หมายกำหนดการ ของ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก_พุทธศักราช_2562

ก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ในจังหวัดนนทบุรี

ขั้นตอนแรกของการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก คือพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้เป็นน้ำสรงมุรธาภิเษกและน้ำอภิเษกใน 76 จังหวัด ยกเว้นกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีขึ้นในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2562[18] ในเวลาฤกษ์ 11:52 - 12:38 น. โดยผู้ว่าราชการจังหวัดตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ใส่ขันสาคร และเคลื่อนขบวนรถไปยังสถานที่ประกอบพิธีทำน้ำอภิเษกของแต่ละจังหวัด ส่วนจังหวัดที่มีแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์มากกว่า 1 แหล่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดจะมอบหมายให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดเป็นผู้ตักน้ำในแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ในจังหวัด สำหรับจังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดนครนายก จังหวัดอ่างทอง จังหวัดสระบุรี จังหวัดสมุทรสงคราม และจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งมีแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์สำหรับสรงมุรธาภิเษก ปลัดกระทรวงมหาดไทย รองปลัดกระทรวงมหาดไทย และอธิบดีกรมการปกครอง จะเป็นผู้ตักน้ำในส่วนของน้ำสรงมุรธาภิเษก [19]

จากนั้นในวันที่ 8-9 เมษายน เป็นพิธีเจริญพระพุทธมนต์ สวดภาณวาร และเวียนเทียนสมโภชน้ำอภิเษก ต่อมาในวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2562 มีพิธีเชิญน้ำอภิเษกของแต่ละจังหวัดมาเก็บรักษาไว้ที่ห้องประชุมดอกแก้ว ชั้น 2 ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย หลังจากนั้นอีกสองวันจึงเป็นพิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ในกรุงเทพมหานครหอศาสตราคม ในพระบรมมหาราชวัง โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้อธิษฐานจิตพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์จากบาตรน้ำมนต์ภายในหอศาสตราคม บรรจุในคนโท จากนั้นเชิญคนโทน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปยังกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับคนโทน้ำอภิเษกจาก 76 จังหวัดทั่วประเทศ และน้ำสรงพระมุรธาภิเษกอีก 9 ใบ รวมเป็น 86 ใบ

ริ้วขบวนอันเชิญคนโทน้ำอภิเษกไปยังวัดสุทัศนเทพวราราม วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2562

ในวันที่ 18 เมษายน มีขบวนเชิญคนโทน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมดไปยังวัดสุทัศนเทพวราราม เพื่อทำพิธีเสกน้ำอภิเษกรวม ประกาศชุมนุมเทวดา ทำน้ำเทพมนต์ เจริญพระพุทธมนต์ และทำน้ำพระพุทธมนต์ โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฝ่ายฆราวาส[20] วันต่อมามีการเชิญคนโทน้ำอภิเษกออกจากวัดสุทัศนเทพวราราม ไปเก็บรักษาไว้ในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และมีพิธีเสกทำน้ำพระพุทธมนต์ในวันที่ 22 เมษายน

วันที่ 23 เมษายน มีพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ ดวงพระราชสมภพ แกะพระราชลัญจกรประจำรัชกาล และจารึกพระสุพรรณบัฏพระบรมวงศ์ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พลเรือเอก หม่อมเจ้าปุสาณ สวัสดิวัตน์ เสด็จแทนพระองค์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พลอากาศเอก สถิตย์พงษ์ สุขวิมล เลขาธิการพระราชวัง เชิญพระสุพรรณบัฏ ดวงพระราชสมภพและพระราชลัญจกรจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ไปยังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในช่วงเช้าของวันที่ 3 พฤษภาคม

วันที่ 2 พฤษภาคม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระราชินีสุทิดา และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จพระราชดำเนินไปทรงถวายราชสักการะปฐมบรมราชานุสรณ์ สะพานพระพุทธยอดฟ้า พระบรมราชานุสรณ์ พระลานพระราชวังดุสิต ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร และเสด็จพระราชดำเนินบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพระบรมมหาราชวัง

วันที่ 3 พฤษภาคม ช่วงบ่าย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระราชินีสุทิดา พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ และ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร นมัสการพระรัตนตรัย ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ถวายบังคมพระบรมอัฐิและพระอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุพการี สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงจุดเทียนชัย พระพรหมมุนี (สุชิน อคฺคชิโน) ประกาศการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างเป็นทางการ

