ประวัติ ของ พระยาอนุกิจวิธูร_(สันทัด_เทพหัสดิน_ณ_อยุธยา)

พระยาอนุกิจวิธูรเกิดที่บ้านตำบลสะพานหัน จังหวัดพระนคร เป็นบุตรคนที่ 2 ของพระยาไชยสุรินทร์ (หม่อมหลวงเจียม เทพหัสดิน) และคุณหญิงอยู่ เทพหัสดิน ณ อยุธยา มีพี่น้องร่วมบิดามารดาคือเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เมื่ออายุได้ 2 ขวบท่านบิดาได้ถึงแก่อนิจกรรมในขณะที่พี่ชายมีอายุเพียง 6 ขวบ ภาระหนักจึงอยู่กับท่านมารดาในการเลี้ยงดูและให้การศึกษาด้วยการรับจ้างเย็บปักถักร้อยและค้าขายที่มีรายได้เพียงเล็กน้อย

การศึกษา

เด็กชายสนั่นผู้พี่มีนิสัยรักการเรียนมาแต่เด็กได้ถ่ายความรู้ให้กับเด็กชายสันทัดผู้น้องเป็นการเริ่มต้นไปด้วยจนถึงขั้นอ่านออกเขียนได้ก่อนที่จะไปเรียนกับมหาหนอ (ขุนอนุกิจวิธูร) ที่วัดเชิงเลน (วัดบพิตรพิมุข) ใกล้บ้าน เมื่ออายุ 11 ปี ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กหลวงอยู่เวรฤทธิ์ รับใช้ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศเป็นว่า 2 ปี ก่อนเป็นมหาดเล็กปกติ ในปีเดียวกันก็สอบได้ภาษาไทยประโยค 1 เพื่อเข้าเรียนต่อในโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์และสอบประกาศนียบัตรครูฝ่ายภาษาไทยได้เมื่อ พ.ศ. 2438

การรับราชการ

ขุนอนุกิจวิธูร (สันทัด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เมื่อเข้ารับราชการใหม่ๆ

เมื่อสอบได้แล้วจึงเข้ารับราชการเป็นครูโรงเรียนสายสวลีสัณฐาคารในตำแหน่งครูใหญ่[2]ทั้งที่มีอายุเพียง 16 ปี ทั้งนี้โดยการคัดเลือกของพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาท) อธิบดีกรมศึกษาธิการในขณะนั้น และในปีเดียวกัน นายสนั่นพี่ชายซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ก็ได้รับเลือกไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ

ใน พ.ศ. 2443 เมื่อกรมศึกษาธิการวางระเบียบการแบ่งแขวงการศึกษาในกรุงเทพฯ ขุนอนุกิจวิธูรก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายตรวจแขวงกลางพระนครและได้เลื่อนเป็นนายตรวจใหญ่ของกรมศึกษาธิการเมื่อ พ.ศ. 2445 ขณะดำรงตำแหน่งได้ไปดูงานการศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 3 เดือนโดยร่วมไปกับคณะของเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดีครั้งยังเป็นพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ ทูตพิเศษที่ไปรับเสด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามบรมราชกุมาร (ร. 6) ที่ทรงเสด็จกลับจากการสำเร็จการศึกษาในประเทศอังกฤษผ่านญี่ปุ่นโดยไปกับเรือพระที่นั่งมหาจักรี ข้าหลวงชุดนี้ประกอบด้วยหลวงไพศาลศิลปศาสตร์ (เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี) ขุนอนุกิจวิธูร (พระยาอนุกิจวิธูร)[3]และนายอ่อน สาริกบุตร (พระยาชำนิบรรณาคม) การดูงานครั้งนี้ได้เห็นวิธีการจัดการศึกษาในประเทศญี่ปุ่นอย่างกว้างขวางมาก เนื่องจากกระทรวงศึกษาญี่ปุ่นได้จัดเจ้าหน้าที่ประจำคอยให้การช่วยเหลือแนะนำตลอดเวลา

ระหว่าง พ.ศ. 2446พ.ศ. 2455 พระยาอนุกิจวิธูรได้เลื่อนตำแหน่งจากนายตรวจใหญ่กรมศึกษาธิการเป็นข้าหลวงธรรมการมณฑลกรุงเก่าคนแรก[4]เป็นผู้ช่วยเจ้ากรมกรมตรวจกระทรวงธรรมการ อาจารย์ผู้ปกครองโรงเรียนราชวิทยาลัย ปลัดกรมตรวจการกระทรวงธรรมการและหัวหน้าข้าหลวงตรวจการ กระทรวงธรรมการมาเป็นลำดับ พ.ศ. 2456 ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอนุกิจวิธูรและได้รับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการหัตถกรรม กรมศึกษาธิการ คู่กับพระโอวาทวรกิจที่ได้ตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการพณิชการตามนโยบายส่งเสริมการศึกษาด้านวิสามัญที่เริ่มขึ้นในปีนั้น โรงเรียนฝึกการหัตถกรรมที่ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อเตรียมครูด้านนี้ได้กลายเป็นต้นกำเนิดโรงเรียนเพาะช่างในเวลาต่อมา หลวงวิศาลศิลปกรรมได้เล่าว่า "พระยาอนุกิจวิธูร ได้พยายามรวบรวมช่างต่างๆ มารวมกัน โดยเฉพาะช่างถม เมื่อได้รับตำราถมนครมาจากพระยาเพชรปราณี (ดั่น รักตประจิต) ซึ่งมีความรู้วิชาถมบ้านพานมาร่วมด้วย เราช่วยกันคิดหาวิธีปรับปรุงการช่างถมให้ดีขึ้น ในที่สุดผมจึงคิดวิธีลงยาถมโดยใช้กรดกัดได้สำเร็จ ดังที่เรียกว่า ถมจุฑาธุธ ทุกวันนี้ งดงามกว่าถมบ้านพาน"[5]

ใกล้เคียง

พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) พระยาพิชัยดาบหัก พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) พระยาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) พระยาภะรตราชา (หม่อมหลวงทศทิศ อิศรเสนา) พระยาอนิรุทธเทวา (หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ) พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง)