พระกรณียกิจโดยสังเขป ของ พระนางเจ้าสุวัทนา_พระวรราชเทวี

ด้านการศึกษา

พระนางเจ้าสุวัทนาและพระราชธิดาองค์อุปถัมภิกาการศึกษาแห่งชาติ

พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงสนับสนุนการศึกษาอย่างเต็มที่ ด้วยทรงกำพร้าพระชนนีและไม่ได้ติดต่อกับพระชนก จึงทรงไม่ได้รับการศึกษาอย่างที่ควรจะเป็น ดังนั้น เมื่อเสด็จนิวัตประเทศไทยในปี พ.ศ. 2502 ก็ทรงสนับสนุนการศึกษาอย่างเต็มที่ โดยโปรดพระราชทานเงินเพื่อสร้างอาคารเรียน ตามโรงเรียนต่าง ๆ เช่น วชิราวุธวิทยาลัย และยังทรงร่วมกับพระธิดาในการสนับสนุนการศึกษาด้านอื่น ๆ เช่น พระราชทานเงินสบทบสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีสร้างโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร พระราชทานทุนแก่นักเรียนที่เรียนดี เสด็จไปทรงวางศิลาฤกษ์และเปิดอาคารเรียนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ตลอดจนการเสด็จไปทอดพระเนตรการแสดงและผลงานของนักเรียน นักศึกษาสถาบันต่างๆ และพระราชทานกำลังใจอย่างใกล้ชิด[34]

การศาสนา

พระนางเจ้าสุวัทนาและพระราชธิดาทอดพระกฐินพระราชทาน ณ วัดพระปฐมเจดีย์ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2512

พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงมีศรัทธาในบวรพุทธศาสนา ทรงศรัทธาร่วมการก่อสร้าง บูรณะปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ เสนาสนะ และพระพุทธรูป ดังเช่น ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อสร้างม้าหมู่ชุดใหญ่ 3 ชุด พระราชทานแก่องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก เพื่อใช้ประดิษฐานเป็นประธานในห้องประชุม อีกทั้งยังโปรดเสด็จไปทรงทอดผ้าพระกฐินส่วนพระองค์ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดทั้งใกล้และไกลทั่วทุกภาค พร้อมทั้งทรงเยี่ยมประชาชนที่มาเฝ้ารับเสด็จและพระราชทานเครื่องนุ่งห่มและยารักษาโรคแก่ผู้ยากไร้ตามหัวเมืองทั้งใกล้ไกลที่เสด็จไปทรงทอดกฐินเป็นประจำทุกปี เล่ากันว่าในเทศกาลทอดกฐิน นอกจากจะทรงเป็นผู้แทนพระองค์เชิญพระกฐินหลวงไปถวายตามพระอารามหลวงแล้วปีละ 2 วัด (เสด็จบ่อยที่วัดพระปฐมเจดีย์) ในส่วนพระองค์ทรงเลือกวัดราษฎร์ที่ยากจนและอยู่หัวเมืองไกล ๆ อีก 3 วัด เพื่อเสด็จไปทอดกฐิน เล่ากันถึงวิธีการเลือกวัดดังกล่ าวไว้ว่า จะโปรดให้คนในวังไปสำรวจหาวัดที่มีคุณสมบัติดังที่ทรงประสงค์ และเก็บข้อมูลมาเล่าถวายว่าสมควรจะได้รับพระอุปการะอย่างไร ด้านไหน ก็จะทรงช่วยเหลือให้ตรงกับความต้องการและยังประโยชน์ให้แก่พระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ดังที่มหาดเล็กในวังเล่าไว้ว่า “...โปรดที่จะเสด็จไปทำบุญกับวัดที่ยากจน หรือไม่ก็ไม่มีใครเหลียวแลจริง ๆ...” ซึ่งประเพณีเฉพาะพระองค์นี้ตกทอดมาสู่พระราชธิดาพระองค์เดียวอย่างแนบแน่น[35]

