พระประวัติ ของ พระนางวิสุทธิเทวี

ตราครั่งประจำพระองค์ (ด้านหน้า) เป็นรูปดอกบัวในกรอบวงกลม[18]
ตราครั่งประจำพระองค์ (ด้านหลัง) จารึกพระนาม "สมเดจเจ้าราชวิศุทธ" ด้วยอักษรฝักขาม[18]

พระชนม์ชีพช่วงต้น

พระนางวิสุทธิเทวีเป็นเจ้านายดั้งเดิมมาจากที่ไหน หรือทรงสืบเชื้อสายมาจากผู้ใดไม่เป็นที่ทราบ ซึ่งใน จารึกวัดชัยพระเกียรติ ที่กล่าวถึงการสร้างพระพุทธรูปเมืองรายเจ้าโดยขุนนางพม่าของพระเจ้าบุเรงนอง ระบุพระนามของพระนางวิสุทธิเทวีว่า "...สมเด็จพระมหาเทวีเจ้าตนเป็นเหง้าในนพบุรี..." ซึ่งคำว่า "เหง้า" นี้ ฮันส์ เพนธ์สันนิษฐานไว้เมื่อปี พ.ศ. 2519 ว่าที่จารึกใช้คำว่าเหง้านี้ อาจเป็นเพราะมหาเทวีพระองค์นี้ทรงมีเชื้อสายพญามังราย กอปรกับชื่อพระพุทธรูปเมืองรายเจ้าก็เป็นชื่อตั้งเพื่อถวายพระเกียรติพญามังรายและพระมหาเทวีวิสุทธิผู้มีเชื้อสายของพญามังราย[19] ส่วนเพ็ญสุภา สุขคตะอธิบายว่าพระนางวิสุทธิเทวีเป็นเจ้าหญิงมาจากเมืองนาย ซึ่งถูกส่งมาเป็นพระชายากษัตริย์ล้านนาตามพระราชธรรมเนียม[17] อย่างไรก็ตามพระราชประวัติอันมืดมนซึ่งปรากฏบทบาทของพระองค์เพียงช่วงครองราชย์เท่านั้น ทำให้ไม่ทราบและไม่มีข้อมูลที่แน่นอนเกี่ยวกับพระประวัติตอนต้นของพระองค์ จึงกลายเป็นปริศนาที่ต้องค้นคว้าต่อไป[9] เรื่องราวของพระองค์มาปรากฏชัดเจนเมื่อครั้งมีพระอิสริยยศเป็นพระมหาเทวี คือเป็น "พระราชชนนีของพระมหากษัตริย์"[7]

ทั้งนี้ตำแหน่งพระมหาเทวีเป็นตำแหน่งที่มีบทบาททางการเมืองสูง ดังจะเห็นจะได้จากพระราชประวัติของมหาเทวีจิรประภา และมหาเทวีสิริยศวดี และเป็นที่แน่นอนว่าพระองค์ต้องเป็นพระราชมารดาของกษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง[9] ซึ่ง รศ. ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์สันนิษฐานว่าพระองค์เป็นพระราชชนนีในพระเมกุฏิสุทธิวงศ์[16][20][21] โดยปรากฏหลักฐานว่าพระองค์ร่วมประกอบพระราชกรณียกิจร่วมกับพระราชโอรสบ่อยครั้ง[22][23]

