ประวัติ ของ พราหมณ์พฤฒิบาศ

จิตรกรรมฝาผนังรูปพราหมณ์พฤฒิบาศกับช้างเผือกปัจจัยนาเคนทร์จากเรื่อง มหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์หิมพานต์หอปะกำและเสาตะลุง ภายในเพนียดคล้องช้าง

สันนิษฐานว่าพราหมณ์พฤฒิบาศมีต้นสายมาจากเมืองเขมร[7] ในราชสำนักไทย พราหมณ์พฤฒิบาศนี้มีประวัติความเป็นมายาวนานตั้งแต่อาณาจักรสุโขทัยเป็นอย่างน้อย ดังปรากฏใน จารึกนครชุม เมื่อ พ.ศ. 1900[2] เดิมนักบวชเหล่านี้นับถือศาสนาหนึ่งต่างหาก เรียกว่า ศาสนาพระเทพกรรม ดังปรากฏใน จารึกฐานพระอิศวรเมืองกำแพงเพชร เมื่อ พ.ศ. 2053[8] พวกเขานับถือพระครูประกรรม, เทพกรรม หรือเทวกรรม (คือผีปะกำ) เป็นใหญ่ ซึ่งเป็นเทพพื้นเมืองก่อนการรับอิทธิพลจากศาสนาพุทธหรือฮินดู[4] ศาสนานี้เคยแพร่หลายในไทยและกัมพูชา ตั้งแต่ประชากรชนชั้นสามัญชนไปจนถึงชนชั้นเจ้านาย ดั่งพบว่าเจ้านายเขมรเข้าบวชเป็นหมอช้าง ปรากฏใน พงศาวดารละแวก กล่าวถึงเจ้าพระยาโยม ซึ่งเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระราชโองการ พระบรมราชารามาธิราชาธิบดี ประสูติแต่นักนางแพง ได้ถือบวชเป็นหมอช้าง ความว่า "...เจ้าพระยาโยม ๆ นั้นเชี่ยวชาญชำนาญรู้ตำราช้างไสยสาตร เป็นครูเถ้าถือบวชเป็นหมอช้าง"[9] แต่ในกาลต่อมา ศาสนาพระเทพกรรมถูกกลืนเข้ากับศาสนาฮินดูในไทย และอาจเป็นไปได้ว่าพราหมณ์พฤฒิบาศนี้อาจเป็นหมอปะกำหรือครูช้างที่เข้ารีตเป็นพราหมณ์[5] พราหมณ์พฤฒิบาศจึงถูกเกณฑ์ให้ไปนับถือพระนารายณ์ (คือพระวิษณุ) แทน[10]

สุจิตต์ วงษ์เทศ พราหมณ์พฤฒิบาศคือหมอผีปะกำ มีประสบการณ์สูงในการจับช้างป่า พูดภาษาผีเกลี้ยกล่อมช้างป่าได้สำเร็จทุกครั้ง จึงได้รับการยกย่องเป็นพราหมณ์ในท้องถิ่น เรียกว่าพราหมณ์พฤฒิบาศ[11][12] แม้จะรับอิทธิพลจากศาสนาฮินดูเข้ามาแล้ว แต่คงพิธีกรรมเซ่นสรวงบูชาผีปะกำ ต่อมาได้ยกขึ้นเป็นเทวดาเรียกว่า พระเทวกรรม ไว้โดยแทรกความเป็นฮินดูไปด้วย พระครูประกรรมมีรูปลักษณ์เป็นบุรุษล่ำสัน นุ่งผ้าเกไล เปลือยอก สวมสายธุหร่ำเฉียงทางอังสะซ้าย โคนแขนสวมวลัย นับถือเป็นพระของหมอและควาญช้าง[7] หลังรับอิทธิพลจากศาสนาฮินดูแล้วจึงสร้างบุคลาธิษฐานด้วยการหยิบยืมรูปลักษณ์ของพระคเณศ ซึ่งเป็นเทพเจ้าของฮินดูมาใช้ กลายเป็นพระเทวกรรม เทพเจ้าแห่งช้าง และพระโกญจนาเนศวร์ เทพผู้ให้กำเนิดช้าง[6][13] ส่วนพระคเณศได้รับการนับถือเป็นครูช้างอย่างน้อยก็ในยุคอาณาจักรอยุธยาเป็นต้นมา ดังปรากฏใน โคลงดั้นยวนพ่าย ความว่า "...การช้างพิฆเณศรน้าว ปูนปานท่านนา..." ซึ่งฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ ได้ถอดความหมายไว้ว่า "...รอบรู้วิชาคชกรรมจนเปรียบปานได้กับพระพิฆเนศวร..."[14]

ในราชสำนักไทยยุคอาณาจักรอยุธยา พราหมณ์พฤฒิบาศมีบทบาทสำคัญในการเป็นกรรมวาจาจารย์ในพิธีปฐมกรรมหรือพิธีบวชพราหมณ์แก่พระมหากษัตริย์[15] ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ได้ตีกรุงกัมพูชาเมื่อ พ.ศ. 1964 พระองค์ได้กวาดต้อนพราหมณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านคชศาสตร์เข้ามาเป็นจำนวนมาก[16] และในช่วงเวลาหลังจากนั้น พราหมณ์พฤฒิบาศจากเมืองเขมรที่อพยพเข้ากรุงศรีอยุธยาเริ่มลดจำนวนลงไปเรื่อย ๆ ตามลำดับ[15] พวกเขามีบทบาทในการคล้องช้างที่เพนียดคล้องช้าง มีการสร้างหอปะกำ และเสาตะลุง ซึ่งสุจิตต์อ้างว่าเป็นธรรมเนียมตกทอดมาจากประเพณีโพนช้างของชาวกูย[11] ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีการแบ่งพราหมณ์ออกเป็นสองฝ่าย แบ่งเป็นฝ่ายขาวคือพราหมณ์พิธี คือผู้กระทำพิธีอันสวัสดิมงคล กับฝ่ายดำคือพราหมณ์พฤฒิบาศ คือผู้กำจัดอวมงคลให้สิ้นสูญ[7] โดยสกุลบุณยรัตพันธุ์รับราชการเป็นพฤฒิบาศมาแต่ครั้งกรุงเก่าเรื่อยมาจนถึงยุครัตนโกสินทร์[17]

ยุครัตนโกสินทร์ พราหมณ์พฤฒิบาศเป็นกรมสังกัดหนึ่งในสองกรมพราหมณ์ เรียกว่า กรมพราหมณ์พฤฒิบาศ แยกกับกรมพราหมณ์พิธี โดยมี พระสิทธิไชยบดี หรือเรียกว่า พระหมอเฒ่า เป็นเจ้ากรม[3][7] โดยมีเจ้านายและขุนนางหลายคนศึกษาวิชาคชศาสตร์จนได้เป็น "หมอเฒ่า" ได้แก่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงเทพพลภักดิ์ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (บุญรอด) ต้นสกุลบุณยรัตพันธุ์ และเจ้าพระยาสุรินทราชา (จันทร์) ต้นสกุลจันทโรจนวงศ์ เป็นต้น[18] ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีเชื้อสายพราหมณ์พฤฒิบาศจากพระบุรพชนฝ่ายพระชนนีสายหนึ่งที่สืบสันดานมาจากสกุลบุณยรัตพันธุ์[19] อย่างไรก็ตามหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการยกเลิกกรมพิธีพราหมณ์ ทำให้บทบาทของพราหมณ์พฤฒิบาศหายไป[20]

กระทั่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีพราหมณ์ขึ้นใหม่อีกครั้ง[20]

แหล่งที่มา

WikiPedia: พราหมณ์พฤฒิบาศ https://vajirayana.org/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0... https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/image_d... https://www.matichonweekly.com/column/article_2923... https://www.matichonweekly.com/featured/article_58... https://www.matichonweekly.com/column/article_6508... https://www.finearts.go.th/storage/contents/file/1... https://prachatai.com/journal/2018/11/79451 https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/image_d... http://phralan.in.th/Coronation/vocabdetail.php?id... https://www.matichonweekly.com/column/article_5797...