พิพิธภัณฑ์ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ของ พิพิธภัณฑ์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คณะวิทยาศาสตร์

พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา

พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงตัวอย่างสิ่งมีชีวิต และทรัยากรธรรมชาติ อาทิเช่น โครงกระดูกของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ตัวอย่างเปลือกหอยต่างๆ ของไทย ซากดึกดำบรรพ์ที่พบในประเทศไทย ชีววิทยาของผึ้ง ตัวอย่างปลาในวรรณคดี ตัวอย่างตะพาบม่านลายซึ่งพบในประเทศไทยแห่งเดียวในโลก นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรและปูเจ้าฟ้า โดยพิพิธภัณฑ์แห่งนี้อยู่ภายใต้การดูแลของภาควิชาชีววิทยา

พิพิธภัณฑสถานธรณีวิทยา

พิพิธภัณฑสถานธรณีวิทยา จัดตั้งขึ้นโดยภาควิชาธรณีวิทยา เมื่อ พ.ศ. 2510 โดยเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเกี่ยวกับความรู้และตัวอย่างทางธรณีวิทยา อาทิเช่น วัฎจักรของหิน แร่ ซากดึกดำบรรพ์ต่าง ๆ และเชื้อเพลิงธรรมชาติที่พบภายในประเทศ นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนเพื่อแสดงผลงานวิจัย และการประยุกต์ใช้วิชาธรณีวิทยาด้วย

พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพ

พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพ เป็นพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับเทคโนโลยีภาพถ่ายและการพิมพ์ ตั้งอยู่ที่ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางภาพถ่ายและเทคโนโลยีทางการพิมพ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นับเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียที่จัดแสดงกล้องถ่ายภาพ ภาพถ่าย การพิมพ์และเทคโนโลยีทางภาพอื่นๆ เป็นการเฉพาะและครบวงจร

พิพิธภัณฑ์พืช ศาสตราจารย์กสิน สุวะตะพันธุ์

พิพิธภัณฑ์พืช ศาสตราจารย์กสิน สุวะตะพันธุ์ เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ภาควิชาพฤกษศาสตร์ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2525 เพื่อระลึกถึงศาสตราจารย์กสิน สุวตะพันธุ์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอนุกรมวิธานพืช ภายในพิพิธภัณฑ์เป็นที่เก็บรักษาตัวอย่างพันธุ์ไม้หลากหลายชนิดในสภาพต่าง ๆ ทั้งตัวอย่างแห้ง ตัวอย่างรักษาสภาพโดยการดอง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังจัดแสดงสมุดบันทึกการสำรวจ จดหมายโต้ตอบของนักพฤกษศาสตร์ รายงานหรือข้อเขียน หนังสือ ตำราเกี่ยวกับพันธุ์ไม้ทั้งทางด้านอนุกรมวิธาน นิเวศวิทยา ธรรมชาติวิทยา พฤกษศาสตร์เศรษฐกิจ เป็นต้น

พิพิธภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับไทย

พิพิธภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับไทย สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ย้ายมาที่ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)อาคารไอทีเอฟ ทาวเวอร์ ชั้น 2 ถนนสีลม แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10500เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับอัญมณีตั้งแต่จุดกำเนิดจนเป็นเครื่องประดับ โดยแบ่งพื้นที่จัดแสดงออกเป็น 5 ส่วน ได้แก่ การจัดแสดงแบบจำลองการเกิดอัญมณีและเหมืองอัญมณี การจัดแสดงตัวอย่างแร่และอัญมณี การจัดแสดงการเจียระไนเพชรและการเจียระไนอัญมณี การจัดแสดงตัวอย่างโลหะมีค่า และวิธีการผลิตเครื่องประดับทองคำ แพลทินัม และเงิน ส่วนสุดท้าย คือ การจัดแสดงตัวอย่างเพชร อัญมณีสังเคราะห์ และอัญมณีเลียนแบบ[1]

คณะแพทยศาสตร์

พิพิธภัณฑสถานกายวิภาคศาสตร์

ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้

พิพิธภัณฑสถานออร์โธปิดิกส์

เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดง เนื้องอกและมะเร็งกระดูก หุ่นกระดูกสันหลังและกายอุปกรณ์หลายชนิด ตั้งอยู่ที่ตึกเจริญ – สมศรี เจริญรัชต์ภาคย์ ชั้น 2 ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสร้างขึ้นเนื่องจาก สภากาชาดไทยรับบริจาคเงินจากคุณหญิงสมศรี เจริญรัชต์ภาคย์ จำนวน 2 ล้านบาท รวมกับงบประมาณแผ่นดินจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสมทบอีก 3 ล้านบาท ร่วมกับผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินสมทบอีกจำนวนหนึ่ง นำมาจัดสร้างตึกเจริญ – สมศรี เจริญรัชต์ภาคย์ เป็นอาคาร 7 ชั้น บริเวณชั้น 2 ของตึกนี้ จึงได้จัดสร้างเป็นห้องสมุดและเก็บรักษาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เลิกใช้แล้ว ต่อมาก็ได้ทำการสะสมชิ้นเนื้อโรคมะเร็งกระดูก ชิ้นส่วนมือจริงที่แสดงการทำผ่าตัดย้ายเอ็นกล้ามเนื้อแบบต่าง ๆ โลหะดามกระดูกและกายอุปกรณ์ เมื่อสิ่งของต่าง ๆ เพิ่มขึ้น จึงจัดเป็นพิพิธภัณฑสถานทางออร์โธปิดิกส์ขึ้นในภาควิชาออร์โธปิดิกส์ เปิดทำการ ระหว่างเวลา 08.30 – 16.00 น. ทุกวันเว้นวันหยุดราชการ โทรศัพท์/ โทรสาร 02-2564230 โทรสาร 02-2541931[2]

พิพิธภัณฑสถานกุมารศัลยศาสตร์

ตั้งอยู่ที่ตึกสิรินธร ชั้นล่าง ข้างห้องบรรยายพาหุรัด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดทำการในโอกาสพิเศษเป็นครั้งคราว ผู้สนใจติดต่อขอเข้าชมล่วงหน้า พิพิธภัณฑสถานกุมารศัลยศาสตร์ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2535 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการทางการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาด้วยตนเองในด้านศัลยศาสตร์และกุมารศัลยศาสตร์ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นสถานที่จัดเก็บอุปกรณ์สำหรับแสดงประวัติความเป็นมาในด้านกุมารศัลยศาสตร์ โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ[3]

ส่วนที่หนึ่ง เป็นสถานที่สำหรับจัดแสดงตัวอย่างพร้อมการบรรยายในเชิงวิเคราะห์ ได้แก่ การตรวจโรค การวินิจฉัยโรคในระดับต้น และระดับใช้กล้องจุลทรรศน์ รวมทั้งการรักษาโรคด้วย

ส่วนที่สอง เป็นสถานที่สำหรับจัดแสดงอุปกรณ์ด้านการวิสัญญี โคมไฟ และเครื่องมือสำหรับการผ่าตัด เตียงผ่าตัด ซึ่งใช้มาเป็นระยะเวลานานกว่า 20 ปี ซึ่งในปัจจุบันได้มีอุปกรณ์ทางการแพทย์สมัยใหม่เข้ามาแทนที่ ดังนั้นอุปกรณ์เหล่านี้จึงถูกเก็บในพิพิธภัณฑ์ร่วมกับอุปกรณ์อื่น ๆ เช่นเครื่องกรองน้ำรุ่นแรกของโรงพยาบาล

คณะทันตแพทยศาสตร์

พิพิธภัณฑสถานวาจวิทยาวัฑฒน์

ตั้งอยู่ที่ตึกวาจวิทยาวัฑฒน์ ชั้น 1 คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดทำการ ทุกวันพุธ และผู้สนใจติดต่อขอเข้าชมล่วงหน้าได้ทุกวันทำการ พิพิธภัณฑสถานวาจวิทยาวัฑฒน์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2525 เพื่อเป็นที่ระลึกถึงหลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ คณบดีคนแรกผู้ก่อตั้งคณะทันตแพทยศาสตร์ รวมทั้งเพื่อร่วมเฉลิมฉลองกรุงเทพมหานครครบ 200 ปี โดยมุ่งที่จะรวบรวมประวัติ รูปภาพอาจารย์และนิสิต รุ่นแรกๆ รวมทั้งเอกสาร เครื่องมือ เครื่องใช้ทางทันตกรรม[4]

