พระประวัติ ของ พระนางเจ้าสุวัทนา_พระวรราชเทวี

พระประสูติกาล

พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2448 เวลา 08.07 น. มีพระนามเดิมว่า เครือแก้ว อภัยวงศ์ หรือ ติ๋ว เป็นธิดาของพระยาอภัยภูเบศร (เลื่อม อภัยวงศ์) กับเล็ก บุนนาค ต่อมาพระบิดาต้องไปสมรสใหม่ตามความเห็นของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม) ผู้เป็นบิดา พระมารดาจึงย้ายกลับมาอยู่บ้านกับมารดา และมีพระประสูติกาลที่บ้านคลองบางหลวง ภายหลังพระมารดาได้ถึงแก่อนิจกรรม พระองค์จึงอยู่ภายใต้ความดูแลของท้าวศรีสุนทรนาฏ (แก้ว พนมวัน ณ อยุธยา) ผู้เป็นพระอัยยิกาฝ่ายพระมารดา และเป็นผู้อำนวยการละครหลวงฝ่ายในในกรมมหรสพ โดยที่พระบิดามิได้มาเหลียวแลเลย อนึ่งพี่สาวของพระอัยยิกา คือ เจ้าจอมมารดาเอี่ยมบุษบา ซึ่งเป็นทวดของพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ อดีตกษัตริย์แห่งกัมพูชา[3] ดังนั้น คุณเครือแก้วจึงมีศักดิ์เป็นพระญาติของพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุด้วย[4]

พระองค์มีเชื้อสายเปอร์เซียและมอญจากตา คือ เจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ดังนั้นเธอจึงเป็นคนในสกุลบุนนาคสายเจ้าคุณพระราชพันธุ์นวลชั้นที่ 6[5] ทั้งยังมีเชื้อสายเขมรจากสกุลอภัยวงศ์ทั้งฝ่ายบิดาและมารดา แม้ทางฝ่ายบิดาจะมีคนจากสกุลบุนนาคซึ่งมีเชื้อสายเปอร์เซียอยู่ด้วย คือท่านผู้หญิงทิม โดยผ่านทางนักนางละออผู้เป็นย่า และมีเชื้อสายเขมรจากนักมุมผู้เป็นมารดาของนักนางละออ[6]

สู่ราชสำนัก

เครือแก้วขณะรับบทเป็นสาวใช้ของนางจันทร์

เครือแก้วได้รับการฝึกฝนดุริยางคศิลป์ไทยในพระราชสำนักจนได้รับเลือกเป็นต้นเสียง ทั้งยังได้แสดงละครที่เป็นบทพระราชนิพนธ์หลายโอกาสด้วยกันในคราวที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานประทับแรม ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน จังหวัดเพชรบุรี เป็นครั้งแรกในเดือนเมษายน พ.ศ. 2467[7] เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2467 ในคราวนั้นมีเหตุการณ์อันเป็นนิมิตว่าคุณพนักงานผู้นี้จะได้รับสถาปนาเป็นพระวรราชเทวี เจ้านายในพระมหาจักรีบรมราชวงศ์ ดังที่คุณหญิงนิธิวดี อ้นตระการ เล่าไว้ว่า

...วันหนึ่งขณะที่คณะละครหลวงกำลังอาบน้ำอยู่บริเวณบ่อน้ำ เสด็จพระนางฯ ซึ่งขณะนั้นเราเรียกกันเล่นๆ ว่าพี่ติ๋ว เดินเล่นมาคุยกับคุณข้าหลวงอีกคนที่เรียกว่า เจ๊นวล พอดีขณะนั้นมียายซิ้มแก่ๆ คนหนึ่ง ซึ่งเป็นใครมาจากไหนก็ไม่รู้ หอบปี๊บสนิมเขรอะ พอยายซิ้มที่มาเหลือบเห็นพี่ติ๋ว ก็ตกใจโยนปี๊บโครม แล้วไหว้ยกมือไหว้จนก้นกระดกก็พูดว่า "พระราชินี...พระราชินี" เจ๊นวลได้ฟังก็ชอบใจและพูดกับพี่ติ๋วว่า "นี่แม่ติ๋วลางมันมา ยังไงก็อย่าลืมเจ๊นะ" แล้วพวกเราก็ขำกันใหญ่

