พระมหากษัตริย์ไทย ของ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช_บรมนาถบพิตร

ต้นรัชกาล

วิกิซอร์ซ มีงานต้นฉบับเกี่ยวกับ:

วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลเสด็จสวรรคตอย่างกระทันหัน ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง ในวันเดียวกัน รัฐสภาลงมติเป็นเอกฉันท์อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช (พระยศในขณะนั้น) ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ต่อไป[21] จากนั้นทรงเสด็จพระราชดำเนินไปศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยแห่งเดิม แต่เปลี่ยนสาขาจากวิทยาศาสตร์ ไปเป็นสาขาสังคมศาสตร์ นิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ ในวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2489 ซึ่งในช่วงเวลานั้นพระองค์ยังทรงพระเยาว์และเสด็จพระราชดำเนินศึกษาต่อ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราวในครั้งแรก ซึ่งได้แก่ พระสุธรรมวินิจฉัย (ชม วณิกเกียรติ), พระยานลราชสุวัจน์ (ทองดี นลราชสุวัจน์) และสงวน จูฑะเตมีย์ สมาชิกพฤฒสภา ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร และพระยามานวราชเสวี (ปลอด วิเชียร ณ สงขลา))[22][23]

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2493

ขณะที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชประทับรถพระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินไปยังท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง เพื่อทรงศึกษาเพิ่มเติมที่สวิตเซอร์แลนด์ ก็ทรงได้ยินเสียงราษฎรคนหนึ่งตะโกนว่า "ในหลวง อย่าทิ้งประชาชน" จึงทรงนึกตอบในพระราชหฤทัยว่า "ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนอย่างไรได้"[24] ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงตระหนักในหน้าที่พระมหากษัตริย์ของพระองค์ ดังที่ได้ตรัสตอบชายคนเดิมนั้นในอีก 20 ปีต่อมา[25]

หลังจากที่จบการศึกษาจากสวิตเซอร์แลนด์ พระองค์เสด็จเยือนกรุงปารีส ทรงพบกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ซึ่งเป็นธิดาของเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นครั้งแรก[26] ในขณะนั้น ทั้งสองพระองค์มีพระชนมายุ 21 พรรษาและ 15 พรรษาตามลำดับ

เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2491 ในระหว่างเสด็จประทับยังต่างประเทศ ขณะที่พระองค์ทรงขับรถยนต์พระที่นั่งเฟียส ทอปอลิโน จากเจนีวาไปยังโลซาน ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ กล่าวคือ รถยนต์พระที่นั่งชนกับรถบรรทุกอย่างแรง ทำให้เศษกระจกกระเด็นเข้าพระเนตรขวา พระอาการสาหัส หลังการถวายการรักษา พระองค์มีพระอาการแทรกซ้อนบริเวณพระเนตรขวา แพทย์จึงถวายการรักษาอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง หากแต่พระอาการยังคงไม่ดีขึ้น กระทั่งวินิจฉัยแล้วว่าพระองค์พระเนตรขวาบอด จึงได้ถวายการแนะนำให้พระองค์ทรงพระเนตรปลอมในที่สุด

ทั้งนี้ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าเยี่ยมพระอาการเป็นประจำจนกระทั่งหายจากอาการประชวร อันเป็นเหตุที่ทำให้ทั้งสองพระองค์มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา[27][28][29]

ไฟล์:Bhumbol and Sirikit.jpgพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ในพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสปี พ.ศ. 2493

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 และเสด็จพระราชดำเนินนิวัตพระนครในปีถัดมา โดยประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ต่อมาวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ณ พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ภายในวังสระปทุม ซึ่งในการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสนี้ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ขึ้นเป็น สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์[30]

วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบอย่างโบราณราชประเพณีขึ้น ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เฉลิมพระปรมาภิไธยตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" ในโอกาสนี้พระองค์ทรงพระราชดำริว่า ตามโบราณราชประเพณี เมื่อสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้ว ย่อมโปรดให้สถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระอัครมเหสีขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมราชินี ดังนั้น พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี[31]

ในช่วงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชซึ่งเป็นช่วงที่จอมพลแปลก พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น เขามีนโยบาย "เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย" โดยพยายามชูบทบาทของตนเองให้โดดเด่นกว่าพระมหากษัตริย์ และไม่สนับสนุนให้พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่าง ๆ และควบคุมการใช้จ่ายของพระมหากษัตริย์[32]

ผนวช

ไฟล์:Princess Sri Sangwal and Monk-King Bhumibol.JPGพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับบาตร ขณะผนวช

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชเสด็จฯ ออกผนวชเป็นเวลา 15 วัน ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม–5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช เป็นพระอุปัชฌาย์ ทรงได้รับฉายาว่า ภูมิพโลภิกขุ หลังจากนั้น พระองค์เสด็จฯ ไปประทับจำพรรษา ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร[33] ระหว่างที่ผนวชนั้น พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์[34] ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระนามาภิไธยเป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม ปีเดียวกัน[35]

ระหว่างที่ทรงดำรงสมณเพศ พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงปฏิบัติพระราชกิจ เช่นเดียวกับพระภิกษุทั้งหลายอย่างเคร่งครัด เช่น เสด็จลงพระอุโบสถทรงทำวัตรเช้า–เย็น ตลอดจนทรงสดับพระธรรมและพระวินัยนอกจากนี้ยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจพิเศษอื่น ๆ เช่นในวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2499 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงร่วมสังฆกรรมในพิธีผนวชและอุปสมบทนาคหลวงในพระบรมราชินูปถัมภ์ ในวันที่วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2499 เสด็จฯ ไปทรงรับบิณฑบาต จากพระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ในโอกาสนี้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งยังเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วย

อนึ่ง ในการทรงพระผนวชครั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2499 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช พระราชอุปัชฌาจารย์ ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์

พระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

ขัดแย้งกับรัฐบาลจอมพล แปลก พิบูลสงคราม

หลังจากจอมพล ป.ทำรัฐประหารในเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 โดย หลังการรัฐประหาร จอมพล ป. ได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2492 และกลับไปใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2475 เพื่อเป็นการลดอำนาจ พระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ จอมพล ป. ยังได้ จำกัดชีวิตส่วนพระองค์ของ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้อยู่แต่เฉพาะในพระนคร และวังไกลกังวล จ.ประจวบคีรีขันธ์เท่านั้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2498 จอมพล ป. ได้จัดให้พระองค์และ สมเด็จพระบรมราชินี (พระอิสริยยศในขณะนั้น) เสด็จเยือนภาคอีสานโดยทางรถไฟ ผลปรากฏชัดว่าพระองค์เป็น ที่นิยมของประชาชนจำนวน มาก ดังนั้น จอมพล ป. จึงได้ตัดงบประมาณในการเสด็จ ครั้งต่อไป [36] โดยเฉพาะในโอกาสฉลองพุทธศตวรรษ พ.ศ. 2500[37][38] รัฐบาลได้กราบบังคมทูลเชิญพระมหากษัตริย์เสด็จมาทรงเป็นประธานซึ่งก็ทรงตอบรับเป็นที่เรียบร้อย แต่ครั้นถึงวันงานทรงพระประชวรปัจจุบันทันด่วน ทำให้นายกรัฐมนตรีตัดสินใจเป็นประธานเปิดพิธีเอง และในเดือนสิงหาคมปีดังกล่าว จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก ออกมาโจมตีรัฐบาลของจอมพล แปลกว่าละเมิดพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งข่าวการระหองระแหงกันระหว่างพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและรัฐบาลดังกล่าว ทำให้สาธารณะเริ่มไม่ไว้วางใจรัฐบาลมากขึ้น[32][39]

เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 จอมพล แปลกได้ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อขอให้ทรงสนับสนุนรัฐบาล[40] พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเตือนจอมพล แปลกว่าขอให้ลาออกจากตำแหน่งเสียเพื่อมิให้เกิดรัฐประหาร แต่จอมพล แปลกปฏิเสธ[41] เย็นวันดังกล่าว จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลทันที และสองชั่วโมงหลังจากการประกาศยึดอำนาจ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร[42] และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้จอมพล สฤษดิ์เป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารโดยไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พระบรมราชโองการฉบับหลังมีความว่า

เนื่องด้วยปรากฏว่า รัฐบาลอันมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้บริหารราชการแผ่นดินไม่เป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ทั้งไม่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองได้ คณะทหารซึ่งมีจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้า ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองไว้ได้ และทำหน้าที่เป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ข้าพเจ้าจึงขอแต่งตั้งจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ขอให้ประชาชนทั้งหลายจงอยู่ในความสงบ และให้ข้าราชการทุกฝ่ายฟังคำสั่งจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ภายหลังรัฐประหาร จอมพลสฤษดิ์ตอบสัมภาษณ์กับนักข่าวต่างประเทศที่ถามว่าได้กราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวเรื่องรัฐประหารก่อนหรือไม่ เขาตอบว่า ท่าน (พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ) จะว่าอะไรได้ก็เรื่องมันเสร็จไปหมดแล้ว[43]

สมัยรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จฯ เยี่ยมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นการส่วนพระองค์ในปี พ.ศ. 2506

เมื่อรัฐบาลทหารของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เถลิงอำนาจแล้ว รัฐบาลได้ฟื้นฟูพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ โดยอนุญาตให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จออกประชาชนเป็นอันมาก ให้เสด็จประภาสในถิ่นทุรกันดาร และตั้งงบประมาณสนับสนุนโครงการพัฒนาที่พระองค์มีพระราชดำริริเริ่มด้วย โดยรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ประกาศให้นำประเพณีหมอบกราบเข้าเฝ้า ซึ่งเลิกไปในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กลับมาใช้ใหม่ กับทั้งประกาศให้สถาปนาธรรมยุติกนิกายขึ้นซ้ำด้วย นอกจากนี้ นับตั้งแต่การปฏิวัติสยาม 2475 สืบมา ประเพณีการเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราชลมารคก็ได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อถวายผ้าพระกฐิน[44][45]

พิธีกรรมตามโบราณประเพณีหลายอย่างของราชวงศ์จักรี เช่นพิธีกรรมพืชมงคล ก็มีประกาศให้ฟื้นฟู[46] วันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (5 ธันวาคม) ก็ได้รับการประกาศให้เป็นวันชาติไทย แทนที่วันที่ 24 มิถุนายน อันตรงกับวันที่คณะราษฎรได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นผลสำเร็จด้วย[47]

เมื่อจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2506 สำนักพระราชวังก็มีประกาศให้จัดการไว้ทุกข์ในพระราชวังเป็นเวลายี่สิบเอ็ดวัน และศพจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้รับพระราชทานฉัตรห้าชั้น ซึ่งปรกติเป็นเครื่องยศของพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า กางกั้นตลอดระยะเวลาไว้ศพ ทั้งนี้ พระยาศรีวิสารวาจา (หุ่น ฮุนตระกูล) องคมนตรี ได้กล่าวต่อมาว่า ไม่เคยมีนายกรัฐมนตรีคนใดที่มีความใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์เท่ากับจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ มาก่อนเลย[48]

สมัยรัฐบาลจอมพล ถนอม กิตติขจร

หลังจากการถึงแก่อสัญกรรมของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ใน พ.ศ. 2506 จอมพล ถนอม กิตติขจร ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนถัดมา และจอมพล ถนอม กิตติขจร ก็สืบนโยบายราชานิยมของจอมพล สฤษดิ์ต่อมาอีกกว่าทศวรรษ ซึ่งเดือนตุลาคม 2516 ในการประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยจากรัฐบาล และมีผู้ตายเป็นจำนวนมหาศาลอันเนื่องมาจากการปราบปรามของรัฐบาลนั้น พระองค์ได้มีพระบรมราชานุญาตให้เปิดพระทวารพระตำหนักจิตรลดารโหฐานรับผู้ชุมนุมที่หนีตายเข้ามา และพระราชทานพระราชโอกาสให้เหล่าผู้ชุมนุมเฝ้า ต่อมา ก็ทรงตั้ง สัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นนายกรัฐมนตรีแทนจอมพล ถนอม กิตติขจร ผู้ลี้ภัยไปสหรัฐอเมริกาและสิงคโปร์ตามลำดับ ครั้งนั้น สัญญา ธรรมศักดิ์ จัดตั้งรัฐบาลพลเรือนสำเร็จเป็นครั้งแรก ทว่า ไม่ช้าไม่นานต่อมาใน พ.ศ. 2519 จอมพล ถนอม กิตติขจร ก็สามารถเข้าประเทศโดยบวชเป็นภิกษุที่วัดบวรนิเวศวิหาร ก่อให้เกิดการประท้วงเป็นวงกว้าง วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2519 หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ไม่อาจจัดการอะไรได้ จึงขอลาออก และเมื่อเวลา 21.30 น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระราชินีนาถเสด็จไปวัดบวรนิเวศ[49] ไม่นานให้หลัง เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา ซึ่งกองกำลังติดอาวุธสังหารหมู่ผู้ประท้วงล้มตายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สมัยรัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์

ในความโกลาหลครั้งนั้น ฝ่ายทหารก็เข้ายึดอำนาจอีกครั้ง และเสนอนามบุคคลสามคนให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเลือกเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ประกอบด้วย ประกอบ หุตะสิงห์ ประธานศาลฎีกา, ธรรมนูญ เทียนเงิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และธานินทร์ กรัยวิเชียร ผู้พิพากษาศาลฎีกา[50] ด้วยความที่ธานินทร์ กรัยวิเชียร มีเกียรติคุณดีที่สุด จึงได้รับการโปรดให้เป็นนายกรัฐมนตรี[ต้องการอ้างอิง]

พระองค์มีพระราชดำรัสในพิธีประดับยศนายทหารชั้นนายพล เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2519 ความตอนหนึ่งว่า

เช่นหนังสือพิมพ์ต่างประเทศเขียนไว้และเจาะจงว่า นายพลไทยยึดอำนาจ นายพลไทยเป็นเผด็จการ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริงก็เป็นหน้าที่รับผิดชอบของท่านนายพลไทยไม่ใช่น้อย เพราะว่าถ้าเผด็จการก็ต้องเผด็จให้ดี เพราะว่านายพลไทยและทหารไทยทั้งหลาย ไม่เคยเผด็จการเพื่อให้เป็นเผด็จการแบบฝรั่ง พยายามที่จะทำเพื่อประเทศชาติ เพราะทหารไทยถือชาติเป็นสูงสุด เป็นใหญ่ ฉะนั้น เมื่อมีการว่ากล่าวว่านายพลไทยเป็นเผด็จการ เราก็จะต้องพยายามเผด็จการให้ดี ให้เหมาะสมกับผู้ที่เป็นชายชาติทหารโดยแท้[51]

เดือนกันยายน 2520 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช, สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ, สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินปฏิบัติพระราชกรณียกิจในจังหวัดภาคใต้

ในวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2520 เวลา 15.15 น. ขณะที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช, สมเด็จพระบรมราชินีนาถและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ประทับบนพลับพลาที่ประทับ ซึ่งมีประชาชนมาเฝ้ารับเสด็จฯราว 30,000 คน ก็ได้มีราษฏรที่มาเฝ้ารับเสด็จฯไปหยิบไฟแช็คดังกล่าวเป็นเหตุให้ระเบิดลูกแรกเกิดระเบิดขึ้น ราษฏรต่างพากันแตกตื่นและเหยียบกับระเบิดลูกที่สอง ทำให้ระเบิดลูกที่สองเกิดระเบิดขึ้น ระเบิดลูกแรกห่างจากพลับพลาที่ประทับ 60.15 เมตร ห่างจากลาดพระบาท 5.20 เมตร และระเบิดลูกที่สองห่างจากพลับพลาที่ประทับ 105.15 เมตร ห่างจากลาดพระบาท 6.00 เมตร แรงระเบิดทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 55 คน บาดเจ็บสาหัส 11 คน[52] ขณะที่เกิดความโกลาหลนั้น บรรดาเจ้าหน้าที่และผู้บังคับบัญชาลูกเสือชาวบ้านได้เข้าระงับควบคุมฝูงชนอย่างฉับพลัน มีการใช้เครื่องขยายเสียงแบบมือถือที่เตรียมไว้แล้วปลอบโยนประชาชนมิให้ตื่นตระหนกและให้อยู่กับที่ ขณะเดียวกันก็มีการลำเลียงผู้บาดเจ็บไปยังโรงพยาบาล ในการนี้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์มิได้ทรงรับบาดเจ็บใด ๆ

ขณะเกิดเหตุนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงยืนประทับอยู่กับที่และทอดพระเนตรมองเหตุการณ์ต่าง ๆ พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ยืนรายล้อมถวายการอารักษา ในขณะที่พิธีการต้องหยุดชะงักชั่วครู่

ทั้งนี้ก่อนหน้าเหตุระเบิดราวราว 20 ชั่วโมง ก็ได้มีตำรวจขับรถจักรยานยนต์ฝ่าสัญญาณไฟจราจรพุ่งชนรถยนต์พระที่นั่งจนเกิดไฟลุกท่วม

ภายหลังเกิดเหตุ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจต่อไป โดยมิได้แสดงพระอาการปริวิตกต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และมีพระราชดำรัสให้ทุกคนมีจิตใจเข้มแข็งไม่ตื่นเต้นต่อสถานการณ์ เมื่อจบคำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว สมเด็จเจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา และสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ ซึ่งประทับอยู่ในพลับพลาฯทรงนำเหล่าราษฎรร้องเพลง “เราสู้”[53] และภายหลังเสร็จพระราชกรณียกิจ เวลา 18.55 น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนผู้บาดเจ็บที่โรงพยาบาลจังหวัดยะลา

ธานินทร์ กรัยวิเชียรมีแนวคิดขวาจัด ทำให้เหล่านักศึกษาหนีเข้าป่าไปรวมกลุ่มกับพวกคอมมิวนิสต์ รัฐบาลของธานินทร์ กรัยวิเชียร จึงถูกรัฐประหารนำโดย พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ใน พ.ศ. 2523 และคณะรัฐประหารก็ตั้งพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่

ขณะนั้น กองกำลังที่ต่อต้านรัฐบาลได้เข้ายึดกรุงเทพมหานคร พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินไปประทับที่ กองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา ตั้งกองบัญชาการตอบโต้ และใช้อำนาจปลดผู้ก่อการออกจากตำแหน่งทางทหาร การก่อการครั้งนี้จึงกลายเป็นกบฏที่รู้จักในชื่อ "กบฏเมษาฮาวาย" และนำไปสู่ "กบฏทหารนอกราชการ" ในเวลาต่อมา [54][55][56][57]