เนื้อหาที่จัดแสดง ประกอบด้วย เครื่องมือ เครื่องใช้ทางทันตกรรม ลักษณะของฟันที่ผิดปกติที่เกิดจากโรคและฟันผุ นอกจากนี้ยังมีสิ่งสำคัญที่นับเป็นประวัติศาสตร์ และเป็นสมบัติที่ล้ำค่าไม่สามารถประเมินราคาได้ คือ ยูนิตทำฟัน ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เคยทรงทำพระทนต์ เครื่องมือตรวจ กระจกส่องปาก คีม แก้วน้ำทำด้วยเงิน หลอดยาสีพระทนต์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ชิ้นส่วนวัสดุและอุปกรณ์ทางทันตกรรม ฯลฯ เพื่อเป็นประโยชน์ทางการศึกษา แหล่งอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ และวิวัฒนาการทางการแพทย์แก่ทันตแพทย์ ประชาชนทั่วไปและชาวต่างประเทศที่สนใจ

พิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์

พิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์ ตั้งอยู่ที่อาคารทันตแพทยศาสตร์เฉลิมนวมราช 80 คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดแสดงร่างกายและชิ้นส่วนอวัยวะของมนุษย์ที่ได้รับการบริจาคจากนายคัทสุมิ คาตามูระ ประธานบริษัทเมดิคัลด็อกเตอร์ซอฟท์เฮาส์ จำกัด ซึ่งนับเป็น 1 ใน 11 พิพิธภัณฑ์ของโลกและเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จัดแสดงร่างกายมนุษย์ด้วยเทคนิค plastinated human bodies ที่ใช้สารพลาสติกเหลวแทนที่น้ำและไขมันในเนื้อเยื่อของมนุษย์ ดังนั้น ร่างกายมนุษย์ที่นำมาจัดแสดงจึงไม่มีกลิ่นเหม็นของน้ำยา ไม่มีการเน่าสลาย และสามารถคงสภาพอยู่ได้นาน[5]

คณะเภสัชศาสตร์

พิพิธภัณฑ์สมุนไพร

พิพิธภัณฑ์สมุนไพร ตั้งอยู่ที่ชั้น 3 อาคารโอสถศาลา คณะเภสัชศาสตร์ (ตรงข้ามมาบุญครอง)โดยจัดแสดงตัวอย่างสมุนไพร เครื่องมือในการผลิตยา การใช้ยา และการพิสูจน์เอกลักษณ์ของตัวยาสุมนไพร ที่ทางคณะได้สะสมไว้เพื่อการเรียนการสอนของภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ เป็นเวลามากกว่า 60 ปี พิพิธภัณฑ์สมุนไพรเปิดให้เข้าชมได้ทุกวันพฤหัสบดี ระหว่างเวลา 9.00 - 12.00 น. เว้นวันหยุดราชการ

คณะสัตวแพทยศาสตร์

พิพิธภัณฑสถานปรสิตวิทยาในสัตว์

ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้

ใกล้เคียง

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ พิพิธภัณฑ์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา พิพิธภัณฑ์การบินเพิร์ลฮาร์เบอร์ พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราช พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ลุยเซียนา พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำมอนเทอเรย์เบย์

แหล่งที่มา

WikiPedia: พิพิธภัณฑ์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย http://www.arri.chula.ac.th/Cholatassathan.htm http://www.pharm.chula.ac.th/museum/ http://www.pharm.chula.ac.th/museum/default.htm http://www.sc.chula.ac.th/botany/Herbarium/herbari... http://www.vet.chula.ac.th/~parasit/Museum.htm http://www.chula.ac.th/cuth/visitors/museum/rangka... http://www.chula.ac.th/th/archive/museum http://www.chula.ac.th/th/archive/museum/3593 http://www.chula.ac.th/th/archive/museum/3595 http://www.chula.ac.th/th/archive/museum/3619