เนื้อหา ของ พุทธจริต

สรรคที่ 1 ภควตฺปฺรสูติ – การประสูติของพระผู้มีพระภาค กล่าวถึงพระเจ้าศุทโธทนะทรงครองเมืองกปิลวาสตุและพระนางมายาพระมเหสีของพระองค์ได้ประสูติพระกุมารที่ลุมพินีวัน พระกุมารทรงดำเนินได้ 7 ก้าวพร้อมกับประกาศว่าชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย คณะพราหมณ์ ทำนายว่าพระกุมารได้เป็นจักรพรรดิแต่ถ้าออกผนวชจะได้เป็นพระศาสดา ส่วนอสิตฤษีที่มาเยี่ยมภายหลัง ทำนายว่าพระกุมารจะได้ตรัสรู้เป็นพระศาสดาแน่นอน พระราชาทรงเปี่ยมล้นด้วยความปิติยินดีจึงได้ประกอบพิธีทางศาสนาและพระราชทานโคจำนวนมากเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของพระกุมาร จากนั้นจึงรับพระกุมารกลับสู่พระนคร

สรรคที่ 2 อนฺตะปุรวิหาร – การประทับอยู่ในพระราชวังฝ่ายใน กล่าวถึงเมืองกปิลวาสตุมีความอุดมสมบูรณ์และมีความสำเร็จทุกประการหลังจากพระกุมารประสูติ พระเจ้าศุทโธทนะจึงขนานพระนามพระกุมารว่า “สรวารถสิทธะ” เมื่อพระมารดาสวรรคต พระนางเคาตมีพระมาตุจฉาได้รับภาระเลื้ยงดูพระกุมารต่อมา พระเจ้าศุทโธทนะทรงเกรงว่าพระกุมารจะออกผนวชจึงจัดให้อภิเกสมรสกับเจ้าหญิงยโศธราและบำรุงบำเรอด้วยกามารมณ์ทุกชนิด ครั้นเมื่อพระราหุลประสูติจากเจ้าหญิงยโศธรา พระราชาจึงทรงคลายกังวลเรื่องการออกผนวชของพระกุมาร

สรรคที่ 3 สํเวโคตฺปตฺติ – การเกิดความสังเวช กล่าวถึงพระกุมารเสด็จประพาสภายนอกพระราชวัง ประชาชนต่างตื่นเต้นดีใจ๑๙ เทวดาชั้นสุทธาวาสได้เนรมิตชายชราขึ้นมาให้ทอดพระเนตร พระองค์ทรงสังเวชพระทัยจึงเสด็จกลับ เสด็จครั้งที่2 เทวดาได้เนรมิตคนเจ็บขึ้นมาทรงสังเวชพระทัยก็เสด็จกลับอีก ครั้งที่3 พระราชบิดารับสั่งให้แต่งสถานที่พิเศษไว้โดยให้หญิงงามผู้เชียวชาญเชิงโลกีย์คอยต้อนรับ ครั้งนี้พระกุมารทอดพระเนตรเห็นคนตายที่เทวดาเนรมิตขึ้นมาก็ทรงสังเวชพระทัย จึงรับสั่งให้กลับรถ แต่สารถีก็ไม่เชื่อฟังขับรถตรงไปยังป่าที่เตรียมไว้และหญิงงามทั้งหลายได้เข้ารุมล้อมพระกุมารเหมือนกันนางอัปสรรุมล้อมท้าวกุเวร

สรรคที่ 3 สตฺรีวิฆาตน – การขจัดความหลงใหล กล่าวถึงหญิงงามทั้งหลายเดินเข้าหาพระกุมารแต่ก็ต้องตกตะลึงในความงามของพระองค์จนลืมทำหน้าที่ อุทายีบุตรของปุโรหิตจึงกล่าวเตือนหญิงเหล่านั้น เมื่อได้สติหญิงเหล่านั้นจึงใช้มายายั่วยวนพระกุมาร แต่พระองค์ก็ไม่ทรงยินดี อุทายีจึงกราบทูลโน้มน้าวพระทัยด้วยตนเองเพื่อให้พระกุมารโอนอ่อนผ่อนตามหญิงเหล่านั้น พระกุมารทรงปฏิเสธคำพูดของอุทายีด้วยเหตุผลต่างๆ จนกระทั่งพระอาทิตย์อาสดงคต หญิงทั้งหลายยอมแพ้กลับเข้าสู่เมือง ฝ่ายพระราชาทรงบทราบเรื่องจึงปรึกษากับอำมาตย์เพื่อหาวิธียับยั้งพระกุมารตลอดทั้งคืน

