รัชกาล ของ พระเจ้าวัลเดมาร์ที่_2_แห่งเดนมาร์ก

ราชอาณาจักรเดนมาร์กในรัชสมัยกษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 2

ดยุกวัลเดมาร์ได้รับการสถาปนาเป็นพระมหากษัตริย์โดยสภาจัตแลนด์ ในช่วงนั้นเพื่อนบ้านอย่างจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ตกอยู่ในสภาวะสงครามกลางเมือง ระหว่างผู้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์สองคน คือ จักรพรรดิอ็อทโทที่ 4 จากตระกูลเวล์ฟ และกษัตริย์ฟิลิปแห่งชวาเบินจากราชวงศ์โฮเอินชเตาเฟิน กษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 2 นั้นเป็นพันธมิตรกับจักรพรรดิอ็อทโทและต่อต้านฟิลิป

ในปีค.ศ. 1203 กษัตริย์วัลเดมาร์ยกทัพยึดครองมุขมณฑลลือแบร์กและดัชชีฮ็อลชไตน์ ให้มาอยู่ภายใต้การปกครองของเดนมาร์ก ในปีค.ศ. 1204 พระองค์พยายามเข้าไปมีอิทธิพลในการสืบราชบัลลังก์นอร์เวย์โดยการส่งกองทัพเรือและกองทัพบกไปยังวีเกินในนอร์เวย์เพื่อสนับสนุนเออร์ลิง สไตน์เว็ก ผู้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์นอร์เวย์ ทำให้เกิดสงครามบาเกอร์ครั้งที่สองซึ่งจะสิ้นสุดในปีค.ศ. 1208 แต่ปัญหาการสืบราชบัลลังก์นอร์เวย์ได้ยุติลงชั่วคราวเนื่องจากพระมหากษัตริย์นอร์เวย์ยินยอมจะถวายการจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์เดนมาร์ก

ในปีค.ศ. 1207 คณะบาทหลวงส่วนใหญ่ของเบรเมิน ได้เลือกบิชอปวัลเดมาร์เป็นเจ้าชายมุขนายกอีกครั้ง ในขณะที่พระคณะส่วนน้อยที่นำโดยพระครูบรูก์ฮาร์ด เคานท์แห่งสตัมเปนเฮาเซน ได้หลบหนีไปยังฮัมบูร์ก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเขตมุขมณฑลของเบรเมินและมีการเลือกตั้งแข่งขันกันว่าใครจะเป็นผู้นำหลักของเบรเมิน กษัตริย์ฟิลิปแห่งชวาเบินรับรองให้บิชอปวัลเดมาร์เป็นเจ้าชายมุขนายกแห่งเบรเมิน เนื่องจากเขาเป็นศัตรูกับกษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 2

กษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 2 และเหล่าคณะบาทหลวงเบรเมินเสียงข้างน้อยที่หลบหนีได้ยื่นจดหมายประท้วงไปยังสมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 3 ซึ่งพระองค์ได้สั่งการให้ตรวจสอบเรื่องนี้ เมื่อบิชอปวัลเดมาร์เดินทางออกจากโรมกลับไปยังเบรเมินเป็นการขัดขืนคำสั่งของสมเด็จพระสันตะปาปาที่ทรงให้เขาอยู่รอคำสั่ง พระองค์จึงขับไล่เขาออกจากศาสนา ถึงที่สุดในปีค.ศ. 1208 ทรงโปรดให้ปลดเขาออกจากตำแหน่งบิชอปแห่งชเลสวิก ในปีค.ศ. 1208 บรูก์ฮาร์ด เคานท์แห่งสตัมเปนเฮาเซน ได้รับการแต่งตั้งโดยเหล่าพระครูเบรเมินเสียงข้างน้อยที่หลบหนีให้ดำรงเป็นผู้อ้างสิทธิในเจ้าชายมุขนายกและกษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 2 ทรงละเมิดสิทธิของจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์โดยแต่งตั้งบรูก์ฮาร์ดแทนและให้เขาทรงเครื่องกกุธภัณฑ์ แต่ก็มีผลการปกครองมุขมณฑลเพัยงแค่ทางตอนเหนือของแม่น้ำเอลเบเท่านั้น ในปีค.ศ. 1209 สมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 3 ทรงยินยอมให้มีการแต่งตั้งนิโคลัสที่ 1 ให้เป็นบิชอปแห่งชเลสวิกแทนบิชอปวัลเดมาร์ นิโคลัสเป็นคนสนิทและเป็นที่ปรึกษาของกษัตริย์วัลเดมาร์ ในปีค.ศ. 1214 กษัตริย์วัลเดมาร์จึงทรงโปรดเกล้าฯแต่งตั้งบิชอปนิโคลัสที่ 1 เป็นอัครมหาเสนาบดีแห่งเดนมาร์ก สืบต่อจากเปเดร ซูเนอเซน บิชอปแห่งรอสคิลด์

