ประวัติ ของ ฟ._ฮีแลร์

ช่วงแรก

ฟ.ฮีแลร์ เกิดที่หมู่บ้านแซงต์ โรแมง (Saint Romain) ใกล้เทศบาลจำโปเมีย (Champniers) เมืองปัวตีเย จังหวัดเวียน ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 18 มกราคม ค.ศ. 1881 ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนชั้นต้นที่ตำบลบ้านเกิด จนอายุได้ 12 ปี ความศรัทธาในศาสนาได้บังเกิดขึ้นในดวงจิตของท่าน ใคร่จะถวายตนเพื่อรับใช้พระเป็นเจ้าจึงได้ขออนุญาตบิดามารดาเข้าอบรมในยุวนิสิตสถาน (Novicate) ในคณะเจษฎาจารย์เซนต์คาเบรียล ที่เมืองซังลอลังต์ ซิว แซฟร์ ในมณฑลวังเด เพื่อร่ำเรียนวิชาลัทธิศาสนา วิชาครู และวิชาอื่น ๆ อันควรแก่ผู้จะเป็นเจษฎาจารย์จะพึงศึกษาจนสำเร็จ แล้วจึงประกาศอุทิศตนถวายพระเจ้า สมาทานศีลของคณะเซนต์คาเบรียล ปฏิญาณตนเป็นภราดาเมื่ออายุได้ 18 ปี เพื่อให้ความรู้ในทางศาสนาได้ลึกซึ้งกว้างขวางยิ่งขึ้น หลังจากบวชแล้วก็ได้เดินทางไปที่เมืองคลาเวียส์ เพื่อศึกษาปรัชญาฝ่ายศาสนาอีกระยะหนึ่ง

เดินทางมายังประเทศไทย

ในขณะเมื่อ ฟ.ฮีแลร์ ถือกำเนิดขึ้น ณ ประเทศฝรั่งเศสมาจนถึง ค.ศ. 1885 ซึ่งมีอายุได้ 4 ขวบเศษนั้น ทางประเทศไทย บาทหลวงเอมิล ออกัสต์ กอลมเบต์ ก็ได้ตั้งโรงเรียนอัสสัมชัญขึ้นในกรุงเทพฯ และได้ดำเนินกิจการเรื่อยมาด้วยดี จนถึง ค.ศ. 1900 บาทหลวงกอลมเบต์ ก็ได้เดินทางไปฝรั่งเศส เพื่อเยี่ยมบ้านเกิดของท่าน เพื่อเป็นการพักผ่อนและเพื่อเสาะแสวงหาคณะอาจารย์ที่มีความสามารถในการสอนมารับหน้าที่ปกครองดูแลรักษาโรงเรียนอัสสัมชัญต่อไป

ในการเดินทางไปประเทศฝรั่งเศสในครั้งนั้น บาทหลวงกอลมเบต์ได้ไปพบอัคราธิการของคณะเซนต์คาเบรียล ที่เมืองแซนต์ลอลังต์ และได้เจรจาขอให้เจษฎาจารย์เซนต์คาเบรียลได้รับปกครองโรงเรียนอัสสัมชัญแทน คุณพ่อกอลมเบต์ ต่อไป ซึ่งทางคณะเซนต์คาเบรียลก็ตอบตกลงด้วยดี และได้มอบให้เจษฎาจารย์ 5 ท่าน เดินทางมารับภารกิจนี้ โดยมีเจษฎาจารย์มาร์ติน เดอ ตูร์ เป็นประธาน เจษฎาจารย์ออกุสแตง คาเบรียล อาเบต และ ฟ.ฮีแลร์ เป็นผู้ร่วมคณะ ในจำนวน 5 ท่าน ฟ.ฮีแลร์ เป็นคนหนุ่มที่สุดมีอายุเพิ่งจะย่างเข้า 20 เท่านั้นทั้งยังเป็นเจษฎาจารย์ใหม่ที่เพิ่งอุทิศตนถวายพระผู้เป็นเจ้าในปีที่เดินทางเข้ามานั้นเอง