สรรคที่ 5 อภินิษฺกรมณ – การเสด็จของผนวช กล่าวถึงพระกุมารเสด็จประพาสป่าและทอดพระเนตรชาวนาให้วัวไถนาและมีแมลงตายเกลื่อนกลาดจึงสลดพระทัย พระองค์ทรงห้ามผู้ติดตามไว้แล้วเสด็จไปประทับใต้ต้นหว้าทรงมีพระทัยเป็นสมาธิจนได้ปฐมฌาน ขณะนั้นเทวดาแปลงร่างเป็นสมณะเดินผ่านมา พระองค์ทรงสนทนากันสมณะนั้นแล้วเกิดปิติจึงปรารถนาจะออกผนวช เมื่อกลับไปขออนุญาตก็ถูกพระราชบิดาห้ามปราม ในราตรีเทวดาชั้นอกนิษฐกะบันดาลให้นางสนมนอนหลับไม่เป็นระเบียบ พระกุมารทรงเบื่อหน่ายจึงเสด็จลงจากปราสาทและทรงม้ากันถกะหนึออกผนวชโดยมีนายฉันทกะตามเสด็จ ม้ากันถกะวิ่งออกโดยมียักษ์ช่วยยกกีบเท้า ประตูที่แน่นหนาเปิดออกเอง ทวยเทพก็ส่องแสงนำทางตลอดราตรี ม้ากันถกะนำพระกุมารทะยานไปได้หลายร้อยโยขน์จนกระทั่งรุ่งอรุณ

สรรคที่ 6 ฉนฺทกนิวรฺตน – การกลับนครของฉันทกะ กล่าวถึงพระกุมารเสด็จถึงอาศรมของฤษีภารควะตอนรุ่งสางทรงเปลื้องเครื่องประดับแก่นายฉันทกะและรับสั่งให้นำม้ากันถกะกลับสู่นครพร้อมกับนำความไปกราบทูลพระราชบิดา จากนั้นพระกุมารทรงตัดพระเกศาโยนขึ้นบนท้องฟ้า เทวดารับเอาพระเกศานั้นไปบูชาบนสวรรค์ เมื่อทรงปรารถนาผ้าผ้อมน้ำฝาดเทวดาตนหนึ่งได้แปลงร่างเป็นนายพรานนุ่งผ้าย้อมน้ำฝาดผ่านมา พระองค์ทรงแลกเปลี่ยนผ้ากับนายพรานแล้วเสด็จเข้าไปยังอาศรมฤษีภารควะ ฝ่ายนายฉันทกะร้องไห้และล้มฟุบลงบนพื้น จากนั้นจึงกอดม้ากันถกะเดินทางกลับสู่นครโดยบ่นเพ้อและแสดงอาการเหมือนคนบ้าไปตลอดทาง

สรรคที่ 7 ตโปวนปฺรเวศ – การเสด็จเข้าสู่ป่าบำเพ็ญตบะ กล่าวถึงพระกุมารเสด็จเข้าสู่อาศรมของฤษีภารควะและทรงได้รับการเชื้อเชิญจากฤษี ทรงสอบถามเรื่องการบำเพ็ญตบะของฤษีทั้งหลาย เมื่อได้รับคำอธิบายก็ไม่ทรงยินดีด้วยวิธีเหล่านั้นเพราะทรงเห็นว่าไม่ใช่ทางหลุดพ้น พระกุมารประทับอยู่ 2-3 วัน ฤษีตนหนึ่งทราบว่าพระกุมารต้องการโมกษะจึงแนะนำให้ไปพบพระมุนีอราฑะ พระกุมารทรงอำลาฤษีทั้งหลายเล้วจึงเสด็จหลีกไป

สรรคที 8 อนฺตะปุรวิลาป – การพิลาปรำพันของพระสนมฝ่ายใน กล่าวถึงนายฉันทกะฝืนใจเดินทางกลับสู่นครโดยใช้เวลาถึง 8 วัน ชาวเมืองทราบว่านายฉันทกะกลับมาโดยไม่มีพระกุมารจึงดุด่าว่านายฉันทกะ ในพระราชวังพระนางยโศธราทรงพิลาปรำพันถึงพระสวามี พระนางเคาตมีก็ทรงกันแสงปานจะสิ้นพระทัย หญิงทั้งหลายก็กอดกันร้องไห้ พระนางยโศธราทรงกันแสงและล้มฟุบลงกับพื้น ฝ่ายพระราชาเสด็จออกมาเห็นเหตุการณ์ก็ทรงกำสรวลจนถึงแก่วิสัญญีภาพ เมื่อทรงฟื้นขึ้นก็ทรงพร่ำเพ้อเหมือนคนเสียสติ พระราชครูและปุโรหิตจึงทูลอาสาออกติดตามพระกุมาร