ในปีเดียวกัน กษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 2 พร้อมกองทัพเดนมาร์กบุกโจมตีมุขมณฑลทางตอนใต้ของแม้น้ำเอลเบ และยึดเมืองสเตด ในเดือนสิงหาคม เจ้าชายมุขนายกวัลเดมาร์ได้ยึดเมืองนี้คืนอีกครั้งหลังจากเสียเมืองไปไม่นาน กษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 2 ทรงก่อสร้างสะพานเอลเบขึ้นมาและเพื่อมุ่งหน้าเข้าโจมตีฮาร์บูร์ก ในปีค.ศ. 1209 จักรพรรดิอ็อทโทที่ 4 ทรงเกลี้ยกล่อมให้กษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 2 ถอยทัพกลับไปยังตอนเหนือของแม่น้ำเอลเบ จากนั้นกระตุ้นให้บูร์กฮาร์ดลาออกจากตำแหน่ง พร้อมขับไล่เจ้าชายมุขนายกวัลเดมาร์

ในปีค.ศ. 1210 สมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 3 ทรงแต่งตั้งเกอร์ฮาร์ดที่ 1 เคานท์แห่งอ็อลเดนบูร์ก-ไวล์ดเชาเซน ให้ดำรงเป็นเจ้าชายมุขนายกแห่งเบรเมินคนใหม่ ในปีค.ศ. 1211 ดยุกแแบร์นฮาร์ดที่ 3 แห่งดัชชีซัคเซิน ได้ติดตามบิชอปวัลเดมาร์ พี่เขยของพระองค์ ซึ่งถูกพระสันตะปาปาปลด กลับเข้าไปยังเมืองเบรเมิน ยึดอำนาจโดยพฤตินัยจากสมเด็จพระสันตะปาปา และพวกเขาหันไปสนับสนุนจักรพรรดิอ็อทโทที่ 4 ทันทีทันใด เนื่องจากพระองค์กำลังมีเรื่องมีราวกับสมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 3 ในกรณีซิชิลี ด้วยเหตุนี้กษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 2 จึงยึดครองเมืองเตดอีกครั้ง ในขณะที่ปีค.ศ. 1213 ไฮน์ริชที่ 5 เคานต์พาลาไทน์แห่งไรน์ ได้ยึดครองเมืองนี้คืนให้เจ้าชายมุขนายกวัลเดมาร์

ในปีค.ศ. 1213 กษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 2 ทรงเรียกเก็บภาษีสงครามในนอร์เวย์ และเกิดเรื่องราวที่ชาวนอร์เวย์สังหารเจ้าหน้าที่เก็บภาษีของกษัตริย์วัลเดมาร์ที่สภาเทรินเดลากและก่อการกบฏ การลุกฮือขยายตัวไปทั่วนอร์เวย์

ในปีค.ศ. 1216 กษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 2 และกองทัพเดนมาร์ทำลายล้างแคว้นสเตดและเข้ายึดครองฮัมบูร์ก สองปีถัดมากษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 2 และเกอร์ฮาร์ที่ 1 เป็นพันธมิตรกันเข้าขับไล่ไฮน์ริชที่ 5 กับจักรพรรดิอ็อทโทที่ 4 จากดินแดนมุขมณฑล ในที่สุดเจ้าชายมุขนายกวัลเดมาร์ก็ประกาศลาออกและเข้าสู่อาราม กษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 2 สนับสนุนจักรพรรดิฟรีดริชที่ 2 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และทรงได้รับรางวัลจากจักรพรรดิ โดยการยอมรับสิทธิของเดนมาร์กในการปกครองชเลสวิกและฮ็อลชไตน์ ดินแดนทั้งหมดของชาวเวนด์และดัชชีพอเมอเรเนีย

ยุทธการลินดานีส

ธงแดนเนอบรอกล่องลอยลงมาจากท้องฟ้าในยุทธการลินดานีส
วาดโดยคริสเตียน ออกุสต์ ลอเร็นท์เซน วาดปีค.ศ. 1809

อัศวินทิวทอนิกซึ่งทำหน้าที่เปลี่ยนให้ผู้คนแถบทะเลบอลติกฝั่งตะวันออกให้มานับถือศาสนาคริสต์ ในปีค.ศ. 1219 พวกเขาดำเนินการอย่างยากลำบากและกดดัน จึงทูลขอความช่วยเหลือจากกษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 2 สมเด็จพระสันตะปาปาโฮโนริอุสที่ 3 ทรงยกระดับสงครามของกษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 2 ให้เป็นสงครามครูเสด กษัตริย์วัลเดมาร์ทรงระดมกองทัพและรวมกองเรือทั้งหมดเพื่อส่งกองทัพไปสู้รบทางตะวันออก มีเรือรวมกันถึง 1,500 ลำ

