ผู้แต่ง ของ พุทธจริต

ผู้แต่งมหากาพย์พุทธจริต คือพระอัศวโฆษ ผู้ได้รับยกย่องเป็นมหากวีและเป็นนักปราชญ์ที่มีชื่อเสียง คาดว่าท่านมีช่วงชีวิตอยู่ระหว่างปีค.ศ. 80 – c. 150 ท่านเป็นบุตรของนางสุรรณกษี เกิดที่เมืองสาเกต แต่เดิมนับถือพราหมณ์และได้รับการศึกษาแบบพราหมณ์จนมีความเชี่ยวชาญในไตรเพท ภายหลังหันมานับถือพระพุทธศาสนาโดยบวชเป็นภิกษุในนิกายสรวาสติวาท ด้วยความที่ท่านเป็นทั้งปราชญ์และเป็นทั้งกวี เมื่อบวชแล้วจึงมีคำนำหน้าชื่อมากมาย เช่น ภิกษุ อาจารย์ ภทันตะ มหากวี และมหาวาทิน [6]

พระอัศวโฆษเป็นผู้มีบทบาทสำคัญคนหนึ่งในยุคเริ่มต้นของนิกายมหายาน มีผลงานมากมายทั้งด้านปรัชญาศาสนา บทละครและกวีนิพนธ์ ผลงานที่สำคัญทางปรัชญาและศาสนา เช่น สูตราลังการะ มหายานศรัทโธตปาทะ วัชรสูจี คัณฑีสโตรตระ ที่เป็นบทละคร เช่นราษฎรปาละ ศาริปุตรปรกรณัม และที่เป็นกวีนิพนธ์ เช่นมหากาพย์เสานทรนันทระ และมหากาพย์พุทธจริต เป็นต้น นอกจากจะรจนางานเขียนไว้หลายเล่มแล้วอัศวโฆษยังเดินทางท่องเที่ยวไปพร้อมกับสานุศิษย์และนักดนตรีเพื่อขับลำนำอันเป็นเรื่องราวแห่งพระพุทธศาสนาและความไร้แก่นสารของชีวิตในที่ชุมนุมต่างๆเพื่อป่าวประกาศคุณค่าอันล้ำเลิศแห่งพระธรรมคำสอนของพระบรมศาสดา ชนทั้งหลายที่สัญจรไปเมื่อได้ฟังต่างหยุดนิ่งอยู่กับที่เพราะถูกตรึงไว้ด้วยน้ำเสียงและท่วงทำนองที่ไพเราะจับใจ [7]

ครั้งหนึ่ง กษัตริย์แห่งแคว้นกุษาณะได้รุกรานมัธยมประเทศ จนถึงเมืองปาฏลีบุตร จนกษัตริย์แห่งมัธยมประเทศต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามแก่กษัตริย์แคว้นกุษาณะเป็นทองคำ 300,000 เหรียญ ทว่า กษัตริย์แห่งมัธมประเทศมีเพียง 100,000 เหรียญ ฝ่ายกุษาณะจึงเรียกร้องเพียงเท่านั้น แต่ค่าปฏิกรรมสงครามที่ติดค้างไว้ ต้องแลกเปลี่ยนโดยการมอบบาตรของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กับพระอัศวโฆษ ต่อมาเหล่าเสนามมาตย์เกิดความกังขาเหตุใดพระอัศวโฆษจึงมีค่าถึง 100,000 เหรียญ กษัตริย์แห่งแคว้นกุษาณะจึงได้ขังอัศวชาติตัวหนึ่งไว้เป็นเวลา 6 วันจนหิวโหย จากนั้น จึงปล่อยออกมา แล้ววางหญ้าชั้นเลิศไว้ตรงหน้า พร้อมกับอาราธนาพระอัศโฆษให้แสดงธรรม ปรากฏว่า อัศวชาติตัวนั้นมิได้แตะต้องหญ้าชั้นเลิศแม้นจะหิวโหยเพียงใด แต่กลับสดับพระธรรมเทศนาด้วยน้ำตานองหน้า นับแต่บัดนั้นเสนามาตย์และมหาชนต่างซาบซึ้งศรัทธาในตัวพระเถระยิ่งนัก จึงถวายสมัญญานามแก่ท่านว่า "อัศวโฆษ" อันหมายความว่า แม้แต่อัศวชาติยังต้องร่ำไห้โหยหวนยามสดับพระธรรมเทศนาของท่าน [8]