พระราชกรณียกิจ ของ พระนางวิสุทธิเทวี

การศาสนา

ในตำนานพระธาตุจอมทอง ได้กล่าวถึง ปี พ.ศ. 2099 ช่วงรัชสมัยของพระเจ้าเมกุ ซึ่งกษัตริย์และพระราชมารดาได้อัญเชิญพระบรมธาตุจอมทองเข้าไปพระราชวังที่เชียงใหม่ด้วยความเลื่อมใสจึงถวายข้าวของเงินทอง และกัลปนาคนเป็นข้าวัดพระธาตุจอมทอง ดังปรากฏในความหน้าลานที่ 58-59 ปริวรรตความว่า[33]

“...เมื่อนั้น พระราชบุตต์เจ้าอยู่เกล้าอยู่หัวตนเปนพระองค์ราชมาดามหาเทวี เจ้าทัง 2 พระองค์แม่ลูกทรงราชสัทธาจิ่งนิมนต์พระมหาธาตุเจ้าจอมทองเมือยังหดสรงในราชวัง ยินดีด้วยพระมหาธาตุเจ้าทัง 2 แม่ลูกก็หื้อยังมหาทานอันใหย่ คือว่า ข้าวของ เงินฅำ ข้าฅน ไร่นาที่ดิน ย่านน้ำ เครื่องทาน ขันสรง โกฎแก้วใส่ฅำประดับด้วยแก้วคอวชิระเพก (เพชร) และธารารับน้ำสรงแลสัพพเครื่องแหทังมวลอันพระรัตนราชเจ้าหื้อทานแล้วแต่ก่อน พระเป็นเจ้าทังสองแม่ลูกก็ซ้ำหื้อทานแถมเปนถ้วน 2 จิ่งพระราชอาชญาแก่มหาเสนาผู้ใหย่ทัง 4 คือว่า แสนหลวง สามล้าน จ่าบ้าน เด็กชาย ว่า ตั้งแต่นี้ไปพายหน้า ข้าพระเจ้าจอมทองนี้อย่าได้ใช้สอย...”

แต่อย่างไรก็ตามพระนางวิสุทธิเทวีได้ปฏิบัติตนในฐานะกษัตรีย์ที่ดี ยังสามารถทำบุญสร้างวัด และกัลปนาผู้คนและที่ดินถวายเป็นสมบัติในพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกับกษัตริย์องค์ก่อน ดังพบพระนางสร้างวัดราชวิสุทธาราม (หรือ วัดหลวงบ้านแปะ) ในเขตจอมทองใน พ.ศ. 2110 และได้ทำตราหลวงหลาบเงินเพื่อไว้คุ้มครองชาวบ้านรากราน, กองกูน, ป่ารวก, อมกูด และบ้านแปะบก ทั้งคนลัวะและคนไทยให้เป็นข้าวัดทำหน้าที่ทางพุทธศาสนา ห้ามนำมาใช้งานใด ๆ เนื่องจากได้พระราชทานวัดแล้ว โดยในสมัยของพระเจ้าตลุนมิน หรือพระเจ้าสุทโธธรรมราชา ได้กวาดต้อนเชลยจากเชียงใหม่ พบว่ามีข้าวัดราชวิสุทธารามติดไปด้วย เมื่อพระองค์ทราบจึงได้สั่งให้ปล่อยตัวคืนกลับมาทุกคน[34][35]

การต่างประเทศ

ในช่วงรัชสมัยของพระนาง พระนางได้ยอมรับและสนับสนุนพระราชอำนาจของราชสำนักบุเรงนองตลอดรัชกาลซึ่งแตกต่างจากนโยบายของท้าวแมกุ มีหลักฐานปรากฏอย่างชัดเจนว่าพระนางได้จัดทัพล้านนาไปช่วยพม่าทำศึก โดยเฉพาะเมื่อคราวตีกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2112 ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า[1]

“...พลพระเจ้าหงสาวดียกมาครั้งนั้น คือพลพม่ามอญในหงสาวดี อังวะ ตองอู เมืองปรวน และเมืองประแสนิว เมืองกอง เมืองมิต เมืองตะละ เมืองหน่าย เมืองอุมวง เมืองสะพัว บัวแส และเมืองสรอบ เมืองไทยใหญ่ อนึ่งทัพเชียงใหม่นั้น พระเจ้าเชียงใหม่ประชวร จึงแต่งให้พระแสนหลวงพิงชัย เป็นนายกองถือพลลาวเชียงใหม่ทั้งปวงมาด้วยพระเจ้าหงสาวดีเป็นทัพหนึ่ง...”

และในปี พ.ศ. 2117 เชียงใหม่ได้ส่งทัพไปปราบล้านช้างเวียงจันทน์สองทัพ[2]

เป็นไปได้ว่า พระนางวิสุทธิเทวีทรงยึดมั่นในความจงรักภักดีต่อพระเจ้าบุเรงนองที่สอดประสานกับนโยบายของผู้ปกครองพม่าที่มุ่งประคับประคองมิตรภาพของสองอาณาจักรให้ยั่งยืน[36] พม่าจึงไม่แทรกแซงปรับเปลี่ยนจารีตท้องถิ่น แต่ยังศึกษาและปกปักจารีตท้องถิ่น ซึ่งส่งผลทางอ้อมต่อการคงไว้ซึ่งความอยู่รอดของบ้านเมือง อาณาราษฎร และคงอยู่ซึ่งอำนาจของพระนางเอง[37] ถึงแม้ว่าพระราชอำนาจของพระนางจะมีขีดจำกัด[32] แต่ด้วยพระอัจฉริยภาพหยั่งรู้สถานการณ์ แม้ว่าโครงสร้างราชวงศ์จะขาดความมั่นคงแต่ล้านนาก็จะคงอยู่ได้ด้วยพระราชอำนาจและบารมีของพระเจ้าบุเรงนอง ผู้ที่ซึ่งเจ้าแผ่นดินในรัฐจารีตร่วมสมัยมิอาจแข่งขันได้[32]

อย่างไรก็ตามพระราชอำนาจของพระนางนั้น ยังได้รับการยอมรับจากขุนนางพม่าที่มาปกครองเชียงใหม่ ดังพบการได้รับเกียรติจากแม่ทัพพม่าและข้าหลวงชาวอังวะและหงสาวดีที่ประจำการในเชียงใหม่ เมื่อมีการหล่อพระพุทธรูปเมืองรายเจ้า พ.ศ. 2108 พระนางได้รับเกียรติเข้าร่วมทำบุญในฐานะ "สมเด็จพระมหาเทวีเจ้าผู้ทรงเป็นใหญ่ในนพบุรี"[3]

ใกล้เคียง

พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี พระนางเธอ ลักษมีลาวัณ พระนางจามเทวี พระนางสิริมหามายา พระนางจิรประภาเทวี พระนารายณ์ราชนิเวศน์ พระนามของพระเป็นเจ้าในศาสนาอิสลาม พระนางวิสุทธิเทวี พระนาย สุวรรณรัฐ พระนางศุภยาลัต