งานสังคมสงเคราะห์

งานเมตตาบันเทิงรื่นฤดี

พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีได้เริ่มทรงงานเพื่อสาธารณประโยชน์ร่วมกับสมาคมมูลนิธิ และองค์กรการกุศลต่าง ๆ อาทิ ตัวอย่างงานที่ทรงจัดขึ้นและเป็นที่ประทับใจของคนจำนวนมากและเป็นที่กล่าวขวัญกันอย่างยิ่งก็คืองานเมตตาบันเทิง “รื่นฤดี” ใน พ.ศ. 2503[36] ที่เป็นงานการกุศลซึ่งจัดขึ้นในบริเวณสวนอันสวยงามของวังรื่นฤดี สวนดังกล่าวนั้น พระนางเจ้าสุวัทนาฯ ทรงปลูกไม้ดอกพันธุ์ใหม่ ๆ แปลกกว่าพันธุ์ไม้ที่เคยพบเห็นกันมาช้านานแล้ว ดังนั้นสวนดอกไม้ของพระองค์จึงมีผู้ปรารถนาจะมาชมกันมากในสมัยนั้น สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีและพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ 6 ทรงเป็นเจ้าภาพในงานเมตตาบันเทิงดังกล่าว ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกในกรุงเทพมหานคร การนี้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถทรงพระมหากรุณาเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานในงานด้วย ในงานวันนั้นมีการแสดงดนตรีและนาฏศิลป์หลายรูปแบบผู้แสดงล้วนแต่เป็นบุตรหลานของผู้เป็นที่รู้จักกันดีในวงสังคม นอกจากการแสดงแล้วยังมีการออกร้านอาหาร เครื่องดื่ม และขายสินค้างานฝีมือที่จัดทำอย่างประณีต ยิ่งไปกว่านั้นในบริเวณงานยังประดับไฟฟ้าตามต้นไม้ใหญ่อย่างงดงาม ผู้มาร่วมงานต่างชื่นชมในความแปลกใหม่ของงานกลางแจ้งซึ่งไม่เคยได้เห็นมานานแล้ว การจัดงานครั้งนั้นได้รับเงินบริจาคเป็นจำนวนมาก[37] ดังนั้น ต่อมา จึงมีหน่วยงานสาธารณกุศลต่าง ๆ กราบทูลขอประทานพระอนุญาตใช้วังรื่นฤดี เป็นสถานที่จัดงานในรูปแบบต่าง ๆ กันหลายราย เช่น งานแสดงแบบเสื้องานประกวดสักวาเพลงเรือในสระน้ำขนาดใหญ่ของวัง ฯลฯ โดยพระนางเจ้าสุวัทนาฯ เต็มพระทัยประทานพระอนุญาต ทั้งยังทรงร่วมด้วยอย่างไม่ทรงเห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ทั้งจัดงาน ทั้งเก็บดูแลภายหลังเสร็จงาน โดยเฉพาะการซ่อมแซมพื้นสนาม บำรุงต้นไม้ที่เสียหายไปบ้างในระหว่างงาน[38] และมีหลายคราวที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตลอดจนพระราชโอรสธิดา เช่น ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จมาทรงเป็นประธานในงานการกุศลซึ่งจัดขึ้น ณ วังรื่นฤดีแห่งนี้[37]

ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข

พระนางเจ้าสุวัทนาทรงปลูกต้นไม้ในโอกาสเปิดโรงพยาบาลพระนางเจ้าสุวัทนาพระราชทานเงินแก่งิ้ว

พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงอุปการะกิจการเพื่อการสาธารณประโยชน์อื่นๆ อีกมากมาย อาทิ สมาคม องค์กร และชุมนุมซึ่งบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม เช่นเมื่อครั้งทรงเจริญพระชันษา 60 ปี ในวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2508 ได้ทรงจัดงานฉลองพระชันษา ณ วังรื่นฤดี มีเจ้านายพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ ตลอดจนพระอนุวงศ์ ข้าราชบริพาร และผู้จงรักภักดีเสด็จและเดินทางมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก มีสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 เป็นอาทิ การนั้นได้มีผู้ถวายเงินโดยเสด็จพระกุศลตามพระอัธยาศัยเป็นจำนวนมากจึงได้ทรงสมทบเพิ่มเติมและประทานแก่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยจนสามารถสร้างอาคารสำหรับผู้ป่วยนอกและห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์[36] ทางด้านสวนลุมพินีได้ 1 หลัง แต่มิได้โปรดให้ใช้พระนามของพระองค์เป็นนามตึก หากแต่ได้พระราชทานนามว่า “ตึกมงกุฎ-เพชรรัตน” โอกาสนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดตึก ในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510 ด้วย นอกจากนี้ ทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่ทรงได้รับมรดกคือที่ดินและบ้านของพระบุพการี ณ จังหวัดปราจีนบุรี ก็ทรงพระกรุณาประทานกรรมสิทธิ์ให้แก่ทางราชการ เมื่อทางราชการได้ใช้สถานดังกล่าวสร้างโรงพยาบาลก็ไม่ใช้พระนามของพระองค์เป็นนามโรงพยาบาลแห่งนี้ หากแต่โปรดพระราชทานทานนามว่าโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เพื่อเป็นเกียรติแก่พระบรรพบุรุษ[6]

