เป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ของ พระมงคลเทพมุนี_(สด_จนฺทสโร)

แม้ว่าท่านเป็นภิกษุผู้รักชีวิตอิสระและสันโดษ ชอบออกธุดงค์แสวงหาสถานที่วิเวกเพื่อปฏิบัติธรรม แต่ท่านก็ไม่เคยนิ่งดูดายต่อส่วนรวม ไม่ว่าท่านจะไปพักอยู่ที่ใด ท่านมักจะทำประโยชน์ให้เกิดขึ้นในที่แห่งนั้นเสมอ ประกอบกับท่านเป็นผู้ที่มีความสามารถในหลายๆ ด้าน จึงเป็นเหตุให้พระเถระผู้ใหญ่ในวงการคณะสงฆ์ คือ ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก (เผื่อน ติสฺสทตฺตเถร) วัดพระเชตุพนฯ พระอาจารย์ของท่าน ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี ได้เล็งเห็นถึงคุณสมบัติที่ดีของท่าน ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎกเห็นว่า ท่านสามารถทำประโยชน์ให้กับพระศาสนาได้อีกมาก จึงมอบหมายให้ท่านย้ายไปจำพรรษาที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เพื่อเป็นเจ้าอาวาส โดยในช่วงแรกให้เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสไปก่อน เมื่อท่านรับคำแล้ว จึงได้แต่งตั้งให้เป็นพระครูสมุห์ฐานานุกรมของพระศากยยุติยวงศ์

เมื่อถึงวันครบกำหนด ท่านเดินทางจากวัดพระเชตุพนฯ โดยเรือยนต์หลวงที่กรมการศาสนาจัดถวาย เพื่อเป็นเกียรติแก่พระอารามหลวง มีพระเถรานุเถระจากวัดพระเชตุพนฯ เดินทางมาส่ง และมีพระภิกษุติดตามท่านมาด้วย 4 รูป ทางด้านวัดปากน้ำ มีพระเถระผู้ใหญ่ในอำเภอนั้น พร้อมทั้งญาติโยมจำนวนมากมารอต้อนรับคณะของท่าน

เมื่อมาถึงวัดปากน้ำ ท่านพบว่าวัดอยู่ในสภาพกึ่งวัดร้าง ภายในวัดมีสภาพทรุดโทรม ในสมัยนั้น ที่นี่เป็นสวนพลู สวนหมาก สวนมะพร้าว สวนเงาะ มีศาลาที่เก่ามาก มีโรงครัวเล็กๆ กุฏิก็มีไม่กี่หลัง เป็นกุฏิเล็กๆ ยกพื้น ปลูกด้วยไม้สัก พักได้รูปเดียว อยู่ตามร่องสวน พระภิกษุที่อยู่ก่อนมีจำนวน 13 รูป มักย่อหย่อนทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติ ทำให้ท่านต้องพบอุปสรรคที่ไม่คาดคิดมาก่อนตั้งแต่วันแรกที่มาถึง แต่ท่านก็ไม่ได้ย่อท้อต่ออุปสรรคที่เกิดขึ้นแม้แต่น้อย ในทางตรงกันข้าม ท่านกลับมีความคิดที่จะฟื้นฟูวัดปากน้ำให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นอีกด้วย

เมื่อท่านมาเป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำใหม่ๆ ท่านกล่าวว่า "สร้างคนนั้นสร้างยาก เรื่องเสนาสนะไม่ยาก ใครมีเงินก็สร้างได้ แต่สิ่งสำคัญต้องสร้างคนก่อน" ดังนั้น ในเบื้องต้นท่านมุ่งไปที่ความประพฤติของพระภิกษุ สามเณรในวัด ท่านต้องการให้ทุกรูปมีข้อวัตรปฏิบัติที่ดี ประพฤติตนตามพระธรรมวินัย จึงเรียกประชุมพระภิกษุ สามเณรที่อยู่มาก่อนทั้งหมดและให้โอวาทว่า