พฤษภาทมิฬ

ดูบทความหลักที่ พฤษภาทมิฬ

รัฐประหารของคณะทหารเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 นำประเทศไทยกลับไปสู่ระบอบเผด็จการทหารอีกครั้ง ซึ่งหลังคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 และการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว พรรคการเมืองที่มีจำนวนผู้แทนราษฎรมากที่สุดคือพรรคสามัคคีธรรม จำนวนเจ็ดสิบเก้าคน ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และมีการเตรียมเสนอ ณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรมในฐานะหัวหน้าพรรคที่มีผู้แทนราษฎรมากที่สุดขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ปรากฏว่ามาร์กาเร็ต แท็ตไวเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา ได้แถลงว่า ณรงค์เป็นผู้หนึ่งที่ไม่สามารถขอหนังสือเดินทางเข้าสหรัฐฯ ได้ เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับนักค้ายาเสพติด[58] พลเอก สุจินดา คราประยูร หัวหน้าคณะรัฐประหาร ซึ่งเคยตกปากว่าจะไม่รับตำแหน่งใด ๆ ภายหลังจากเลือกตั้งอีกเพื่อตัดข้อครหาบทบาทของทหารในรัฐบาลพลเรือน กลับยอมรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และสร้างความไม่พอใจท่ามกลางประชาชนเป็นอันมาก นำไปสู่การเคลื่อนไหวคัดค้านต่าง ๆ ของประชาชน โดยมีร้อยตรี ฉลาด วรฉัตร และพลตรี จำลอง ศรีเมือง หัวหน้าพรรคพลังธรรม เป็นแกนนำ ซึ่งรัฐบาลของพลเอก สุจินดาได้สั่งให้ปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงโดดเฉียบขาด กลายเป็นเหตุการณ์นองเลือดในที่สุด และมีผู้คนเสียชีวิต เมื่อฝ่ายทหารเปิดการโจมตีผู้ชุมนุม เหตุการณ์ดิ่งสู่ความรุนแรงเรื่อย ๆ เมื่อกำลังทหารและตำรวจเข้าควบคุมกรุงเทพมหานครเต็มที่[59] และท่ามกลางเหตุการณ์นี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยมีพระบรมราชโองการเรียกพลเอก สุจินดา คราประยูร และหัวหน้ากลุ่มผู้ประท้วง (พลตรีจำลอง ศรีเมือง) เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ให้เฝ้า และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ถ่ายทอดการนี้ออกอากาศสดได้ ในภาพทางโทรทัศน์ พระองค์ทรงขอให้คู่กรณียุติความรุนแรงและนำพาชาติบ้านเมืองไปสู่สันติซึ่งทั้ง พลเอก สุจินดา คราประยูร และ พลตรีจำลอง ศรีเมือง เห็นพ้องต้องกันในการที่จะให้รัฐบาลพลเรือนเข้ามาบริหารประเทศในสถานการณ์ดังกล่าว [60] ณ จุดสูงสุดของวิกฤติการณ์ ปรากฏภาพพลเอก สุจินดา คราประยูร และหัวหน้าผู้ประท้วง เฝ้าทูลละอองพระบาทโดยหมอบกราบ และที่สุดก็นำไปสู่การลาออกของพลเอก สุจินดา คราประยูร และการเลือกตั้งทั่วไป[61]

รัฐประหาร พ.ศ. 2549

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ผู้นำคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเข้าเฝ้าฯ ในรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานสภาองคมนตรี และรัฐบุรุษ พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน พลเรือเอก สถิรพันธุ์ เกยานนท์ และพลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายรายงานสถานการณ์ การปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อเวลา 00.19 น. วันพุธที่ 20 กันยายน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต[62]

พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณา ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ว่า การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล อันมี พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ก่อให้เกิดปัญหา ความขัดแย้งแบ่งฝ่าย สลายความรู้สึกรู้รักสามัคคีของคนในชาติ อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย ประชาชนส่วนหนึ่งเคลือบแคลงสงสัยว่า การบริหารราชการแผ่นดิน ส่อไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง หน่วยงานอิสระ ถูกการเมืองครอบงำ ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางการเมือง เกิดปัญหาและอุปสรรคหลายประการ แม้หลายภาคส่วนของสังคมจะได้พยายามประนีประนอม คลี่คลายสถานการณ์มาโดยต่อเนื่องแล้ว ก็ไม่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองได้[63]