เสวยราชย์

พระเมกุฏิสุทธิวงศ์และพระยากระมลเจ้าผู้ครองเมืองเชียงแสนร่วมกันคิดกบฏต่อกรุงหงสาวดี เพราะไม่ยอมส่งทัพช่วยพม่ารบกับอาณาจักรอยุธยาเมื่อคราวสงครามช้างเผือกในปี พ.ศ. 2016 โดยมีเจ้าเมืองเชียงราย เจ้าเมืองน่าน และเจ้าเมืองลำปางร่วมก่อกบฏด้วยโดยมีสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช พระมหากษัตริย์ล้านช้างทรงสนับสนุน หลังพม่าเสร็จศึกที่อาณาจักรอยุธยาก็ยกทัพขึ้นมาปราบล้านนาอีกครั้ง บรรดาเจ้าเมืองต่าง ๆ ที่เคยลุกขึ้นมาต่อต้านกลับพากันหลบลี้ไปล้านช้างเสียหมดยกเว้นพระเมกุฏิที่ยอมสวามิภักดิ์แต่โดยดีและจัดบรรณาการมาถวาย ทว่าความผิดที่พระเมกุฏิฝ่าฝืนการปฏิบัติคำสั่งถือเป็นโทษร้ายแรง[24] เป็นเหตุให้พระเจ้าบุเรงนองถอดพระเมกุฏิสุทธิวงศ์ออกจากพระราชบัลลังก์ล้านนาและพาตัวไปหงสาวดีเป็นการลงทัณฑ์ แล้วพระราชทานตำหนักขาวให้ประทับ ดังปรากฏใน พระราชพงศาวดารพม่าฉบับหอแก้ว ที่กล่าวถึงปี พ.ศ. 2110 ความว่า (คำอธิบายในวงเล็บเป็นของ รศ. ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์)[25]

"...ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานตำหนักให้กับนะระปะติเจ้าเมืองแพร่ ๑ อะวะนะระปะติจีสู ๑ [นะระปะติสีตู] พระสังข์เจ้าเมืองเชียงใหม่ ๑ [ที่ถูกต้องคือพระตาน มาจากคำว่าเจ้าขนานแม่กุ] พระสาธิราชพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา [พระเธียรราชา] แล้วพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคเป็นอันมาก..."

หลังจากนั้นพระเจ้าบุเรงนองจึงตั้งพระนางวิสุทธิเทวี ขัตติยนารีผู้มีเชื้อสายราชวงศ์มังรายครองล้านนาสืบต่อไป ซึ่ง ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ได้สันนิษฐานว่าพระนางวิสุทธิเทวีนี้คือพระราชชนนีของพระเมกุฏิ โดยให้เหตุผลว่าเป็นหลักประกันเพื่อมิให้เจ้าแผ่นดินล้านนาพระองค์ใหม่คิดแข็งเมืองต่อพม่า[15] เพราะฝ่ายพม่าได้ยกไพร่พลและขุนนางรามัญไปอยู่ในเมืองเชียงใหม่เสียด้วย ดังปรากฏใน พงศาวดารโยนก ความว่า[26]

"...แล้วตั้งราชเทวีอันเป็นเชื้อสายเชียงใหม่แต่ก่อนทรงนามพระวิสุทธิเทวีขึ้นเป็นราชินีครองเมืองนครเชียงใหม่สืบไป ให้ขุนนางรามัญอยู่เป็นข้าหลวงกำกับเมือง..."

เมื่อพระนางวิสุทธิเทวีได้ขึ้นเสวยราชสมบัติก็เมื่อพระองค์ชราภาพแล้ว หลังพระองค์ครองราชย์ได้เพียง 14 ปีก็พิราลัย โดยมีหลักฐานจากโคลงมังทรารบเชียงใหม่ที่ได้ระบุไว้ในโคลงบทที่ 13 ที่ได้กล่าวถึงพระนางวิสุทธิเทวีที่ยืนยันเกี่ยวกับการครองราชย์เมื่อชราภาพ และทำบุญเป็นประจำ ความว่า

มหาอัคคราชท้าวเทวี
ยามหงอกกินบุรีถ่อมเถ้า
ทำทานชู่เดือนปีศีลเสพ นิรันดร์เอ่
เห็นเหตุภัยพระเจ้าราชรู้อนิจจา[27]

