พระประวัติ ของ พระนางสิริมหามายา

พระประวัติตอนต้น

พระนางสิริมหามายามีพระชนม์ชีพตอนต้นเป็นอย่างไรไม่เป็นที่ทราบ ปรากฏความเพียงว่าเสด็จพระราชสมภพในวงศ์เจ้าผู้ปกครองแคว้นโกลิยะ เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าอัญชนะแห่งโกลิยะกับพระนางยโสธราแห่งสักกะ มีพระเชษฐาสองพระองค์คือพระเจ้าสุปปพุทธะและพระเจ้าทัณฑปาณิ และมีพระขนิษฐาคือพระนางมหาปชาบดีโคตมี พระราชบิดาและพระราชชนนีเป็นเครือญาติกัน สืบมาแต่พระเจ้าโอกกากราช (Okkākarāj)[1][2][3][7]

ผู้สืบเชื้อสายจากพระเจ้าโอกกากราชนี้แบ่งออกเป็นสองตระกูลคือสักกะ (ศากยะ) กับโกลิยะ ซึ่งสายตระกูลโกลิยะสืบมาจากเจ้าหญิงปิยา (หรือปริยา) พระราชธิดาของพระเจ้าโอกกากราชที่ถูกพี่น้องเนรเทศออกมาจากวังไปประทับอยู่ในป่าเพราะเป็นทรงประชวรพระโรคเรื้อนน่ารังเกียจปรากฏบนพระวรกายเหมือนดอกทองหลาง ต่อมาได้ทรงพบกับพระเจ้ารามะ อดีตเจ้าผู้ครองพาราณสีที่ทรงพระประชวรพระโรคผิวหนังเช่นกันซึ่งสละราชสมบัติแก่พระราชโอรสและครองเพศฤๅษี ภายหลังทั้งสองพระองค์จึงอยู่กินกันและต่อมาได้เสวยผลจากไม้โกลัน (ต้นกระเบา) จึงทรงหายจากพระโรคผิวหนัง ด้วยสำนึกในบุญคุณของต้นไม้นี้จึงเรียกนามวงศ์ตระกูลตนเองว่า "โกลิยะ"[3][7] แต่ใน สัมมาปริพพาชนิยสูตร อธิบายว่าที่ชื่อโกลนคร เพราะสร้างพระนครบริเวณที่เคยเป็นป่ากระเบามาก่อน ส่วนที่หายจากพระโรคเรื้อนนั้นก็เพราะเสวยรากไม้และผลไม้ในป่า พระฉวีจึงหายจากการเป็นพระโรคเรื้อน กลับผ่องพรรณดุจทอง[8]

อย่างไรก็ตามสองตระกูลคือสักกะและโกลิยะถือตัวในระบบวรรณะยิ่ง ด้วยแต่งงานเกี่ยวดองกันภายในสองตระกูลเท่านั้น จะไม่แต่งงานกับตระกูลอื่นเด็ดขาดแม้ว่าจะเป็นวรรณะกษัตริย์จากเมืองอื่นก็ตาม[1][2][3][7] แต่ดอนัลด์ เอส. โลเปซ (Donald S. Lopez) ศาสตราจารย์ด้านพุทธศาสนาและทิเบตศึกษา และริชาร์ด เอฟ. กอมบริช (Richard F. Gombrich) นักภารตวิทยาและนักวิชาการด้านภาษาบาลี-สันสกฤตและพุทธศึกษา อธิบายว่าช่วงเวลานั้นอิทธิพลของพระเวทไม่น่าจะเข้าถึงแคว้นทั้งสอง รวมทั้งการเสกสมรสในหมู่เครือญาตินั้นเป็นเรื่องต้องห้ามของสังคมอารยัน ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าตระกูลทั้งสองนี้อาจมิได้สืบเชื้อสายชาวอารยัน[9]

อรรถกถาอัปปายุกาสูตร ระบุว่าแต่เดิมพระนางสิริมหามายาเป็นเทพบุตรอยู่สวรรค์ชั้นดุสิต แต่ได้อธิษฐานขอเป็นพุทธมารดา ชาตินี้จึงประสูติมาเป็นสตรี ทั้งได้ขอมีพระชนม์เพียงเจ็ดวันหลังประสูติกาล เพราะสงวนพระครรภ์ไว้แก่พระโพธิสัตว์เพียงพระองค์เดียว[10] และเพื่ออยู่เชยชมพระโฉมพระโพธิสัตว์ ก่อนเสด็จสวรรคตกลับไปจุติบนสวรรค์ชั้นดุสิต[6]

พุทธมารดา

พระนางสิริมายามายาขณะทรงสุบินนิมิต ศิลปะคันธาระ
พระนางสิริมหามายาขณะเหนี่ยวกิ่งสาละประสูติการพระพุทธเจ้า ศิลปะยุคราชวงศ์กุษาณ (ราวศตวรรษที่ 2-3)