เจษฎาจารย์คณะนี้ออกเดินทางฝรั่งเศส โดยลงเรือที่เมืองมาร์เชย์ เมื่อวันที่ 21 กันยายน ค.ศ. 1901 ใช้เวลาเดินทางทั้งสิ้นหนึ่งเดือนกับ 2 วันจนถึงวันที่ 23 ตุลาคม ศกเดียวกันนั้น เรือก็มาถึงกรุงเทพฯ เข้าเทียบท่าห้างบอร์เนียว พอขึ้นจากเรือคุณพ่อแฟร์เลย์มาคอยรับอยู่ จนมาถึงโรงเรียนอัสสัมชัญ

ศึกษาภาษาไทย

ด้วยความที่อายุยังน้อย ภาษาอังกฤษก็ยังไม่คล่อง ภาษาไทยก็ไม่ถนัด หน้าที่ที่ ฟ.ฮีแลร์ ได้รับมอบหมายในเบื้องต้นก็คือการสอนภาษาอังกฤษ และ ภาษาฝรั่งเศส ในขณะที่เขาก็ศึกษาภาษาไทยไปควบคู่ไปด้วย อาจารย์ภาษาไทยคนแรกของ ฟ.ฮีแลร์ก็คือ มหาทิม[1] ซึ่งเป็นครูสอนอยู่ที่โรงเรียนอัสสัมชัญอยู่ก่อนแล้ว ท่านมหาทิมยังให้ความรู้ทางด้านขนบธรรมเนียมไทยต่าง ๆ ด้วย นอกจากมหาทิมแล้ว ยังมีครูวัน (พระยาวารสิริ), มหาศุภ ศุภศิริ, ครูฟุ้ง เจริญวิทย์ที่คอยช่วยกันสอนจนท่านสามารถเข้าใจภาษาไทยได้ [2]

กล่าวกันว่าการเรียนภาษาไทยของท่านนั้นเรียนรู้ได้รวดเร็วมาก พระยามไหศวรรย์เคยเขียนถึงท่านว่า “สำหรับข้าพเจ้าคาดว่าครูฮีแลร์เห็นจะเรียนหนังสือไทยภายหลังข้าพเจ้า แต่ข้าพเจ้าไม่อยากพูดถึงการเรียนของเด็กพวกเรานั้นจะมีมานะหมั่นเพียรเทียบกับครูฮีแลร์ได้อย่างไร ท่านเรียนไม่เท่าไร เกิดเป็นครูสอนภาษาขึ้นมาอีก”

เมื่อความรู้ด้านภาษาไทยของท่านพอจะใช้งานได้แล้ว ท่านได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ในการโต้ตอบจดหมายระหว่างโรงเรียนกับทางราชการไทยทั้งหมด และมักจะลงตำแหน่งว่าท่านคือ "รองอธิการโรงเรียนอัสสัมชัญ" ทำให้ท่านเป็นเริ่มเป็นที่รู้จักในแวดดวงราชการไทย เช่น พระยาวิสุทธิ์สุริยศักดิ์ และสมเด็จฯ กรมพระดำรงราชานุภาพ

หนังสือเรียนภาษาไทย "ดรุณศึกษา" มีทั้งหมด 4 เล่ม แต่งโดย ภราดาฮีแลร์

เมื่อท่านอ่านออกเขียนภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่วแล้ว ท่านจึงทราบว่า “มูลบทบรรพกิจ” แบบเรียนหลวงที่นักเรียนขณะนั้นใช้เรียนกันอยู่ มีเนื้อหาและหลักวิชาที่ไม่ตรงกับความคิดของท่าน ท่านจึงต้องการที่จะแต่งแบบเรียนใหม่ที่ดีกว่าขึ้นมา เพื่อให้นักเรียนได้ใช้เรียนกัน แต่ความรู้ในทางภาษาไทยของท่านยังคงไม่เพียงพอที่จะทำให้แบบเรียนที่ว่านี้สำเร็จได้ด้วยตัวท่านเอง ท่านจึงส่งแบบร่างต้นฉบับไปให้ผู้รู้ในวงการการศึกษาไทย ณ ขณะนั้น ชั่วยกันตรวจพิจารณา เช่น สมเด็จฯ กรมพระดำรงราชานุภาพ โปรเฟสเซอร์ยอร์ช เซเดส์ และบรรดาครูไทยในโรงเรียนอัสสัมชัญ เดิมทีท่านตั้งใจที่จะแต่งแบบเรียนทั้งหมด 2 เล่ม โดยได้แต่งควบคู่กันมาทั้ง 2 เล่มพร้อมกัน[3] แบบเรียนเล่มแรกตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1910 ใช้ชื่อว่า "อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน กอ ขอ"

อัสสัมชัญ อุโฆษสาร

ฟ.ฮีแลร์ ร่วมงานกับทางมิสซังสยาม เริ่มจัดพิมพ์หนังสือของโบสถ์อัสสัมชัญ ซึ่งมีทั้งภาษาไทย อังกฤษ และฝรั่งเศส รวมอยู่ในเล่มเดียวกันชื่อ "อัสสัมชัญอุโฆษสมัย" ( Echo de L'Assomption) ฉบับแรกออกในวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 1913 เพื่อเสนอเกี่ยวกับข่าวทั่วไปของโรงเรียน และของโบสถ์อัสสัมชัญ เช่น ข่าวเหตุการณ์ ข่าวกีฬา หรือข่าวมรณะ ตลอดจนบทความต่าง ๆ ฟ. ฮีแลร์ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ในการทำหนังสือ และมีสังฆราชเรอเน แปร์โรสเป็นบรรณาธิการ ในระยะแรกจัดพิมพ์ปีละ 4 เล่ม ก่อนปรับลดลงเหลือ 3 และ 2 เล่ม อัสสัมชัญ อุโฆษสมัยตีพิมพ์ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานถึง 28 ปี จนยุติไปเมื่อปี ค.ศ 1941 เนื่องจากไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2

สงครามโลกครั้งที่ 1

เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ฟ.ฮีแลร์ถูกเรียกเกณฑ์จากรัฐบาลฝรั่งเศสให้กลับไปช่วยการสงครามในด้านการพยาบาล ฟ.ฮีแลร์ได้ลงเรือโดยสาร โปรดิวซ์ ออกจากรุงเทพเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 1914[4] ระหว่างเดินทาง ฟ.ฮีแลร์ได้เขียนจดหมายส่งกลับมาตีพิมพ์ในอัสสัมชัญ อุโฆษสมัย บอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ตามเมืองที่เรือได้แวะจอด เมื่อถึงฝรั่งเศสที่ท่าเมืองมาร์กเซย์แล้ว ท่านก็เดินทางไปประจำการที่เมืองชาโตรู เริ่มต้นหน้าที่ในการสงครามด้วยการ ไม่มีธุระอะไรสำคัญ ช่วยนายทหารบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ และอบรมวิธีการปฐมพยาบาล การอุดเลือด การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ฯลฯ เมื่ออยู่ประจำการได้ 1 เดือน ท่านจึงลงชื่อขอสมัครไปทำหน้าที่พยาบาลตามสนามรบ แต่นายแพทย์ผู้ตรวจร่างกายไม่อนุญาต ด้วยเหตุว่าท่านอาศัยอยู่ในเมืองร้อน ไม่เหมาะจำไปสนามรบซึ่งมีอากาศหนาว[5] ท่านมักจะถูกชาวฝรั่งเศสถามเรื่องของสยามอยู่บ่อยครั้ง ท่านยังระบุว่า ท่านใส่หมวกสีขาวซึ่งนำมาจากกรุงเทพฯ อยู่ตลอดเวลา[6] ราวต้นปี ค.ศ. 1915 ท่านป่วยเป็นโรคไขข้อพิการ ต้องนอนพักรักษาตัวอยู่ 12 วัน จึงหายเป็นปกติ[7]

ฟ.ฮีแลร์ลงชื่อหาทางย้ายตัวเองมาประจำการให้ใกล้กับเมืองบ้านเกิดของท่าน ท่านเข้าประจำการที่โรงพยาบาล "ซูร์มือเอ" ในเมืองบัวเตียร์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ เมื่อถึงเวลานี้แล้ว ไม่มีใครเรียก ฟ.ฮีแลร์ ตามชื่อของท่านอีกต่อไป เพราะมีแต่คนเรียกท่านว่า มองซิเออร์บางกอก ท่านยังนึกเสียดายที่ไม่ได้พกหนังสือภาษาไทยมาอ่านด้วย เพราะท่านเกรงจะลืมภาษาไทย และอยากอ่านเรื่องราวสนุก ๆ อย่าง พระอภัยมณี และลักษณวงศ์[5] ฟ.ฮีแลร์ปลดประจำการเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ. 1915[8] แต่ยังไม่สามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้ทันที เนื่องจากติดขัดเรื่องใบอนุญาตเดินทาง ทำให้ท่านต้องเดินทางไปกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ก่อนที่จะมารอโอกาสหาเรือโดยสารกลับมากรุงเทพฯ ที่ประเทศสเปน

สานต่ออัสสัมชัญ ดรุณศึกษา

ฟ.ฮีแลร์ได้เดินทางกลับเมืองไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1916 ท่านกลับมาสานงานแต่งแบบเรียนต่ออีกครั้ง เพื่อความถูกต้อง ครบถ้วน สมบูรณ์มากขึ้น ฟ.ฮีแลร์จึงติดต่อกับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขอให้เป็นพระธุระ ซึ่งพระองค์ก็ทรงช่วยเหลือ โดยมียอร์ช เซเดส์เป็นคนกลางในรับส่งเรื่อง เนื่องจากในบางครั้งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงประทับอยู่ที่หัวหิน พระองค์ทรงประทานความคิดเห็น ข้อแก้ไข ต่าง ๆ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในการพัฒนาอัสสัมชัญ ดรุณศึกษาให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทั้งสองท่านนัดพบกันเพื่อตรวจแก้ไขอัสสัมชัญ ดรุณศึกษาด้วยกันในวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2463 (ค.ศ. 1921) ก่อนที่จะมีการตีพิมพ์เป็นอัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน กลาง ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1921)

อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน ปลายก็คงได้มีการจัดเตรียมพิมพ์ไว้แล้วเช่นกัน แต่พอดีกับช่วงเวลานั้น กระทรวงศึกษาธิการได้ชำระอักขรบัญญัติขึ้นมาใหม่ มีการเปลี่ยนแปลงตัวสะกด พยัญชนะ การันต์ คำศัพท์ต่าง ๆ ซึ่งต้องเปลี่ยนแปลงไปตามนั้นด้วย การพิมพ์อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน ปลายจึงได้ล่าช้าไปจากอัสสัมชัญดรุณศึกษา ตอน กลาง เกือบ 1 ปี แต่ในระหว่างนั้นก็ได้มีการเพิ่มเติมเนื้อหาอีกเพียงเล็กน้อย เพื่อความครบถ้วนสมบูรณ์มากขึ้น เมื่อสำเร็จเสร็จพร้อมดีแล้ว จึงได้ตีพิมพ์อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน ปลาย ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1922)

จากฝีไม้ลายมือในการแต่งหนังสือของท่านนั้น ทำให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โปรดเชิญเข้าเป็นสมาชิกสมาคมวรรณคดี เมื่อวันเสาร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2475 ณ ราชบัณฑิตสภา

ตัวอย่างความเชี่ยวชาญในภาษาไทยของเขาจะเห็นตัวอย่างได้จากการแปลสุภาษิตจากภาษาอังกฤษของ Milton

Two men look out the same prison bars; one sees mud and the other stars..

มาเป็นคติสอนใจภาษาไทยที่มีความไพเราะและแพร่หลายคือ

สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม คนหนึ่งตาแหลมคม มองเห็นดาวอยู่พราวพราย

[9]

กลับฝรั่งเศสระดมทุนสร้างอนุสรณสถานบาทหลวงกอลมเบต์

ภายหลังการมรณภาพของบาทหลวงเอมิล ออกุสต์ กอลมเบต์ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ. 1933 บรรดาศิษย์เก่าได้ประชุมกันมีวาระให้ดำเนินการสร้างอนุสรณ์สถานบาทหลวงกอลมเบต์ เพื่อเป็นอนุสาวรีย์ที่ระลึก และใช้งานด้านการศึกษาตามเจตนารมณ์ของท่านผู้ก่อตั้งโรงเรียน[10] ประกอบกับ ฟ.ฮีแลร์มีภารกิจส่วนตัวที่ต้องเดินทางกลับฝรั่งเศส ทำให้มีดำริว่า ฟ.ฮีแลร์จะหาทางระดมทุนหาเงินมาสร้างอนุสรณ์สถานนี้จากยุโรป ในขณะที่บรรดาอัสสัมชนิกระดมทุนจากในประเทศไทย

การจากไปฝรั่งเศสในครั้งนี้ของท่าน นับเป็นที่โศกเศร้าของบรรดาอัสสัมชนิกจำนวนมาก ได้มีการจัดงานเลี้ยงน้ำชาอำลาที่สมาคมอัสสัมชัญ ในวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1934 มีผู้มาร่วมงานประมาณ 200 คนเศษ[11] พอถึงวันที่ 2 มิถุนายน โรงเรียนได้หยุดเป็นกรณีพิเศษ อัสสัมชนิกทั้งเก่า ใหม่ ใหญ่ เล็ก ก็รวมตัวกันไปส่งท่านที่ชานชาลาสถานีรถไฟหัวลำโพง ครั้นเวลาประมาณ 16:00 น. รถไฟก็เคลื่อนขบวนออกจากสถานี อัสสัมชนิกทั้งหลายก็ส่งเสียงให้พรท่านเดินทางโดยสวัสดิภาพ ฟ.ฮีแลร์ยืนโบกผ้าเช็ดหน้าอำลา แม้รถไฟแล่นห่างออกไปดูลับตา แต่ยังคงเห็นผ้าเช็ดหน้าผืนน้อยโบกไหว ๆ อยู่อย่างนั้น[12]

ฟ.ฮีแลร์โดยสารรถไฟไปยังสถานีทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีศิษย์เก่าที่พำนักอยู่ทางภาคใต้ไปรับ เพื่อส่งท่านลงเรือกลับฝรั่งเศสต่อไป ในการนั้นบรรดาอัสสัมชนิกได้จัดทำของที่ระลึกเป็นเครื่องถมให้ท่านเป็นกรณีพิเศษอีกด้วย

เมื่อเดินทางถึงฝรั่งเศส แล้ว ท่านได้พำนักอยู่ที่ Missions Etrangères de Paris[13] สถานที่เดียวกับต้นสังกัดของคุณพ่อกอลมเบต์ ฟ.ฮีแลร์เขียนจดหมายเรี่ยไรเงินไปหาองค์กรการกุศลต่าง ๆ ทั่วยุโรป ซึ่งปรากฏว่าเงินที่ท่านเรี่ยไรได้จากต่างประเทศนั้น มากกว่าเงินที่เรี่ยไรได้จากในประเทศไทยเสียอีก เมื่อท่านเดินทางกลับมาประเทศไทยแล้ว ก็รับธุระในการดูแลจัดการด้านจดหมาย และดำเนินการสร้างอนุสรณ์สถานบาทหลวงกอลมเบต์ต่อไปจนเสร็จเรียบร้อยในปี ค.ศ. 1938

