เบื้องหลัง ของ พลวัตกลุ่ม

การศึกษาพลวัตกลุ่มมีรากฐานมาจากวิชาจิตวิทยาและสังคมวิทยา วิลเฮ็ล์ม วุนต์ นักจิตวิทยาชาวเยอรมันที่ได้รับการยกย่องให้เป็น "บิดาแห่งจิตวิทยาทดลอง" สนใจจิตวิทยาในกลุ่มคน วุนต์มีความเชื่อว่าปรากฏการณ์ที่ถูกครอบงำ เช่น ภาษา ธรรมเนียมปฏิบัติ และศาสนา ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยการศึกษารายบุคคล[2] ด้านกุสตาฟว์ เลอ บง นักจิตวิทยาและนักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศสมีความเห็นว่าเมื่ออยู่ในกลุ่ม บุคลิกภาพของบุคคลจะถูกกดทับและอิทธิพลของกลุ่มจะมีอำนาจเหนือกว่าแทน[3] ขณะที่วิลเลียม แมกดูกัล นักจิตวิทยาชาวบริติชเชื่อว่า "จิตกลุ่ม" ดำรงอยู่แยกจากปฏิสัมพันธ์ของบุคคล[2]

อย่างไรก็ตาม คำว่าพลวัตกลุ่มถูกคิดค้นโดยเคิร์ต เลอวีน นักจิตวิทยาสังคมชาวเยอรมัน–อเมริกัน เพื่ออธิบายแรงด้านบวกและลบภายในกลุ่มคน[4] ในปี ค.ศ. 1945 เลอวีนก่อตั้งศูนย์วิจัยพลวัตกลุ่มที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์เพื่อศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะ[5] การศึกษาพลวัตกลุ่มในยุคหลังมีการผสานจิตวิทยาวิวัฒนาการในการพยายามอธิบายการปรับตัวของกลุ่มในสังคมที่ซับซ้อนขึ้น เช่น การรับมือกับสถานภาพ การต่างตอบแทน ความเอื้ออาทร การขับออกจากกลุ่ม และภาวะผู้นำ[6]