ประวัติ ของ พระบาง

พระบางนั้นตามตำนานกล่าวไว้ว่า พระจุลนาคเถระได้สร้างพระบางขึ้น เมื่อ พ.ศ. 436 ที่กรุงลังกา เมื่อหล่อสำเร็จแล้ว พระเถระเจ้าได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าไว้ในองค์พระ 5 แห่ง คือ พระศอ พระนลาฏ พระชานุ พระอุระ ข้อพระกรทั้งสองข้าง เนื้อองค์พระบางมีน้ำหนักทองคำ ทองแดง และเงินถึง 52 กิโลกรัม 85 มิลลิกรัม สูง 4 คืบ (ประมาณ 1.14 เมตร) พระสุคตแต่ปลายพระเกศาถึงพระเมาลีอีก 7 นิ้ว ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 1389 พระเจ้าจันทราชแห่งอินทปัตนครได้ไปของพระบางจากพระเจ้าสุบินทราชาแห่งลังกาประเทศ มาไว้ที่กรุงอินทปัตนคร

จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 1901 พระเจ้าฟ้างุ้มได้ให้ทูตไปขอพระพุทธศาสนาจากพระนครหลวงอินทปัตนครมาเป็นศาสนาประจำชาติลาว กษัตริย์พระนครหลวง ได้มอบให้พระมหาป่าสมันตเถระและพระมหาเทพลังกา พร้อมด้วยพระสงฆ์อีก 20 รูป นักปราชญ์ผู้เจนจบพระไตรปิฎกอัญเชิญเอาพระไตรปิฎกและพระบาง และหน่อพระศรีมหาโพธิ์มาประดิษฐานในเมืองเชียงทอง เมื่อคณะทูตเชิญพระไตรปิฎกและพระพุทธรูปและต้นศรีมหาโพธิ์มาถึงเมืองใด เจ้าเมืองเหล่านั้นก็แต่งเครื่องสักการบูชาต้อนรับเป็นอย่างดี จนกระทั่งมาถึงเมืองเวียงคำ (ວຽງຄຳ) พระยาเมืองเวียงคำจึงขอเอาพระบางสักการะไว้ที่เมืองเวียงคำ พระมหาป่าสมันตระก็อนุญาตแล้วเดินทางต่อไปจนถึงเชียงดง เชียงทอง (ຊຽງດົງ ຊຽງທອງ) (ปัจจุบันคือเมืองหลวงพระบาง) ได้ตั้งประดิษฐานพระพุทธศาสนาในเมืองเชียงทอง โดยมีพระเจ้าฟ้างุ้มและพระนางแก้วเก็งยา พระอัครมเหสี เป็นพุทธศาสนูปถัมภก พระองค์ได้สร้างพระอารามวัดป่าสมันต์ให้เป็นที่อยู่ของพระมหาเถระทั้งสองและเป็นวัดมาจนทุกวันนี้

หอพระบาง พิพิธภัณฑ์เมืองหลวงพระบาง

จวบจนถึงปี พ.ศ. 2043 ในรัชกาลพระเจ้าวิชุลราชได้ให้เสนาอำมาตย์ แสนท้าวพระยาลาว ไปอัญเชิญเอาพระบางเจ้าจากเมืองเวียงคำมายังพระนครเชียงทอง พระองค์ได้ทรงสร้างวัดวิชุลมหาวิหารให้เป็นที่สถิตแห่งพระบางเจ้า เป็นที่เคารพบูชาของพระองค์แลพระบรมวงศ์พร้อมเสนาอำมาตย์ ไพร่บ้านพลเมืองสืบมา ต่อมาจนถึงปี พ.ศ. 2101 เมื่อพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชย้ายเมืองหลวงไปอยู่นครเวียงจันทน์ พร้อมกับอัญเชิญเอาพระแก้วมรกตที่ได้มาจากพระนครเชียงใหม่ ลงไปประดิษฐานไว้ที่นครเวียงจันทน์ และขนานนามนครเวียงจันทน์นั้นว่า จันทบุรีศรีสัตนาคนหุตอุตมราชธานี ส่วนพระนครเชียงทองนั้นให้ขนานนามว่า พระนครศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว หลวงพระบางราชธานี แต่คนทั่วไปเรียกเพียงนครหลวงพระบางแต่นั้นมา ทั้งนี้ก็เพราะพระบางได้ไปประดิษฐานเป็นมิ่งขวัญแห่งพระนครนี้ตลอดมาแต่โบราณจนตราบเท่าทุกวันนี้

ในรัชสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 2 (เจ้าไชยองค์เว้) พ.ศ. 2257 ได้ให้เจ้าองค์รอง พระอนุชาต่างพระชนกไปครองนครหลวงพระบาง แต่ได้ถูกพระเจ้ากิงกิสราชยกทัพมาตี แย่งเอานครหลวงพระบางไปได้ เจ้าองค์รองจึงได้อัญเชิญเอาพระบางเจ้าลงไปประดิษฐานที่นครเวียงจันทน์คู่กันกับพระแก้วมรกต

ในระหว่างปี พ.ศ. 2321–2322 เกิดสงครามระหว่างกรุงธนบุรีกับกรุงศรีสุตนาคนหุต เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกและเจ้าพระยาสุรสีห์ได้ชัยชนะแก่พระเจ้าสิริบุญสาร (องค์บุญ) จึงได้อัญเชิญเอาพระแก้วมรกตและพระบางเจ้าลงไปถวายสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปราบดาภิเษกครองราชย์สมบัติเมื่อ พ.ศ. 2325 ก็โปรดเกล้าฯ ให้เจ้านันทเสนอัญเชิญพระบางไปประดิษฐานไว้ ณ เมืองเวียงจันทน์ ซึ่งพระบางสถิตอยู่กรุงเทพฯ เป็นเวลา 3 ปีเศษ

ในปี พ.ศ. 2369–2371 เจ้าอนุวงศ์แห่งนครเวียงจันทน์ได้ยกกองทัพเข้าตีหัวเมืองอีสานทั้งหมด ยึดได้เมืองนครราชสีมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) ยกกองทัพไปปราบ ในที่สุดปราบเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ได้ เมื่อจัดการบ้านเมืองทางอีสานให้เข้าสู่ความสงบเรียบร้อยแล้ว เจ้าพระยาสุรสีห์ได้อัญเชิญเอาพระบางเจ้าลงไปกรุงเทพมหานคร โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนยศเจ้าพระยาสุภาวดีเป็นเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) และโปรดให้สร้างพระอารามขึ้นให้เป็นที่ประดิษฐานพระบางเจ้าไว้นอกกรุงคือ ให้อัญเชิญไปไว้วัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร ตลอดมาจนถึงรัชสมัยพระบางประดิษฐานที่วัดจักรวรรดิฯ มาจนถึงรัชกาลที่ 4ก็ได้เกิดเหตุฝนแล้ง ต่อเนื่องกันหลายปีชาวกรุงก็ได้ร่ำลือกันว่า ด้วยเหตุที่พระบางและพระแก้วมรกตประดิษฐานไว้ด้วยกันความทราบถึงพระเนตรพระกรรณ จึงได้พระราชทานพระบางกลับคืนสู่หลวงพระบาง นับแต่นั้นเป็นต้นมาพระบางได้ถูกอัญเชิญพระบางกลับหลวงพระบางและคงอยู่ในหลวงพระบางตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

ใกล้เคียง

พระบาง พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว