ประเภท ของ พลาสติกชีวภาพ

พลาสติกที่ทำจากแป้ง

ปัจจุบัน เทอร์โมพลาสติกที่ทำจากแป้ง หรือที่เรียกว่า "เทอร์โมพลาสติกสตาร์ช" (Thermoplastic starch) เป็นพลาสติกชีวภาพที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ฟิล์มพลาสติกชีวภาพจากแป้งสามารถทำได้ง่าย ๆ โดยการทำเจลาติไนซ์แป้งแล้วนำมาหล่อขึ้นรูป (solution casting)[7] และด้วยสมบัติของแป้งบริสุทธิ์ที่สามารถดูดความชื้นได้ จึงเป็นวัสดุที่เหมาะสำหรับใช้ผลิตแคปซูลยาในวงการเภสัชกรรม อย่างไรก็ตาม พลาสติกชีวภาพที่ทำจากแป้งมักมีความเปราะ จึงนิยมเติมพลาสติไซเซอร์ เช่น กลีเซอรอล ไกลคอล และซอร์บิทอล เพื่อให้แป้งสามารถผ่านกระบวนการขึ้นรูปแบบเทอร์โมพลาสติกทั่วไปได้ [8] และมักมีการปรับคุณสมบัติของเทอร์โมพลาสติกสตาร์ชที่ได้ให้ตรงกับความต้องการมากขึ้นโดยใช้สารเติมแต่งต่าง ๆ

พลาสติกที่ทำจากเซลลูโลส

บรรจุภัณฑ์จากเซลลูโลสอะซิเตท พลาสติกชีวภาพชนิดหนึ่ง

พลาสติกชีวภาพจากเซลลูโลส มักทำมาจากเซลลูโลสเอสเทอร์ (ได้แก่ เซลลูโลสอะซีเตท และไนโตรเซลลูโลส) และอนุพันธ์ของเซลลูโลสเอสเทอร์ เช่น เซลลูลอยด์เซลลูโลสสามารถทำเป็นเทอร์โมพลาสติกได้เมื่อถูกดัดแปลงโครงสร้างมากพอสมควร ตัวอย่างเช่น เซลลูโลสอะซีเตท ซึ่งมีราคาแพงจึงไม่นิยมใช้ทำบรรจุภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม การใช้เส้นใยเซลลูโลสเป็นสารตัวเติมในพลาสติกที่ทำจากแป้ง จะช่วยปรับปรุงสมบัติเชิงกล สมบัติกันการแพร่ผ่านของก๊าซ และความทนต่อน้ำได้ เนื่องจากเซลลูโลสมีความชอบน้ำน้อยกว่าแป้ง [9]

พลาสติกที่ทำจากโปรตีน

พลาสติกชีวภาพสามารถทำจากโปรตีนได้หลากหลายชนิด เช่น กลูเตนข้าวสาลี (wheat gluten) และโปรตีนเคซีน (casein) [10]นอกจากนี้ โปรตีนถั่วเหลือง (soy proteins) ก็อาจนำมาใช้ทำพลาสติกชีวภาพได้ แต่จะมีอุปสรรคบางประการ เช่น ความไวต่อน้ำ และราคาที่ค่อนข้างสูง [11]