ในกาลต่อมาเป็นเวลา 8 ปีหลังจากพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ 6 สิ้นพระชนม์แล้ว โรงพยาบาลได้สร้างอาคารเพิ่มเติมเป็นอาคารสูง 4 ชั้น และขอพระราชทานพระอนุญาตขนานนามว่า “อาคารเพชรรัตน-สุวัทนา” นับเป็นครั้งแรกที่มีพระนามปรากฏต่อสาธารณชนบนถาวรวัตถุสถาน[39]นอกจากนี้ ยังทรงอุปการะกิจกรรมซึ่งเฉลิมพระเกียรติของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวร่วมกับพระธิดาอยู่มิได้ขาด[39]

การเสด็จเยี่ยมราษฎร

พระนางเจ้าสุวัทนาเยี่ยมราษฎรที่ระนอง

พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และ เจ้าฟ้าพระราชธิดา โปรดที่จะเสด็จประพาสรถทุกเย็นเพื่อทรงชมพระพุทธรูป หรือ สิ่งศักดิสิทธิ์ต่าง ๆ ในกรุงเทพและจังหวัดปริมณฑล พระบรมราชานุสาวรีย์พระบรมราชบุพการี หรืออัฐิของพระบุพการีในสายสกุลบุนนาค โดยจะเสด็จเพียงสองพระองค์ พร้อมกับสารถีและข้าราชบริพาร เป็นการเสด็จอย่างเงียบ ๆ ไม่มีรถนำขบวน ไม่ปักธงพระบรมราชวงศ์ใหญ่ เมื่อไฟแดงรถพระที่นั่งก็หยุดอย่างสามัญชน แต่เพียงว่าในสมัยนั้นรถและการจราจรยังไม่ติดขัด ด้วยพระอุปนิสัยเช่นนี้จึงมักจะได้ทอดพระเนตรวิถีชีวิตของราษฎรโดยปราศจากการปรุงแต่งของทางราชการ โดยมักจะมีรับสั่งกับชาวบ้านแถวพระตำหนักสวนรื่นฤดีเสมอ บางคราวก็เสด็จไปประทับเสวยพระกระยาหารที่บางปู จังหวัดสมุทรปราการ และ จะพระราชทานอาหารแก่นกนางนวลที่หนีหนาวมา บางครั้งก็เสด็จไปต่างจังหวัดโดยเงียบ ๆ ไม่แจ้งแก่ทางราชการ หรือสำนักพระราชวัง[40] เช่น เมื่อคราวเสด็จจังหวัดสมุทรสาคร ก็เสด็จไปในตลาด ทอดพระเนตรวิถีชีวิตชาวบ้านที่ดำเนินชีวิตตามปกติ โดยในวันนั้นมีการแสดงอุปรากรจีน (งิ้ว) ที่ตลาดแห่งนั้น เมื่อทอดพระเนตรเห็นเก้าอี่ไม้ธรรมดาเหมือนตามโรงเรียนประชาบาลสองตัวว่างอยู่ ก็เสด็จประทับทอดพระเนตรการแสดงอย่างชาวบ้านทั่วไป พร้อมมีรับสั่งอย่างสนุกสนาน เมื่อการแสดงจบเจ้าของคณะงิ้วก็นำตัวพระกับตัวนางมากราบแทบฝ่าพระบาท พร้อมทั้งรับพระราชทานเงินของขวัญจากทั้งสองพระองค์ พระนางเจ้าสุวัทนาฯ โปรดที่จะมีรับสั่งกับประชาชนทั่วไปอย่างไม่ถือพระองค์ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ด้วยเจียมพระองค์ว่าเดิมทรงเป็นสามัญชนแม้ในปัจจุบันจะดำรงพระยศสูงส่งก็ตามที เช่น เมื่อคราวเสด็จอำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง มีรับสั่งกับชาวบ้านสูงอายุอย่างออกรสว่า "...ยายจ๋าเป็นอย่างไรบ้างจ๊ะ สบายดีไหม...ไหนดูสิ ยายปวดหลังเหมือนฉันไหม?..." ชาวบ้านเห็นว่ามีรับสั่งเช่นนี้ก็ตกใจที่พระราชวงศ์ ลงมานับญาติด้วย แต่ก็กล้าตอบด้วย เพราะเห็นว่าพระบรมวงศานุวงศ์ก็เจ็บเป็นปวดเป็น ทำให้ทรงใกล้ชิดกับราษฎรและทอดพระเนตรเห็นปัญหาของราษฎรอย่างแท้จริง[41]