การเดินทางไปฝรั่งเศสครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 2 ที่ท่านได้กลับไปยังบ้านเกิดของท่าน และเป็นการจากบ้านเกิดของท่านเป็นครั้งสุดท้าย เพราะหลังจากนี้ ท่านก็มิได้กลับไปฝรั่งเศสอีกเลย

สงครามโลกครั้งที่ 2

เมื่อไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สอง โดยอยู่ฝ่ายอักษะร่วมกับเยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น ทำให้บรรดาภราดาทั้งหลายซึ่งถือว่าเป็นชนชาติศัตรูกับไทย ต้องเดินทางออกนอกประเทศไทย ฟ.ฮีแลร์ได้เดินทางไปถึงอินเดียในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1941 เมื่อแรกได้ไปอยู่กับกงศุลที่เมืองปอนดิเชอรรี่ (Pondicherry) รับหน้าที่ในการแปลจดหมายภาษาไทย ต่อมาในเดือนกันยายนท่านได้ย้ายมาพำนักที่เมืองซาเล็ม (Salem) ในรัฐทมิฬนาฑู และได้ย้ายไปประจำการที่เมืองอุทกมณฑล (Ootacamund)[14]

จดหมายที่ ฟ.ฮีแลร์รับผิดชอบแปลให้กับหน่วยข่าวกรองของอินเดียมีตั้งแต่จดหมายจากผู้แทนไทยในต่างประเทศ, พระบรมวงศานุวงศ์ทั้งที่อยู่ในไทย และพลัดถิ่น รวมทั้งจดหมายจากสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีซึ่งพำนักอยู่ในอังกฤษ งานของ ฟ.ฮีแลร์บางครั้งมีน้อยจนต้องเขียนจดหมายไปของานเพิ่มเติมจากหัวหน้าหน่วยที่เดลฮี (ปัจจุบันเรียกว่า เดลลี) บางครั้งก็มีงานด่วนที่เรียกตัว ฟ.ฮีแลร์เข้าไปจัดการธุระ นอกจากนี้ยังแปล และเขียนแผ่นพับสำหรับเครื่องบินสัมพันธมิตรที่เข้ามาโปรยเอกสารสงครามในไทย[15]

การปฏิบัติหน้าที่ของท่านในสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้ ถือว่าท่านเป็นสมาชิก “เสรีไทย” ซึ่งได้รับการยอมรับฐานะนี้อย่างเป็นทางการ สังเกตได้จากบัตรเชิญร่วมงานเลี้ยงเสรีไทยซึ่งระบุชื่อของท่านอย่างชัดเจน[16]

ระดมทุนสร้างตึกสุวรรณสมโภช

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ท่านเดินทางกลับมาประเทศไทยใน เดือนเมษายน ค.ศ 1946 โดยสารเรือมาขึ้นที่ท่าเรือบีไอ ถนนตก ท่านพบว่าโรงเรียนอัสสัมชัญที่เคยสวยงามด้วยตึกใหม่ อย่างตึกกอลมเบต์ ที่ท่านเดินทางไปเรี่ยไรเงินมาเป็นค่าก่อสร้างถึงฝรั่งเศส ต้องเผชิญกับลูกระเบิด พังเสียหายไปแถบหนึ่ง สำรวจแล้วราคาค่าซ่อมนั้น ประเมินออกมาได้สองแสนบาทเศษ แพงกว่าค่าก่อสร้างเสียอีก ทั้งอาคารไม้ชั่วคราว 3 ชั้น อีกหนึ่งในผลงานของท่าน ก็ถูกรื้อย้ายไปเป็นอาคารเรียนที่ศรีราชา

