พระราชประวัติ ของ พระองค์เม็ญ

พระชนม์ชีพช่วงต้น

พระองค์เม็ญประสูติเมื่อวันศุกร์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือนยี่ ปีกุน สัปตศก 1177 (พ.ศ. 2358) เป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดี หรือนักองค์จัน ประสูติแต่นักนางกระจับ บาทบริจาริกาชั้นพระแม่นาง พระราชชนกโปรดให้จัดพระราชพิธีเกศากันต์ แล้วถวายพระนามให้ว่าพระองค์เจ้ามี[2] (เอกสารไทยเรียก เม็ญ) มีพระอนุชาร่วมพระชนกชนนีแต่ไม่ปรากฏพระนามพระองค์หนึ่ง ประสูติเมื่อ พ.ศ. 2363 แต่สิ้นพระชนม์ด้วยโรคฝีดาษเมื่อชันษาเพียง 7 ปี[13] และมีพระภคินีร่วมพระชนกได้แก่ นักองค์แบน บ้างออกนามว่า แป้น[14] หรือแม้น[4] (ประสูติแต่นักเทพ น้องสาวพระองค์แก้ว)[15] นักองค์เภา (ประสูติแต่นักนางยศ)[13] และนักองค์สงวน (ประสูติแต่นักนางแป้น น้องสาวนักนางกระจับ)[16]

พงศาวลีของพระองค์เม็ญ

นักองค์ตน

นักองค์เอง

นักองค์จัน

นักองค์ด้วง
นักองค์แบน
นักองค์เม็ญ
นักองค์เภานักองค์สงวน
นักองค์ราชาวดี

นักองค์ศรีสวัสดิ
นักองค์วัตถา

ทว่าหลังสมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดีผู้มีนโยบายนิยมญวน[17] เสด็จทิวงคตเมื่อ พ.ศ. 2377 ราชสำนักกัมพูชาขาดผู้สืบราชสันตติวงศ์ เพราะพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศมีพระราชธิดาอยู่สี่พระองค์ คือ นักองค์แบน นักองค์มี นักองค์เภา และนักองค์สงวน[18][19] สมความมุ่งหมายของทั้งสยามและญวนที่ต้องการให้วงศ์กษัตริย์กัมพูชาสูญไป ในเวลานั้นพระอนุชาในสมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดีสองพระองค์ คือ สมเด็จศรีไชยเชฐ พระมหาอุปราช หรือนักองค์อิ่ม และสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี หรือนักองค์ด้วง ซึ่งประทับอยู่ในสยามอ้างสิทธิในราชบัลลังก์ทันที แต่ฝ่ายญวนที่ปกครองเขมรอยู่นั้นไม่ยอมรับให้ทั้งสองสืบราชบัลลังก์ โดยเฉพาะสมเด็จพระศรีไชยเชษฐ หรือนักองค์อิ่ม ที่ทรงหลงกลและถูกญวนคุมตัวไปไว้เมืองญวน[20] เพราะหวังว่าฝ่ายญวนจะยกพระองค์ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินเขมร[21]

เบื้องต้นฝ่ายพระเจ้ากรุงญวนที่คิดจะเอาดินแดนเขมรมาไว้ในปกครอง จะตั้งให้เจ้านายผู้หญิง พระราชธิดาในสมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดีทั้งสามพระองค์ ครองราชย์ร่วมกัน[15] ทว่าในเวลาต่อมาราชสำนักเว้และขุนนางเขมร หมายจะให้นักองค์แบน พระราชธิดาในสมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดี ขึ้นเสวยราชย์สืบบิดา แต่เพราะเจ้าหญิงพระองค์นี้นิยมสยาม และปฏิเสธที่จะเสกสมรสกับพระราชโอรสของพระเจ้ากรุงญวนเสียด้วย จึงมิได้ถูกเลือก[22] ในขณะที่นักองค์เม็ญได้รับการโน้มน้าวจากขุนนางญวนให้เสกสมรสกับพระราชโอรสของจักรพรรดิซา ล็อง (เอกสารไทยเรียก ยาลอง หรือองเชียงสือ) แต่แผนการนี้ถูกขุนนางเขมรคัดค้านอย่างหนัก โดยให้เหตุผลว่ามีวัฒนธรรมต่างกัน และไม่เหมาะควรที่จะให้เจ้านายผู้หญิงปกครองประเทศยาวนาน[15][23]

หุ่นเชิด

พฤษภาคม พ.ศ. 2378 ราชสำนักเว้สถาปนานักองค์เม็ญ หรือหง็อก เวิน (Ngọc Vân, 玉雲) เป็น "เจ้าหญิงเมืองขึ้น" (Quận chúa, 郡主) และมีฐานันดรศักดิ์ต่ำกว่าเจ้าหญิงพระราชธิดากรุงญวน (Công chúa, 公主) ส่วนพระภคินีพระองค์อื่น คือ นักองค์แบน หรือหง็อก เบี่ยน (Ngọc Biện, 玉卞) นักองค์เภา หรือหง็อก ทู (Ngọc Thu, 玉秋) และนักองค์สงวน หรือหง็อก เงวียน (Ngọc Nguyên, 玉源) มีบรรดาศักดิ์เป็น "ท่านหญิงหัวเมืองน้อย" (Huyen quan, 縣君)[24] ฝ่ายญวนทำการอารักขาพระองค์เม็ญอย่างใกล้ชิด มีทหารรักษาพระองค์สองกองร้อย รวม 100 นาย ส่วนพระภคินีอีกสามพระองค์ มีทหารอารักขาพระองค์ละ 30 นาย ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันมิให้เจ้านายเขมรคิดหลบหนีไปพึ่งสยาม[25]

ในรัชสมัยของพระองค์เม็ญ มีพระราชบัญชาให้สตรีเขมรทุกคนสวมชุดญวนแทนการนุ่งผ้าสมปัก และไว้ผมยาวตามอย่างหญิงญวน[26][27] ในตลาดมีการวางจำหน่ายอาหารญวน เลิกเปิบข้าวด้วยมือ[28] นาฏกรรมเขมรเริ่มรับอิทธิพลจีนและญวน ข้าราชการเขมรต้องสวมชุดญวน และวัดพุทธของชาวเขมรถูกแปลงเป็นวัดแบบญวนเพื่อทำลายอัตลักษณ์เขมร[29] สถานที่ต่าง ๆ ถูกเปลี่ยนเป็นภาษาญวน[18] บริเวณโดยรอบกรุงพนมเปญถูกเรียกว่า เจิ๊นเต็ยทั้ญ (Trấn Tây Thành, 鎮西城) หรือเขตบริหารฝั่งตะวันตก[30] ชาวเขมรภายใต้การปกครองของเจ้านายผู้หญิง สิ้นหวังกับนโยบายการแผลงให้เป็นเวียดนาม (Vietnamization) จึงเรียกร้องให้ฝ่ายสยามแต่งตั้งนักองค์ด้วง พระอนุชาของสมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดี เสวยราชย์แทน[31]

พ.ศ. 2383 นักองค์แบน พระเชษฐภคินีของพระองค์เม็ญ ถูกทางการญวนจับได้ว่าทรงวางแผนหลบหนีไปสยาม จากการลับลอบติดต่อกับนักเทพ พระชนนี และพระองค์แก้ว ผู้เป็นลุง ที่พลัดไปเมืองพระตะบองซึ่งอยู่ในเขตอิทธิพลของสยาม จักรพรรดิมิญ หมั่ง จึงมีพระบรมราชโองการให้จับเจ้านายเขมรไปคุมขังที่พนมเปญเพื่อพิจารณาคดี ต่อมามีพระราชโองการปลดพระองค์เม็ญในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2384 ก่อนเนรเทศเจ้าหญิงเขมรพร้อมเครื่องราชกกุธภัณฑ์ไปไซ่ง่อน[10][18][32] บรรดาขุนนางและข้าราชการเขมรมองว่าการที่ญวนทำเช่นนี้ เสมือนการล้างบางเจ้าเขมรให้สูญวงศ์ อาณาประชาราษฎร์ต่างพากันโกรธแค้นและเจ็บปวดกับนโยบายของญวน[4] ขุนนางญวนส่งเจ้าหญิงเขมรทั้งสี่พระองค์ไว้ที่เมืองลงโฮ เซือง วัน ฟ็อง (Dương Văn Phong) เอกสารเขมรเรียก กุงดก เจ้าเมืองลงโฮ นำส่งเจ้าหญิงเขมรสามพระองค์คือ นักองค์มี นักองค์เภา และนักองค์สงวนให้เจือง มิญ สาง (Trương Minh Giảng, 張明講) หรือเอกสารไทยเรียก องเตียนกุน แม่ทัพญวนที่ปกครองเขมร ส่งต่อไปยังเมืองไซ่ง่อน แต่กุมนักองค์แบนไว้ เพราะพระชนนีของพระองค์หนีไปพึ่งสยามในกรุงเทพฯ ฝ่ายญวนมองว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการทรยศ เซือง วัน ฟ็องจึงนำนักองค์แบนผู้แปรพักตร์ไปสำเร็จโทษที่เมืองลงโฮ เมื่อพระชันษา 32 ปี[33] เอกสารเขมรระบุว่านักองค์แบนสิ้นพระชนม์จากการจมน้ำที่แม่น้ำโขง ส่วนเอกสารของคิน สก (Khin Sok) ระบุว่านักองค์แบนถูกทรมานจนสิ้นพระชนม์ ทหารญวนจึงนำพระศพไปทิ้งน้ำ[34] ในเวลาต่อมา พระองค์เม็ญ พระขนิษฐา และสมเด็จศรีไชยเชษฐ ถูกนำไปไว้ที่เมืองเว้[35]