ด้านการเศรษฐกิจ

ได้โปรดที่จะเสด็จประพาสตลาดแทบทุกเย็น และโปรดจะประพาสตลาดหัวเมืองต่าง ๆ ทั้งทรงสนับสนุนสินค้าของราษฎร เช่น ผ้าทอ เครื่องจักสาน รวมถึงผัก ผลไม้ ต้นไม้ ไม้ดอกไม้ประดับ เพื่อเป็นการสนับสนุนสินค้าของราษฎร เพื่อส่งเสริมให้ราษฎรมีรายได้ และยังพระราชทานเงินสำหรับซื้อผ้าห่มและผ้านุ่งจากตลาดต่าง ๆ เวลาเสด็จหัวเมืองและนำมาเก็บไว้ที่วัง เมื่อเสด็จในที่ทุรกันดารก็จะโปรดให้เอาไปพระราชทานแก่ราษฎร[42]

ด้านกิจการลูกเสือ เนตรนารี

พระนางเจ้าสุวัทนาเสด็จเยี่ยมกิจการเนตรนารี

พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงสนับสนุนกิจการลูกเสือโดยพระราชทานเงินสนันสนุนกิจการลูกเสือที่พระสวามีทรงก่อตั้งไว้ ทั้งยังทรงอบรมพระราชธิดาด้วยความทรงจำเมื่อครั้งตามเสด็จพระสวามีไปยังพระราชวังสนามจันทร์และมีการสวนสนามของเสือป่าและลูกเสือ ทั้งนังทรงเป็นเบื้องหลังในการสนับสนุนการก่อตั้งคณะเนตรนารีเพชราวุธ โดยมิได้ทรงออกพระนาม[43]

ด้านศิลปวัฒนธรรมไทย

ด้านนาฏศิลป์ เมื่อสิ้นรัชกาลพระสวามี ก็ทรงสนับสนุนการละครหลวง โดยจะเสด็จพระดำเนินไปทอดพระเนตรละครที่โรงละครของพระยาอนิรุธเทวา เมื่อเสด็จไปประเทศอังกฤษ ก็ทรงเผยแผ่วัฒนธรรมไทยอาทิ การรำ การละครซึ่งส่วนใหญ่จะแสดงเป็นละครจากบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยุ่หัว[44] โดยอาศัยงานสมาคมชาวไทยในอังกฤษ งานสามัคคีสมาคม หรืองานภายในพระตำหนัก โดยจะเป็นประธานนำรำวง โดยชาวต่างชาติต่างชื่นชมในวัฒนธรรมไทย ด้วยทรงเคยรับราชการในกรมมหรสพมาก่อนจึงทรงรำวงได้งดงามมาก เมื่อเสด็จนิวัตประเทศไทยแล้วก็โปรดพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์บำรุงนาฏศิลป์ไทย

ด้านการเกษตร

พระนางเจ้าสุวัทนาเสด็จประพาสตลาด

พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี โปรดไม้ดอกไม้ประดับอย่างยิ่ง ในวังของพระองค์มีสวนดอกไม้อันงดงาม เต็มไปด้วยไม้ดอกไม้ประดับมากมาย จึงมีคนที่อยากจะยลโฉมสวนดอกไม้ของพระองค์มากมาย โปรดที่จะซื้อต้นไม้จากเกษตรกรเพาะปลูกจากตลาดนัดท้องสนามหลวง จนเต็มท้ายรถพระที่นั่งทุกสัปดาห์ และยังโปรดเพาะพันธุ์ต้นไม้อีกด้วย[45]

ใกล้เคียง

พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี พระนางเธอ ลักษมีลาวัณ พระนางจามเทวี พระนางสิริมหามายา พระนางจิรประภาเทวี พระนารายณ์ราชนิเวศน์ พระนามของพระเป็นเจ้าในศาสนาอิสลาม พระนางวิสุทธิเทวี พระนาย สุวรรณรัฐ พระนางศุภยาลัต

แหล่งที่มา

WikiPedia: พระนางเจ้าสุวัทนา_พระวรราชเทวี http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=alfajet&mo... http://somsakwork.blogspot.com/2006/08/weblog-http... http://news.ch7.com/detail/16099/%E0%B8%9E%E0%B8%A... http://www.navy34.com/board342550/index.php?topic=... http://freepages.genealogy.rootsweb.com/~royalty/t... http://www.soravij.com/bejaratana.html http://sokheounpang.files.wordpress.com/2010/07/kh... http://www.bejaratana-suvadhana.org/ http://www.bejaratana-suvadhana.org/chart001.html http://www.bejaratana-suvadhana.org/suva_page004.h...