สรรคที่ 9 กุมารานฺเวษณ – การติดตามค้นหาพระกุมาร กล่าวถึงพระราชครูและปุโรหิตเร่งเดินทางไปจนถึงอาศรมของฤษีภารควะและเข้าไปสอบถาม เมื่อรู้ว่าพระกุมารเสด็จมุ่งหน้าไปยังอาศรมของพระมุนีอราฑะจึงออกติดตามไปทันที ทั้งสองตามทันพระกุมารที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่งได้กราบทูลให้ทราทราบข่าวในพระราชวัง พระกุมารตรัสว่าที่ทรงออกผนวชเพราะกลัวชรา พยาธิ และมรณะและจะแสวงหาทางหลุดพ้นเพื่อช่วยเหลือชาวโลกให้ได้ พระราชครูและปุโรหิตได้ทูลชักชวนพระกุมารกลับ แต่พระกุมารทรงปฏิเสธ เมื่อเห็นว่าไม่สำเร็จทั้งสองจึงอำลากลับสู่เมืองโดยได้แต่งตั้งจารบุรุษไว้คอยสืบเส้นทางที่พระกุมารเสด็จไป

สรรคที่10 เศฺรณฺยาภิคมน – การเข้าเผ้าของพระเจ้าเศรณยะ กล่าวถึงพระกุมารเสด็จข้าแม่น้ำคงคาผ่านเข้าสู่เมืองราชคฤห์ที่มีภูเขาทั้งห้าแวดล้อม ชาวเมืองตื่นตะลึงบในความงามของพระองค์จึงพากันชุมนุมตามเฝ้าดู พระเจ้าเศรณยะทอดพระเนตรเห็นคนชุมนุมกันจากเบื้องบนปราสาทจึงตรัสถามจนทราบสาเหตุ พระองค์จึงเสด็จไปเฝ้าพระกุมารขนภูเขาปาณฑวะและทรงเชื้อเชิญให้อยู่ครองราชย์สมบัติครึ่งหนึ่ง แต่พระกุมารทรงปฏิเสธและไม่ทรงยินดี

สรรคที่ 11 กามวิครฺหณ – การขจัดความหลงใหลในกาม กล่าวถึงพระกุมารโพธิสัตว์ทรงปฏิเสธคำเชื้อเชิญของพระเจ้าเศรณยะ ทรงอธิบายให้เห็นโทษของกามและอานิสงส์ในการออกจากกามตลอดจนความปรารถนาโมกษะ พระเจ้าเศรณยะทรงซาบซึ้งพระทัยจึงขอให้พระองค์เสด็จมาโปรดเมื่อได้ตรัสรู้แล้ว พระกุมารโพธิสัตว์ทรงรับโดยดุษณีภาพแล้วเสด็จต่อไปยังอาศรมไวศวัมตระ ฝ่ายพระราชาก็เสด็จกลับสู่พระราชวัง

สรรคที่12 อรฑทรฺศน – ทรรศนะของพระมุนีอราฑะ กล่าวถึงพระกุมารโพธิสัตว์เสด็จถึงอาศรมของพระมุนีอราฑะและได้รับการต้อนรับอย่างดี พระมุนีอราฑะได้อธิบายทรรศนะของตนแก่พระกุมารโพธิสัตว์ พรองค์ทรงเห็นว่าไม่ใช่ทางตรัสรู้จึงหลึกไปสู่อาศรมขอพระมุนีอุทรกะ แต่แล้วก็ทรงปฏิเสธทรรศนะของพระมุนีอุทรกะอีก จากนั้นจึงเสด็จไปประทับที่ตำบลคยะ ณ ริมฝั่งแม่น้ำไนรัญชนา ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยาเป็นเวลา 6 ปี โดยมีปัญจวัคคีย์ฝากตัวเป็นศิษย์ เมื่อทรงเห็นว่าไม่ใช่ทางจึงเลิกเสีย ครั้งนั้นเทวดาดลใจนางนันทพลาธิดาหัวหน้าคนเลี้ยงโคให้นำข้าวปรายาสมาถวาย ปัญจวัคคีย์เห็นพระองค์เสวยพระกระยาหารจึงหนีจากพระองค์ จากนั้นพระองค์จึงเสด็จไปสู่โคนต้นอัศวัตถพฤกษ์ทรงรับหญาคาจากคนตัดหญ้าและปูลาดเป็นอาสนะประทับนั่งตั้งปณิธานมู่งสู่การตรัสรู้

