ผลกระทบและผลสืบเนื่อง ของ พายุไต้ฝุ่นเกย์_(พ.ศ._2532)

อ่าวไทย

พายุเกย์เป็นพายุที่ทรงพลังที่สุดที่มีผลต่ออ่าวไทยในรอบกว่า 35 ปี พายุเกย์ทำให้เกิดคลื่นใต้น้ำสูง 6–11 เมตร (20–36 ฟุต) ที่ทำให้เรือหลายลำในภูมิภาคไม่ทันตั้งตัว[12] มีรายงานเรืออย่างน้อย 16 ลำสาบสูญในวันที่ 5 พฤศจิกายน รวมทั้งเรือขุดเจาะน้ำมันขนาด 106 เมตร ชื่อ ซีเครสต์ (Seacrest) ของบริษัทยูโนแคลคอร์ปอเรชัน[13] ผู้รอดชีวิตจากเรือลำดังกล่าวบอกว่า เรือไม่ได้รับคำเตือนเกี่ยวกับพายุไต้ฝุ่นที่กำลังก่อตัว[14] เมื่อลูกเรือทั้งหมดเกือบจะสละเรือ ตาพายุของพายุเกย์เคลื่อนผ่านพอดี เกิดลมพัดแปรปรวนอย่างรุนแรงและเปลี่ยนทิศทาง ทำให้เรือไม่เสถียรแม้อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยในการผลิต

เรือพลิกคว่ำอย่างฉับพลันพร้อมกับลูกเรือทั้ง 97 คนในช่วงดึกของคืนวันที่ 3 พฤศจิกายน ก่อนมีการเตรียมเรือชูชีพแม้แต่ลำเดียว[13][14] ความพยายามกู้ภัยเบื้องต้นในวันที่ 4 พฤศจิกายนถูกขัดขวางจากทะเลที่มีคลื่นลมแรง[15] สองวันให้หลังเรืออับปาง เรือกู้ภัยสี่ลำและเฮลิคอปเตอร์สองลำในบริเวณออกค้นหาผู้รอดชีวิต[13] มีผู้ได้รับการช่วยเหลือจากซากเรือสี่คนในวันที่ 6 พฤศจิกายน มีการส่งตัวนักประดาน้ำจากกองทัพเรือไทเพื่อค้นหาผู้ที่ติดอยู่ในซากเรือ[16] ในจำนวนลูกเรือทั้งหมด มีผู้รอดชีวิตเพียง 6 คน และกู้ศพได้ 25 ศพ และสันนิษฐานว่าลูกเรือที่เหลืออีก 66 คนเสียชีวิตแล้ว[14][17] ความเสียหายจากเรือซีเครสต์อับปางคิดรวม 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[18] เรือบรรทุกสินค้าและเรือประมงอีก 20 ลำอับปางระหว่างเกิดพายุ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 140 ราย[19]

ประเทศไทย

ผลกระทบในประเทศไทย[20]
ผู้ประสบภัยและความเสียหาย
จังหวัดเสียชีวิตสูญหายความเสียหาย
บาท[nb 6]ดอลลาร์สหรัฐ
ชุมพร446011,257,265,254439,736,924
ประจวบคีรีขันธ์1984199,936,0007,810,000
ระนอง21090,880,0003,550,000
ปัตตานี20N/AN/A
สุราษฎร์ธานี66071,123,2002,778,250
ระยอง35032,230,9891,259,023
เพชรบุรี1022,502879
ตราด001,613,00563,008
นอกชายฝั่ง184031,000,0131,210,938
เรือซีเครสต์9101,024,000,00040,000,000
ทั้งหมด83313412,708,070,963496,511,534
ต้นไม้หักโค่นและบ้านเรือนได้รับความเสียหายในจังหวัดชุมพร เดือนพฤศจิกายน 2532

