทวีทรงเห็นเช่นนั้นก็หวั่นพระทัยนัก ทรงเกรงว่าหากให้มีการพุ่งเสน้าเป็นครั้งที่ 2 และ 3 คงจะมาตกกลางเมืองแน่ จึงทรงออกอุบายอีกครั้งหนึ่ง ให้ข้าราชบริพารนำซิ่นในมาตัดเย็บเป็นหมวกส่งไปให้หลวงมิลังคะสวม ข้างหลวงมิลังคะนั้นพอได้รับของฝากจากพระนางก็ดีใจเป็นที่สุด รีบสวมหมวกนั้นแล้วลองพุ่งเสน้าเป็นครั้งที่ 2 และ 3 ปรากฏว่าเสน้ากลับลอยไปตกห่างจากตัวเมืองยิ่งกว่าเดิมหลายเท่า จึงได้พบว่าเสียรู้และถูกทำลายคาถาอาคมเสียแล้ว เลยหมดกำลังใจที่จะพุ่งเสน้าต่อไป พระนางจามเทวีจึงมิได้เป็นราชินีของชาวลัวะด้วยเหตุดังกล่าว แต่ต่อมาชาวลัวะกับชาวลำพูนก็ยังได้มีสัมพันธ์ต่อกันบ้างในรุ่นหลังจากนั้น

ใกล้เคียง

พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี พระนางเธอ ลักษมีลาวัณ พระนางจามเทวี พระนางสิริมหามายา พระนางจิรประภาเทวี พระนารายณ์ราชนิเวศน์ พระนามของพระเป็นเจ้าในศาสนาอิสลาม พระนางวิสุทธิเทวี พระนาย สุวรรณรัฐ พระนางศุภยาลัต