เจ้าคณะอำเภอส่งมาเพื่อให้รักษาวัดและปกครองตักเตือนว่ากล่าวผู้อยู่วัดโดยพระธรรมวินัย อันจะทำให้วัดเจริญได้ต้องอาศัยความพร้อมเพรียง และเห็นอกเห็นใจกัน จึงจะทำความเจริญได้ ถิ่นนี้ไม่คุ้นเคยกับใครเลย มาอยู่นี้เท่ากับถูกปล่อยเกาะ โดยไม่รู้ว่าจะหันหน้าไปพึ่งใคร เพราะต่างไม่รู้จักกัน แต่ก็มั่นใจว่า ธรรมที่พวกเราปฏิบัติตรงต่อพระพุทธโอวาท จะประกาศความราบรื่นและรุ่งเรืองให้แก่ผู้มีความประพฤติเป็นสัมมาปฏิบัติ ธรรมวินัยเหล่านั้นจะกำจัดอธรรมให้สูญสิ้นไป


พวกเราบวชกันมาคนละมากๆ ปี ปฏิบัติธรรมเข้าขั้นไหน มีพระปาฏิโมกข์เรียบร้อยอย่างไร ทุกคนทราบความจริงของตนได้ ถ้าเป็นไปตามแนวพระธรรมวินัยก็น่าสรรเสริญ ถ้าผิดพระธรรมวินัยก็น่าเศร้าใจ เพราะตนเองก็ติเตียนตนเอง

ได้เคยพบมาบ้างแม้บวชตั้งนานนับเป็นสิบ ๆ ปี ก็ไม่มีภูมิจะสอนผู้อื่น จะเป็นที่พึ่งของศาสนาก็ไม่ได้ ได้แต่อาศัยศาสนาอย่างเดียว ไม่ทำประโยชน์ให้เกิดแก่ตนและแก่ท่าน ซ้ำร้ายยังทำให้พระศาสนาเศร้าหมองอีกด้วย บวชอยู่อย่างนี้เหมือนตัวเสฉวน จะได้ประโยชน์อะไรในการบวช ในการอยู่วัด

ฉันมาอยู่วัดปากน้ำ จะพยายามตั้งใจประพฤติให้เป็นไปตามแนวพระธรรมวินัย พวกพระเก่าๆ จะร่วมก็ได้ หรือว่าจะไม่ร่วมด้วยก็แล้วแต่อัธยาศัย ฉันจะไม่รบกวนด้วยอาการใดๆ เพราะถือว่าทุกคนรู้สึกผิดชอบด้วยตนเองดีแล้ว ถ้าไม่ร่วมใจก็ขออย่าได้ขัดขวาง ฉันก็จะไม่ขัดขวางผู้ไม่ร่วมมือเหมือนกัน ต่างคนต่างอยู่ แต่ต้องช่วยกันรักษาระเบียบของวัด คนจะเข้าจะออกต้องบอกให้รู้ ที่แล้วมาไม่เกี่ยวข้อง เพราะยังไม่อยู่ในหน้าที่ จะพยายามรักษาเมื่ออยู่ในหน้าที่

ใกล้เคียง

พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) พระมงคลสิทธาจารย์ (รวย ปาสาทิโก) พระมงคลศีลาจารย์ (คร่ำ ยโสธโร) พระมงคลรังษี (สุวัฒน์ จนฺทสุวณฺโณ) พระมงคลวุฒ (เครื่อง สุภทฺโท) พระมงคลสิทธิการ (พูล อตฺตรกฺโข) พระมงคลสุตกิจ (บุญถิ่น ปุญฺญสิริ) พระมงกุฎ พระมงคลวิสุทธิ์ (สุภา กนฺตสีโล) พระมงคลกิตติธาดา (อมร เขมจิตฺโต)

แหล่งที่มา

WikiPedia: พระมงคลเทพมุนี_(สด_จนฺทสโร) http://khunsamatha.com/blog/dhammakaya-C6.html http://www.youtube.com/watch?v=-EcejooqGKI&feature... http://www.youtube.com/watch?v=2mxmn8WtbFw&feature... http://www.youtube.com/watch?v=7Q-H0pzwvyk http://www.youtube.com/watch?v=jVZCS-Vpr2A&p=6AE59... http://www.youtube.com/watch?v=ovbpIxRybaI&p=6AE59... http://www.youtube.com/watch?v=tTcctROXN2E&p=6AE59... http://www.dhammakaya.net/%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9... http://www.kalyanamitra.org/book/pdf/visuthi1.pdf http://www.kalyanamitra.org/book/pdf/visuthi2.pdf