เมื่อไร้พระเจ้าแผ่นดิน ขุนนางเขมรก็เริ่มตั้งยศตัวเอง รวบรวมสมัครพรรคพวกสังหารขุนนางญวนในเขมร และแสดงตนกระด้างกระเดื่องไม่อ่อนน้อมต่อพระเจ้ากรุงญวน[36] ช่วงเวลานั้นสยามจึงขยายอิทธิพลเข้ากัมพูชา และพยายามแต่งตั้งนักองค์ด้วงเสวยราชย์ ก่อให้เกิดอานัมสยามยุทธขึ้น[37] ขุนนางญวนในพนมเปญกราบบังคมทูลให้พระองค์เม็ญนิวัตกรุงกัมพูชาด้วยหวังจะคลายปัญหากบฏลง แต่จักรพรรดิมิญ หมั่งทรงปฏิเสธ เมื่อทนแรงกัดดันไม่ไหว ทางราชสำนักญวนจึงส่งพระองค์เม็ญ พระขนิษฐา พระชนนี และพระองค์อิ่มพระปิตุลาคืนกรุงพนมเปญเมื่อขึ้น 7 ค่ำ เดือน 6 (ตรงกับวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2384) โดยเจือง มิญ สาง ปลูกเรือนถวายหนึ่งหลัง แล้วถวายตราลัญจกรของสมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดี พร้อมพระขรรค์ประจำแผ่นดินแก่พระองค์เม็ญ โอกาสนั้นพระองค์เม็ญทรงแต่งตั้งขุนนางตำแหน่งต่าง ๆ แล้วทำหนังสือไปยังขุนนางเขมรนัยว่าให้ขุนนางและข้าราชการทั้งหลายสนับสนุนพระองค์ แต่ก็ไม่มีผู้ใดสวามิภักดิ์[38] ในเวลาเดียวกันกับนักองค์ด้วงที่เป็นพระปิตุลาอีกพระองค์หนึ่ง ได้รับเสียงสนับสนุนจากราชสำนักกรุงอุดงฦๅไชย[39] ต่อมาพระองค์เม็ญและเจ้านายผู้หญิงที่ถูกฝ่ายญวนจับกุม ส่งหนังสือไปหานักองค์ด้วง เนื้อหาระบุว่าให้ขุนนางเขมรไปรับ เพราะจะหนีไปอยู่ด้วย เมื่อองเตียนกุนทราบก็ตั้งกองกำลังเข้มแข็งขึ้น[40] ในเวลาต่อมาพระเจ้ากรุงญวนทรงเห็นว่าไม่มีขุนนางเขมรนิยมชมชอบพระองค์เม็ญ จึงส่งพระองค์เม็ญและเจ้านายอื่น ๆ ไปเมืองเมียดจรูก หรือเอกสารไทยเรียกโจฎก เมื่อแรม 11 ค่ำ เดือน 12 (ตรงกับวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2384)[1][41] ช่วงปีนั้นสมเด็จพระศรีไชยเชษฐหรือนักองค์อิ่ม ได้นักองค์เภาเป็นชายา ส่วนนักองค์พิมพ์ พระโอรสของสมเด็จพระศรีไชยเชษฐ ได้นักองค์สงวนเป็นพระชายา ครั้น พ.ศ. 2387 สมเด็จพระศรีไชยเชษฐถึงทิวงคตที่เมืองเมียดจรูก[42]

