การสร้างบารมี ของ พระโพธิสัตว์

ประเภทของพระโพธิสัตว์

พระธัมมปาละ ระบุไว้ในอรรถกถาสโมทานกถา (ในปรมัตถทีปนี) ว่าพระโพธิสัตว์มี 3 ประเภท คือ[4]

  1. พระมหาโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญบารมีเพื่อให้ได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า
  2. พระปัจเจกโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญบารมีเพื่อให้ได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า
  3. พระสาวกโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญบารมีเพื่อให้ได้เป็นพระอนุพุทธะ

นอกจากนี้ ในอรรถกถาเถรคาถา (ในปรมัตถทีปนี) พระธัมมปาละยังจำแนกพระมหาโพธิสัตว์ออกเป็นอีก 3 ประเภท[5] คือ

  1. ปัญญาธิกโพธิสัตว์ คือพระโพธิสัตว์ที่สร้างบารมีโดยใช้ปัญญาเป็นตัวนำ ระยะเวลาการสร้างบารมีทั้งหมด 20 อสงไขยกับเศษแสนมหากัป คือตั้งความปรารถนาอยู่ในใจเป็นเวลา 7 อสงไขย หลังจากนั้นจึงออกปากกล่าววาจาต่อหน้าพระพักตร์พระพุทธเจ้าเป็นเวลา 9 อสงไขย รวมเป็น 16 อสงไขย และได้รับพุทธพยากรณ์ครั้งแรกเป็น พระนิยตโพธิสัตว์ เมื่อเหลือเวลาอีก 4 อสงไขยกับเศษแสนมหากัป เป็นการสร้างบารมีอย่างยิ่งและเข็มงวดขึ้นเรื่อย และได้รับพยากรณ์ซ้ำมาตลอดเมื่อได้พบกับพระพุทธเจ้าจนถึงสมัยพุทธภูมิของท่าน
  2. สัทธาธิกโพธิสัตว์ คือพระโพธิสัตว์ที่สร้างบารมีโดยใช้ศรัทธาเป็นตัวนำ ระยะเวลาการสร้างบารมีทั้งหมด 40 อสงไขยกับเศษแสนมหากัป คือตั้งความปรารถนาอยู่ในใจเป็นเวลา 14 อสงไขย หลังจากนั้นจึงออกปากกล่าววาจาต่อหน้าพระพักตร์พระพุทธเจ้าเป็นเวลา 18 อสงไขย รวมเป็น 32 อสงไขย และได้รับพุทธพยากรณ์ครั้งแรกเป็น พระนิยตโพธิสัตว์ เมื่อเหลือเวลาอีก 8 อสงไขยกับเศษแสนมหากัป เป็นการสร้างบารมีอย่างยิ่งและเข็มงวดขึ้นเรื่อย และได้รับพยากรณ์ซ้ำมาตลอดเมื่อได้พบกับพระพุทธเจ้า จนถึงสมัยพุทธภูมิของท่าน
  3. วิริยาธิกโพธิสัตว์ คือพระโพธิสัตว์ที่สร้างบารมีโดยใช้วิริยะเป็นตัวนำ ระยะเวลาการสร้างบารมีทั้งหมด 80 อสงไขยกับเศษแสนมหากัป คือตั้งความปรารถนาอยู่ในใจเป็นเวลา 28 อสงไขย หลังจากนั้นจึงออกปากกล่าววาจาต่อหน้าพระพักตร์พระพุทธเจ้าเป็นเวลา 36 อสงไขย รวมเป็น 64 อสงไขย และได้รับพุทธพยากรณ์ครั้งแรกเป็น พระนิยตโพธิสัตว์ เมื่อเหลือเวลาอีก 16 อสงไขยกับเศษแสนมหากัป เป็นการสร้างบารมีอย่างยิ่งและเข็มงวดขึ้นเรื่อย และได้รับพยากรณ์ซ้ำมาตลอดเมื่อได้พบกับพระพุทธเจ้า จนถึงสมัยพุทธภูมิของท่าน

ตามหลักฐานที่ปรากฏในอรรถกถาพบว่า ยิ่งใช้เวลาในการบำเพ็ญบารมีนานเท่าใด พระโพธิสัตว์จะมีพระชนมายุยืนขึ้นในสมัยที่ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า รวมทั้งสัตว์ที่เกิดในยุคนั้นจะมีอายุยืน และบรรลุธรรมได้ง่ายและมีจำนวนมาก แต่ไม่ประกันว่าศาสนาของพระองค์จะยืนยาวหลายชั่วอายุขัย เช่น พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันนี้ มีพระนามว่า พระโคตมพุทธเจ้า พระองค์ทรงสร้างบารมีมาทาง ปัญญาธิกโพธิสัตว์ มีพระชนมายุเพียง 80 พรรษา พระวรกายสูง 4 ศอก หรือ 2 เมตร บำเพ็ญทุกรกิริยา 6 ปี พุทธรังสีสร้านไปข้างละ 1 วาเป็นปกติ มนุษย์สมัยพระองค์มีอายุขัย 100 ปี แต่ในอนาคต เมื่อมนุษย์มีอายุขัย 80,000 ปี จะมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามพระศรีอริยเมตไตรย[6] ทรงสร้างบารมีมาทาง"วิริยาธิกะพุทธเจ้า" มีพระวรกายสูงได้ 88 ศอก หรือ 44 เมตร บำเพ็ญทุกกิริยาชาติสุดท้าย 7 วัน พระพุทธรัศมีของพระองค์แผ่ซ่านตลอดไปเบื้องบนจนถึงพรหมโลก เบื้องต่ำตลอดลงไปจนถึงมหาอเวจีนรก

