การปกครองเซี่ย ของ พระเจ้าเจี๋ย

เจี๋ยสืบราชสมบัติต่อจากบิดาในปีเหรินเฉิน (壬辰)[4][5]

เมื่อขึ้นครองราชย์แล้ว เขาใช้ชีวิตเสเพลสุรุ่ยสุร่าย และโหดร้ายต่อไพร่ฟ้าของตน[3] แต่ละวันสาละวนอยู่กับกิจกรรมทางเพศ ความบันเทิง และความฟุ่มเฟือย[2] เขายังไม่ชอบให้ผู้ใดมาวิจารณ์ชีวิตตน และหลายคนก็หวาดกลัวเขาอย่างยิ่ง[6]

มีบันทึกว่า ในช่วงสามปีแรกของรัชกาล เขาสั่งให้ทำลายหอหรง (容台) และได้ปราบกบฏชาว Quanyi ที่รุกรานเข้ามาถึง Qi ด้วย[4][5] ช่วงเดียวกัน เขาเห็นว่า วังของตนเรียบง่ายเกินไป จึงสั่งให้สร้างวังแห่งใหม่ เรียก "ชิงกง" (傾宮; "วังเอียง") ต้องเกณฑ์ราษฎรนับหมื่นมาทำ ทั้งเรียกระดมทรัพยากรนับไม่ถ้วน เจ็ดปีจึงเสร็จ ไพร่ฟ้าทุกข์ยากสาหัส[7]

ในปีที่ 6 ของรัชกาล เขาจัดงานรื่นเริงต้อนรับทูตต่างชาติ ทั้งยังออกรับทูตจาก Qizhong ที่เขามองว่าเป็นชาวป่าเถื่อน ครั้นปีที่ 11 ของรัชกาล เขาเรียกเจ้าประเทศราชทั้งปวงมาเข้าเฝ้า เจ้าแห่งราชอาณาจักร Youmin ไม่มา เขาจึงจัดทัพไปตีราชอาณาจักรดังกล่าวจนได้ชัยชนะ[4][5]

ในปีที่ 13 ของรัชกาล เขาย้ายเมืองหลวงจากเจินสฺวิน (斟鄩) ไปยังเหอหนาน (河南)[4][5] ช่วงนั้น เขาเริ่มใช้เสลี่ยงที่ให้มนุษย์แบก เรียกว่า เหนี่ยน (輦)[4][5]

ปีที่ 14 ของรัชกาล เขานำทัพไปยังหมินชาน (岷山) ที่ซึ่งเขาได้เจอกับธิดาสองคนของกษัตริย์แห่งหมินชาน เขาเอานางทั้งสองเป็นเมีย โดยเปลี่ยนชื่อให้เป็น เฉา (苕) และฮฺวา (华) ตามลำดับ เขาลุ่มหลงหญิงสองนางนี้มาก กระทั่งยอมเลิกรากับภริยาเดิม คือ เม่ย์ สี่ (妹喜) แล้วสร้างตำหนักบนยอดวังของตนเพื่อให้นางทั้งสองอยู่อาศัย[4][5]

เอกสาร เลี่ย-นฺหวี่-จฺวั้น (列女傳) ระบุว่า นางบำเรอคนโปรดคนหนึ่งของเขานามว่า มั่ว สี่ (妺喜) เป็นหญิงรูปงามแต่ใจทราม[8][9] นางขอให้เขาสั่งขุดบ่อแล้วเอาสุราเทลงไป[9] เพื่อที่นางและเขาจะได้ล่องเรืออยู่ในบ่อสุรานั้น ทั้งอนุญาตให้ชายหญิงที่เมามายร่วมเพศหมู่กันบนเรือได้[10] เอกสารยังว่า ครั้งหนึ่ง นางสั่งให้ชาย 3,000 คนลงไปดื่มสุราในบ่อให้เกลี้ยง แต่เมื่อคนใดจมสุรา นางก็หัวเราะชอบใจ[9][10] เหตุการณ์เหล่านี้ยังมีบันทึกในเอกสาร หันชือไว่จฺวั้น (韓詩外傳)[10][11]

เจี๋ยมักบริโภคอาหารพิสดาร ผักต้องมาจากภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ปลาต้องมาจากทะเลตะวันออก (東海) เครื่องปรุงต้องทำจากขิงที่ขึ้นในภาคใต้ เกลือที่ใช้ก็ต้องมาจากภาคเหนือ[3] ต้องใช้แรงงานคนมากมายในการจัดหาของกินดังกล่าวมาเปรอปรนเขา ผู้ใดจัดหามาให้ผิดก็ถูกประหารทันที[3]

เจี๋ยยังมักดื่มสุราชิงฉุน (清醇; "เหล้าใส") ซึ่งต้องปรุงพิเศษ ถ้าปรุงมาไม่ถูกใจ เขาก็สั่งประหารผู้ปรุง ผู้คนมากมายถูกประหารไปเพราะเหตุนี้[3] เขายังมักดื่มสุราโดยนั่งอยู่บนหลังผู้อื่นเหมือนขี่ม้า[3] ครั้งหนึ่ง เขาจะขี่หลังอัครมหาเสนาบดีของตน แต่อัครมหาเสนาบดีผู้นั้นตรากตรำมาทั้งวัน ไม่อาจเป็นม้าให้เขาได้อีก จึงขอให้เจี๋ยงดเว้นสักวัน แต่เจี๋ยสั่งประหารทันที[3] กวาน หลงเฝิง (關龍逢) อัครมหาเสนาบดีคนใหม่ ทูลเขาว่า พฤติกรรมของเขาทำให้ผู้คนเสื่อมศรัทธา ทั้งภูเขาและสายน้ำ (江山) ก็ไม่เข้าข้างเขาอีกต่อไป เขาฟังแล้วโกรธ สั่งประหารกวาน หลงเฝิง ทันทีเช่นกัน[3]

เอกสารประวัติศาสตร์ยังบันทึกปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ผิดประหลาดในรัชกาลเจี๋ยเอาไว้ เริ่มในปีที่ 10 ของรัชกาล ที่มีดาวห้าดวงเรียงตัวกันบนฟากฟ้า ต่อมาเกิดฝนดาวตก และแผ่นดินไหว[4][5] ครั้นปีที่ 29 เจี๋ยสั่งขุดอุโมงค์น้ำไหลผ่านภูเขา Qu แต่ภูเขาถล่มในปีถัดมา[4][5] นอกจากนี้ ยังเกิดภัยธรรมชาติในช่วงฤดูหนาวที่หลิงซุ่ย (聆隧)[4][5] เอกสารจากปลายสมัยราชวงศ์ฉิน (秦朝) ว่า ช่วงท้ายของรัชกาลเจี๋ย มักเกิดน้ำแข็งในยามเช้าของฤดูร้อน ทั้งเกิดเกล็ดหิมะตลอดเดือนกรกฎาคม ต่อมา ฝนถล่มอาคารบ้านเรือน อากาศก็แปรปรวน ฤดูร้อนกลับหนาว ฤดูหนาวกลับร้อน พืชพันธุ์ธัญญาผลสูญเสียสิ้น นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า เหตุการณ์เหล่านี้ คือ ฤดูหนาวจากภูเขาไฟ ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากภูเขาไฟระเบิดเมื่อราว 1628 ปีก่อนคริสตกาล[12]

ใกล้เคียง

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ พระเจ้าอโศกมหาราช พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