เมื่อกองทัพขึ้นฝั่งที่เอสโตเนียบริเวณใกล้เมืองทาลลินน์ในปัจจุบัน หัวหน้าเผ่าเอสโตเนียยอมสยบต่อกองทัพเดนมาร์กและยอมรับกษัตริย์เดนมาร์กเป็นผู้นำสูงสุด มีชนต่างศาสนาบางคนยอมรับการบัพติศมาในศาสนาใหม่ซึ่งเป็นสัญญาณอันดี 3 วันถัดมาคือวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 1219 ในขณะที่ชาวเดนส์ทำพิธีมิสซา ชาวเอสโตเนียหลายพันคนบุกเข้ามาในค่ายของชาวเดนส์ ความสับสนนี้การเป็นสิ่งที่เลวร้ายสำหรับกษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 2 โชคดีที่ วิตสลาฟที่ 1 เจ้าชายแห่งรือเงิน นำทหารของเขาในค่ายที่สองเข้าโจมตีชาวเอสโตเนียจากข้างหลัง

ตามตำนานในระหว่างยุทธการลินดานีสว่ากันว่าบิชอปซูเนเซนยกแขนของเขาขึ้นมาข้างหน้าเพื่อให้ชาวเดนส์ยกทัพไปข้างหน้า แต่เมื่อเขาเริ่มเมื่อยล้าและแขนตกลงมาพวกชาวเอสโตเนียเข้าตีชาวเดนส์จากข้างหลัง เมื่อผู้เข้าร่วมเคลื่อนไปข้างหน้าและบิชอปยกมืออีกครั้ง ชาวเดนส์ก็บุกไปข้างหน้าต่อ ในช่วงที่การต่อสู้ดุเดือดนั้นบิชอปซูเนเซนสวดมนต์อ้อนวอนพระเจ้าและปรากฏผ้าผืนแดงที่มีกากบาทสีขาวล่องลอยลงมาจากท้องฟ้าในช่วงที่ชาวเดนส์กำลังจะถอยทัพ มีเสียงพูดเข้ามาว่า "ถ้าธงผืนนี้ถูกชูขึ้น พวกเจ้าจักได้รับชัยชนะ!"[3] ชาวเดนส์ลุกขึ้นสู้และได้รับชัยชนะในสมรภูมิ เมื่อสิ้นสุดวันนั้น ชาวเอสโตเนียนอนตายเกลื่อนทุ่งสนามรบ และจากนั้นเอสโตเนียก็ถูกรวมเข้าในอาณาจักรเดนมาร์ก เอสโตเนียถูกบังคับให้เข้ารีตเป็นชาวคริสต์ แต่จากงานศึกษาเชิงลึกในลีเบอร์ เซนซัส ดาแนร์ ของนักประวัติศาสตร์ เอ็ดการ์ ซัคส์ ระบุว่า ชาวเอสโตเนียสมัครใจที่เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์

กษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 2 ทรงให้สร้างป้อมปราการใหญ่ที่รีวัลบริเวณใกล้สมรภูมิ[4] ในที่สุดเมืองก็เติบโตรอบปราสาทและกลายเป็นเมืองทาลลินน์ ภาษาเอสโตเนียแปลว่า "เมือง/ปราสาทเดนมาร์ก" ธงแดงกากบาทขาว (ธงแดนเนอบรอก) กลายเป็นธงชาติตั้งแต่ค.ศ. 1219 และกลายเป็นธงชาติที่เก่าแก่ที่สุดในยุโรปที่ยังใช้มาจนปัจจุบัน

ยุทธการบอร์นเฮอเว็ด

ในปีค.ศ. 1223 กษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 2 และพระราชโอรสองค์โต คือ เจ้าชายวัลเดมาร์ ทรงถูกลักพาตัวโดยไฮน์ริชที่ 1 เคานท์แห่งชเวรีน ขณะทรงล่าสัตว์อยู่ที่เกาะเลิร์ท ใกล้เกาะฟึน[5] เคานท์ไฮน์ริชเรียกร้องให้ยอมคืนดินแดนฮ็อลชไตน์ที่ยึดครองมากว่า 20 ปี และให้ยอมเป็นรัฐบริวารของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ คณะผู้แทนเดนมาร์กปฏิเสธข้อเรียกร้องนี้และประกาศสงคราม ในช่วงที่กษัตริย์วัลเดมาร์ถูกคุมขัง ดินแดนเยอรมันทั้งหลายก็แยกตัวออกจากเดนมาร์ก กองทัพเดนมาร์กต้องถูกส่งไปยึดดินแดนคืน สงครามสิ้นสุดด้วยความพ่ายแพ้ของเดนมาร์กซึ่งพ่ายแพ้ต่อกองทัพที่บัญชาการโดยอัลแบร์ชที่ 2 แห่งออร์ลามุนด์ ซึ่งพ่ายแพ้ที่เมืองมืนล์ในปีค.ศ. 1225[5] เพื่อให้ได้ปล่อยตัวกษัตริย์วัลเดมาร์ เดนมาร์กต้องยอมรับให้ดินแดนที่แยกตัวให้เข้ากับเยอรมัน และต้องจ่ายเงิน 44,000 มาร์ก รวมถึงลงนามสัญญาว่าจะไม่แก้แค้นเคานท์ไฮน์ริชที่ลักพาตัวพระองค์ไป

