เสด็จตรวจราชการเมืองยะโสธร ของ พระสุนทรราชเดช_(แข้_ปะทุมชาติ)

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงฉายร่วมกับคณะกรมการเมืองยะโสธร ภาพแถวยืนจากซ้ายไปขวา คนที่ 1 หลวงยศไกรเกรียงเดช (ทองดี) , คนที่ 2 หลวงยศเยศร์รามฤทธิ์ (ตา ไนยกุล) , คนที่ 3-5 ผู้ติดตาม แถวนั่งจากซ้ายไปขวา คนที่ 1 ผู้ติดตาม , คนที่ 2 พระสุนทรราชเดช (แข้) , คนที่ 3 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ , คนที่ 4 พระอุบลศักดิ์ประชาบาล (กุคำ สุวรรณกูฏ) คนที่ 5 ผู้ติดตาม และคนที่ 6 พระอุบลเดชประชารักษ์ (เสือ ณ อุบล)

วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2449 เวลาย่ำรุ่ง 20 นาที พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น ทรงเสด็จจากที่ประทับแรมพลับพลาบ้านนากอก แขวงเมืองมุกดาหาร ข้ามป่าดงบังอี่มายังเมืองยโสธร เวลาเช้า 5 โมงถึงตำบลกุดเชียงหมี ระยะทาง 180 เส้น มีที่พักแรม รวมระยะทางวันนี้ 480 เส้น มีข้าราชการมณฑลอีสานมารับคือ หลวงสถานบริรักษ์ กรมวัง และพระอุบลเดชประชารักษ์ ปลัดรักษาราชการเมือง พระอุบลศักดิ์ประชาบาล ยกกระบัตรเมืองอุบลราชธานี และกรมการอำเภอต่าง ๆ หลายนาย

วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2449 เวลาย่ำรุ่งออกจากที่พักแรมตำบลกุดเชียงหมี ข้ามลำน้ำเซแดนเมืองเสนางคนิคมกับแดนเมืองยโสธรต่อกัน แล้วเข้าทางเขตบ้านฮ่องแซง (ตำบลห้องแซง) ถึงปากดงภูสะมากัง หรือบ้านคำบอน เวลาเช้าโมงครึ่งกับ 25 นาที ระยะทาง 258 เส้นมีที่พักร้อน ชาวบ้านมาหา ซึ่งชาวบ้านนี้เป็นผู้ไทยเดินมาจากเมืองตะโปน เวลาเช้า 3 โมงครึ่ง เดินทางต่อมาเข้าดงสะมากัง เป็นดงมีไม้งาม ๆ และมีไม้ยมผาอย่างไม้ทำหีบบุหรี่ฝรั่ง เป็นดงเล็กกว่าดงบังอี่ และหนทางเรียบร้อยดี เวลาเช้า 5 โมงพ้นดงสะมากัง ถึงที่พักแรมตำบลบ้านส้มพ้อ (ตำบลส้มผ่อ) ระยะทาง 260 เส้น รวมระยะทางวันนี้ 516 เส้น นายร้อยเอกหลวงสมรรถสรรพยุทธ ข้าหลวงโยธามณฑลอีสานมาคอยรับ

วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2449 เวลาย่ำรุ่งออกจากที่พักแรมบ้านส้มพ้อมาตามเขตบ้านนาฮีแล้วเข้าเขตบ้านคำไหล ระยะทาง 306 เส้น ถึงที่พักร้อนเวลาเช้าโมงหนึ่งกับ 45 นาที เวลาเช้า 3 โมงออกจากที่พักร้อนออกจากเขตบ้านคำไหลเข้าเขตบ้านตาสืม แล้วถึงบ้านนาซึมที่พักแรมเวลาเช้า 3 โมง 50 นาที ระยะทาง 211 เส้น รวมระยะทางวันนี้ 515 เส้น

วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2449 เวลาย่ำรุ่งออกจากที่พักแรมบ้านนาซึมทางมาเป็นโคกไม้เล็ก ๆ หนทางที่ตัดแลดูแต่ไกลเห็นทิวไม้สองข้างทางข้างหน้าซึ่งงามดี และที่ริมหนทางที่มามีที่นาดี ๆ เป็นอันมาก เมื่อเวลาออกจากบ้านนาซึมเข้าเขตบ้านนาโป่ง และบ้านเผือฮี มีสระน้ำริมทางแล้วเข้าเขตบ้านนาซวยใหญ่ บ้านนาซวยน้อย ถึงบ้านนาสีนวลที่พักร้อนเวลาเช้า 2 โมง ระยะทาง 377 เส้น เวลาเช้า 3 โมง ออกจากบ้านนาสีนวล พ้นเขตบ้านนาสีนวลมาเข้าเขตบ้านหนองสรวง บ้านหนองแวง และบ้านคำหม้อ ถึงเมืองยโสธร เวลาเช้า 4 โมงครึ่ง ระยะทาง 266 เส้น รวมระยะทางวันนี้ 643 เส้น มีหลวงศรีวรราช (แข้) ผู้ว่าราชการเมืองยะโสธร และหลวงยศไกรเกรียงเดช (ทองดี) ยกกระบัตรเมืองยะโสธร พร้อมกรมการเมืองยะโสธรคอยเฝ้ารับเสด็จอยู่

