ประวัติ ของ พระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี

แรกสร้างในสมัยเชียงแสน-สุโขทัย

หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี เป็นพระพุทธรูปโบราณศักดิ์สิทธิ์ สร้างในสมัยก่อนตั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี เมื่อกว่า 800 ปีก่อน สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปสำคัญของพระวิหารในวัดโบราณแห่งใดแห่งหนึ่งยุคนั้น

เมื่อมีข้าศึกประชิดเมือง ชาวบ้านเกรงว่าหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีจะได้รับอันตราย จึงได้พอกปูนองค์หลวงพ่อไว้เพื่อกันภัยจากข้าศึก ต่อมาเมื่อเมืองพ่ายแก่ข้าศึก และเสื่อมความสำคัญในฐานะเมืองหลวงแห่งอาณาจักรลง ทำให้วัดที่ประดิษฐานองค์หลวงพ่อต้องมีอันร้างพระสงฆ์และผู้คน พร้อม ๆ กับ หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์ที่ข้าศึกไม่สนใจ เพราะเป็นพระพุทธรูปปูน (ที่ถูกหุ้มไว้) ไม่ใช่พระเนื้อโลหะอย่างที่ข้าศึกต้องการ องค์หลวงพ่อจึงถูกทิ้งร้างอย่างปลอดภัยอยู่กลางป่ามาตลอดช่วงสมัยอยุธยา

สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระผู้ทรงอัญเชิญองค์หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีมาประดิษฐาน ณ กรุงเทพมหานคร

จวบจนยุคสมัยก้าวล่วงเข้าสู่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ได้เสด็จไปการพระราชสงครามยังหัวเมืองเหนือ ได้ทอดพระเนตรเห็นพระพุทธรูปซึ่งอยู่ ณ เมืองเก่าสุโขทัย ทั้งที่เป็นพระปูน พระโลหะ ซึ่งถูกทอดทิ้งไว้ ได้ทรงมีพระราชศรัทธาที่จะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก จึงได้ทรงออกกระแสพระบรมราชโองการให้อัญเชิญพระพุทธรูปจากสุโขทัย รวมทั้งองค์หลวงพ่อ พระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี ให้มาประดิษฐานไว้ ณ กรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. 2337 ความว่า

กระแสพระบรมราชโองการ ให้อัญเชิญพระพุทธรูปจากสุโขทัย (พระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี) มาประดิษฐานไว้ ณ กรุงเทพฯ จ.ศ. 1156 (พ.ศ. 2337)
...ศุภมัสดุ พระพุทธศักราชล่วงแล้ว ๒๓๒๗ พระวะษา ตยุลศักราช ๑๑๕๖ ปีขาล ฉ้อศก ณ วัน ๕ฯ๙ ค่ำ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมธรรมิกะมหาราชาธิราชเจ้า พระองค์ปรารถนาพระบรมโพธิญาณ ทรงพระราชศรัทธาธิคุณเปนอัคะสาสะนูปะถำ พกพระพุทธสาศนา ทรงพระราชกุศลจินดาไมยญาณไปว่า พระพุทธรูปพระนครใดที่ท่านผู้ทานาธิบดีศรัทธาสร้างไว้แต่ก่อน บัดนี้หามีผู้ทำนุกบำรุงปติสังขรณะไม่ ประหลักหักพังยับเยือนเปนอันมาก เปนที่หมิ่นปรมาทแห่งบุทคลอันทพาลแลมฤทาทิฐิ ทรงพระราชดำริไปก็บังเกิดสังเวดในพระบรมพุทธาวิฐารคณเปนอันมาก จึ่งมี พระราชบริหารดำหรัส สั่งให้ พญารักษมณเทียรกรมวังหลวง สมเด็จพระขรรคกรมพระแสงใน ขึ้นไปเชิญเสด็จพระพุทธรูปณะเมืองศุกโขไทย ผู้รั้งกรมการกับข้าหลวงจัดเรือขนาบมีร่มตลอดหัวท้าย มีฉัตรธงปักรายแคมแล้วเชิญเสด็จพระพุทธรูปเจ้าลงเรือล่องมายังกรุงเทพมหานคร ศรีอยุธยา จึ่งเชิญขึ้นประดิษถานไว้ ณะพระอารามพระเชตุพน มาถึง ณ วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีขาล ฉ้อศก”..."[11]