– คุณหญิงนิธิวดี อ้นตระการ

เครือแก้วก็ได้มีโอกาสร่วมแสดงละครพระราชนิพนธ์เรื่อง พระร่วง ได้รับบทเป็นสาวใช้ของนางจันทร์ เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาในสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายาซึ่งในขณะนั้นเป็นพระบรมราชินี ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแสดงเป็นนายมั่นปืนยาวซึ่งต้องมีบทพูดจาโต้ตอบกับบรรดาสาวใช้ของนางจันทร์[7] ซึ่งคุณเครือแก้วก็ได้ฝึกซ้อมเต็มที่เล่นเสมือนจริง ทำให้เคืองพระทัยสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา จึงโปรดให้ข้าหลวงส่งเสียงโห่ฮาขึ้น และใช้เท้าตบพื้นพระที่นั่ง เป็นเหตุให้พระเจ้าอยู่หัวทรงพระพิโรธถึงกับเสด็จขึ้นทันที ภายหลังจากการซ้อมและการแสดงละครพระราชนิพนธ์เรื่องพระร่วง ณ สโมสรเสวกามาตย์ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีจิตประดิพัทธ์ต้องในอัธยาศัยของเครือแก้ว เนื่องด้วยความสุขุม ไม่ได้ตอบสนองต่อเหตุการณ์กระทบกระเทือนที่เกิดขึ้นจากผู้ทอดพระเนตรและผู้ชมละคร จึงได้ทรงพระเมตตาเป็นพิเศษ[7] ครั้นต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชหัตถเลขาพระราชทานนามใหม่แก่เครือแก้วว่า สุวัทนา[7] พร้อมทั้งพระราชทานเข็ม "ราม ร" ประดับเพชรแก่คุณสุวัทนา ซึ่งคุณสุวัทนาได้ใช้ประดับไว้ที่ปอยผมในวันแสดงละครเรื่องพระร่วง ทำให้เป็นที่ประจักษ์แก่ผู้ชมละครคราวนั้นว่าสตรีผู้นี้ต้องพระราชประดิพันธ์ในองค์พระเจ้าอยู่หัวเสียแล้ว

อภิเษกสมรส

ในวันอภิเษกสมรสของรัชกาลที่ 6 กับเจ้าจอมสุวัทนา

ต่อมา ในวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2467 ได้ทรงสถาปนาคุณสุวัทนาขึ้นเป็น เจ้าจอมสุวัทนา พระสนมเอก พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสพระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง[7] ถือเป็นสตรีท่านสุดท้ายที่ได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าจอมในราชวงศ์จักรี[8]

เมื่อพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงอภิเษกสมรสและได้รับสถาปนาเป็นเจ้าจอม พระสนมเอกนั้น ย่อมมีความริษยาตามมา ตามที่คุณหญิงนิธิวดี อ้นตระการ เล่าไว้ว่า

...เจ้าจอมมาพูดแม่ดิฉันว่า"แม่เหนย มาอยู่กับฉันเถอะ มาช่วยทำกับข้าวให้หน่อย ฉันกลัวยาเบื่อ" แม่ของดิฉันเลยปิดร้านอาหารที่ทำอยู่ และเข้าวังมาอยู่กับท่าน

ถ้าร่วมโต๊ะเสวยกับล้นเกล้าฯ ก็ไม่มีปัญหา ไม่มีอันตรายอะไรหรอก เพราะของล้นเกล้าฯ มีคนเทียบเครื่อง แต่ถ้าอยู่เองตามลำพังแล้ว เรื่องอาหารการกินของเจ้าจอมนี่ต้องระวังมาก ไว้ใจใครไม่ได้เลย