สรรคที่ 13 มารวิชย – การชนะมาร กล่าวถึงพระกุมารโพธิสัตว์ทรงตั้งพระทัยแน่วแน่ที่จะตรัสรู้ ฝ่ายพญามารจึงพร้อมด้วยบุตรและธิดาเข้าไปรบกวนพระกุมารโพธิสัตว์ เมื่อพระองค์ไม่ทรงหวั่นไหวพญามารจึงยิงศรเข้าใส่ แต่ศรก็มิอาจทำร้ายพระองค์ได้ พญามารจึงนึกถึงกองทัพของตน เหล่าเสนามารจึงมาปรากฏตัว ขณะนั้นท้องฟ้ามืดสนิท การต่อสู้ระหว่างพญามารกันพระกุมารโพธิสัตว์เริ่มขึ้น เกิดแผ่นดินไหว มหาสมุทรสั่นสะเทือน งูใหญ่เห็นอปุสรรคก็ออกมาขู่ฟ่อๆ ทวยเทพก็ร้องไห้ฮือๆ เมื่อพญามารเคลื่อนทันเข้าโจมตีด้วยวิธีต่างๆ พระกุมารโพธิสัตว์ก็ไม่ทรงสะดุ้งกลัว ในที่สุดพญามารและเสนามารก็ล่าถอย ทัองฟ้าและพระจันทร์ก็สว่างสดใส ฝนโบกขรพรรษาที่มีกลิ่นหอมก็โปรยปรายลงมา

สรรคที่ 14 พุทฺธตฺวรปฺราปฺติ – การบรรลุความเป็นพระพุทธเจ้า กล่าวถึงพระกุมารโพธิสัตว์ทรงเข้าฌานมุ่งสู่การตรัสรู้ เมื่อพระองค์บรรลุพระสัพพัญญูตญาณ โลกสั่นสะเทือน ชาวโลกต่างก็มีความสุข เทวดาก็สาธุการ พระองค์ประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขอยู่ 7 วัน ทรงเห็นว่าพระธรรมลึกซึ้งยากที่จะเข้าใจจึงดำริที่จะไม่สั่งสอน พระอินทร์และพระพรหมจึงมาทูลของอาราธนา ต่อมาพระองค์ทรงดำริที่จะไปโปรดพระมุนีอราฑะและอุทรกะแต่ทั้งสองเสียชีวิตไปก่อนจึงทรงระลึกถึงปัญจวัคคีย์ จากนั้นจึงเสด็จดำเนินไปยังแคว้นกาศี

สรรคที่ 15 การประกาศพระธรรมจักร กล่าวถึงพระพุทธองค์เสด็จไปยังแคว้นกาศีเพื่อโปรดปัญจวัคคีย์ ฝ่ายปัญจวัคคีย์เมื่อเห็นพระองค์เสด็จมาแต่ไกล ได้ตกลงกันว่าจะไม่ถวายการต้อนรับ แต่แล้วก็ลืมข้อตกลงที่ทำกันไว้ ทุกคนต่างลุกขึ้นต้อนรับพระองค์ พระพุทธองค์ตรัสว่าพระองค์ตรัสรู้แล้ว จากนั้นจึงทรงแสดงอริยมรรคมีองค์แปดและอริยสัจสี่ ในจำนวนนั้นเกาณฑินยะได้ดวงตาเห็นธรรม ยักษ์ที่อาศัยอยู่บนพื้นปฐพีจึงป่าวประกาศข่าว เมื่อวงล้อแห่งธรรมหมุนไปในไตรโลก เทวดาทั้งหลายก็เปล่งเสียงสาธุการ