ภารกิจใหม่ของ ฟ.ฮีแลร์ในวาระนี้ จึงเสมือนเป็นการสร้างโรงเรียนใหม่ คือต้องหาเงินมาซ่อมตึกกอลมเบต์ และหาอาคารใหม่สำหรับรองรับนักเรียน สำหรับอาคารใหม่ที่ว่านี้ ต่อมาคือ หอประชุมสุวรรณสมโภช ซึ่ง ฟ.ฮีแลร์เขียนจดหมายไปขอเรี่ยไรไม้สักมาก่อสร้างจากนายกสมาคมโรงเลื่อยแห่งประเทศไทย[17] นอกจากนี้ท่านยังเขียนจดหมายไปขอเรี่ยไรเงินจากบรรดาอัสสัมชนิก และจากต่างประเทศเหมือนเคย ในคราวนี้ยังได้ขอเรี่ยไรเงินจากผู้ปกครองที่จะนำบุตรหลานมาเข้าเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญอีกด้วย โดยอาศัยวิธีกู้เงินจากผู้ปกครองนักเรียน คือใครอุทิศเงินให้โรงเรียนหนึ่งหมื่นบาท บุตรจะเรียนได้โดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียนเลย จนกว่าจะจบหลักสูตร ด้วยวิธีการเช่นนี้ทำให้มีการครหานินทาว่าโรงเรียนอัสสัมชัญเก็บเงินแป๊ะเจี๊ยะ ในสมัยนั้น ฟ.ฮีแลร์ยังมีส่วนร่วมในการตรวจงานการก่อสร้างอาคารหอประชุมสุวรรณสมโภชเป็นระยะ ๆ จนหอประชุมแล้วเสร็จ เปิดใช้งานในปี ค.ศ. 1951

ช่วงบั้นปลาย

เมื่อกาลเวลาย่างเข้าทศวรรษที่ 1950 บัดนี้ ฟ.ฮีแลร์ในวัยราว 70 ปี ก็เริ่มป่วยด้วยโรคเบาหวาน ต้องเข้า ๆ ออก ๆ โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์อยู่บ่อยครั้ง[18] แต่อาการก็มิได้ทุเลาลง จนกระทั่งสายตาของท่านเกือบบอดสนิท แต่คุณความดีที่ท่านกระทำมาตลอดชีวิตของท่าน ก็ได้ยินไปถึงรัฐบาลฝรั่งเศส ทางรัฐบาลฯจึงได้มอบเครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์ (Ordre National de la Légion D'honneur) ให้ท่านในวันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ. 1952 ที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์

ต่อมาอาการเบาหวานของท่านเริ่มทุเลาลงบ้าง ท่านจึงกลับมาพำนักที่โรงเรียนอัสสัมชัญ คราวนี้ท่านไม่มีหน้าที่การงานประจำแล้ว แต่ยังคงเป็นเสมือนที่ปรึกษากลาย ๆ ให้กับท่านอธิการ[19] เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1958 มีอัสสัมชนิกได้มาแนะนำให้ท่านไปรักษาดวงตาของท่านกับนายแพทย์ชุด อยู่สวัสดิ์ ซึ่งเป็นจักษุแพทย์ที่มีชื่อเสียง การผ่าตัดกระทำในวันที่ 10 มกราคม ค.ศ. 1959 ทำให้ท่านกลับมามองเห็นได้อีกครั้ง[20] เป็นที่ยินดีของอัสสัมชนิกเป็นอย่างมาก จึงได้มีการจัดงานสมโภชรับขวัญท่านเป็นงานใหญ่ในวันที่ 14 มีนาคม ค.ศ. 1959

ท่านเจษฎาธิการยอห์น แมรีได้แนะนำให้ ฟ.ฮีแลร์ย้ายไปพำนักที่บ้านพักภราดาปลดเกษียณที่ซอยทองหล่อ แต่ท่านก็ไม่ยอมไป ยังขออยู่อาศัยที่โรงเรียนอัสสัมชัญต่อไป[21] ในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตท่าน ท่านมักจะมีอาการหลง ๆ ลืม ๆ จำชื่อลูกศิษย์ไม่ได้ แม้จะขานชื่อให้ฟังแล้วก็ตาม ทั้ง ๆ ที่ท่านเคยมีความจำเป็นเลิศ อันเป็นธรรมดาของโรคชรา