– คุณหญิงนิธิวดี อ้นตระการ

ในระหว่างวันที่ 21 กันยายน ถึง 13 ตุลาคม พ.ศ. 2467 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสสิงคโปร์และแหลมมลายูเพื่อเป็นการเจริญทางพระราชไมตรี การนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าจอมสุวัทนา โดยเสด็จพระราชดำเนินด้วย[7]ก่อนการเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเข็มประจำกรมทหารเบา เดอรัม (Durham Light Infantry) ซึ่งเป็นธรรมเนียมของชาวยุโรปที่นายทหารจะมอบเครื่องหมายสังกัดของตนแก่คนรัก เหมือนหนึ่งฝากชีวิตและเกียรติภูมิไว้ให้ โดยเจ้าจอมได้ใช้ประดับตลอดการเดินทาง และได้มีโอกาสร่วมงานอุทยานสโมสร เช่น ที่จวนผู้สำเร็จราชการสเตรส์เซ็ตเทิลเมนส์ และจวนเลขาธิการใหญ่สหภาพมลายา อีกทั้งได้ร่วมโต๊ะเสวยในการถวายเลี้ยงพระกระยาหารในวาระต่าง ๆ ร่วมกับสุลต่านแห่งรัฐยะโฮร์ และสุลต่านแห่งรัฐเประ เป็นต้น[9] นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าจอมสุวัทนาตามเสด็จไปในการทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอยู่เนือง ๆ[7] เช่น โดยเสด็จฯ พระราชสวามีไปดูแลกิจการของเสือป่า เป็นอาทิ จนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของพระสวามี[9] แม้ในขณะที่พระสวามีเสด็จพระราชดำเนินบนลาดพระบาทเพื่อตรวจแถวทำความเคารพก็โปรดให้เจ้าจอมเดินคู่บนลาดพระบาท ในการเสด็จกลับพระราชทานของที่ระลึกแก่ผู้มีส่วนร่วม รวมถึงเจ้าจอมสุวัทนา ซึ่งได้รับพระราชทาน

  • เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6 ชั้นที่ 1
  • ชุดเครื่องสำอาง พร้อมประกาศนียบัตร
  • เข็ม ราม ร ประดับเพชร ลงยาสีขาบ ด้านหลังบรรจุเส้นพระเจ้าของพระเจ้าอยู่หัวไว้

ต่อมาเจ้าจอมสุวัทนาก็ตั้งครรภ์ สร้างความปิติปราโมทย์แก่พระสวามีเป็นอันมาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเฝ้ารอพระประสูติการด้วยพระราชหฤทัยอันจดจ่อ โปรดฯ ให้เจ้าจอมสุวัทนามาเข้าเฝ้าเพื่อที่พระองค์จะได้มีพระกระแสรับสั่งกับพระราชกุมารที่อยู่ในครรภ์[9]ซึ่งพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ได้มีพระดำรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้ความว่า "...เมื่อฉันตั้งครรภ์เจ้าฟ้า ล้นเกล้าฯ ก็ทรงโสมนัส ทรงคาดคิดว่าจะได้เป็นชาย ได้ราชสมบัติสืบต่อจากพระองค์ เมื่อยังมีพระอนามัยดีอยู่ ก็มีรับสั่งอย่างสนิทเสน่หาทรงกะแผนการชื่นชมต่อพระเจ้าลูกยาเธอที่จะเกิดใหม่..."[10] พร้อมกันนั้นก็ทรงพระราชนิพนธ์บทกล่อมบรรทมสำหรับสมโภชเดือนพระราชกุมารประกอบเพลงปลาทองไว้ล่วงหน้า[11][note 1]

แต่ต่อมานับตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ภายหลังจากพระราชพิธีฉัตรมงคล เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวประชวรด้วยพระโลหิตเป็นพิษในอุทร การนี้เจ้าจอมสุวัทนาที่มีพระครรภ์แก่ก็ได้พยาบาลพระราชสวามีมาโดยตลอดและมิเห็นแก่ความยากลำบาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าทรงบันทึกเรื่องราวดังกล่าวไว้ในพระราชพินัยกรรม ความว่า "...ตั้งแต่เราล้มเจ็บลง สุวัทนาได้พยาบาลอย่างดีที่สุดโดยไม่เห็นแก่เหนื่อยยากลำบากกายตามวิสัยของหญิงที่มีครรภ์แก่ อุตส่าห์มานั่งพยาบาลป้อนฃ้าวหยอดน้ำ และทำกิจอื่น ๆ เป็นอเนกประการ วันละหลายชั่วโมง, นับว่าเป็นเมียที่ดีจริง ๆ"[12]