สรรค 16 ธารศรัทธาแห่งพุทธสาวก กล่าวถึงพระพุทธองค์ทรงเทศนาโปรดอัศวชิตและโปรดยศกุลบุตรพร้อมด้วยสหาย 54 คนจนบรรลุพระอรหัตผลแล้วจึงทรงส่งไปประกาศพระศาสนาในที่ต่างๆ ส่วนพระองค์เสด็จไปโปรดฤษีกาศยปะ 3 พี่น้องพร้อมด้วยบริวารที่ตำบลคยะจนบรรลุอรหัตผลทั้งหมด จากนั้นจึงเสด็จไปโปรดพระเจ้าเศรณยะพิมพิสาร พระราชาเสด็จมาเฝ้าพร้อมด้วยบริวาร ชาวเมืองเห็นพระกาศยปะ 3 พี่น้องอยู่กับพระพุทธองค์ก็แปลกใจ พระพุทธองค์จึงโปรดให้พระเอารุวิลวะกาศยปะแสดงปาฏิหาริย์ พระกาศยปะเหาะขึ้นสู่ท้องฟ้าแสดงฤทธิ์ด้วยการยืน เดิน นั่ง นอน ในอากาศ พ่นน้ำและไฟออกมาพร้อมกัน จากนั้นจึงลงมาถวายบังคมและประกาศว่าตนเป็นศาย์ของพระพุทธองค์ เมื่อดินถูกเตรียมไว้ดีแล้วพระพุทธองค์จึงเทศนาโปรดพระราชาและบริวารจนได้ดวงตาเห็นธรรม

สรรค 17 การบรรพชาของมหาสาวก กล่าวถึงพระเจ้าเศรณยะพิมพิสารทรงถวายพระเวณุวันเป็นพระอารามแห่งแรกแด่พระพุทธองค์ พระอัศวชิตเข้าไปบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์ อุปติษยะเห็นพระอัศวชิตเดินสำรวมน่าเลื่อมใสจึงติดตามไปเพื่อสนทนาธรรม พระอัศวชิตกล่าวสั้นๆว่า ผลทุกอย่างเกิดแต่เหตุ เมื่อเหตุดับผลก็ดับ อุปติษยะได้ฟังก็เกิดดวงตาเห็นธรรมละทิ้งลัทธิเดิมของตนและนำความไปบอกเมาทคลโคตรผู้เป็นสหายจนได้ดวงตาเห็นธรรมเช่นกัน จากนั้นจึงชวนกันไปเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อขอบวช ภายหลังทั้งสองได้เป็นอัครสาวกของพระพุทธองค์ ต่อมาพราหมณ์กาศยปะได้ละทิ้งทรัพย์และภรรยาออกแสวงหาความหลุดพ้นได้มาพบพระพุทธองค์ที่เจดีย์พหุปุตรกะจึงน้อมตนเข้าไปเฝ้า พระพุทธองค์ทรงเทศนาโปรดจนบรรลุอรหัตผล ครั้งนั้นพระพุทธองค์ประทับอยู่ท่ามกลางพระสาวกทั้ง 3 ดุจพระจันทร์เพ็ญลอยอยู่ท่ามกลางดาวฤกษ์ 3 ดวงในเดือนชเยษฐา (เดือน7)

สรรคที่ 18 การโปรดเศรษฐีอนาถปิณฑิทะ กล่าวถึงเศรษฐีสุทัตตะเดินทางจากแคว้นโกศลไปค้าขายที่เมืองราชคฤห์และได้ไปเฝ้าพระพุทธองค์ในเวลากลางคืน พระพุทธองค์ทรงเทศนาโปรดจนเศรษฐีได้บรรลุโสดาปัตติผล ปรับเปลี่ยนแนวคิดจากความเชื่อเดิมๆ โดยเฉพาะประกฤติและปุรุษ เศรษฐีมีศรัทธาปรารถนาจะสร้างพระวิหารถวายที่เมืองศราวัสตีจึงทูลอาราธนาให้พระองค์เสด็จไปโปรด ต่อมาเศรษฐีเดินทางกลับไปเมืองศราวัสตีพร้อมด้วยพระอุปติษยะเพื่อสร้างพระวิหารเมื่อได้ไปถึงได้ขอซึ้ออุทยานจากพระราชกุมารเชตะโดยนำทรัพย์มาปูลาดจนเต็มอุทยาน พระกุมารเชตะทรงเลื่อมใสในศรัทธาของเศรษฐีจึงอุทิศป่าทั้งหมดถวายพระพุทธองค์ด้วย เศรษฐีสร้างพระเชตะวันวิหาร โดยมีพระอุปติษยะควบคุมการก่อสร้างจนพระวิหารแล้วเสร็จในเวลาอันรวดเร็ว