การอัญเชิญมารวบรวมไว้ในพระนคร ครั้งนี้ ก็เพื่อรออัญเชิญประดิษฐานไว้ในที่อันสมควรแก่การสักการบูชา โดยการอัญเชิญพระพุทธรูปจากหัวเมืองเหนือมายังกรุงเทพมหานครในครั้งนี้ มีจำนวนกว่า 1,248 องค์ ซึ่งพระพุทธรูปปูนปั้นหุ้มหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์ก็ได้ถูกอัญเชิญลงมาในคราวเดียวกันนี้ ในการนั้น ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานพระพุทธรูปจากเมืองสุโขทัยและหัวเมืองเหนือที่ได้รวบรวมมา ประดิษฐานไว้ ณ พระวิหารคตวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร ที่ทรงบูรณปฏิสังขรณ์เสร็จสิ้นในปี พ.ศ. 2344

ลุจุลศักราช 1855 เอกศก (พ.ศ. 2336) สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้าตัน กรมหลวงเทพหริรักษ์ พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ พระพี่นางเธอในรัชกาลที่ 1 ทรงทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัดเลียบเสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระราชทานนามวัดว่า "วัดราชบุรณราชวรวิหาร" ตามนามวัดราชบุรณะซึ่งเป็นวัดคู่เมืองราชธานีตลอดมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย และได้มีพระบรมราชูปถัมภ์ในการบูรณปฏิสังขรณ์ด้วย

ต่อมา ในรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ถอนสีมาวัดเลียบเก่า แล้วสร้างพระอุโบสถและพระวิหารใหม่ พร้อมกับทำการสร้างพระระเบียงล้อมรอบพระอุโบสถ ภายในอัญเชิญพระพุทธรูปปูนเก่า ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาจากหัวเมืองเหนือรวม 162 องค์ มาประดิษฐานไว้ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือองค์หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์ด้วย[12]

รอดจากระเบิดสัมพันธมิตร (สงครามโลกครั้งที่ 2)

เวลาล่วงเลยมากว่า 7 รัชสมัย จนถึงช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 วัดราชบุรณะได้ถูกระเบิดจากเครื่องบินทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรทำลาย เนื่องจากใกล้กับวัดเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าวัดเลียบที่สร้างมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2440 ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นจุดสำคัญที่หมายสำหรับการทำลายของเครื่องบินทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร เพราะเป็นที่ตั้งของแหล่งสาธารณูปโภคสำคัญของพระนคร

ภาพวัดราชบุรณราชวรวิหารในปี พ.ศ. 2475 (ปล่องโรงไฟฟ้าเลียบอยู่ด้านหลังวัด) ก่อนถูกทำลายหมดทั้งวัดจากเครื่องบินทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรในปี พ.ศ. 2488 ในภาพจะสังเกตเห็นพระระเบียงคตรอบพระอุโบสถวัดราชบุรณะ สถานที่ ๆ เคยเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีและพระพุทธรูปโบราณทั้ง 162 องค์

โดยวัดราชบุรณะถูกระเบิดทำลายลงในเวลาประมาณ 13.15 น. ของวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2488[12] ทำให้พระอุโบสถ สังฆาราม พระวิหาร และ กุฏิเสนาสนะ เสียหายมาก คงเหลือแต่พระะปรางค์และพระระเบียงคตที่ประดิษฐานหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีเท่านั้นที่ไม่ถูกทำลาย แต่ด้วยความเสียหายอย่างหนักของวัดยากแก่การบูรณะให้มีสภาพดังเดิม คณะสังฆมนตรีและคณะรัฐมนตรีในขณะนั้นมีมติว่าสมควรยุบเลิกวัดเสีย จึงนำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 และได้รับพระบรมราชานุญาตให้ทำการยุบเลิกวัดได้ ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2488[13]

