พระองค์เม็ญ

พระองค์เม็ญ (หรือ มี),[1] พระองค์เจ้ามี[2][3] หรือ นักองค์เม็ญ[4][5] (เขมร: អង្គមី; พ.ศ. 2358 — ธันวาคม พ.ศ. 2417) เป็นพระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรเขมรอุดง[6] เป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดี หรือนักองค์จัน ทั้งนี้พระองค์เม็ญเป็นหนึ่งในผู้ปกครองที่เป็นสตรีไม่กี่คนในประวัติศาสตร์กัมพูชา[7] พระองค์เม็ญทรงเป็นที่รู้จักในนาม บา กง จั๊ว (พระนางเจ้าหญิง) หรือพงศาวดารกัมพูชาออกพระนามว่า บากุ๋นภู[8] มีพระนามเป็นภาษาเวียดนามว่า เจ้าหญิงหง็อก เวิน (Công chúa Ngọc Vân, 玉雲) และภายหลังมีตำแหน่งเป็น เจ้าหญิงหมี เลิม (Quận chúa Mỹ Lâm, 美林) หลังสมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดีเสวยทิวงคตในช่วงสงครามอานัมสยามยุทธ พระเจ้ากรุงญวนจึงขุนนางจัดพระราชพิธีอภิเษกให้พระองค์เม็ญเสวยราชย์แทนพระราชบิดาขณะพระชนมายุ 20 พรรษา[8] เพราะในช่วงเวลานั้นเจ้านายเขมรที่เป็นชายเข้าไปพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระเจ้ากรุงสยาม คงเหลือแต่เจ้านายเขมรผู้หญิง ฝ่ายญวนจึงกวาดเจ้านายเขมรไปเมืองญวน หวังให้เป็นประเทศราช[9] พระองค์เม็ญถูกแต่งตั้งเป็นพระเจ้ากรุงกัมพูชาและปลดออกสองครั้ง พระองค์และพระภคินีถูกนำไปไว้ที่เมืองไซ่ง่อนและเว้ ตามลำดับ เพื่อให้กัมพูชาสิ้นเจ้านายปกครอง[10][11]ต่อมาราชสำนักเว้ก็ส่งพระองค์กลับพนมเปญหวังให้ชาวเขมรคลายความเจ็บแค้น เมื่อพระเจ้ากรุงญวนทรงเห็นว่าไม่มีขุนนางเขมรนิยมชมชอบพระองค์เม็ญ จึงส่งพระองค์เม็ญไปเมืองเมียดจรูก[1] ภายหลังทัพญวนมิอาจต้านทานกองทัพประสมสยามกับเขมร จึงขอหย่าศึก ยอมปล่อยพระราชวงศ์เขมรที่ถูกนำไปควบคุมไว้ที่เว้ให้เป็นอิสระตั้งแต่ พ.ศ. 2388 เป็นต้นมา[12]

พระองค์เม็ญ

พระราชสมภพ พ.ศ. 2358
ก่อนหน้า สมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดี
ครองราชย์ พ.ศ. 2378–2384 และ พ.ศ. 2387–2388 (6 ปี)
พระราชมารดา นักนางกระจับ
พระราชบิดา สมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดี
สวรรคต ธันวาคม พ.ศ. 2417 (ราว 59 พรรษา)
อุดงฦๅไชย อาณาจักรเขมร
ถัดไป สมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี

ใกล้เคียง

พระองค์เม็ญ พระองคุลิมาลเถระ พระองค์เจ้าศรีสังข์ พระองค์เจ้าขุนเณร พระองค์เจ้าดำ พระองค์เจ้าทับทิม พระองค์เจ้านโรดม ปทุมบุปผา พระองค์เจ้านโรดม เวชชรา พระองค์เจ้านโรดม มารี รณฤทธิ์ พระองค์เจ้าชื่น