นอกจากนี้ ในวันที่ 22 กันยายน โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย โดยสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก แพร่ภาพพิธีรับพระบรมราชโองการ แต่งตั้งหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แก่พลเอก สนธิ ซึ่งมีข้อสังเกตว่าประกาศฉบับดังกล่าว มีพลเอก สนธิเอง ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ และลงวันที่ 20 กันยายน ขณะที่พิธีรับพระบรมราชโองการนั้น จัดให้มีขึ้นต่อมาในภายหลัง[64]

หลังจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2549 ในวันที่ 1 ตุลาคม ปีเดียวกัน คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แปรสภาพเป็น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ โดย หัวหน้า คปค. ดำรงตำแหน่ง ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติ ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกสมัชชาแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากนั้น จึงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี[65]

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้พระราชทานสัมภาษณ์ในรายการโดยอ้างว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเสียพระทัยต่อเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองและการเสียพระทัยจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองนำไปสู่พระอาการประชวรเป็นไข้ ใจความตอนหนึ่งว่า[66]

"จะเล่าไป ข้าพเจ้าเป็นคนไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง ไม่อยากพูดถึงใครว่าใครดีใครเลว ไม่รู้ เพราะไม่เคยคบนักการเมือง แต่ว่า รู้แต่ว่า เหตุการณ์ปีที่แล้ว ที่มีการเผาบ้านเผาเมืองกัน อันนั้นนำความทุกข์มาสู่พระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จฯ (สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ) เหลือเกิน พระเจ้าอยู่หัวนี่ จากที่ทรงหัดเดินได้น่ะ ตอนนั้นน่ะ ทรงทรุดเลย เป็นไข้ต้องให้น้ำเกลือ นอนแบ็บเลย สมเด็จฯ ก็เสียพระทัยมากเหลือเกิน ท่านรับสั่งว่า 'คราวที่เราถูกเผาเมืองนั้น คือสมัยเสียกรุงต่อพม่า กรุงศรีอยุธยา แต่คราวนี้ สะเทือนใจยิ่งกว่า เพราะเป็นการที่คนไทยเผาเมืองไทยเอง"

อย่างไรก็ตามพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมิได้ทรงตอบรับข้ออ้างของพระธิดาต่อสาธารณชนว่าเป็นจริงหรือเท็จนอกจากนี้พระองค์ก็ตรัสถึงการเมืองบ้างเล็กน้อยในบางโอกาส[67]

พระพลานามัยปลายพระชนม์

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระอาการประชวรเรื้อรังในส่วนของพระหทัยเต้นผิดปกติ มีสาเหตุจากการได้รับเชื้อไมโคพลาสมา ราวปี พ.ศ. 2530 เสด็จไปเยี่ยมประชาชนที่อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ คณะแพทย์ไม่อาจถวายการรักษาให้หายขาดได้ ทำได้เพียงถวายพระโอสถประคองพระอาการมาตลอด จนต้องทรงรับการผ่าตัดใหญ่มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2538[68]

นับตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2552 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเริ่มประชวร อันเนื่องมาจากพระโรคไข้หวัดและพระปัปผาสะอักเสบ พระองค์แปรพระราชฐานจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ไปโรงพยาบาลศิริราช เพื่อให้คณะแพทย์ถวายการรักษา[69] ต่อมาจนถึงเดิอนสิงหาคม พ.ศ. 2556 พระองค์เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเปลี่ยนพระอิริยาบถ[70]

จนกระทั่งวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2557 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯมาประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช โดยทรงมีพระอาการไข้[71] คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาจนพระอาการทั่วไปดีขึ้นตามลำดับ[72] ต่อมาในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2558 พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินกลับไปประทับ ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล เพื่อเปลี่ยนพระอิริยาบถอีกครั้ง[73] แต่เสด็จฯไปประทับได้ไม่นาน ก็ทรงกลับมาประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช[74] ตลอดระยะเวลาที่ทรงประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช จนถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2559 พระอาการประชวรได้ดีขึ้นและทรุดลงเป็นครั้งคราว[75] โดยพระราชกรณียกิจครั้งสุดท้ายของพระองค์คือการพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ผู้พิพากษาประจำศาลต่าง ๆ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2558[76] และการปรากฏพระองค์ครั้งสุดท้ายคือการเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรสภาพภูมิทัศน์บริเวณโดยรอบสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2559[77]

