คุณค่าทางศาสนา ของ พุทธจริต

นอกจาก มหากาพย์พุทธจริต จะมีความสละสลวยงดงามในทางกวีพจน์ และมีการบรรยายพุทธประวัติด้วยถ้อยคำสละสลวย จนเกิดความรู้สึกซาบซึ้ง ยังแฝงหลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนาได้มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่สรรค ที่ 14 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นช่วงที่ทรงบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิยาณและทำการโปรดสัตว์โลกแล้ว ผู้รจนาได้เลือกสรรถ้อยคำอยน่างชาญฉลาด ในการบรรยายหลักธรรม และโน้มน้าวให้ผู้สดับ/อ่าน ได้เกิดความศรัทธาปสาทะในสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เกิดความยำเกรงในอกุศลกรรมทั้งปวง และเร่งเร้าให้สัตว์โลกทั้งหลายได้หันมาปฏิบัติกุศลกรรม เพื่อยังให้ตนได้หลุดพ้นจากอบายภูมิ จนถึงพระนิพพานในปั้นปลาย

ในสรรคที่ 13 ผู้รจนาได้บรรยายพระดำริของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลังจากทรงใช้พระญาณอันล้ำลึก ทอดพระเนตรเห็นการจุติและการอุบัติของสัตว์โลกทั้งหลาย ทั้งที่ทำกรรมไม่ดีและที่ทำกรรมดี ดังนี้


สุขัง สยาท อิติ ยัต กรรมะ กฤตัมง ทุห์ขะนิวฤฺตตะเย ผะลัมง ตัสเยทัม อวะไศวร์ ทุห์ขัม เอโวปะภุชยะเต

17 "กรรม(ชั่ว)ใดที่พวกเขาทำลงไปเพื่อขจัดทุกข์ ด้วยเข้าใจว่ามันเป็นสุข พวกเขาจะต้องได้รับทุกข์ซึ่งเป็นผลแห่งกรรม(ชั่ว)นั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น"

สุขารถัง อศุภัง กฤตวา ยา เอเต พฤศทุห์ขตาห์ อาสวาทะห์ สะ กิม เอเตษาง กะโรติ สุขัม อัณว์ อปิ

18 "สัตว์เหล่านั้นทำกรรมชั่วเพื่อหวังจะได้ความสุขจึงต้องรับทุกข์อย่างแสนสาหัส (ดังนั้น) ความสนุกเพลิดเพลินของพวกเขาจะสร้างความสุขแม้เพียงเล็กน้อยได้อย่างไร"

หะสัทภีร์ ยัต กฤตัง กรรมะ กะลุษัง กะลุษาตมะภิห์ เอตัต ปะริณะเต กาเล โกรศัทภีร์ อนุภูยาเต

19 "คนที่มีจิตใจหยาบช้าทำกรรมชั่วอันใดลงไปพร้อมกับเสียงหัวเราะ ครั้นเมื่อกาลเวลาสุกงอมเต็มที่ เขาย่อมได้รับผลของกรรมนั้นพร้อมกับเสียงร้องไห้" [10] [11]


ในสรรค ที่ 15 ว่าด้วการประกาศพระธรรมจักร กวีได้พรรณนาถึงเหตุการณ์ขณะที่ทรงแสดงพระธัมมจักกัปปวัตนสูตร อันเป็นพระธรรมเทศนาแรกแก่พระปัญจวัคคีย์ โดยทรงแจกแจงถึงหนทางที่จะนำไปสู่การหลุดพ้นที่แท้จริง ดังนี้


44 "เพราะทำลายกิเลสทั้งหลายได้ สาเหตุแห่งการเวียนว่ายตายเกิดจึงดับไป และเพราะขจัดกรรมคือการกระทำได้ ทุกข์จึงหมดไป เพราะว่าสรรพสิ่งย่อมเกิดขึ้นเพราะอาศัยบารมี และเพราะสิ่งนั้นดับไปสรรพสิ่งจึงดับไปด้วย"

45 "จงรู้ว่าการดับทุกข์ (นิโรธ) คือสภาวะที่ไม่มีชาติ ชรา มรณะ ดิน น้ำ อากาศ หรือลมไม่มีเบื้องต้น ไม่มีที่สิ้นสุด เป็นสิ่งที่ประเสริฐ ใครๆขโมยไม่ได้ เป็นความสุข และไม่มีการเปลี่ยนแปลง"

46 "อริยมรรคนี้ประกอบด้วยองค์แปด นอกจากอริยมรรคนี้แล้วไม่มีทางอื่นที่จะเป็นไปเพื่อการบรรลุความพ้นทุกข์(อริคม)มนุษย์เดินวนเวียนอยู่ในทางที่หลากหลายเป็นนิตย์ก็เพราะยังไม่เห็นอริยมรรคนี้"

47 "ดังนั้นในอริยสัจ4นี้จึงกล่าวสรุปได้ว่า ทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้ สมุทัยเป็นสิ่งที่ต้องละ นิโรธเป็นสิ่งที่ต้องเข้าใจชัด มรรคเป็นสิ่งที่ต้องทำให้มีขึ้น" [12]

ใกล้เคียง