ส่วนเหตุที่ทำให้พระสัจธรรมตั้งอยู่ได้นานหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับความผ่อนคลายของพระพุทธเจ้าในการแสดง และพระวินัยที่ได้ทรงบัญญัติไว้[7]

ส่วนพระพุทธโฆสะแบ่งพระโพธิสัตว์ออกเป็น 2 ประเภทคือ[2]

  1. อนิยตโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ที่ยังไม่ได้รับพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าองค์ก่อนมาเลย เรียกว่า อนิยตโพธิสัตว์ ความหมายคือยังไม่แน่นอนว่าจะได้เป็นพระพุทธเจ้า เพราะอาจจะเลิกล้มความปรารถนาเมื่อไรก็ได้
  2. นิยตโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ที่ได้รับพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าองค์ก่อนมาแล้ว เรียกว่า นิยตโพธิสัตว์ ตามความหมายคือจะได้เป็นพระพุทธเจ้าอย่างแน่นนอน เพราะถ้าถึงนิพพานต้องดำรงค์ฐานะเป็นพระพุทธเจ้าอย่างเดียว แต่ถ้าบารมีและเวลายังไม่สมบูรณ์ แม้ว่าจะพยายามปฏิบัติอย่างยิ่งยวดบังเกิดปัญญาอย่างเยี่ยมยอด ก็ไม่สามารถถึงนิพพานก่อนได้ แม้จะทุกข์ท้อแท้ จนคิดว่าเลิกที่จะเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว แต่แล้วในที่สุดมหากุศลที่เป็นอนุสัย ก็จะพุ่งกระจายขึ้นมาให้ตั้งมั่นและบำเพ็ญบารมีกันต่อ จนกว่าบารมีและเวลาสมบูรณ์

บารมี 30 ทัศ

บารมี หมายถึง การกระทำที่ประเสริฐ การกระทำที่ประกอบด้วยกุศลเจตนาคุณงามความดีที่ควรกระทำ คุณงามความดีที่ได้บำเพ็ญมา คุณสมบัติที่ทำให้ยิ่งใหญ่ เป็นธรรมส่วนหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งช่วยเหลือเกื้อกูลให้ผู้ปฏิบัติได้ถึงซึ่งโพธิญาณ

บารมีที่พระโพธิสัตว์บำเพ็ญ คือ[3]

  • 1. ทานบารมี หมายถึง การสละออก การให้ต่างๆ โดยมีเจตนาช่วยเหลือผู้อื่นเป็นสำคัญ
  • 2. ศีลบารมี หมายถึง การรักษาศีลให้เป็นปกติ หากเป็นฆราวาสหมายถึงการถือศีล 5 หากเป็นนักบวชคือการถือศีล 8 ขึ้นไป
  • 3. เนกขัมมะบารมี หมายถึง การออกบวช หากฆราวาสถือศีล 8 ก็นับเป็นเนกขัมบารมีได้เช่นกัน เพราะเป็นการกระทำเพื่อเว้นจากกามสุข
  • 4. ปัญญาบารมี หมายถึง การกระทำเพื่อเพิ่มพูนปัญญา ปัญญาแบ่งออกเป็นปัญญาทางโลกและทางธรรม เนื่องจากพระโพธิสัตว์จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตตกาล จึงต้องมีปัญญาความรู้มาก เพื่อจะได้สั่งสอนสัตว์ให้พ้นจากทุกข์ได้ การเรียนของพระโพธิสัตว์จึงต้องเรียนมากกว่าผู้อื่น
  • 5. วิริยะบารมี หมายถึง การกระทำที่ใช้ความเพียรเป็นที่ตั้ง การมีวิริยะอาจไม่ได้หมายถึงการเพียรจนกระทั่งตัวตายในครั้งเดียว แต่หมายถึงมีความพยายามทำอยู่เรื่อยๆ ทำไปทีละน้อยตามกำลังจนกว่าจะสำเร็จ

