ศัพทมูลวิทยา ของ พระโกญจนาเนศวร์

พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) สันนิษฐานว่าพระนาม "โกญจนาเนศวร์" ใน คัมภีร์นารายณ์ยี่สิบปาง เป็นพระนามของพระขันทกุมาร เพราะคำว่า "โกญจนา" ตรงกับคำสันสกฤตว่า "เกราญจ" ซึ่งเป็นชื่อภูเขาที่พระขันทกุมารเสด็จไปประทับ[3] รองศาสตราจารย์ ดร. มณีปิ่น พรหมสุทธิลักษณ์อธิบายมาจากคำสันสกฤตว่า "เกฺราญจนาเนศวร" (กฺราญจน+อานน+อิศวร)[4] จึงแปลความหมายของชื่อดังกล่าวว่า "ผู้เป็นใหญ่เหนือแผ่นพักตร์เกราญจะ"[3] และมณีปิ่นได้อธิบายอีกว่า ชาวสยามโบราณคงทราบทางเทพปกรณัมแขก [อินเดีย] ว่าพระอิศวรมีบุตรสององค์ แต่เข้าใจผิดว่าเป็นองค์เดียวกัน จึงโอนชื่อพระขันทกุมารไปให้กับพระคเณศ[4]

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่งอธิบายว่า "โกญจนาทเนศวร์" ซึ่งปรากฏใน ตำราช้าง มาจากคำว่า "โกญจนาท" แปลว่า "เสียงร้องของช้าง" และพระนามจึงควรจะเป็น "โกญจนาเทศวร์" แปลว่า "พระเป็นเจ้าที่มีเสียงร้องของช้าง" หรืออาจจะมาจาก "โกญจนาทนฺ+อีศวร" ตามการสนธิสันสกฤตอย่างทมิฬ[3]