ในการที่มามณฑลอีสานคราวนี้ อยากจะไปเฝ้ากรมขุนสรรพสิทธิที่เมืองอุบล แต่เป็นการขัดข้องด้วยข้าหลวงปักปันแดนกับฝรั่งเศสจะประชุมกันที่เมืองอุบล กรมขุนสรรพสิทธิท่านทรงติดพระธุระกับแขกเมือง จะไปเพิ่มความลำบากถวายหาควรไม่ จึงกะทางหลีกมาเสียเมืองยโสธรห่างเมืองอุบลอยู่ 2 วัน ฝ่ายกรมขุนสรรพสิทธิเดิมก็จะเสด็จมาพบที่เมืองยะโสธร แต่เผอิญเวลานี้ข้าหลวงปักปันเขตแดนอยู่ที่เมืองอุบลราชธานีจึงเสด็จมาไม่ได้ ได้แต่สนทนากันโดยทางโทรศัพท์ เวลาบ่าย 4 โมงไปที่วัดพระธาตุ มีพระเจดีย์เก่าเป็นรูปปรางค์องค์หนึ่ง พระครูยโสธราจารย์เป็นเจ้าอาวาส และไปวัดสิงทาและวัดธรรมหายโศก ที่วัดธาตุและวัดธรรมหายโศกมีนักเรียนร้องคำชัยมงคล ทำนองสรภัญญะ ซึ่งพระศาสนดิลก เจ้าคณะมณฑลได้เรียบเรียงส่งมา แลวัดธรรมหายโศกเป็นวัดธรรมยุติกา เวลาค่ำ มีหลวงเถกิงรณกาจ ผู้บังคับการตำรวจภูธร ได้จัดแคนวงกรมตำรวจภูธรมณฑลอีสานมาเล่นเวลากินด้วย

วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2449 เวลาเช้าโมงหนึ่ง ไปดูตลาดและหมู่บ้านในเมืองยโสธร ๆ นี้ตั้งอยู่บนเนินใกล้ลำน้ำพาชีที่ว่าใกล้นี้มิใช่ริมน้ำอย่างเมืองที่ตั้งตามริมแม่น้ำเจ้าพระยา ลำน้ำทางมณฑลนครราชสีมา และมณฑลอุดร อีสาน เช่น ลำน้ำพาชีนี้เป็นต้นน้ำไหลลงแม่น้ำโขง เวลาฤดูฝนน้ำในแม่น้ำโขงมาก น้ำในลำน้ำเหล่านี้ไหลลงแม่น้ำโขงไม่ได้ก็ท่วมตลิ่งที่ลุ่มเข้าไปลึก ๆ บ้านเรือนต้องตั้งพ้นที่น้ำท่วมจึงมักอยู่ห่างตลิ่ง แต่เมื่อฤดูแล้งน้ำลดแห้งขอดก็กลายเป็นอยู่ดอน หาน้ำยากเป็นอย่างนี้แทบทั้งนั้น เว้นแต่บางแห่งเช่นเมืองอุบลเพราะที่ริมแม่น้ำมูลตรงนั้นเป็นที่ดอน เมืองจึงอยู่ชิดลำน้ำ ที่เมืองยโสธรนี้มีถนนใหญ่เป็นทางสี่แยก ริมถนนใหญ่เป็นทางสี่แยก ริมถนนใหญ่มีร้านเป็นตึกดินอย่างโคราช มีพ่อค้าจีนและพ่อค้าไทยมาจากโคราชตั้งขายของต่าง ๆ ซึ่งนำมาจากเมืองนครราชสีมามากร้านด้วยกัน และมีผ้าม่วงหางกระรอกและโสร่งไหมซึ่งทำในพื้นเมืองมาขายบ้างบางร้านหมู่บ้านราษฎรก็แน่นหนา มีจำนวนพลเมืองทั้งสิ้นประมาณ 30,000 คน มีถนนเล็ก ๆ เดินถึงกันในหมู่บ้าน แต่เป็นที่มีฝุ่นมาก สินค้าพื้นเมืองยโสธรส่งไปขายเมืองนครราชสีมา มีหนัง เขา เร่ว ครั่ง และไหม ได้ความว่าใน ๕ ปีมานี้สินค้าไหมทวีมากขึ้น สินค้าฝั่งซ้ายมาทางเมืองมุกดาหารมาขายถึงเมืองยโสธร มียางกะตังกะติ้วบ้าง และยางกะตังกะติ้วนี้ได้มาจากเมืองหนองสูงข้างฝั่งขวาก็มี และมีพ่อค้าซื้อโคกระบือไปขายคราวหนึ่ง ตั้งแต่ 400 ถึง 500 บ้าง ลงทางดงพระยาไฟไปขายที่ปากเพรียวทางหนึ่ง ลงทางดงพระยากลางไปขายที่อำเภอสนามแจงแขวงเมืองลพบุรีทางหนึ่ง ลงทางช่องตะโกไปขายที่เมืองพนัสนิคม พนมสารคามและเมืองนครนายกทางหนึ่ง แต่เดิมลงทางช่องเสม็ด แต่เดี๋ยวนี้ใช้ลงทางช่องตะโก เพราะเป็นทางสะดวกกว่า พ่อค้าที่ไปปากเพรียวนำกระบือลงไปขายเป็นพื้น พ่อค้าที่ไปสนามแจงนำโคลงไปขาย พ่อค้าที่ไปมณฑลปราจีนบุรีมีกระบือ และโคคละไปด้วยบ้าง ฟังดูตามเสียงพ่อค้าว่าการนำโคลงไปขาย ได้กำไรมากกว่ากระบือเพราะโคเลี้ยงง่าย กระบือเมื่ออดน้ำมักจะเป็นอันตรายตามทาง เวลาเช้า 4 โมงครึ่งมีการประชุมบายศรี ผู้เฒ่าคนหนึ่งกล่าวคำชัยมงคลเป็นทำนองไพเราะ และวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2449 เวลาย่ำรุ่ง เสด็จออกจากที่พักแรมเมืองยะโสธรไปยังเมืองเสลภูมิ

ใกล้เคียง