เมื่อวัดราชบูรณะถูกยุบเลิก สังฆมนตรีได้ประกาศยุบวัดราชบุรณราชวรวิหารรวมไปเข้ากับวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร และบรรดาทรัพย์สินที่เป็นสังหาริมทรัพย์ของวัดราชบุรณะที่เหลือรอดจากการถูกทำลายให้โอนไปเป็นสมบัติของวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร พระสงฆ์และสามเณรวัดราชบุรณราชวรมหาวิหารเดิมให้เข้าถือสังกัดอยู่ในวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร

เมื่อวัดราชบุรณราชวรมหาวิหารถูกยุบเลิกดังกล่าว กรมการศาสนาจึงได้อนุญาตให้วัดต่าง ๆ ในหัวเมือง อัญเชิญพระพุทธรูปปูนปั้นโบราณที่พระระเบียงที่รอดจากการถูกทำลาย ไปประดิษฐานยังวัดของตนได้ตามแต่ประสงค์ ทำให้หลังจากสงครามสงบลงในปีเดียวกัน พระพุทธรูปเหล่านั้นจึงกระจายไปอยู่ตามวัดต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคของประเทศ[12]

อัญเชิญขึ้นมายังอุตรดิตถ์

อัญเชิญจากกรุงเทพมหานคร

วัดคุ้งตะเภา ซึ่งในสมัยนั้นกำลังทำการก่อสร้างอุโบสถ และยังไม่มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่สำหรับเป็นพระประธานเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ จึงได้แจ้งความจำนงขอรับพระพุทธรูปเก่าจากวัดราชบุรณราชวรวิหารมาองค์หนึ่ง กรมการศาสนาจึงได้ส่งพระพุทธรูปโบราณทั้งที่เป็นพระปูนพระสัมฤทธิ์ รวมทั้งองค์หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีที่เคยประดิษฐานที่พระระเบียงคต รวมจำนวน 8 องค์ คู่กับรูปหล่อสัมฤทธิ์พระอัครสาวกที่เคยประดิษฐานเป็นพระอสีติมหาสาวก 80 องค์ ภายในวิหารซึ่งเป็นพระที่รอดจากการทำลายจากระเบิดสัมพันธมิตรในครั้งนั้นมาด้วย

สถานที่แม่น้ำน่านเต็มตลิ่งถึงหน้าวัดเป็นอัศจรรย์ เป็นเหตุให้สามารถอัญเชิญหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีขึ้นแพยังฝั่งแม่น้ำหน้าวัดคุ้งตะเภาเดิมได้ (แม่น้ำน่านในสมัยนั้นอยู่ห่างจากตลิ่งวัดไปกว่า 1 กิโลเมตร)พระพุทธรูปองค์อื่นที่อัญเชิญมาจากวัดราชบุรณะในคราวเดียวกัน

การอัญเชิญพระจากวัดราชบุรณราชวรวิหารในครั้งนั้น วัดในจังหวัดอุตรดิตถ์ที่ลงไปขอพระพุทธรูปจากวัดราชบุรณราชวรวิหาร เท่าที่ทราบนามในปัจจุบันมีด้วยกันห้าวัดคือ วัดคุ้งตะเภา (อัญเชิญ หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี กลับมา) , วัดธรรมาธิปไตย (อัญเชิญ หลวงพ่อเชียงแสน กลับมา), วัดยางโทน (อัญเชิญหลวงพ่อพระพุทธโคดมศรีศากยมุนีกลับมา), วัดดอนไชย อำเภอลับแล (อัญเชิญพระพุทธรูปศิลปสุโขทัยกลับมา) [14] และวัดดงสระแก้ว (อัญเชิญ หลวงพ่ออู่ทอง (ทองคำ) กลับมา2) โดยตอนอัญเชิญพระพุทธรูปกลับมานั้น ได้มาเพียงพระปูนปั้นธรรมดา (วัดคุ้งตะเภาได้พระปูนลงรักดำสนิทมา) แต่ต่อมาพระปูนทั้งหมดก็ได้กะเทาะแตกออกเป็นพระโลหะสำริดและทองคำดังในปัจจุบัน

