ประวัติทางอุตุนิยมวิทยา ของ พายุไต้ฝุ่นเกย์_(พ.ศ._2532)

แผนที่กำหนดพิกัดจุดของเส้นทางเดินของพายุ ตามมาตราแซฟเฟอร์–ซิมป์สัน

ต้นเดือนพฤศจิกายน ร่องมรสุมเหนืออ่าวไทยแสดงสัญญาณของการกำเนิดพายุหมุนเขตร้อน บริเวณการพาความร้อนกระจุกขนาดเล็กก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็วเหนือหย่อมความกดอากาศต่ำภายในร่องมรสุม แล้วในวันที่ 2 พฤศจิกายน ระบบดังกล่าวมีการจัดระเบียบเพียงพอให้ศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วม (JTWC) ออกประกาศการแจ้งเตือนการก่อตัวของพายุหมุนเขตร้อน[nb 3] ระบบเริ่มทวีกำลังแรงขึ้นภายในอ่าวแคบ ๆ เนื่องจากมีขนาดเล็ก โดยได้รับการส่งเสริมจากน้ำทะเลที่อุ่นและการไหลออกที่ดี ระบบเคลื่อนตัวไปทางตะวันตกเฉียงเหนือโดยทั่วไป วันต่อมาระบบดังกล่าวทวีกำลังขึ้นเป็นพายุดีเปรสชันเขตร้อน และภายในวันเดียวกันทวีกำลังแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อพายุโซนร้อน เกย์ (Gay) ที่เพิ่งตั้งชื่อใหม่มีกำลังแรงขึ้น เรือโทไดแอน เค. คริตเท็นเด็น ระบุว่า "มันนำเสนอปฏิทรรศน์แก่นักพยากรณ์" เพราะข้อมูลระดับภูมิภาค (Synoptic data) จากประเทศมาเลเซียและไทยระบุว่าความเร็วลมรอบพายุลดลง และความกดอากาศรอบพายุเพิ่มขึ้น แต่การสังเกตดังกล่าวภายหลังมีการตีความว่าเป็นการจมตัวลง (subsidence) ที่เพิ่มขึ้น[3]

พายุเกย์ทวีกำลังแรงขึ้นเร็วกว่าที่คาดหมายไว้และกลายเป็นพายุไต้ฝุ่นในวันที่ 3 พฤศจิกายน หลังจากนั้นตัวพายุพัฒนาตาก่อนเคลื่อนตัวผ่านเรือขุดเจาะน้ำมัน ซีเครสต์[3] วันที่ 4 พฤศจิกายน ความเร็วลมของพายุไต้ฝุ่นเกย์เพิ่มขึ้นเป็น 185 กม./ชม. (เทียบเท่ากับพายุเฮอริเคนระดับ 3 ตามมาตราเฮอริเคนแซฟเฟอร์–ซิมป์สัน) ก่อนพัดขึ้นฝั่งในจังหวัดชุมพรเมื่อเวลาประมาณ 06:00 UTC (13:00 น. ตามเวลาในประเทศไทย)[4] กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นประเมินว่าพายุมีความเร็วลมพัดต่อเนื่องสิบนาที 140 กม./ชม. และมีความกดอากาศ 960 มิลลิบาร์ (hPa; 28.35 นิ้วปรอท)[5][nb 4] ขณะที่พายุเกย์เคลื่อนตัวข้ามคอคอดกระนั้น พายุอ่อนกำลังลงเป็นพายุไต้ฝุ่นกำลังอ่อนเมื่อลงสู่อ่าวเบงกอล[3][4] กรมอุตุนิยมวิทยาอินเดีย[nb 5] ระบุว่า พายุเกย์เป็นพายุไต้ฝุ่นลูกแรกนับตั้งแต่ปี 2434 ที่ก่อตัวขึ้นในอ่าวไทยแล้วเคลื่อนเข้าสู่อ่าวเบงกอล[8] พายุตอบสนองกับแนวร่องที่อยู่ทางทิศเหนือของพายุ ทำให้พายุเกย์คงแนวเส้นทางไประหว่างทิศตะวันตก-ตะวันตกเฉียงเหนือถึงตะวันตกเฉียงเหนือในอีกสี่วันถัดมา พายุค่อย ๆ กลับมามีกำลังดังเดิมอีกครั้งเมื่อเคลื่อนตัวผ่านบริเวณที่มีลมเฉือนต่ำและน้ำทะเลที่อุ่น อย่างไรก็ตาม การทวีกำลังของพายุถูกจำกัดด้วยการพัดออกของพายุหมุน[3] เช้าวันที่ 6 พฤศจิกายน พายุเกย์เคลื่อนผ่านหมู่เกาะอันดามันโดยเป็นพายุไซโคลนเทียบเท่าระดับ 2[4]

