พีระมิดระบบทุนนิยม
พีระมิดระบบทุนนิยม

พีระมิดระบบทุนนิยม

พีระมิดระบบทุนนิยม (อังกฤษ: Pyramid of Capitalist System) คือชื่อเรียกทั่วไปของภาพวาดการ์ตูนจากสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2454 ที่ล้อเลียนและเสียดสีข้อวิจารณ์ถึงระบบทุนนิยม โดยอ้างอิงจากต้นฉบับที่เป็นภาพวาดบนใบปลิวจากรัสเซียราวปี พ.ศ. 2443[1] ภาพวาดดังกล่าวมุ่งประเด็นไปที่การจัดช่วงชั้นทางสังคมออกเป็นชนชั้นต่าง ๆ และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ[2][3] ซึ่งภาพวาดชิ้นนี้ถูกขนานนามว่า "โด่งดัง"[4]และ "เป็นที่รู้จักและถูกทำซ้ำอย่างแพร่หลาย"[2] ก่อให้เกิดภาพวาดอื่น ๆ ที่อ้างอิงภาพวาดนี้ตามมาอีกหลายชิ้นงาน[5]ภาพวาดดังกล่าวถูกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ อินดัสเตรียลเวิร์กเคอร์ (Industrial Worker) โดยบริษัท อินเทอร์เนชันแนลพบลิชชิง จำกัด ในคลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ขององค์การแรงงานอุตสาหกรรมสากล (Industrial Workers of the World) วาดโดย "เนเดลยอโควิช บรัสซิช และคูฮาริช"[6][7][3]โดยภาพแสดงให้เห็นถึง "พีระมิดทางสังคม" หรือลำดับชั้นทางสังคมโดยแท้ ที่ซึ่งผู้ร่ำรวยมั่งคั่งอันเป็นชนส่วนน้อยอยู่ชั้นบนสุดในขณะที่ผู้ยากไร้อันเป็นชนส่วนมากอยู่ชั้นล่างสุด ด้านบนสุดของยอดพีระมิดคือถุงเงินอันเป็นตัวแทนของระบบทุนนิยม ถัดลงมาคือชั้นของเจ้านายเชื้อพระวงศ์และบรรดาผู้นำของรัฐที่กล่าวว่า "เราปกครองท่าน" (We rule you) ถัดมาอีกคือชั้นของนักบวชที่กล่าวว่า "เราหลอกลวงท่าน" (We fool you) ตามมาด้วยชั้นของบรรดานายทหารที่กล่าวว่า "เรายิงไปที่ท่าน" (We shoot at you) และชั้นของบรรดากระฎุมพีที่กล่าวว่า "เรารับประทานแทนท่าน" (We eat for you) ส่วนชั้นล่างสุดของพีระมิดคือชั้นของบรรดากรรมากรซึ่งกล่าวว่า "เราทำงานให้ทุกคน... เราหล่อเลี้ยงทุกคน" (We work for all... We feed all)[4][8][3][2]ภาพวาดนี้อ้างอิงมาจากต้นฉบับที่เป็นภาพล้อเลียนลำดับชั้นทางสังคมในจักรวรรดิรัสเซียของสหภาพนักสังคมนิยมรัสเซีย ซึ่งวาดโดยบุคคลนิรนามราวปี พ.ศ. 2443[1][9] โดยภาพต้นฉบับแสดงให้เห็นถึงชนชั้นกรรมกรที่แบกรับพีระมิดไว้บนหลังของพวกเขาพร้อมกับโคลงบนหนึ่งว่า "กาลเวลาจะเวียนมาถึงเมื่อฝูงชนผู้โกรธแค้นจะผายหลังอันคดงอให้ตรงขึ้นและพังโครงสร้างพีระมิดทั้งหมดลงด้วยแรงผลักอันทรงพลังจากไหล่ของพวกเขาเอง"[1] ทั้งนี้ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนระหว่างภาพวาดต้นฉบับรัสเซียปี พ.ศ. 2443 และภาพวาดอ้างอิงฉบับอเมริกันปี พ.ศ. 2454 คือการแทนที่นกอินทรีสีดำของรัสเซียที่อยู่ด้านบนสุดด้วยถุงเงิน แทนที่พระเจ้าซาร์และพระจักรพรรดินีรัสเซียด้วยตัวแทนของผู้นำรูปแบบทั่วไป 3 บุคคล (พระมหากษัตริย์และผู้นำของรัฐในชุดสูทสองคน) แทนที่นักบวชในนิกายออร์โธดอกซ์รัสเซีย 2 ท่านด้วยพระคาร์ดินัลในนิกายโรมันคาทอลิกและบาทหลวงในนิกายโปรเตสแตนต์ และแทนที่กองทหารรัสเซียด้วยนายทหารกลุ่มที่มีรูปแบบทั่วไปมากขึ้น ส่วนเหล่ากรรมกรไม่ได้วาดให้ลำตัวคดงอเท่าต้นฉบับและไม่มีโคลงปลุกใจประกอบในภาพ ทั้งนี้ภาพทั้งสองปรากฏมีรูปของเด็กชนชั้นกรรมากรผู้นอนหงายอยู่บนพื้นอันเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงชะตากรรมอันเลวร้ายที่ชนชั้นล่างต้องเผชิญ[2] อีกหนึ่งองค์ประกอบของภาพที่มีร่วมกันก็คือธงสีแดงที่คนในชนชั้นล่างชูขึ้นมา เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการถือกำเนิดขึ้นของขบวนการสังคมนิยม[10]ข้อความหลัก ๆ ที่ภาพนี้ต้องการจะสื่อถึงคือบทวิจารณ์ต่อระบบทุนนิยมที่มีลำดับชั้นของอำนาจและความร่ำรวยมั่งคั่ง นอกจากนี้ภาพยังแสดงให้เห็นว่าชนชั้นล่างหรือกรรมกรคือผู้ที่ค้ำจุนผู้คนในทุกชนชั้นของสังคม หากขาดเสียงสนับสนุนจากคนกลุ่มนี้ก็จะส่งผลให้ระบบทุนนิยมหรือระเบียบสังคมในปัจจุบันพังทลายลงอย่างสิ้นเชิง[3] ซึ่งข้อวิจารณ์เช่นนี้เป็นแนวคิดของนักสังคมนิยมชาวฝรั่งเศส หลุยส์ บล็องก์[4]

แหล่งที่มา

WikiPedia: พีระมิดระบบทุนนิยม http://crimethinc.com/books/work.html http://speldwright.com/?p=20 http://stainesanarchists.wordpress.com/2012/06/29/... //doi.org/10.1136%2Fjech.2008.079061 http://www.laborarts.org/collections/item.cfm?item... http://libcom.org/library/capitalist-society-poste... https://books.google.com/books?id=7zTwxlJoAocC&pg=... https://books.google.com/books?id=A4gXkeGQkj4C&pg=... https://books.google.com/books?id=XvSZLDF89tIC&pg=... https://books.google.com/books?id=Z59ciXRRaPsC&pg=...