เสด็จสวรรคต

วิกิซอร์ซ มีงานต้นฉบับเกี่ยวกับ:
พระโกศประกอบพระอิสริยยศพระบรมศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวังพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เมื่อครั้งดำรงพระบรมราชอิสริยยศ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระปรอทต่ำ หายพระทัยเร็ว มีพระเสมหะ พระปับผาสะซ้ายอักเสบ มีพระโลหิตเป็นกรด และพบว่ามีน้ำคั่งในช่องเยื่อหุ้มพระปัปผาสะเล็กน้อย[78] คณะแพทย์จึงทำการรักษาด้วยพระโอสถปฏิชีวนะ และใช้สายสวนเข้าหลอดพระโลหิตดำเพื่อฟอกพระโลหิต แต่มีพระความดันพระโลหิตต่ำจึงใช้เครื่องช่วยหายพระทัย พระอาการไม่คงที่[79] ก่อนที่พระอาการจะทรุดลงไปอีก มีการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต[80] จนเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 พระอาการประชวรได้ทรุดหนักลงตามลำดับ และสวรรคตเมื่อเวลา 15.52 น. รวมพระชนมายุ 88 พรรษา ทรงครองราชสมบัติได้ 70 ปี 4 เดือน 4 วัน[81][82]

วันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559 เวลา 16.00 น. พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งยังเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปโรงพยาบาลศิริราช เพื่อเคลื่อนพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชไปยังพระบรมมหาราชวัง มีพระราชพิธีถวายสรงน้ำพระบรมศพ ณ พระที่นั่งพิมานรัตยา มีการเชิญพระบรมศพลงสู่พระหีบ ประดิษฐานหลังพระแท่นแว่นฟ้าทอง ประกอบพระโกศทองใหญ่ ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตรพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ภายในพระบรมมหาราชวัง

รัฐบาลประกาศให้สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐและสถานศึกษาทุกแห่ง ลดธงครึ่งเสา 30 วัน และให้ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าหน้าที่รัฐไว้ทุกข์ 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559[83] คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดให้วันที่ 13 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันหยุดราชการ เพื่อให้ประชาชนน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ[84] มีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2560[85]

ต่อมาในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการให้เฉลิมพระปรมาภิไธยพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมชนกนาถขึ้นเป็น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562[86] ในวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศ เรื่อง พระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย คำอ่าน และสรรพนาม คำขึ้นต้น คำลงท้าย ในการกราบบังคมทูล กราบทูล ได้ระบุพระปรมาภิไธยอย่างย่อไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร[87]

วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการให้วันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันสำคัญของชาติไทย เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร, วันชาติไทย และวันพ่อแห่งชาติ[88] และเป็นวันหยุดราชการ

ใกล้เคียง

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

แหล่งที่มา

WikiPedia: พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช_บรมนาถบพิตร http://www.businessspectator.com.au/article/2014/4... http://www.theaustralian.news.com.au/story/0,25197... http://www.smh.com.au/news/world/australian-pedoph... http://www.abc.net.au/news/newsitems/200606/s16752... http://www.abc.net.au/news/stories/2008/11/28/2432... http://www.mettadham.ca/chiwat%20buddha%20image_1.... http://www.2bangkok.com/burning.shtml http://www.atimes.com/atimes/Southeast_Asia/JK25Ae... http://www.bangkokpost.com/60yrsthrone/60yrsthrone... http://www.bangkokpost.com/king2000/