ประดิษฐาน ณ วัดธรรมาธิปไตย

สำหรับการเคลื่อนย้ายนั้น กรมการศาสนาได้ชะลอหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีและพระพุทธรูปอื่น ๆ ขึ้นมายังจังหวัดอุตรดิตถ์โดยทางรถไฟมาลงที่สถานีรถไฟศิลาอาสน์ และอัญเชิญมาประดิษฐานเป็นการชั่วคราวที่วัดธรรมาธิปไตย ซึ่งเป็นวัดของพระเดชพระคุณพระสุธรรมเมธี (บันลือ ธมฺมธโช ป.ธ.๘) เจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ในขณะนั้น โดยท่านได้ทำการจัดแบ่งถวายยังวัดต่าง ๆ ที่แจ้งความประสงค์มาโดยการเลือกบ้างจับสลากบ้าง พระปลัดป่วน ซึ่งยังเป็นเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภาในครั้งนั้นจึงได้ส่งมัคนายกวัดคุ้งตะเภา 2 ท่าน คือทายกบุตร ดีจันทร์ และทายกอินทร์ รัตนมาโต มาที่วัดธรรมาธิปไตยเพื่อคัดเลือกและรับอัญเชิญพระพุทธรูปหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีมายังวัดคุ้งตะเภา โดยได้รับถวายรูปหล่อพระอัครสาวกมาจำนวน 2 องค์เพื่อประดิษฐานคู่กับหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีด้วย (ปัจจุบันรูปพระอัครสาวกทั้งสองได้สูญหายไปนานแล้ว)

อัญเชิญสู่วัดคุ้งตะเภา-สำแดงปาฏิหาริย์

การเคลื่อนย้ายหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีมายังวัดคุ้งตะเภาในครั้งนั้น ทายกทั้งสองได้ชวนคนวัดและชาวบ้านร่วมกันอัญเชิญมาลงที่ท่าอิฐไม่ไกลจากวัดธรรมาธิปไตย และทวนแพมาขึ้นฝั่งหน้าวัดคุ้งตะเภาโดยทางแม่น้ำน่านในช่วงสงกรานต์ปี พ.ศ. 2489 ในครั้งนั้นเล่ากันมาว่ามีน้ำหลากสูงเต็มตลิ่งผิดปกติ ทำให้ชาวบ้านสามารถอัญเชิญหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีขึ้นฝั่งตรงหน้าวัดบริเวณต้นโพธิ์หน้าศาลาการเปรียญได้เป็นอัศจรรย์

ในช่วงแรก ชาวบ้านคุ้งตะเภาได้ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์ไว้เป็นพระประธานบนบนศาลาการเปรียญเปิดโล่งสี่ทิศ หรืออาคารศาลาการเปรียญหลังเก่าที่สร้างมาแต่ พ.ศ. 2472 ซึ่งเป็นศาสนสถานหลักของวัดในสมัยนั้นก่อนจะมีการสร้างอุโบสถเพื่อประดิษฐานในช่วงหลัง โดยผู้เฒ่าผู้แก่เล่าสืบมาว่าหลังอัญเชิญหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีมาประดิษฐานเป็นหลักชัยของวัดในปี พ.ศ. 2489 ได้มีฝนตกต้องตามฤดูกาลเสมอมา ชาวบ้านคุ้งตะเภาในช่วงนั้นหากินได้อุดมสมบูรณ์มากกว่าปกติ และต่างเชื่อกันว่าเป็นเพราะความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูปที่อัญเชิญมาจากวัดราชบุรณะ ในภายหลังจึงได้การขนานพระนามถวายองค์พระว่า "หลวงพ่อสัมฤทธิ์" ที่แปลว่า พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่บันดาลความสุขอุดมสมบูรณ์และความสำเร็จดังปรารถนามาให้ และด้วยพระพุทธลักษณะแบบเชียงแสน-สุโขทัย ทำให้ในช่วงหลังพระสงฆ์ในวัดเรียกกันคุ้นปากว่า "หลวงพ่อสุโขทัยสัมฤทธิ์" ที่มีความหมายถึงความสุขเช่นเดียวกัน

หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี เมื่อคราวอัญเชิญออกประดิษฐานชั่วคราวให้ประชาชนสักการบูชาในวันสงกรานต์ 2552การอารักขาภัย

ต่อมาในช่วงหน้าพรรษาปี พ.ศ. 2500 ได้มีลมพายุพัดรุนแรงมากจนทำให้กิ่งไม้หักถูกศาลาการเปรียญต้ององค์พระปูนปั้นหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์ชำรุดจนเห็นเนื้อภายใน ทำให้พระสงฆ์วัดคุ้งตะเภาได้ทราบว่าพระพุทธรูปที่อัญเชิญมาแต่วัดราชบุรณะนั้นเป็นพระพุทธรูปเนื้อสัมฤทธิ์โบราณ จึงได้อัญเชิญไปประดิษฐานในอุโบสถของวัดคู่กับหลวงพ่อสุวรรณเภตรา พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สำคัญประจำวัดคุ้งตะเภา ปะปนกับพระพุทธรูปองค์อื่น ๆ โดยไม่ได้เปิดเผยว่าเป็นพระเนื้อสัมฤทธิ์โบราณ และมีพระสงฆ์วัดคุ้งตะเภาเข้าจำพรรษาเฝ้าระวังหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์ทุกพรรษาในอุโบสถ ทำให้ในช่วงหลังนามหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์ได้ลืมเลือนไปจากชาวบ้านรุ่นที่ทันเห็นในคราวที่ยังเป็นพระพุทธรูปปูน จนถึงกลางปี พ.ศ. 2537 มีการบูรณะอุโบสถวัดคุ้งตะเภา พระสงฆ์จึงได้อัญเชิญองค์หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์เข้าประดิษฐานยังห้องลับของวัดจนถึงปี พ.ศ. 2552 จึงได้อัญเชิญองค์หลวงพ่อออกประดิษฐานให้ประชาชนสักการะเป็นการชั่วคราวในเทศกาลสงกรานต์ และในปี พ.ศ. 2553 วัดคุ้งตะเภาได้สร้างตู้กระจกนิรภัยพร้อมกับติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยอิเล็กทรอนิกส์บนอาคารศาลาการเปรียญวัดคุ้งตะเภา และได้อัญเชิญองค์หลวงพ่อขึ้นประดิษฐานในหอพระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีประสิทธิมงคล เปิดโอกาสให้ประชาชนสักการะเป็นการถาวรจนถึงปัจจุบัน

งานนมัสการหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี

หลังจากที่วัดคุ้งตะเภาได้อัญเชิญหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี กลับมาสู่แดนมาตุภูมิ (แถบนี้เคยเป็นหัวเมืองของกรุงสุโขทัยในอดีต) ก็มิได้มีการเปิดให้สักการบูชาและเปิดเผยองค์หลวงพ่ออย่างเป็นทางการเช่นในอดีต เนื่องจากปัญหาด้านการรักษาความปลอดภัย เพราะองค์หลวงพ่อเป็นโบราณวัตถุที่ประเมินค่ามิได้ และเป็นที่ปรารถนาสำหรับพ่อค้าวัตถุโบราณ ทำให้ทางวัดจำเป็นต้องเก็บงำปูชนียวัตถุโบราณสำคัญยิ่งของชาติชิ้นนี้ไว้ในสถานที่ต่าง ๆ ภายในวัดโดยไม่ได้เปิดเผยให้ประชาชนทั่วไปทราบมานานกว่า 60 ปี

ในปี พ.ศ. 2552 วัดคุ้งตะเภาจึงได้ทำการเปิดเผยองค์หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี และเปิดโอกาสให้ทุกคนได้สักการะปิดทองสรงน้ำได้ถึงองค์พระ โดยจะอัญเชิญหลวงพ่อมาประดิษฐานให้ประชาชนทำการสักการบูชาได้เฉพาะในช่วง เทศกาลสงกรานต์เท่านั้น

จนในปี พ.ศ. 2553 วัดคุ้งตะเภาได้ทำการอัญเชิญองค์หลวงพ่อขึ้นประดิษฐานเป็นการถาวรบนอาคารศาลาการเปรียญวัดคุ้งตะเภา และเปิดโอกาสให้ประชาชนสักการะได้ทุกวัน

ได้รับถวายพระนามและยกย่องเป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองอุตรดิตถ์

ด้วยฤทธานุภาพความศักดิ์สิทธิ์ขององค์หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี และพระพุทธศิลปะแบบสุโขทัย-เชียงแสน ที่หาชมได้ยากยิ่ง ทำให้ในปี พ.ศ. 2552 สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุตรดิตถ์ จึงได้ยกย่ององค์หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีเป็นพระพุทธรูปโบราณศักดิ์สิทธิ์สำคัญคู่บ้านคู่เมือง 1 ใน 9 องค์ ของจังหวัดอุตรดิตถ์ และวัดคุ้งตะเภาถูกบรรจุให้เป็นหนึ่งในเส้นทางทำบุญไหว้พระ 9 วัด ของจังหวัดอุตรดิตถ์อีกด้วย[8]

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร มีพระเมตตาธิคุณประทานพระนามให้หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์ใหม่ เพราะเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองและเพื่อให้คล้องกับนามจังหวัดอุตรดิตถ์

และเนื่องในมหาศุภวาระมงคลดิถีสัมพุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปี (การฉลอง 26 พุทธศตวรรษ แห่งการตรัสรู้) ในปี พ.ศ. 2555 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร องค์พระสังฆบิดรแห่งคณะสงฆ์ไทย จึงได้มีพระเมตตาธิคุณเปลี่ยนถวายพระนามองค์หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีใหม่ให้สอดคล้องกับชื่อจังหวัดอุตรดิตถ์ จากพระนามเดิม หลวงพ่อสุโขทัยสัมฤทธิ์ เป็น พระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี[2]

โดยปรากฏข้อความทรงยกย่องในหนังสือตอบการประทานพระนามจากสำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช[1] ว่า

...เนื่องด้วย... เป็นพระพุทธรูปโบราณสำคัญของจังหวัดอุตรดิตถ์ ปางมารวิชัย ศิลปะเชียงแสน-สุโขทัย เป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดอุตรดิตถ์...

และการที่มีพระเมตตาธิคุณประทานเปลี่ยนพระนามใหม่ให้เป็น พระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี นั้น เพื่อให้คล้องกับพระนามเดิมที่รู้จักกันทั่วไป และต่อสร้อยให้คล้องกับนามจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นนามพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[2] องค์หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีจึงมีพระนามใหม่ตั้งแต่นั้นมา

สำหรับประวัติโดยละเอียดของหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่ วิกิซอร์ซ

ใกล้เคียง

พระพุทธเจ้า พระพุทธชินราช พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระพุทธโสธร พระพุทธชินสีห์ พระพุทธรูป พระพุทธรูปแห่งบามียาน พระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี พระพุทธวรญาณ (ทอง สุวณฺณสาโร) พระพุทธมงคลธรรมศรีไทย

แหล่งที่มา

WikiPedia: พระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี http://www.khonnaruk.com/html/19artist/19artist_02... http://www.youtube.com/watch?v=FT7f0GXdBOU http://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E... http://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E... http://library.uru.ac.th/stat/images/cont12388.pdf http://utt.onab.go.th/download/serviceutt/128.doc http://utt.onab.go.th/index.php?option=com_content... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2530/D/... http://www.npdc.mi.th/Npdc/buddha.htm https://commons.wikimedia.org/wiki/Category:Phra_B...