สัมมัปปธานหรือความเพียรที่ถูกต้อง มี 4 อย่างคือ

o สังวรปธาน เพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นo ปหานปธาน เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้วo ภาวนาปธาน เพียรทำบุญให้เกิดขึ้นo อนุรักขนาปธาน เพียรรักษาการทำบุญไว้ต่อเนื่อง
  • 6. ขันติบารมี หมายถึง การอดทนอดกลั้นต่อสิ่งต่างๆ
  • 7. สัจจะบารมี หมายถึง การรักษาคำพูด ไม่กลับกลอก แม้ว่าจะต้องสละบางสิ่งเพื่อรักษาคำพูดไว้
  • 8. อธิษฐานบารมี หมายถึง การตั้งมั่นในความปรารถนา ตั้งจิตมั่นต่อคำอธิษฐาน
  • 9. เมตตาบารมี หมายถึง การมีความปรารถดี มีความรักต่อสัตว์ทั้งหลายในโลกอย่างเท่าเทียม ประดุจมารดารักบุตร เมตตาแตกต่างจากราคะตรงที่ ราคะอาจรักเฉพาะตัวหรือพวกพ้อง แต่เมตตาเป็นรักที่ไม่แบ่งแยก
  • 10. อุเบกขาบารมี หมายถึง การวางเฉย มีใจเป็นกลาง การปล่อยวางในสิ่งที่ผิดพลาด ในสิ่งที่แก้ไขไม่ได้ วางเฉยในความทุกข์ของตน และสัตว์ที่ช่วยไม่ได้ เนื่องจากมีปัญญาเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายย่อมเป็นไปตามกรรมของตน ไม่มีใครได้รับความยากลำบากโดยไม่มีเหตุปัจจัย ล้วนแล้วแต่เป็นกรรมที่เคยทำมาทั้งสิ้น

ซึ่งในแต่ละบารมีนั้นแบ่งย่อยเป็น 3 ขั้น ได้แก่

  1. บารมีขั้นต้น คือ เนื่องด้วยวัตถุ และทรัพย์นอกกาย เช่น การสละทรัพย์ช่วยผู้อื่น จัดเป็น ทานบารมี, รักษาศีลแม้ว่าจะต้องสูญเสียทรัพย์สินเงินทอง จัดเป็น ศีลบารมี, หรือ ยอมถือบวชโดยไม่อาลัยในทรัพย์สิน จัดเป็น เนกขัมบารมี เป็นต้น
  2. บารมีขั้นกลางหรืออุปบารมี คือ เนื่องด้วยเลือดเนื้อ อวัยวะ เช่น การสละเลือดเนื้ออวัยวะแก่ผู้อื่น จัดเป็น ทานอุปบารมี, การใช้ปัญญารักษาอวัยวะเลือดเนื้อของผู้อื่น จัดเป็น ปัญญาอุปบารมี ,การมีความเพียรจนไม่อาลัยในเลือดเนื้อหรืออวัยวะ จัดเป็น วิริยะอุปบารมี, มีเมตตาต่อผู้ที่จะมาทำร้ายเลือดเนื้ออวัยวะของตน จัดเป็น เมตตาอุปบารมี, หรือ มีความอดทนอดกลั้นต่อผู้ที่จะมาทำลายอวัยวะของตน จัดเป็น ขันติอุปบารมี เป็นต้น
  3. บารมีขั้นสูงสุดหรือปรมัตถบารมี คือ เนื้องด้วยชีวิต เช่น การสละชีวิตเป็นทานแก่ผู้อื่น จัดเป็น ทานปรมัตถบารมี , ยอมสละแม้ชีวิตเพื่อจะรักษาคำพูด จัดเป็น สัจจปรมัตถบารมี, ตั้งจิตไม่หวั่นไหวต่อคำอธิษฐานแม้จะต้องเสียชีวิต จัดเป็น อธิษฐานปรมัตถบารมี, หรือ วางเฉยต่อผู้ที่จะมาทำร้ายชีวิตของตน จัดเป็น อุเบกขาปรมัตถบารมี เป็นต้น

ดังนั้น จึงรวมเป็นบารมี 30 ทัศ

ใกล้เคียง

พระโพธิสัตว์ พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) พระโพธิธรรม พระโพธิสัตว์กวนอิมพันมือแห่งกุยชาน พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (ไชยา) พระโพธิสัตว์กวนอิมบนทะเลแห่งหนานชาน พระโพธิสัตว์กวนอิมแห่งเขาซีเฉียว พระโพธิสัตว์กวนอิมแห่งเขาผู่ถัว พระโพธิทรุมพฤกษเทวี พระโพธิรักษ์

แหล่งที่มา

WikiPedia: พระโพธิสัตว์ http://sealevel.ns.ca/bodhi/index.html http://dhechen.com/pub/spiritual/37prac.htm http://philosophersanswer.com/index.php?option=com... http://www.buddhismuskunde.uni-hamburg.de/fileadmi... http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=1... http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33.3&i... http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=11&A... http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=32... http://www.accesstoinsight.org/lib/authors/bodhi/w... http://www.geocities.ws/tmchote/tpd-mcu/tpd01.htm