สถาปนาพระอิสริยยศและมีพระประสูติการพระราชธิดาในรัชกาลที่ 6

ไฟล์:With mother2.jpgพระนางเจ้าสุวัทนาและพระราชธิดา

ในพระราชพิธีฉัตรมงคลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกการพระราชพิธีทุกวันแม้พระพลานามัยมิใคร่จะสมบูรณ์นัก ในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2468 เมื่อเป็นที่แน่นอนแล้วว่าเจ้าจอมสุวัทนาจะมีสูติกาลพระหน่อในไม่ช้า ประกอบกับการทำหน้าที่ของพระภรรยาที่ดี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาเจ้าจอมสุวัทนาขึ้นเป็น พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ด้วยเหตุผลดังปรากฏในพระบรมราชโองการประกาศสถาปนา ดังนี้[13]

เจ้าจอมสุวัทนาได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณโดยความซื่อสัตย์กตเวที มีความจงรักภักดีในใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท เปนที่ไว้วางพระราชหฤทัย สมควรที่จะทรงยกย่องให้เปนใหญ่ เพื่อผดุงพระราชอิศริยยศแห่งพระกุมารที่จะมีพระประสูติการในเบื้องหน้า

และทรงโปรดเกล้าให้แปลพระนามเป็นภาษาอังกฤษว่า Her Majesty Queen Suvadana ในพระราชโทรเลขแจ้งข่าวพระประสูติการ จนในวันสุดท้ายของการพระราชพิธีฉัตรมงคลอันเป็นการพระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวรอาการหนักมิอาจเสด็จออกได้ บรรดาเจ้านายก็ต่างมาเฝ้าแหนกันเรื่อยมา อาทิ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เจ้านายชั้นสูง รวมถึงพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีที่ทรงพระครรภ์แก่ใกล้มีพระประสูติการ

จนในวันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน เวลาค่ำพระวรราชเทวีประชวรพระครรภ์หนักจนเช้าก็ยังไม่ประสูติ คณะแพทย์ที่ถวายการรักษาพระเจ้าอยู่หัวจึงลงความเห็นว่าจะใช้เครื่องมือช่วยให้มีพระประสูติการวันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน เวลา 12.52 น. คณะแพทย์ก็ใช้เครื่องมือช่วยพระนางเจ้าสุวัทนาฯ ให้ประสูติเจ้าฟ้าพระองค์น้อยอย่างปลอดภัย เจ้าฟ้าหญิง เช่นนั้นชาวพนักงานประโคมดุริยสังคีต ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว เดิมทรงเข้าใจว่าปืนใหญ่ที่ยิงบอกเวลาที่เรียกว่าปืนเที่ยงเป็นปืนยิงสลุตถวายพระราชโอรสจึงทรงปิติอย่างยิ่ง แล้วมีผู้กราบบังคมทูลว่าไม่ใช่ปืนใหญ่ถวายความเคารพแต่เป็นปืนเที่ยง จึงทรงนิ่งไป ต่อมาทรงสดับเสียงดุริยสังคีต จึงทรงแน่พระทัยว่าเจ้าฟ้าเป็นพระราชธิดาจึงตรัสว่า “ก็ดีเหมือนกัน”[14] แต่ก็มีพระอาการเพียบหนักขึ้น เจ้าพระยาอัศวินฯ จึงปรึกษากับเจ้าพระยารามราฆพว่าจะให้ทรงมีโอกาสได้ทอดพระเนตรพระราชธิดาอย่างใกล้ชิดในเวลาบ่าย เจ้าคุณอัศวินฯ จึงเข้าไปกราบบังคมทูลว่า “Your Majesty, you want to see your baby” ทรงตอบว่า “Yes, sure” ในบ่ายวันรุ่งขึ้น แต่ก็มิสามารถมีพระราชดำรัสได้แล้ว จากนั้น ก็ทรงรู้สึกพระองค์น้อยลง กระทั่งสวรรคต เมื่อเวลา 1.45 น. ของวันที่ 26 พฤศจิกายน ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง

ส่วนพระนามของพระราชธิดาที่ประสูตินั้น ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2468[15] และมีคำนำพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอ (ภาติกา หมายถึง หลานสาวที่เป็นลูกสาวของพี่ชาย) ในสมัยรัชกาลที่ 7 จึงออกพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

การดำรงพระชนมชีพในสมัยรัชกาลที่ 7

พระนางเจ้าสุวัทนาและพระราชธิดาที่พระตำหนักสวนรื่นฤดี ในสมัยรัชกาลที่ 7

หลังจากประสูติการของเจ้าฟ้าหญิงได้ไม่นาน พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และพระราชธิดาได้ย้ายไปประทับ ณ ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อเจ้าฟ้าทรงเจริญพระชันษาขึ้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นห่วงว่าสมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอฯ จะไม่มีสถานที่ทรงวิ่งเล่นเพราะในพระบรมมหาราชวังมีบริเวณคับแคบ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายออกมาประทับ ณ พระตำหนักสวนหงษ์ พระราชวังดุสิต ตามพระประสงค์ของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า[16] ซึ่งเป็นที่กว้างขวางร่มรื่นแวดล้อมด้วยต้นไม้น้อยใหญ่เหมาะแก่การสำราญพระอิริยาบถของเจ้าฟ้าหญิง ในครั้งนั้นท้าวศรีสุนทรนาฏ (แก้ว พนมวัน ณ อยุธยา) ผู้เป็นยายก็ร่วมในการอภิบาลเจ้าฟ้าหญิงด้วย จนกระทั่งถึงแก่อนิจกรรม[17]

ส่วนสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า ก็ทรงพระเมตตาเอาพระราชหฤทัยใส่ดูแลทั้งด้านพระอนามัยและความเป็นอยู่มาโดยตลอด ด้วยเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรหนักอยู่นั้น ได้มีพระราชดำรัสกับสมเด็จพระพันวัสสามาตุจฉาเจ้าว่า “ขอฝากลูกด้วย” ต่อมา สมเด็จพระพันวัสสามาตุจฉาเจ้ายังได้มีพระราชกระแสถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “เจ้าฟ้านี่ ฉันตายก็นอนตาไม่หลับ พระมงกุฎฝากฝังเอาไว้”[14]

ระหว่างนั้นมีเหตุการณ์ผันผวนทางการเมืองหลายครั้ง เช่น การเปลี่ยนแปลงการปกครอง และกบฏบวรเดช ทำให้ต้องทรงย้ายที่ประทับอยู่ตลอดเวลา เช่น ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี ในพระบรมมหาราชวัง, พระตำหนักสวนหงส์ พระราชวังดุสิต, ตำหนักเขาน้อย จังหวัดสงขลา, พระตำหนักสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ในสวนสุนันทา และพระตำหนักเขียว วังสระปทุม

ต่อมาพระองค์โปรดให้สร้างตำหนักใหม่ขึ้นเป็นส่วนพระองค์บนที่ดินหัวมุมถนนราชสีมาตัดกับถนนสุโขทัยซึ่งเป็นที่ดินพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งแต่คราวอภิเษกสมรส[16] ตำหนักแห่งนี้พระราชทานนามว่า พระตำหนักสวนรื่นฤดี มีนายหมิว อภัยวงศ์เป็นสถาปนิก และพลโท พระยาศัลวิธานนิเทศ (แอบ รักตะประจิต) เป็นวิศวกร ในกาลต่อมาได้ขายให้แก่ทางราชการขณะเสด็จไปประทับ ณ ประเทศอังกฤษ และปัจจุบันเป็นส่วนราชการของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