ภายหลังทัพญวนมิอาจต้านทานกองทัพประสมสยามกับเขมรนำโดยเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) จึงขอหย่าศึก และทยอยปล่อยเจ้านายเขมรคืนกัมพูชา[12] แรม 8 ค่ำ เดือน 11 (ตรงกับวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2389) ฝ่ายญวนส่งนักนางรศ หม่อมกลีบ และพระธิดาองค์หนึ่งของนักองค์ด้วงคืนกรุงพนมเปญ แต่ยังไม่ส่งพระองค์เม็ญและเจ้านายผู้หญิงให้ โดยฝ่ายญวนแจ้งว่า หากต้องการ ให้ส่งพระราชสาสน์แต่งบรรณาการไปทูลของเจ้าเวียดนามก็จะโปรดให้[43]

ต่อมาแรม 3 ค่ำ เดือน 6 (ตรงกับวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2390) ขุนนางญวนแต่งตั้งนักองค์ด้วงขึ้นเป็น เตามันกวักเอือง หรือเตาบางกวิกเกวิง แปลว่า "เจ้าเขมรอยู่คนหนึ่ง" รับตราตั้งและฉลองพระองค์แบบญวน หลังจากนั้นขึ้น 6 ค่ำ เดือน 7 (ตรงกับวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2390) องต๋าเตืองกุน ขุนนางญวนก็นำนักองค์เม็ญ นักองค์เภา และนักองค์สงวนแก่นักองค์ด้วง ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 7 (ตรงกับวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2390) แม่ทัพนายกองญวนในพนมเปญก็เลิกทัพไปหมด[44] ส่วนหนึ่งก็เพราะญวนเผชิญกับการกบฏบริเวณตังเกี๋ย ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ[45] ครั้นขึ้น 14 ค่ำ เดือน 2 (ตรงกับวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2391) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระยาเพ็ชรพิไชย (เสือ) กับเจ้าพนักงานทุกตำแหน่ง คุมเครื่องประกอบพระอิสริยยศ สุพรรณบัตรจารึกพระนามออกไปเมืองเขมร อภิเษกนักองค์ด้วงพร้อมด้วยเจ้าพระยาบดินทรเดชาเมื่อขึ้น 4 ค่ำ เดือน 4 (ตรงกับวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2391) เป็นเจ้าแผ่นดินกัมพูชา พระนามว่า องค์พระหริรักษ์เจ้ากรุงกัมพูชา[46]

ปลายพระชนม์และสวรรคต

ตลอดรัชสมัยของพระองค์เม็ญ พระองค์ต้องอยู่กับมลทินมัวหมองมาตลอดสองทศวรรษหลัง เมื่อสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดีสวรรคต พระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตารก็เสวยราชสมบัติต่อ และย้ายราชธานีไปยังกรุงพนมเปญ ทิ้งให้พระองค์เม็ญประทับอยู่ในพระราชวังอุดงฦๅไชยกับข้าราชบริพารเก่าแก่ บางแหล่งข้อมูลระบุว่าพระองค์เม็ญคุ้มดีคุ้มร้ายเมื่อไม่ได้สิทธิในสินค้าอย่างที่ราชินีควรจะได้ เหล่าข้าราชบริพารจึงเข้ามายุ่งย่ามปิดปากเหล่าพ่อค้าแม่ค้าเสีย[47]

พระองค์เม็ญมีพระราชบุตรสองพระองค์ ที่ประสูติกับบุรุษไม่ทราบนาม[48] พระองค์เม็ญและพระสวามีประสบอุบัติเหตุ เสวยทิวงคตหลังเดือนธันวาคม พ.ศ. 2417 พระบรมศพได้รับการพระราชทานเพลิงที่กรุงพนมเปญในปี พ.ศ. 2427[ต้องการอ้างอิง]

ใกล้เคียง

พระองค์เม็ญ พระองค์เจ้าดำ พระองคุลิมาลเถระ พระองค์เจ้าขุนเณร พระองค์เจ้าศรีสังข์ พระองค์เจ้านโรดม ปทุมบุปผา พระองค์เจ้าทับทิม พระองค์เจ้านโรดม มารี รณฤทธิ์ พระองค์เจ้านโรดม เวชชรา พระองค์เจ้าชื่น