สรรค 19 การโปรดพระพุทธบิดาและพระโอรส กล่าวถึงพระพุทธองค์เสด็จจากเมืองราชคฤห์ไปยังเมืองกปิลวาสตุโดยมีพระภิกษุ 1000 รูปตามเสด็จ พระองค์ทรงแสดงธรรมโปรดพระพุทธบิดาจนทรงเลื่อมใส มหาชนและพระกุมารที่ศรัทธาต่างพากันออกผนวชตามมากมาย เช่น อานันทะ อนิรุทธะ เทวทัตตะ เป็นต้น ครั้งนั้นอุทายีและอุบาลีก็ออกบวชตามด้วย พระเจ้าศุทโธทนทรงสละราชสมบัติให้พระอนุชาปกครองและประทับอยู่ในพระราชวังอย่างราชฤษี ฝ่ายพระพุทธองค์ก็ได้เสด็จไปประทับที่ป่านยโครธะ

สรรคที่20 การรับพระวิหารเชตะวัน กล่าวถึงพระพุทธองค์ทรงโปรดชาวเมืองกปิลวาสตุแล้วได้เสด็จไปยังเมืองศราวัสตีของพระเจ้าปเสนชิตพร้อมด้วยพระสงฆ์หมู่ใหญ่ ครั้นเสด็จถึงเศรษฐีสุทัตตะได้ถวายพระเชตะวันวิหารเป็นที่ประทับ พระเจ้าประเสนชิตเสด็จไปเฝ้าสนทนาธรรม ณ พระเชตะวันวิหาร ทรงแสดงธรรมโปรดพระราชาจนเลื่อมใสอย่างมาก ฝ่ายเดียรถีย์ขาดลาภสักการะเพราะพระราชาหันมานับถือพระพุทธองค์จึงท้าทายให้แสดงปาฏิหาริย์ พระองค์ทรงแสดงปาฏิหาริย์ปราบเจ้าลัทธิทั้งหลายแล้วได้เสด็จไปโปรดพระพุทธมารดาและประทับจำพรรษาบนสวรรค์ คั้นออกพรรษาแล้วจึงเสด็จลงจากเทวโลกที่เมืองสังกาศยะ

สรรคที่ 21 สายธารแห่งการบรรพชา กล่าวถึงพระพุทธองค์เสด็จโปรดประชาชน เช่น ทรงโปรดชโยติษกะและหมอชีวกที่กรุงราชคฤห์ ทรงโปรดพระเจ้าอชาตศัตรูที่ชีวกัมวัน และทรงโปรดบุคคลต่างๆ ในสถานที่ต่างๆมากมาย พระเทวทัตเห็นความยิ่งใหญ่ของพระพุทธองค์ก็บังเกิดความริษยาจึงคิดทำร้ายพระพุทธองค์ โดยการกลิ้งหินที่เขาคฤธรกูฏและปล่อยช้างตกมันเพื่อทำร้ายพระพุทธองค์ แต่ก็มิอาจทำร้ายพระองค์ได้ พระเจ้าอชาตศัตรูจึงบังเกิดความเสือมใสในพระพุทธองค์เป็นอย่างยิ่ง ครั้งนั้นพระเกียรติยศของพระพุทธองค์ได้แผ่ขจรขจายไปทั่วทุกทิศ ส่วนพระเทวทัตมีแต่ความอับเฉา

สรรคที่ 22 การเสด็จเยือนอัมรปาลีวัน กล่าวถึงพระพุทธองค์เสด็จจากเมืองราชคฤห์ไปยังเมืองปาฏลิบุตรประทับที่เจดีย์ปาฏลิ ที่แห่งนั้นเสนาบดีวรษการะสร้างป้อมปราการเพื่อป้องกันการรุกรานของชาวลิจฉวี พระพุทธองค์ทอดพระเนตรเห็นทวยเทพนำทรัพย์สมบัติมาเก็บไว้จึงพยากรณ์ว่าเมืองนี้จะโด่งดังในอนาคต เมื่อเสด็จต่อไปจนถึงฝั่งแม่น้ำคงคาพระพุทธองค์ได้ทรงนำหมู่ภิกษุเหาะข้ามแม่น้ำคงคา จากนั้นจึงเสด็จต่อไปยังหมู่บ้านกุฏิและหมู่บ้านนาทีกะแสดงธรรมแล้วเสด็จต่อไปยังเมืองไวศาลีโดยประทับที่อัมรปาลีวัน และทรงเทศนาโปรดนางอัมราลีที่มาเฝ้าจนได้ดวงตาเห็นธรรม