ประทับ ณ ประเทศอังกฤษ

ขณะประทับ ณ ประเทศอังกฤษ

ต่อมาใน พ.ศ. 2480 พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงเห็นว่าพระพลานมัยของพระธิดาไม่สู้สมบูรณ์นัก จึงนำพระธิดาไปทรงพระอักษรและประทับรักษาพระอนามัย ณ ประเทศอังกฤษ ซึ่งในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จไปประทับอยู่ก่อนการสละราชสมบัติแล้ว[18] พระองค์ทรงย้ายที่ประทับหลายแห่งตามลำดับ กล่าวคือ ตำหนักแฟร์ฮิลล์ เมืองแคมเบอร์เลย์ มณฑลเซอร์เรย์, ตำหนักหลุยส์เครสเซนต์ เมืองไบรตัน มณฑลซัสเซค และตำหนักไดก์โรด (บ้านรื่นฤดี) เมืองไบรตัน มณฑลซัสเซค[18] ทั้งสองพระองค์ต้องประสบความยากลำบากนานัปการอันเนื่องมาจากเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองในช่วงภาวะสงครามจึงทรงประหยัดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ซึ่งรวมไปถึงการทำงานบ้านเองเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการจ้างข้าหลวงชาวต่างประเทศ[18] โดยผู้ที่รับใช้ภายในพระตำหนักจะเป็นสตรีทั้งหมด[18]

ทั้งนี้ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่พระองค์ประทับ ณ ประเทศอังกฤษ เสด็จพระนางฯ มีพระกรุณาต่อชาวไทยในประเทศอังกฤษ โดยโปรดให้เข้าเฝ้าและจัดประทานเลี้ยงให้อยู่เสมอ[18] และพระราชทานพระกรุณาแก่กิจการต่าง ๆ ของชาวไทยอยู่เสมอ ทรงร่วมงานของสามัคคีสมาคม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นสมาคมนักเรียนไทยในสหราชอาณาจักรเป็นประจำ นอกจากนี้ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง พระองค์ยังทรงอุทิศพระองค์ช่วยเหลือกิจการสภากาชาดอังกฤษ ประทานแก่ทหารและผู้ประสบภัยสงครามด้วยการเสด็จไปทรงบำเพ็ญประโยชน์ เช่น ม้วนผ้าพันแผล จัดยา และเวชภัณฑ์ สภากาชาดอังกฤษจึงได้ถวายถวายเกียรติบัตรประกาศพระกรุณา[18] และในขณะที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมีพระชนมชีพหลังการสละราชสมบัติแล้ว พระองค์และพระธิดาได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่เสมอ

พระองค์ทรงประสบความยากลำบากนานาประการ โดยเฉพาะในยามเศรษฐกิจฝืดเคืองอันเนื่องจากภาวะสงคราม พระองค์ทรงประหยัดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมทั้งทรงทำงานบ้านเอง เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการจ้างข้าหลวงชาวต่างประเทศ ทรงเรียนรู้วิธีซื้อขายหุ้น ตลอดจนการทำธุรกิจซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ และทรงดำเนินการดังกล่าวได้อย่างชำนาญ

นิวัตประเทศไทย

พระนางเจ้าสุวัทนาและพระราชธิดา

เมื่อพระอนามัยของเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา ดีขึ้น และสภาวการณ์ในประเทศไทยเป็นปกติสุขเรียบร้อย กอปรกับการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินนิวัตประเทศไทยเป็นการถาวรแล้วระยะหนึ่ง พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และพระราชธิดา ทรงเล็งเห็ยว่าบ้านที่แท้จริงของพระองค์และพระราชธิดาคือประเทศไทยอันเป็นมาตุภูมิ จึงมีพระดำริจะเสด็จกลับมาประทับในประเทศไทย ดังนั้น ในวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2500 พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และพระราชธิดา ได้เสด็จกลับประเทศไทยเป็นการชั่วคราว เพื่อทรงเตรียมการที่จะเสด็จนิวัตเป็นการถาวรในโอกาสต่อไป วันที่เสด็จกลับพระนคร เสด็จถึงท่าอากาศยานกรุงเทพ เวลา 0.20 น. ณ ที่นั้น นายพจน์ สารสิน นายกรัฐมนตรีและภริยา พลตรี หม่อมทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์ (หม่อมราชวงศ์เฉลิมลาภ ทวีวงศ์) เลขาธิการพระราชวังตลอดจนข้าราชบริพารในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เฝ้ารับเสด็จ

เมื่อพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีได้เสด็จกลับประเทศไทยแล้ว พระองค์จึงทรงซื้อที่ดินในซอยสุขุมวิท 38 (ซอยสันติสุข) จากนายแมนฟุ้ง เนียวกุล จำนวน 7 ไร่ และทรงซื้อที่ดินส่วนที่เป็นแนวขนานปิดทางเข้าออกเพิ่มเติมจากนายเอ อี นานาด้วย ทรงพระกรุณาโปรดให้สร้างวังโดยมีพลเรือตรีสมภพ ภิรมย์ ศิลปินแห่งชาติ เป็นสถาปนิก ซึ่งพระองค์ได้เสด็จมาทรงวางศิลาฤกษ์ ตำหนักแห่งใหม่นี้แล้ว จึงเริ่มดำเนินการก่อสร้างโดยบริษัท สี่พระยาวัตถุโบราณ จำกัด แล้วเสด็จไปประเทศอังกฤษอีกในพ.ศ. 2501 เพื่อเพื่อทรงขายตำหนัก ณ เมืองไบรตัน ประเทศอังกฤษและทรงย้ายสิ่งของต่าง ๆ กลับประเทศไทย และเพื่อทรงเตรียมพระองค์เสด็จกลับประเทศไทยเป็นการถาวร จากนั้นจึงได้เสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นการถาวรเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2502 ประทับ ณ วังแห่งใหม่ จึงได้ขนานนามวังดังกล่าวว่า วังรื่นฤดี เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2503[18] ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 69 ซอยสุขุมวิท 38 กรุงเทพมหานคร และพระองค์ได้ประทับอยู่ตราบกระทั่งสิ้นพระชนม์

ปลายพระชนม์

พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี นับตั้งแต่นิวัตประเทศไทย ก็ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจไม่เคยขาด เพราะมีพระอนามัยดีไม่เคยประชวรจนขนาดเสด็จเข้าประทับในโรงพยาบาล จนเริ่มมีพระชันษา 70 ปี เป็นช่วงที่เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยมีผลทำให้พระนางเจ้าสุวัทนาฯ ทรงหวนรำลึกถึงเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมา เช่น การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 กบฏบวรเดช สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ทรงระวังการกระทำของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีทุกฝีก้าวเสมือนสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดียังทรงพระเยาว์มีพระชันษาไม่กี่ปี ต่อมาจึงประชวรด้วยพระโรคอัลไซเมอร์[19] โดยในช่วงแรกยังไม่แสดงอาการอีกทั้งยังทรงระงับพระอาการได้ทำให้ไม่มีผู้ใดล่วงรู้นอกไปจากแพทย์ประจำพระองค์ และข้าหลวงผู้เฝ้าใกล้ชิด จนกระทั่งวันหนึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้นางสนองพระโอษฐ์มาเยี่ยมพระนางเจ้าสุวัทนาฯและสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระนางเจ้าสุวัทนาฯก็เสด็จลงมาต้อนรับนางสนองพระโอษฐ์เช่นเคย แต่เมื่อทรงพระดำเนินลงบันไดมาถึงช่วงกลางบันไดก็ทรงทรุดพระองค์ลงประทับที่กลางบันไดนั้นเป็นเวลาเกือบ 10 นาที เหมือนกับทรงคำนึงอะไรอยู่ แล้วจึงเสด็จพระดำเนินต่อ นางสนองพระโอษฐ์ผู้นั้นจึงแจ้งแก่แพทย์ประจำพระองค์ว่าพระอาการทรุดหนักแล้ว แพทย์จึงถวายพระโอสถรักษา แต่พระโอสถนี้ยังมีผลข้างเคียงทำให้พระองค์ทรงดุษณีภาพต่างๆ ขึ้นมา ทั้งยังทำให้วิตกพระจริตอย่างเช่น เมื่อหลานสาวของอดีตนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่ง มาเฝ้าทูลละอองพระบาท พระนางเจ้าสุวัทนาฯ ก็ทรงมีรับสั่งด้วยดี จนกระทั่งหลานสาวของอดีตนายกรัฐมนตรีผู้นั้นทูลลากลับไป พระนางเจ้าสุวัทนาฯ จึงทรงตรัสกับข้าหลวงที่เฝ้าอยู่นั้นว่า "เขาพกปืนเข้ามา ยิงทะลุเพดาน" ซึ่งเหตุการณ์ย่อมเป็นไปไม่ได้เมื่อหลานสาวของอดีตนายกรัฐมนตรีท่านนั้น คุ้นเคยกับชาววังรื่นฤดีอย่างยิ่ง เพราะ เคยมาเฝ้าฯ อยู่บ่อยครั้ง อีกทั้งร่องรอยกระสุนบนเพดานก็ไม่มี แพทย์จึงเชิญเสด็จเจ้ารักษาพระอาการ ณ โรงพยาบาลศิริราช ทรงรักษาอยู่ 4 เดือน ก็มีพระอาการทุเลาลงมาก และเสด็จไปพักพระวรกายที่พระตำหนักพัชราลัย อยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาก็ประชวรด้วยพระโรคพระปับผาสะอักเสบ จนต้องรักษาพระองค์เป็นเวลานาน ณ โรงพยาบาลศิริราช[20]

สิ้นพระชนม์

พระโกศทองน้อยทรงพระศพพระนางเจ้าสุวัทนา

พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ประชวรด้วยพระอาการพระปัปผาสะอักเสบและมีพระอาการแทรกซ้อน กระทั่งสิ้นพระชนม์ในวันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2528 เวลา 19.09 น. ณ โรงพยาบาลศิริราช ขณะพระชันษา 80 ปีเศษ

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สรงน้ำพระศพ ณ พระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2528 ซึ่งเป็นวันเดียวกับวันที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสถาปนาเจ้าจอมสุวัทนาขึ้นเป็นพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เมื่อ 60 ปีก่อน พระราชทานพระโกศทองน้อย ประดิษฐานพระศพภายใต้ฉัตรตาดทอง 5 ชั้น ณ พระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตร

เมื่อถึงงานพระเมรุ ได้อัญเชิญพระโกศโดยรถวอพระวิมานไปยังพระเมรุวัดเทพศิรินทราวาส ในวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2529 และพระราชทานเพลิงพระศพในวันเดียวกันนั้น[21] และมีการเก็บพระอัฐิในวันที่ 9 มีนาคม และวันฉลองพระอัฐิเมื่อวันที่ 14 มีนาคม ซึ่งทั้งสองงานดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ปฏิบัติพระกรณียกิจแทนพระองค์[21] ส่วนพระอัฐิของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ 6 ได้ประดิษฐาน ณ หอพระนากในพระบรมมหาราชวัง[21]และส่วนหนึ่งเชิญไปประดิษฐานยังวิมานพระอัฐิ วังรื่นฤดี

ส่วนพระสรีรางคารของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีได้ประดิษฐาน ณ ใต้ฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม เคียงข้างพระราชสวามี ตามพระราชพินัยกรรมที่ทรงลิขิตไว้ว่า "...ส่วนเรื่องพระอัษฐินั้น, ใครจะคิดอย่างไรก็ตาม, แต่เราเห็นโดยจริงใจว่า สุวัทนาสมควรที่จะได้ตั้งคู่กับเรา"[12] และภายหลังการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชธิดา จึงได้มีการนำพระสรีรางคารส่วนหนึ่งมาบรรจุไว้เคียงข้างกับพระราชสรีรางคารของพระราชชนก และพระชนนี[22][23]

ใกล้เคียง

พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี พระนางเธอ ลักษมีลาวัณ พระนางจามเทวี พระนางสิริมหามายา พระนางจิรประภาเทวี พระนารายณ์ราชนิเวศน์ พระนามของพระเป็นเจ้าในศาสนาอิสลาม พระนางวิสุทธิเทวี พระนาย สุวรรณรัฐ พระนางศุภยาลัต

แหล่งที่มา

WikiPedia: พระนางเจ้าสุวัทนา_พระวรราชเทวี http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=alfajet&mo... http://somsakwork.blogspot.com/2006/08/weblog-http... http://news.ch7.com/detail/16099/%E0%B8%9E%E0%B8%A... http://www.navy34.com/board342550/index.php?topic=... http://freepages.genealogy.rootsweb.com/~royalty/t... http://www.soravij.com/bejaratana.html http://sokheounpang.files.wordpress.com/2010/07/kh... http://www.bejaratana-suvadhana.org/ http://www.bejaratana-suvadhana.org/chart001.html http://www.bejaratana-suvadhana.org/suva_page004.h...