พายุไต้ฝุ่นเกย์สร้างความเสียหายใหญ่หลวงแก่หลายจังหวัดของไทย เป็นพายุที่พัดเข้าประเทศไทยโดยมีกำลังแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน[12] พื้นที่ระหว่างจังหวัดชุมพรถึงจังหวัดระยองได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากฝนตกหนัก ลมแรง และคลื่นสูง[21] ปริมาณน้ำฝนสูงสุดวัดได้ 194 มิลลิเมตร (7.64 นิ้ว) ที่จังหวัดชุมพรขณะพายุเคลื่อนผ่าน[22] เกิดการรบกวนการสื่อสารและไฟฟ้าเป็นบริเวณกว้างในพื้นที่ทางใต้ของกรุงเทพมหานคร และบ้านเรือนจำนวนมากขาดไฟฟ้านานหลายสัปดาห์[23] ลมที่พัดแรงถอนโคนต้นไม้ เสาไฟฟ้าและพัดบ้านไม้ที่สร้างบนเสาค้ำล้ม[24] น้ำป่าที่เกิดจากพายุสร้างความเสียหายหรือทำลายบ้านเรือนหลายพันหลัง และเป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 365 คน[25] ซึ่งมีปัจจัยหนุนจากการทำลายป่า[20] เมืองและหมู่บ้านหลายแห่งทั่วจังหวัดชุมพรถูกทำลายล้าง หนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ รายงายว่าหมู่บ้านที่ถูกทำลายลงแห่งหนึ่งนั้น "ดูเหมือนถูกทิ้งระเบิด"[26] มีรายงานว่าทั้งอำเภอหลายอำเภอในจังหวัดชุมพรและประจวบคีรีขันธ์นั้น "ราบเป็นหน้ากลอง"[24] พายุไต้ฝุ่นพัดทำลายโรงเรียนไม้หลายแห่งในจังหวัดชุมพรและจังหวัดสุราษฎร์ธานี พายุพัดหน้าต่างและประตูของสิ่งก่อสร้างทั้งหมดที่อยู่ใกล้เส้นทางหลุดออกมา และสิ่งก่อสร้างหลายชั้นบางแห่งถูกพัดเอาชั้นบนหายไป ส่วนโรงเรียนที่สร้างจากคอนกรีตเสริมเหล็กได้รับความเสียหายเล็กน้อย[27] ถนนกว่า 1,000 เส้น และสะพาน 194 แห่งได้รับความเสียหายหรือถูกทำลาย[20] พื้นที่กว่า 2,500 ตารางกิโลเมตรมีน้ำท่วม[28] ในแผ่นดินมีผู้เสียชีวิตจากพายุ 558 คน และอีก 44 คนเสียชีวิตนอกชายฝั่งเล็กน้อย[20] ทั่วประเทศไทย มีบ้านเรือนเสียหายหรือถูกทำลายประมาณ 47,000 หลัง ประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 200,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้ประมาณ 153,000 คนไร้ที่อยู่อาศัย[20][28] สร้างความเสียหายทางการเงินถึง 1.1 หมื่นล้านบาท (456.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ทำให้พายุเกย์เป็นภัยพิบัติที่สร้างความเสียหายมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศ[29]

ภายในหนึ่งสัปดาห์หลังพายุผ่านไป รัฐบาลเริ่มแจกจ่ายสิ่งของบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชนในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ[23] แม้ภาครัฐพยายามเร่งช่วยเหลือ แต่ประชาชนกว่า 2,500 คนจากอำเภอปะทิวและอำเภอท่าแซะเดินขบวนเพื่อเรียกร้องความช่วยเหลือเพิ่มเติมและเข้มข้นมากขึ้นในวันที่ 9 พฤศจิกายน การประท้วงดังกล่าวยุติลงในเวลาไม่นาน[30] หลังมีคำวิจารณ์พอสมควรว่ารัฐมองข้ามผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่น ทำให้พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เลื่อนการเยือนสหรัฐไปก่อนเพื่อควบคุมดูแลความพยายามบรรเทาทุกข์[25] วันที่ 15 พฤศจิกายน สหรัฐให้คำมั่นบริจาคเงิน 25,000 ดอลลาร์สหรัฐเพื่อช่วยเหลือปฏิบัติการฟื้นฟู ในขณะนั้นการเชื่อมต่อโทรศัพท์จากกรุงเทพมหานครไปจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้รับการซ่อมแซมเสร็จ อย่างไรก็ดี พื้นที่ใต้กว่านั้นยังขาดการเชื่อมต่อโทรศัพท์อยู่ มีการนำเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไปติดตั้งที่โรงพยาบาลและสถานที่ราชการที่ยังเปิดทำการอยู่ เนื่องจากพื้นที่จังหวัดชุมพรส่วนใหญ่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้เป็นเวลากว่าสองสัปดาห์แล้ว เมื่อความเสียหายปรากฏชัดเจนขึ้น จึงมีการร้องขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศถึงองค์การบรรเทาภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติในวันที่ 17 พฤศจิกายน เมื่อมีการประกาศร้องขอ ประเทศหกประเทศได้แก่ ประเทศออสเตรเลีย ประเทศแคนาดา ประเทศจีน ประเทศญี่ปุ่น ประเทศเกาหลีใต้ และสหรัฐ ให้คำมั่นสัญญาว่าจะมอบเงินช่วยเหลือรวมเกือบ 510,000 ดอลลาร์สหรัฐในกองทุนรวม[20][23] เกษตรกรรมทั่วทั้งจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้รับผลกระทบอย่างมากในระยะยาวจากพายุไต้ฝุ่นเช่นกัน ในช่วงสี่ปีหลังจากพายุเกย์ ที่ดินที่ใช้ในการทำสวนผลไม้ ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ลดลงจากร้อยละ 33.32 เหลือร้อยละ 30.53 นอกจากนี้ พื้นที่นาข้าวยังลดลงจากร้อยละ 22.96 เหลือร้อยละ 13.03[31]

จากการสำรวจหลังพายุ (post-storm survey) พบว่าโรงเรียนที่เสียหายรุนแรงส่วนใหญ่มีการก่อสร้างอย่างไม่เหมาะสม และชั้นบนไม่ได้รับการออกแบบมาให้ทนความเร็วลมระดับพายุไต้ฝุ่น จากหลักเกณฑ์การสร้างอาคารในประเทศไทย มีข้อบังคับให้สิ่งก่อสร้างสามารถรับความดันจากลมได้ถึง 120 กิโลกรัมแรงต่อตารางเมตร (kgf/m2) หลายปีหลังพายุ วิศวกรดำเนินการศึกษาในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากพายุเพื่อกำหนดวิธีการสร้างบูรณะสิ่งก่อสร้างในประเทศอย่างดีที่สุด เนื่องจากสิ่งก่อสร้างที่ถูกทำลายจำนวนมากสร้างจากไม้ จึงมีการแนะนำให้ใช้คอนกรีตเสริมเหล็กแทน อาคารใหม่อาจมีอายุได้ถึง 50 ปีหากก่อสร้างอย่างเหมาะสม ส่วนอาคารที่ไม่ได้มาตรฐานจะต้องได้รับการซ่อมแซมภายในเวลาห้าปี[27]