สรรคที่ 23 การปลงพระชนมายุสังขาร กล่าวถึงกษัตริย์ลิจฉวีนำโดยพระเจ้าสิงหะเสด็จมาฟังธรรมที่อัมรปาลีวันและอาราธนาพระพุทธองค์เพื่อรับอาหารบิณฑบาตในวันรุ่งขึ้น แต่เมื่อรู้ว่านางอัมรปาลีได้อาราธนาพระองค์ไว้ก่อนแล้วจึงขุ่นเคืองพระทัยเล็ยน้อยแต่ก็ระงับได้ด้วยหลักพุทธธรรม วันรุ่งขึ้นทรงรับบิณฑบาตจากนางอัมรปาลีแล้วเสด็จต่อไปยังหมู่บ้านเวณุมตี ทรงประทับจำพรรษาที่นั่นแล้วเสด็จกลับมาที่เมืองไวศาลีอีกครั้งโดยประทับที่สระมรกฏะ ขณะนั้นพญามารได้มาทูลอารธนาให้เข้าสู่นิรวาณ พระพุทธองค์ตรัสว่าอีกสาม 3 จะเข้าสู่นิรวาณ พญามารจึงอันตรธานไป ขณะนั้นแผ่นดินได้สั่นสะเทือนและเกิดความโกลาหลทั่วทุกทิศ

สรรคที่ 24 พระมหากรุณาต่อกษัตริย์ลิจฉวี กล่าวถึงพระอานันทะเห็นแผ่นดินไหวก็เกิดอาการขนลุกชูชันจึงทูลถามถึงสาเหตุ พระพุทธองค์จึงตรัสให้ทราบและทรงปลอบใจพระอานันทะ ขณะนั้นกษัตริย์ลิจฉวีพากันมาเฝ้า พระองค์ทรงทราบความคิดของกษัตริย์ลิจฉวีจึงตรัสปลอบพระทัยและเมื่อจะเสด็จจากเมืองไวศาลีพระองค์จึงรับสั่งให้กษัตริย์เหล่านั้นกลับ กษัตริย์ลิจฉวีกลับสู่พระราชวังด้วยอาการโศกเศร้า

สรรคที่ 25 ระหว่างวิถีสู่นิรวาณ กล่าวถึงเมืองไวศาลีมีความเศร้าหมองครอบคลุมไปทั้งเมือง พระพุทธองค์ทอดพระเนตรเมืองไวศาสีเป็นครั้งสุดท้าย จากนั้นจึงเสด็จสู่โภคนครและตรัสให้พระสาวกทั้งหลายยึดมั่นในพระธรรมวินัย ทรงรับอาหารบิณฑบาตครั้งสุดท้ายจากนายจุนทะแล้วเสด็จต่ไปยังเมืองกุศินคร เสด็จข้ามแม่น้ำอิราวดี ทรงสนานด้วยน้ำในแม่น้ำหิรัญยวดี และเสด็จไปยังป่าสาละ ทรงรับสั่งให้พระอานันทะจัดเตรียมที่บรรทมระหว่างต้นสาละคู่เพื่อจะเข้าสู่นิรวาณในปัจฉิมยาม พระอานันทะเศร้าโศกมีน้ำตาปิดกั้นดวงตาตลอดเวลา เมื่อพระพุทธองค์ทรงบรรทมบนพระแท่นความเงียบสงบก็เข้ามาเยือน ทรงรับสั่งให้พระอานันทะไปแจ้งข่าวแก่เจ้ามัลละ เมื่อเจ้ามัลละมาเฝ้าจึงตรัสปลอบด้วยพระธรรมเทศนา จากนั้นเจ้ามัลละก็เสด็จกลับเข้าสู่เมืองด้วยความทุกข์และสิ้นหวัง

สรรคที่ 26 มหาปรินิวาณ กล่าวถึงสุภัทรปริพาชกมาขอเข้าเฝ้าแต่พระอานันทะห้ามไว้พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาตให้เข้าเฝ้าและแสดงธรรมโปรดจนบรรลุอรหัตผล สุภัทระปรารถนาจะเข้าสู่นิรวาณก่อนพระพุทธองค์จึงหมอบราบลงกับพื้นและนอนแน่นิ่งไปเหมือนกับงู พระพุทธองค์จึงให้ประกอบพิธีเผาศพของสภัทระ เมื่อผ่านปฐมยามทรงแสดงธรรมโปรดภิกษุและตรัสปัจฉิมโอวาทว่าด้วยความไม่ประมาท แล้วเข้าปฐมฌานไปจนถึงสมาบัติ 9 (สมาบัติ9* มีรูปฌาน 4 อรูปฌาน 5 สัญญาเวทยิตนิโรธ1) จากนั้นจึงเข้าสมาบัติย้อนกลับโยปฏิโลมไปถึงปฐมฌาน ออกจากปฐมฌานแล้วเข้าฌานต่อไปอีกจนถึงจุตตถฌานครั้นออกจากจตุตถฌานจึงเข้าสู่มหาปรินิวาณ ขณะนั้นมีเหตุอัศจรรย์เกิดขึ้นมากมาย ทั้งแผ่นดินไหว ฟ้าผ่า พายุพัด ทวยเทพต่างเศร้าโศก ฝ่ายพญามารและเสนามารต่างพากันลิงโลดดีใจ เมื่อสิ้นสุดพระศากยมุนีโลกจึงเศร้าหมองไปทุกหย่อมหญ้า