4 พฤษภาคม

เวลาเช้า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินี เสด็จฯ ไปยังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย แล้วเสด็จขึ้นพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ถวายศีล จบแล้วเสด็จเข้าในหอพระสุราลัยพิมาน ทรงเศวตพัสตร์ ทรงสะพักขาวขลิบทอง พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ กราบบังคมทูลเชิญเสด็จไปสู่มณฑปพระกระยาสนาน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกจากหอพระสุราลัยพิมานเข้าไปยังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ และเสด็จจากพระที่นั่งไพศาลทักษิณไปยังชาลาพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ทรงจุดธูปเงินเทียนทอง สังเวยเทวดากลางหาว แล้วเสด็จขึ้นมณฑปพระกระยาสนานประทับเหนือตั่งอุทุมพรราชอาสน์ แปรพระพักตร์สู่ทิศบูรพาเพื่อสรงพระมุรธาภิเษก

จากนั้น เลขาธิการพระราชวัง เปิดพระครอบพระมุรธาภิเษก รัชกาลที่ 1 ถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงวักน้ำขึ้นมาสรงพระนลาฏ เลขาธิการพระราชวัง ไขสหัสธารา เมื่อสรงสหัสธาราแล้ว สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระอนุวงศ์ และพราหมณ์ ถวายน้ำพระพุทธมนต์ และน้ำเทพมนตร์ ตามลำดับ เสร็จแล้ว มหาดเล็กสอดฉลองพระบาทถวาย และถวายฉลองพระองค์คลุม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นหอพระสุราลัยพิมาน จากนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงฉลองพระองค์บรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ เสด็จออกจากหอพระสุราลัยพิมานเข้าพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ประทับเหนือพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ภายใต้พระบวรเศวตฉัตร แปรพระพักตร์สู่บูรพาทิศเป็นทิศแรก พันโท สมชาย กาญจนมณี ปฏิบัติหน้าที่สมุหพระราชพิธี ทูลเกล้าฯ ถวายพระเต้าเบญจคัพย์ รัชกาลที่ 1 สำหรับทรงรับน้ำอภิเษกประจำทิศโดยเวียนไปทางขวามือ และมีข้าราชการประจำทิศกราบบังคมทูลถวายพระพรชัยมงคล และทูลเกล้าฯ ถวายน้ำอภิเษก แล้ว พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณทูลเกล้าฯ ถวายน้ำเทพมนตร์ด้วยพระครอบเฟือง (สัมฤทธิ์) เสร็จแล้ว ทูลเกล้าฯ ถวายน้ำเทพมนตร์ด้วยพระมหาสังข์ประจำทิศที่พระหัตถ์ทุกทิศ หลังถวายน้ำอภิเษก แล้วเมื่อประทับทิศบูรพาแทนทิศกลาง พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกราบบังคมทูลถวายพระพรชัยมงคล และทูลเกล้าฯ ถวายน้ำอภิเษก แล้วพระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณน้อมเกล้าฯ ถวายนพปฎลมหาเศวตฉัตร ทรงรับและพระราชทานผู้เชิญรับเชิญไว้

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปประทับเหนือพระที่นั่งภัทรบิฐ ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณกล่าวเวทสรรเสริญเปิดศิวาลัยไกรลาส จบแล้ว ทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศ มีพระสุพรรณบัฏจารึกพระปรมาภิไธยว่า "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว" ตามด้วยเบญจราชกกุธภัณฑ์ เครื่องบรมขัตติยราชวราภรณ์ และพระแสงราชศัตราวุธ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับแล้วทรงสวมและทรงวางบางองค์ไว้บนโต๊ะ 2 ข้างพระที่นั่งภัทรบิฐ เมื่อถวายพระธำมรงค์วิเชียรจินดาแล้ว พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณสอดฉลองพระบาทเชิงงอนถวาย เจ้าพนักงานเชิญเครื่องขัตติยราชูปโภคมาทอดถวาย เสร็จแล้วพระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณถวายอนุษฏุภศิวมนตร์ และถวายพระพรชัยมงคล จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระปฐมบรมราชโองการและทรงหลั่งทักษิโณทกตั้งพระราชสัตยาธิษฐานในอันที่จะปฏิบัติตามพระปฐมบรมราชโองการ ต่อจากนั้นมีพระบรมราชโองการสถาปนาสมเด็จพระราชินีสุทิดา ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี จากนั้นทรงเลี้ยงพระ และสมเด็จพระวันรัต เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ดับเทียนชัย

กรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ยิงสลุตเฉลิมพระเกียรติ ขณะประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

