ที่มา ของ พระราชบัญญัติว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์_ค.ศ._1701

เนื่องในการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ ลำดับการสืบสันตติวงศ์ของราชบัลลังก์อังกฤษจึงเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติสิทธิ ค.ศ. 1689 ซึ่งบัญญัติให้ถือว่าการเสด็จลี้ภัยไปต่างแดนของพระเจ้าเจมส์ ที่ 2เป็นการสละราชสมบัติโดยปริยาย และให้พระราชธิดาในพระเจ้าเจมส์ที่ 2 พร้อมด้วยพระราชสวามีเสด็จขึ้นทรงราชย์แทนเป็นสมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 2 และพระเจ้าวิลเลียม ที่ 3 ตามลำดับ โดยให้ปกครองประเทศร่วมกัน

ในกรณีนี้ ผู้มีสิทธิสืบราชสันตติวงศ์ต่อจากกษัตริย์ทั้งสองคือพระราชบุตรของทั้งสองพระองค์เอง ลำดับต่อมาได้แก่เจ้าหญิงแอนน์ น้องสาวของพระนางเจ้าแมรี ต่อมาได้แก่พระทายาทของเจ้าหญิงแอนน์ จากนั้นจึงเป็นพระราชบุตรของพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 หากทรงเสกสมรสใหม่ภายหลังการสวรรคตของพระนางเจ้าแมรี

อย่างไรก็ดีสมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 2 เสด็จสวรรคตเมื่อ ค.ศ. 1694 พระโอรสพระองค์สุดท้ายของเจ้าหญิงแอนน์สิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. 1700 และพระเจ้าวิลเลียม ที่ 3 มิได้ทรงเสกสมรสใหม่ กับทั้งโอกาสที่เจ้าหญิงแอนน์จะมีพระราชบุตรอีกก็เป็นไปได้ยากเพราะมีพระชนมายุมากขึ้น จึงเกิดปัญหาว่าผู้ใดควรเป็นผู้สืบพระราชสันตติวงศ์นี้ต่อไป

รัฐบาลเห็นเป็นความจำเป็นที่จะต้องตราพระราชบัญญัตินี้เพื่อ

  1. กำหนดให้แน่นอนซึ่งตัวบุคคลผู้สมควรสืบพระราชบัลลังก์ต่อจากกษัตริย์ทั้งสองพระองค์ข้างต้น โดยในพระราชบัญญัตินี้บัญญัติให้เป็นเจ้าหญิงแอนน์
  2. กระทำให้มั่นใจว่าผู้สืบทอดพระราชบัลลังก์เป็นศาสนิกชนชาวโปรเตสแตนต์
  3. ป้องกันมิให้ผู้ไม่มีสิทธิในพระราชบัลลังก์อ้างสิทธิดังกล่าว ซึ่งได้แก่ เจมส์ ฟรานซิส เอ็ดเวิร์ด สจวต และ ลุยซา มาเรีย เทเรซา สจวต

พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1701

ใกล้เคียง

พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 พระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท) พระราชสันตติวงศ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสันตติวงศ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระราชวังต้องห้าม พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 พระราชวังบวรสถานมงคล พระราชวังดุสิต พระราชวังสนามจันทร์