พลวัตระหว่างกลุ่ม ของ พลวัตกลุ่ม

พลวัตระหว่างกลุ่ม (intergroup dynamics) เป็นความสัมพันธ์ทางพฤติกรรมและจิตวิทยาระหว่างกลุ่ม แต่ละกลุ่มมีการรับรู้ ทัศนคติ และความคิดเห็นต่อกลุ่มตนเอง และกลุ่มอื่น ๆ ต่างกันไป พลวัตระหว่างกลุ่มก่อให้เกิดทั้งประโยชน์และความขัดแย้ง

ทฤษฎีอัตลักษณ์ทางสังคมเสนอว่าความขัดแย้งระหว่างกลุ่มเกิดขึ้นเมื่อมีการเปรียบเทียบระหว่างสมาชิกในกลุ่มตนกับสมาชิกกลุ่มอื่น[15] การเปรียบเทียบนี้เป็นกลไกหนึ่งที่เพิ่มความภูมิใจแห่งตน[2] ในช่วงการเปรียบเทียบนี้ บุคคลมีแนวโน้มที่จะชื่นชมกลุ่มตนเองมากกว่ากลุ่มอื่น, ขยายความแตกต่างระหว่างกลุ่มให้เกินจริงเพื่อแยกกลุ่มตนกับกลุ่มอื่นอย่างชัดเจน, ลดความแตกต่างในหมู่สมาชิกกลุ่มตน, มุ่งสนใจข้อมูลแง่บวกของกลุ่มตนและข้อมูลแง่ลบของกลุ่มอื่น[16] กระบวนการเหล่านี้นำไปสู่อคติ การเหมารวม และความรุนแรง อย่างไรก็ตามความขัดแย้งระหว่างกลุ่มไม่ได้นำไปสู่ความรุนแรงในบางกรณี เช่น การแข่งขันระหว่างนักเรียนต่างสถาบัน[2]

มีการเสนอหลายกลวิธีในการลดความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม ในปี ค.ศ. 1954 กอร์ดอน ออลพอร์ตเสนอสมมติฐานการติดต่อ (Contact hypothesis)[17] และเสนอสี่เงื่อนไขในการติดต่อ ได้แก่ ให้สถานะทั้งสองฝ่ายเท่าเทียมกัน, มีเป้าหมายเดียวกัน, มีความร่วมมือระหว่างกลุ่ม และได้รับการสนับสนุนจากผู้มีอำนาจและกฎหมาย[18] นอกจากนี้มีการใช้อัตลักษณ์เหนือกว่าที่สมาชิกกลุ่มมีร่วมกัน เช่น หากเกิดความขัดแย้งในหมู่นักเรียนผิวขาว ผิวสี และเชื้อสายลาตินอเมริกา ทางโรงเรียนอาจใช้อัตลักษณ์ความเป็นนักเรียนร่วมสถาบันในการลดความขัดแย้ง[19] รวมถึงให้กลุ่มพึ่งพาอาศัยกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเดียวกัน ดังเช่นในการทดลองรอบเบอส์เคฟของมุซาเฟอร์ เชอริฟที่ศึกษาความขัดแย้งระหว่างเด็กสองกลุ่ม เชอริฟใช้กลวิธีนี้ในการสลายความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม[20] หรือวิธีการเรียนการสอนแบบจิกซอว์ที่เอลเลียต อารอนสันให้นักเรียนต่างเชื้อชาติช่วยกันเรียนเพื่อลดความขัดแย้งในโรงเรียน[21]

ใกล้เคียง