สรรคที่ 27 สดุดีพระนิรวาณ กล่าวถึงทวยเทพต่างสดุดีพระนิรวาณ ฝ่ายอนิรุทธะเห็นโลกถูกตัดขาดจากแสงสว่างจึงพรรณนาความเลวร้ายของสังสารวัฏ เจ้ามัลละพร้อมกันออกมาจากเมืองทั้งน้ำตาและได้อัญเชิญพระพุทธสรีระไปวางบนพระแท่นงาช้างแล้วบูชาด้วยมาลัยและประพรมน้ำหอมชั้นดี จากนั้นเคลื่อนพระบรมศพผ่านเข้ากลางเมืองแล้วออกทางประตูนาคะ ข้ามแม่น้ำหิรัณยวดี แล้วอัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนพระจิตกาธานซึ่งก่อด้วยไม้หอมชนิดต่างๆ ใกล้กับเจดีย์มกุฏะ เมื่อได้เวลาถวายพระเพลิงจิตกาธานกลัลไม่ลุกไหม้ เพราะแรงอธิษฐานของพระกาศยปะซึ่งกำลังเดินทางมา ครั้นพระกาศยปะเดินทางมาถึงพระเพลิงก็ลูกไหม้ขึ้นเอง พระเพลิงเผาไหม้พระบรมศพเหลือเพียงพระบรมสารีริกธาตุ เจ้ามัลละชำระล้างให้สะอาดแล้วได้บรรจุลงในพรชนะทองคำและสวดบทสรรเสริญ จากนั้นจึงสร้างปะรำเป็นที่ประดิษฐานเพื่อบูชาสักการะ

สรรคที่ 28 การแจกพระบรมสารีริกธาตุ กล่าวถึงราชทูตจากนครทั้ง 7 ส่งทูตมาขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ แต่เจ้ามัลละไม่ยอม กษัตริย์ทั้ง 7 จึงกรีฑาทัพมาเพื่อแย่งชิงพระบรมสารีริกธาตุ พราหมณ์โทรณะได้ออกมาหย่าศึกจึงไม่มีการสู้รบกัน ครั้งนั้นพระบรมสารีริกธาตุถูกแบ่งออกเป็น 8 ส่วน พราหมณ์โทรณะเก็บภาชนะแจกพระธาตุไว้ ส่วนพระสรีรังคารที่แหลือชาวปสละเก็บไว้บูชา ดังนั้นครั้งแรกจึงมีสถูปทั้งหมด 8 องค์ รวมสถูปที่พราหมณ์โทรณะสร้างและสถูปบรรจุพระสรีรังคารจึงเป็นสถูป 10 องค์ ครั้นเมื่อพระเจ้าอโศกทรงหันมานับถือพระพุทธศาสนาพระองค์ทรงรวบรวมพระบรมสารีริกธาตุมาจากสถูป 7 องค์แล้วแบ่งไปบรรจุในสถูป 84000 องค์ที่สร้างขึ้นใหม่ทั่วชมพูทวีป พระองค์ไม่ได้นำพระบรมสารีริกธาตุมาจากสถูปองค์ที่ 8 ซึ่งอยู่ในเมืองรามปุระเพราะมีพวกนาคเผ้ารักษาไว้อย่างดี พระองค์มีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้าและทรงปฏิบัติบำเพ็ญธรรมจนได้บรรลุโสดาบัน ตอนท้ายของสรรคนี้ผู้รจนากล่าวถึงอานิสงส์ของการบูชาพระบรมสารีริกธาตุและการทำใจให้บริสุทธิ์และกล่าวว่าที่ท่านรจนามหากาพย์พุทธจริตขึ้นมิใช่ต้องการจะอวดความรู้หรือความชำนาญเชิงกวี แต่ต้องการแสดงหลักพุทธธรรมให้แพร่หลายเพื่อประโยชน์สุขของชาวโลกยิ่งๆขึ้นไป [9]

ใกล้เคียง