เวลาบ่าย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกมหาสมาคม ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย โดยทรงฉลองพระองค์บรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ประทับเหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร ทรงพระมหาพิชัยมงกุฎ มีมหาดเล็กเชิญราชกกุธภัณฑ์อยู่ด้านหลัง โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี กราบบังคมทูลในนามพระบรมวงศานุวงศ์, พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กราบบังคมทูลในนามของประชาชน ทหาร และข้าราชการฝ่ายบริหาร, ศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กราบบังคมทูลในนามของรัฐสภา และชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา กราบบังคมทูลในนามของข้าราชการตุลาการ จบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสตอบ จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ โดยริ้วขบวนราบใหญ่ไปทรงนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ประกาศพระองค์เป็นศาสนูปถัมภก ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ณ ปราสาทพระเทพบิดร ถวายบังคมพระบรมอัฐิและพระอัฐิ สดับปกรณ์ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

ในเวลาค่ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีเฉลิมพระราชมณเฑียร เถลิงพระแท่นบรรจถรณ์ และประทับแรม ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เป็นเวลาหนึ่งคืน

5 พฤษภาคม

กระบวนพยุหยาตราสถลมารค ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร

เวลาเช้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เฉลิมพระปรมาภิไธยพระบรมอัฐิ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชขึ้นเป็น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รวมทั้งเฉลิมพระนามาภิไธย และสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศ์ เลี้ยงพระ เทศน์ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย

เวลาบ่าย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตราสถลมารค จากพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท ไปยังวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ในการนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ โดยเสด็จในริ้วกระบวนด้วย ในฐานะรองผู้บัญชาการและนายทหารพิเศษประจำหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ตามลำดับ[21]

6 พฤษภาคม

พสกนิกรขณะรอเฝ้ารับเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการเสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท

เวลาบ่าย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออกพร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ, สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติฯ ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท รับการถวายพระพรชัยมงคลจากพสกนิกรชาวไทย นำโดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในนามประธานกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 จากนั้นเสด็จออก ณ ท้องพระโรงกลาง พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เพื่อให้คณะทูตานุต ผู้แทนฝ่ายกงสุล และผู้แทนองค์การระหว่างประเทศเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล โดยมีฉั่ว ซิ่ว ซาน เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐสิงคโปร์ คณบดีคณะทูตกราบบังคมทูลพระกรุณาถวายพระพรชัยมงคลในนามของผู้เฝ้าฯ ในการนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเลี้ยงคณะผู้มาเข้าเฝ้าฯ ดังกล่าว ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร

พระราชพิธีเบื้องปลาย

วันที่ 12 ธันวาคม เวลา 16.02 น.[22] พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค จากท่าวาสุกรี ในพระราชวังดุสิต ไปยังท่าราชวรดิฐ ในพระบรมมหาราชวัง รวมระยะทางประมาณ 3.4 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 45 นาที มีการถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย[23] โดยเป็นการเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนดังกล่าวเป็นครั้งแรกในรัชกาล[24] ทั้งนี้ รัฐบาลได้นำความกราบบังคมทูลและทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยออกมาให้เลื่อนกำหนดการจากเดิมคือวันที่ 24 ตุลาคม เนื่องจากมีกระแสน้ำที่เพิ่มระดับในแม่น้ำเจ้าพระยาและสภาพอากาศที่ยังไม่เอื้ออำนวย ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการจัดพระราชพิธี[25]

ในพระราชพิธีดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ รัชกาลที่ 9 ประดิษฐานเหนือบุษบกเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช[26] ส่วนพระองค์เอง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติฯ ประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ สำหรับสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ประทับเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ นอกจากนี้ ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดริ้วขบวนราบใหญ่จากท่าราชวรดิฐไปยังพระบรมมหาราชวัง ต่อเนื่องจากการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตราชลมารคด้วย[27]

ใกล้เคียง

พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 พระราชวังต้องห้าม พระราชสันตติวงศ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระราชสันตติวงศ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 พระราชวังดุสิต พระราชวังสนามจันทร์ พระราชวังบางปะอิน พระราชวังพญาไท

แหล่งที่มา

WikiPedia: พระราชพิธีบรมราชาภิเษก_พุทธศักราช_2562 http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/828018 http://www.komchadluek.net/news/regional/363156 //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... http://bps.moph.go.th/new_bps/sites/default/files/... http://mahathera.onab.go.th/files/mati_doc/c_01100... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/B/... http://www.thaigov.go.th/news/contents/details/195... https://www.bangkokbiznews.com/event/10kingsstorie... https://news.ch7.com/detail/331407 https://www.facebook.com/536077073542486