พายุไต้ฝุ่นเกย์ในวันที่ 3 พฤศจิกายน ไม่กี่ชั่วโมงก่อนขึ้นฝั่งในคาบสมุทรมลายู

หลังจากที่พายุเกย์ได้ทวีกำลังแรงขึ้นเล็กน้อยในวันที่ 6 พฤศจิกายน พายุเกย์ได้กลับมาทวีกำลังแรงขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากแนวร่องที่อยู่ด้านเหนือของพายุมีกำลังแรงขึ้น และปัจจัยจำกัดการพัดออกก่อนหน้านี้ลดลง จากนั้นพายุเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกผ่านแนวน้ำทะเลอบอุ่นแคบ ๆ ซึ่งเป็นการเติมเชื้อเพลิงให้กับกระบวนการทวีกำลังแรงขึ้นอีกในระยะ 42 ชั่วโมงข้างหน้า เช้าวันที่ 8 พฤศจิกายน จากการประเมินตามวิธีในเทคนิคดีโวแร็ก ศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วมประเมินว่า พายุเกย์มีความรุนแรงสูงสุดเป็นพายุหมุนเขตร้อนระดับ 5 ด้วยความเร็วลม 260 กม./ชม.[3][4] ในขณะนั้น กรมอุตุนิยมวิทยาอินเดียประเมินว่า พายุมีความเร็วลมต่อเนื่องสามนาที 240 กม./ชม. และจัดได้ว่าเป็นพายุซูเปอร์ไซโคลนสมัยปัจจุบัน[1][9] นอกจากนี้ กรมฯ ยังประเมินความกดอากาศที่ศูนย์กลางของพายุไซโคลนว่าลดเหลือ 930 มิลลิบาร์ (hPa; 27.46 นิ้วปรอท)[10] เมื่อเวลาประมาณ 18:00 UTC พายุเกย์พัดขึ้นฝั่งในบริเวณที่มีประชากรเบาบางใกล้กับกาวาลี รัฐอานธรประเทศ ประเทศอินเดีย เมื่อกำลังพัดขึ้นฝั่ง ตาพายุมีขนาดกว้างประมาณ 20 กิโลเมตร พร้อมระยะลมพายุกว้าง 95 กิโลเมตรนับจากศูนย์กลาง[3][11] เมื่อพายุอยู่บนแผ่นดิน ทำให้พายุเกย์ไม่ได้รับพลังงานจากน้ำอุ่นอีกต่อไป ทำให้พายุอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนภายในระยะเวลา 12 ชั่วโมงนับจากพัดขึ้นฝั่ง[3] และพายุยังคงสลายตัวอย่างต่อเนื่องขณะเคลื่อนที่ข้ามประเทศอินเดีย ก่อนจะสลายตัวลงอย่างสมบูรณ์เหนือรัฐมหาราษฏระในวันที่ 10 พฤศจิกายน[4]

ใกล้เคียง

พายุไต้ฝุ่นเกย์ (พ.ศ. 2532) พายุไต้ฝุ่นมังคุด (พ.ศ. 2561) พายุไต้ฝุ่นทุเรียน พายุไต้ฝุ่นรามสูร (พ.ศ. 2557) พายุไต้ฝุ่นชบา (พ.ศ. 2547) พายุไต้ฝุ่นวิภา (พ.ศ. 2550) พายุไต้ฝุ่นรามสูร (พ.ศ. 2545) พายุไต้ฝุ่นชบา (พ.ศ. 2559) พายุไต้ฝุ่นชบา (พ.ศ. 2553) พายุไต้ฝุ่นรามสูร (พ.ศ. 2551)

แหล่งที่มา

WikiPedia: พายุไต้ฝุ่นเกย์_(พ.ศ._2532) http://www.adrc.asia/countryreport/THA/THAeng98/in... http://articles.latimes.com/1989-11-09/news/mn-144... http://articles.latimes.com/1989-11-11/news/mn-100... http://www.wpc.ncep.noaa.gov/tropical/rain/tcmaxim... http://www.wpc.ncep.noaa.gov/tropical/rain/tcrainf... http://www.imd.gov.in/section/nhac/static/cyclone-... http://nidm.gov.in/idmc2/PDF/Presentations/Cyclone... http://nellore.ap.nic.in/jccourt/Assignment/E5_331... http://www.thaiscience.info/Article%20for%20ThaiSc... http://reliefweb.int/node/34537