พระนางสิริมหามายาทรงอภิเษกสมรสระหว่างเครือญาติกับพระเจ้าสุทโธทนะแห่งสักกะตามพระราชประเพณี[1][2][3][7] หลังการอภิเษกสมรส 20 ปี พระองค์ก็มิได้ทรงพระครรภ์ จนกระทั่งในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ก่อนพุทธศักราช 81 ปี ขณะนั้นพระองค์ในช่วงมัชฌิมวัย[6] พระองค์ทรงพระสุบินว่าจาตุมหาราชิกายกพระแท่นบรรทมของพระองค์ไปยังป่าหิมพานต์ เทพทั้งสี่ได้กราบบังคมทูลเชิญให้พระองค์สรงน้ำในสระอโนดาต ชำระพระองค์ด้วยเครื่องหอมนานาชนิด แล้วเสด็จขึ้นบรรทม ณ พระแท่นภายในวิมานทองบนภูเขาสีเงิน ทรงบ่ายพระพักตร์ไปทิศตะวันออก ขณะนั้นมีพญาช้างเผือกนำดอกบัวขาวกลิ่นหอมแรกแย้มมาถวาย ก่อนร้องเสียงดัง แล้วเดินทักษิณาวัตรรอบพระแท่นสามรอบ ครั้นรุ่งขึ้นจึงกราบบังคมทูลแก่พระภัสดาถึงนิมิตนั้น พระเจ้าสุทโธทนะจึงมีรับสั่งให้โหรประจำราชสำนักทำนาย ซึ่งโหรหลวงได้ทำนายไว้ว่า "พระนางสิริมหามายาทรงพระครรภ์พระองค์จักมีพระราชโอรส พระราชโอรสนั้นถ้าอยู่ครองราชย์ก็จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ แต่ถ้าเสด็จออกบวชจักได้เป็นพระพุทธเจ้า"[11]

ครั้นเมื่อพระครรภ์ครบถ้วนทศมาสกับอีกเจ็ดวัน[6] พระนางสิริมหามายาจึงกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตพระราชสวามี เพื่อเสด็จแปรพระราชฐานไปยังเทวทหะอันเป็นมาตุภูมิเพื่อประสูติการพระราชโอรสตามราชประเพณีนิยม ระหว่างเสด็จแปรพระราชฐาน ได้ทรงหยุดพักพระอิริยาบถใต้ต้นสาละป่าลุมพินี ซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์กับเทวทหะ เมื่อนั้นพระองค์จึงประชวรพระครรภ์และทรงยืนเหนี่ยวกิ่งสาละประสูติการพระราชโอรส เมื่อวันศุกร์ เพ็ญเดือน 6 ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี[12] เมื่อพระกุมารประสูติขึ้นทรงพระดำเนิน 7 ก้าวโดยมีดอกบัวผุดขึ้นมารองรับ ผินพระพักตร์ไปทางทิศอุดร ทรงยกพระหัตถ์ขวา แล้วทรงชี้พระดัชนีขึ้นฟ้าแล้วกล่าวอภิวาทวาจาอย่างน่าอัศจรรย์ว่า "อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส เชฎฺโหมสฺมิ โลกสฺส เสฎฺโหมสฺมิ โลกสฺส อนมนฺติมา เม ชาติ นฺตถิทานิ ปุนพฺภโวติ" อันมีความหมายว่า "เราเป็นผู้เลิศที่สุดในโลก เราเป็นผู้เจริญที่สุดในโลก เราเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในโลก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา ชาติอื่น ภพอื่นจะไม่มีอีก"[13] หรืออาจแปลว่า "เราเป็นยอดของโลก เราเป็นใหญ่แห่งโลก เราเป็นผู้ประเสริฐแห่งโลก ความเกิดของเรานี้เป็นครั้งที่สุด บัดนี้ความเกิดอีกมิได้มี"[14] ซึ่งกรณีที่พระพุทธเจ้าเดินได้เมื่อแรกประสูตินั้น พุทธทาสภิกขุ อธิบายว่าการเดินได้เจ็ดก้าวนั้นเป็นปริศนาธรรมมากกว่า เพราะสื่อถึงโพชฌงค์ 7 ประการ หาใช่เกิดจากอภินิหาริย์พิเศษจาการเป็นโพธิสัตว์จึงทำให้เดินได้แต่ประการใด[15]