กษัตริย์วัลเดมาร์ทรงยื่นอุทธรณ์ไปยังสมเด็จพระสันตะปาปาโฮโนริอุสที่ 3 เพื่อให้พระองค์อนุญาตให้คำสัญญาเป็นโมฆะ สมเด็จพระสันตะปาปาโฮโนริอุสที่ 3 ทรงยอมให้คำสัญญาเป็นโมฆะ และกษัตริย์ทรงพยายาามเรียกร้องดินแดนเยอรมันคืนในทันที[5] กษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 2 ทรงทำสนธิสัญญากับพระนัดดาคือ อ็อทโทที่ 1 ดยุกแห่งเบราน์ชไวค์-ลือเนอบวร์คและมุ่งหน้าไปทางใต้เพื่อยึดดินแดนที่ทรงมองว่าเป็นสิทธิของพระองค์ แต่พระองค์ก็ไม่ทรงโชคดีเท่าไร กองทัพเดนมาร์กพ่ายแพ้ในยุทธการบอร์นเฮอเว็ดในวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ. 1227 เป็นตัวปิดฉากการเรียกร้องดินแดนทางภาคเหนือของเยอรมัน[5] กษัตริย์วัลเดมาร์ทรงหลบหนีมาได้ด้วยการกระทำอย่างวิถีอัศวินของอัศวินเยอรมันซึ่งนำพากษัตริย์หลบหนีโดยม้าอย่างปลอดภัย

ประมวลกฎหมายจัตแลนด์

ก่อนการรับรองประมวลกฎหมายเดนมาร์ก แต่ละดินแดนของเดนมาร์กมีกฎหมายของตัวเอง ยกเวนแถบอูทลันเดอ (สีม่วง) ที่ใช้ประมวลกฎหมายฟรีเชีย

หลังจากนั้นเป็นต้นมากษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 2 ทรงมุ่งเน้นกิจการภายในประเทศ หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงสมัยพระองค์คือระบบศักดินา ซึ่งพระองค์ทรงมอบทรัพย์สินแก่ผู้คนโดยความเข้าใจว่าคนเหล่านั้นต้องรับใช้พระองค์ตอบแทน สิ่งนี้เป็นการเพิ่มอำนาจของตระกูลขุนนาง (เฮอจาเดเลน) และก่อให้เกิดขุนนางชั้นผู้น้อย (ลาวาเดเลน) ซึ่งเป็นผู้ควบคุมเดนมาร์กเกือบทั้งหมด ชาวนาอิสระสูญเสียสิทธิดั้งเดิมและสิทธิพิเศษที่พวกเขาได้รับมาตั้งแต่สมัยไวกิง[6]

กษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 2 ทรงใช้เวลาที่เหลือในการรวมประมวลกฎหมายของคาบสมุทรจัตแลนด์ เกาะเชลลันด์และสกัวเนอ ประมวลกฎหมายนี้ถูกบังคับใช้จนถึงปีค.ศ. 1683 นี่คือการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของกฎหมายท้องถิ่นซึ่งเกิดจากสภาของแคว้น ซึ่งใช้เป็นประเพณีมาอย่างยาวนาน หลายวิธีที่ใช้ตัดสินว่าใครเป็นผู้กระทำผิดหรือผู้บริสุทธิ์นั้นถูกมองว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เช่น การพิจารณาคดีด้วยความเจ็บปวดหรือการพิจารณาคดีด้วยการต่อสู้ ประมวลกฎหมายจัตแลนด์ได้รับการรับรองจากการประชุมขุนนางที่ปราสาทวอร์ดิงบอร์ก ในปีค.ศ. 1241 ซึ่งก่อนการสวรรคตของพระองค์

กษัตริย์วัลเดมาร์สวรรคตในวันที่ 28 มีนาคม ค.ศ. 1241 สิริพระชนมายุ 70 พรรษา พระองค์ถูกฝังพระบรมศพเคียงข้างพระมเหสีพระองค์แรก คือ สมเด็จพระราชินีดักมาร์ที่เมืองริงสเต็ด ในเชลลันด์

ใกล้เคียง

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ พระเจ้าอโศกมหาราช