แม้จะอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า แต่พระองค์ยังมีบทบาททางการเมืองค่อนข้างสูงโดยมีหลักฐานจากแหล่งต่าง ๆ มายืนยันจากพระนามที่ปรากฏ ดังนี้ สมเด็จพระมหาเทวีเจ้า ผู้ทรงเป็นใหญ่ (จารึกที่ฐานพระพุทธรูปวัดชัยพระเกียรติ), มหาอัครราชท้าวนารี (โคลงมังทรารบเชียงใหม่), พระนางมหาเทวี (พงศาวดารเชียงใหม่ฉบับภาษาพม่า), สมเด็จพระมหาราชเทวีบรมพิตรพระเป็นเจ้าอยู่หัว (ตราหลวงกุหลาบเงิน พ.ศ. 2110) และ มหาเทวี (ตำนานเมืองลำพูน)[28][29] พระนางวิสุทธิเทวีมีพระสถาภาพเป็นมหาเทวีผู้ทรงอำนาจสูง ทรงผ่านการราชาภิเษกสองครั้ง[21][30] พระองค์มีพระราโชบายเพื่อประคับประคองบ้านเมืองให้อยู่รอดตลอดรัชสมัยของพระนางที่ให้ความร่วมมือกับพม่า พระนางจึงได้รับการยอมรับจากกษัตริย์พม่า[30] รวมทั้งขุนนางพม่าที่รั้งเมืองเชียงใหม่ ดังการพบเมื่อคราวมีการหล่อพระพุทธรูปเมืองรายเจ้า พ.ศ. 2108 พระองค์ได้รับเกียรติจากแม่ทัพพม่า ข้าหลวงชาวอังวะและหงสาวดีที่มาประจำการในเชียงใหม่ พระนางได้รับเกียรติเข้าร่วมทำบุญในฐานะ สมเด็จพระมหาเทวีเจ้าผู้ทรงเป็นใหญ่ในนพบุรี[3]

พิราลัย

พระนางวิสุทธิเทวีพิราลัยเมื่อ พ.ศ. 2121 โดยใน ตำนานเมืองลำพูน กล่าวถึงมหาเทวีที่กิน 14 ปีก็พิราลัย ดังความว่า "...ในปีร้วงไค้ ได้อาราทนาราชภิเสก ๒ หน มหาเทวีรักษาเมืองเชียงใหม่ได้ ๑๔ ปี สุรคุตในปีเปิกยี..."[21] พระนางได้รับการถวายเกียรติยศโดยสร้างปราสาทเป็นที่ตั้งพระศพตั้งบนหลังนกหัสดีลิงค์ และใช้ช้างลากปราสาทศพ โดยเจาะกำแพงเมืองออกไปฌาปนกิจที่วัดโลกโมฬี ถือกันว่าการทำศพครั้งนี้เป็นแบบอย่างการปลงศพเจ้านายเมืองเหนือสืบมา ดังปรากฏความใน พงศาวดารโยนก ความว่า[31]

"นางวิสุทธิราชเทวีผู้ครองนครพิงค์เชียงใหม่ถึงพิราลัย พระยาแสนหลวงแต่งการศพทำเป็นพิมานบุษบก ตั้งบนหลังนกหัสดินทร์ขนาดใหญ่รองด้วยเลื่อนแม่สะดึง เชิญหีบพระศพขึ้นไว้ในบุษบกนั้น แล้วฉุดชักไปด้วยแรงคชสาร เจาะพังกำแพงเมืองไปถึงทุ่งวัดโลก ก็กระทำฌาปนกิจถวายพระเพลิง ณ ที่นั่น เผาพร้อมทั้งรูปสัตว์และวิมานที่ทรงศพนั้นด้วย จึงเป็นธรรมเนียมลาวในการปลงศพเจ้าผู้ครองนครทำเช่นนี้สืบกันมา"

และแม้พระนางวิสุทธิเทวีอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า แต่พระนางก็ได้รับการปฏิบัติอย่างสมพระเกียรติ ด้วยพระอัจฉริยภาพในการดำเนินนโยบายด้านการปกครองอย่างระมัดระวังและประนีประนอมแต่ก็รักษาพระเกียรติยศไว้อย่างสมบูรณ์จนสิ้นรัชกาล[32]

ใกล้เคียง

พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี พระนางเธอ ลักษมีลาวัณ พระนางจามเทวี พระนางสิริมหามายา พระนางจิรประภาเทวี พระนารายณ์ราชนิเวศน์ พระนามของพระเป็นเจ้าในศาสนาอิสลาม พระนางวิสุทธิเทวี พระนาย สุวรรณรัฐ พระนางศุภยาลัต