หลังประสูติกาลพระราชกุมารได้สามวัน อสิตดาบส (Asita) หรือกาฬเทวิลดาบส (Kāḷadevil) นักบวชที่คุ้นเคยกับพระเจ้าสุทโธทนะได้เดินทางมาชื่นชมพระบารมีของพระกุมาร และเมื่อได้ตรวจลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการอย่างละเอียด จึงก้มกราบพระกุมารด้วยความเคารพ พร้อมกับกำสรวลและหัวเราะไปด้วย สร้างความแปลกพระทัยแก่พระเจ้าสุทโธทนะยิ่งนัก พระเจ้าสุทโธทนะจึงทูลถามดาบสว่าเป็นเช่นนี้เพราะเหตุใด อสิตดาบสจึงตอบพระราชปุจฉาว่า "ที่หัวเราะเพราะตื้นตันใจที่ได้เจอพระกุมารที่มีบุญญาบารมี มีลักษณะมหาบุรุษครบ 32 ประการ นับว่าหาไม่ได้ในภัททกัปป์นี้ อาตมามีวาสนาแท้ที่ได้เห็น และที่ร้องไห้เพราะพระโอรสเจริญวัยขึ้นจะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศาสดาเอกของโลก พระองค์จะแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลางและที่สุด เสียดายที่อายุอาตมาภาพแก่เกินไป คงไม่อาจได้สดับฟังคำสอนของพระองค์ จึงอดกลั้นน้ำตาไม่ไหว"[13]

หลังจากประสูติกาลพระราชกุมารได้ห้าวัน พระเจ้าสุทโธทนะได้อัญเชิญพราหมณ์ 108 ตนที่เจนจบไตรเพทมาในพระราชวัง พราหมณ์ทั้งหลายขนานพระนามพระกุมารว่า "สิทธัตถะ" แปลว่า "ผู้มีความต้องการอันสำเร็จ"[13][16]

สวรรคต

หลังประสูติกาลพระราชกุมารได้เจ็ดวัน พระนางสิริมายามายาก็สวรรคต สร้างความโศกาอาดูรแก่พระเจ้าสุทโธทนะและพระประยูรญาติอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้เจ้าชายสิทธัตถะจึงอยู่ภายใต้การอภิบาลของพระนางปชาบดีโคตมี พระขนิษฐาพระนางสิริมหามายา ซึ่งต่อมาได้เป็นพระอัครมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ มีพระราชโอรส-ธิดาสองพระองค์คือ เจ้าชายนันทะ (Nanda) และเจ้าหญิงรูปนันทา (Rūpanandā)[13][16][17] ส่วนพระนางสิริมหามายาได้ไปจุติเป็นเทพบุตรบนสวรรค์ชั้นดุสิต[10][13][16]

หลังพระโคตมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ได้มีดำริที่จะสนองพระคุณพุทธมารดาด้วยการแสดงธรรมเทศนาด้วยกตัญญูกตเวทิตาธรรม จึงเสด็จขึ้นไปแสดงธรรมบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อพระอินทร์เห็นพุทธองค์เสด็จขึ้นมายังสรวงสวรรค์นั้นก็เกิดปีติเกษมสานต์ ประณมหัตถ์อภิวาท ขอประกาศให้เทวดาทุกชั้นฟ้ามาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อสดับพระธรรมเทศนา ซึ่งพระพุทธเจ้าได้มีพระประสงค์ให้พุทธมารดาขึ้นมา ณ ที่ประชุมเทวดา แต่มิทรงทอดพระเนตรเห็น จึงทูลถามพระอินทร์ เมื่อพระอินทร์ทราบถึงความประสงค์ของพุทธองค์ จึงเสด็จไปทูลเชิญพุทธมารดาที่ประทับอยู่สวรรค์ชั้นดุสิตไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าตามพุทธประสงค์ เมื่อพระพุทธองค์ทอดพระเนตรเห็นพระนางสิริมหามายาแล้ว ก็ทรงปีติโสมนัสยิ่ง จึงยกพระหัตถ์เบื้องขวากวักทูลเชิญพระมารดาเข้ามาใกล้ ๆ เพื่อประกาศพระคุณแห่งมารดาแก่เทวดาทั้งหลายที่มาชุมนุม ณ ที่นั้น ก่อนจะแสดงพระอภิธรรมเจ็ดพระคัมภีร์ เมื่อจบพระคัมภีร์ที่เจ็ด พระนางสิริมหามายาก็บรรลุพระโสดาปัตติผล สมประสงค์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วจึงเสด็จกลับโลกมนุษย์เมื่อวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11[18][19]

ใกล้เคียง

พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี พระนางเธอ ลักษมีลาวัณ พระนางจามเทวี พระนางสิริมหามายา พระนางจิรประภาเทวี พระนารายณ์ราชนิเวศน์ พระนามของพระเป็นเจ้าในศาสนาอิสลาม พระนางวิสุทธิเทวี พระนาย สุวรรณรัฐ พระนางศุภยาลัต

แหล่งที่มา

WikiPedia: พระนางสิริมหามายา http://www.dharma-gateway.com/buddha/buddha-misc/b... http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=1... http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=3... http://www.84000.org/one/2/01.html http://www.accesstoinsight.org http://www.crs.mahidol.ac.th/thai/buddhist13.htm http://www.crs.mahidol.ac.th/thai/buddhist17.htm http://www.crs.mahidol.ac.th/thai/buddhist80.htm http://www.banmuang.co.th/news/education/81990 https://www.phuttha.com//%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%...