ประเทศอินเดีย

หลังพายุเคลื่อนตัวข้ามคาบสมุทรมลายู จากนั้นเคลื่อนผ่านหมู่เกาะอันดามันในวันที่ 6 พฤศจิกายน มีการสั่งยับยั้งการจราจรทางอากาศและทางน้ำในบริเวณนี้เพื่อเป็นมาตรการป้องกัน ลมที่พัดเร็วกว่า 120 กม./ชม. พัดเข้าถล่มเกาะนอร์ทอันดามัน ทำให้อาคารพังถล่มไปสองหลัง[8] ไม่กี่วันก่อนพายุเกย์พัดขึ้นฝั่ง ทางการรัฐอานธรประเทศเริ่มอพยพประชาชนราว 50,000 คนตามแนวชายฝั่งและสะสมสิ่งของบรรเทาภัยพิบัติ มีการบังคับให้ประชาชนบางส่วนออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยในอำเภอวิสาขปัตนัมและอำเภอศรีกากุล[32][33] นักอุตุนิยมวิทยาท้องถิ่นเตือนว่าพายุนี้เทียบได้กับพายุไซโคลนที่รัฐอานธรประเทศ พ.ศ. 2520 ที่เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 10,000 คน[34] เมื่อพายุไต้ฝุ่นเกย์พัดถล่มชายฝั่งทางตอนใต้ของรัฐอานธรประเทศ พายุไต้ฝุ่นเกย์มีลมกระโชกขึ้นมีความเร็วลมที่ประมาณไว้ถึง 320 กม./ชม.[35] ตลอดแนวชายฝั่ง น้ำขึ้นจากพายุสูง 3.5 เมตร (11 ฟุต) พัดเข้าท่วมแผ่นดินเข้าไปลึกมากที่สุด 3 กิโลเมตรจากชายฝั่ง และพัดพาสิ่งปลูกสร้างหลายแห่งไปด้วย[10][36]

โครงเหล็กของหอถ่ายทอดสัญญาณคลื่นไมโครเวฟสูง 91 เมตรที่อยู่นอกนอกเมืองกาวาลีประมาณ 20 กิโลเมตรพังถล่มลงมาเนื่องจากต้องเผชิญกับความเร็วลมถึง 142 กม./ชม.[37] การขนส่งและการสื่อสารทั่วทั้งภูมภาคถูกรบกวน บ้านเรือน 20,000 หลังถูกทำลายหรือได้รับความเสียหาย มีผลให้ประชาชนอย่างน้อย 100,000 คนไร้ที่อยู่อาศัย[38] สิ่งก่อสร้างเกือบทุกหลังในเมืองอันนาการิปาเลมได้รับความเสียหายรุนแรงหรือถูกทำลาย[39] นอกชายฝั่ง ชาวประมง 25 คนจมน้ำเสียชีวิตใกล้กับนครมาจิลิปัตนัม หลังจากเพิกเฉยคำเตือนให้กลับท่า[40] ทั่วทั้งรัฐอานธรประเทศมีผู้เสียชีวิต 69 คน และมูลค่าความเสียหายจากพายุ 410 ล้านรูปี (25.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)[10][41] หลายเดือนหลังจากนั้น มีการสร้างที่พักคอนกรีตให้กับผู้ไร้ที่อยู่อาศัย[39]

ใกล้เคียง

พายุไต้ฝุ่นเกย์ (พ.ศ. 2532) พายุไต้ฝุ่นมังคุด (พ.ศ. 2561) พายุไต้ฝุ่นทุเรียน พายุไต้ฝุ่นรามสูร (พ.ศ. 2557) พายุไต้ฝุ่นชบา (พ.ศ. 2547) พายุไต้ฝุ่นวิภา (พ.ศ. 2550) พายุไต้ฝุ่นรามสูร (พ.ศ. 2545) พายุไต้ฝุ่นชบา (พ.ศ. 2559) พายุไต้ฝุ่นชบา (พ.ศ. 2553) พายุไต้ฝุ่นรามสูร (พ.ศ. 2551)

แหล่งที่มา

WikiPedia: พายุไต้ฝุ่นเกย์_(พ.ศ._2532) http://www.adrc.asia/countryreport/THA/THAeng98/in... http://articles.latimes.com/1989-11-09/news/mn-144... http://articles.latimes.com/1989-11-11/news/mn-100... http://www.wpc.ncep.noaa.gov/tropical/rain/tcmaxim... http://www.wpc.ncep.noaa.gov/tropical/rain/tcrainf... http://www.imd.gov.in/section/nhac/static/cyclone-... http://nidm.gov.in/idmc2/PDF/Presentations/Cyclone... http://nellore.ap.nic.in/jccourt/Assignment/E5_331... http://www.thaiscience.info/Article%20for%20ThaiSc... http://reliefweb.int/node/34537