พิธีกรรม ของ พราหมณ์พฤฒิบาศ

พราหมณ์พฤฒิบาศมีหน้าที่ในการฝึกดูแลช้างหลวง เช่น การคล้องช้างป่ามาใช้ในราชการ และทำหน้าที่ปัดเป่าเสนียดจัญไรหากมีการเสียชีวิตภายในพระบรมมหาราชวังหรือที่ประทับของเจ้านาย[2][3] พราหมณ์พฤฒิบาศจะเข้าไปประกอบ พิธีกลบบัตรสุมเพลิง เป็นพิธีที่ทำให้พื้นดินบริสุทธิ์ หากมีใครเลือดตกยางออกหรือตายในพระราชฐานชั้นใน ต้องแก้ไขด้วยการให้พราหมณ์พฤฒิบาศปลูกศาลเพียงตา ขุดดินบริเวณที่มีเลือดหรือคนตายกว้างสองศอก ยาวสองศอก และลึกศอกเศษ จากนั้นนำแกลบกลบลงในหลุมสูงหนึ่งศอกแล้วก่อไฟ หยิบเครื่องสังเวยใส่ในกองเพลิงแล้วอ่านโองการ เสร็จแล้วเกลี่ยดินกลบหลุม[22] แล้วนำวิญญาณของผู้ตายออกจากที่เกิดเหตุไปลอยแม่น้ำ[3] ในสมัยอยุธยา มีการแต่ง ตำราคชลักษณ์ ว่าด้วยลักษณะของช้าง ตำราคชกรรม ว่าด้วยการหัดช้างเถื่อน ขี่ช้างเถื่อน มนต์บังคับช้าง และระเบียบพิธีต่าง ๆ[23] นอกจากนี้ยังมี คำฉันท์ดุษฎีสังเวยกล่อมช้าง มาใช้ในพระราชพิธีที่เกี่ยวกับการคชกรรม สุจิตต์สันนิษฐานว่า คงเป็นวรรณกรรมที่ดัดแปลงมาจากพิธีกรรมเข้าทรงผีช้าง[12]

พราหมณ์พฤฒิบาศบูชาพระคเณศ ด้วยนับถือว่าเป็นครูของหมอช้าง จึงมีการสร้างโบสถ์สำหรับปฏิบัติบูชาพระคเณศ เรียกว่า สถานพิฆเนศวร ภายในเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ แยกจากโบสถ์ของพวกพราหมณ์พิธีไปต่างหาก[14]

นอกจากนี้ในพระราชพิธีทอดเชือกดามเชือก จะมีพ่อหมอเฒ่าออกมารำพัดชา[7] และในพิธีธนญชัยบาศรับช้างเผือก พราหมณ์พฤฒิบาศจะประกอบอาหาร เรียกว่า ข้าวเภา หรือ ข้าวกระยาสังแวง คลุกด้วยสีเหลือง และสีแดง มาปั้นเป็นก้อน[24] โดยกระทำอยู่ภายใน สถลทิน สร้างเป็นเนินดิน ตั้งเสาโครงเพดานผ้าขาว เพื่อหุงข้าวเภาและปักต้นอ้อย รอรับช้างเผือก

แหล่งที่มา

WikiPedia: พราหมณ์พฤฒิบาศ https://vajirayana.org/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0... https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/image_d... https://www.matichonweekly.com/column/article_2923... https://www.matichonweekly.com/featured/article_58... https://www.matichonweekly.com/column/article_6508... https://www.finearts.go.th/storage/contents/file/1... https://prachatai.com/journal/2018/11/79451 https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/image_d... http://phralan.in.th/Coronation/vocabdetail.php?id... https://www.matichonweekly.com/column/article_5797...