วาระสุดท้าย

ในคืนวันที่ 18 กันยายน ค.ศ. 1968 ท่านนอนไม่หลับ จึงลุกขึ้นมาเดินที่ระเบียงตึกกอลมเบต์ แล้วล้มลง ได้รับการส่งตัวไปโรงพยาบาลคามิลเลียน แพทย์ลงความเห็นว่าเส้นเลือดในสมองแตก จะต้องรักษาตัวอีกนาน จึงได้ย้ายไปรักษาที่โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน แต่แล้วอาการก็มีแต่ทรงกับทรุด ท้ายที่สุด ท่านก็ไปอยู่กับพระเจ้าในวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ. 1968 สิริรวมอายุ 87 ปี[22]

ทางโรงเรียนเชิญศพท่านมาตั้งไปที่หอประชุมสุวรรณสมโภช ทำพิธีมหาบูชามิสซา และเปิดโอกาสให้อัสสัมชนิกและบุคคลทั่วไปเข้ามาแสดงความเคารพท่านเป็นครั้งสุดท้าย วันที่ 9 ตุลาคม พระยาอนุมานราชธนเป็นประธานในพิธี ป๋วย อึ้งภากรณ์กล่าวสดุดีท่านเป็นภาษาฝรั่งเศส นายเขตร ศรียาภัย กล่าวสดุดีท่านเป็นภาษาไทย บรรดาครู ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน ผลัดกันเชิญหีบศพท่าน เดินเวียนรอบโรงเรียน ก่อนจะเคลื่อนขบวนไปฝังที่สุสาน อำเภอศรีราชา ขณะที่รถแล่นผ่านถนนสีลมนั้น บรรดานักเรียนโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยได้มาเข้าแถวเคารพต่อศพท่านด้วยความอาลัย หนังสือพิมพ์ต่าง ๆ พากันลงข่าวสดุดีท่านแทบทุกฉบับ[23]

อนุสาวรีย์

อนุสารีย์ ฟ.ฮีแลร์ ออกแบบและปั้นโดย อาจารย์สนั่น ศิลากร ลูกศิษย์ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ซึ่งจบการศึกษาจากโรงเรียนประณีตศิลปกรรม ภายหลังได้รับการยกฐานะให้เป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ซึ่งได้รับพระราชทานดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาประติมากรรมคนแรกของประเทศไทย ผลงานที่สำคัญ เช่น อนุสาวรีย์พระบรมราชชนก (โรงพยาบาลศิริราช) อนุสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ลพบุรี) และ ผลงานร่วมกับผู้อื่น เช่น ภาพปั้นนูนบริเวณฐานอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (วงเวียนใหญ่) ภาพปั้นนูนบริเวณฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (ถนนราชดำเนิน) และ รูปปั้นทหารประกอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นต้น

งบประมาณในการสร้างได้รับเงินบริจาคจาก นายมงคล วังตาล (อัสสัมชนิกเลขที่ 2968) เป็นเงินจำนวน 85,000 บาท โดยปั้นเสร็จสมบูรณ์ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2519 ก่อนที่จะนำมาประดิษฐานหน้าตึก ฟ. ฮีแลร์ และประกอบพิธีเปิดอนุสาวรีย์เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ในปีเดียวกัน โดย ฯพณฯ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เดินทางมาเป็นประธานในพิธี[24]

ในความทรงจำ

ความเป็นครู ที่ท่านมีให้กับศิษย์ ความเป็นครูของท่านนี้เรียกว่า เป็นสุดยอดของครูเลยก็ว่าได้ เพราะนอกจากสามารถกำราบบรรดานักเรียนจอมทะโมนทั้งหลายแล้ว ยังมีพระคุณที่สามารถผูกใจให้นักเรียนมีทั้งความรัก และความเกรงกลัวต่อตัวท่าน ควรค่าแก่การเคารพต่อศิษย์ทั้งหลาย[25] สามารถชักจูง กล่อมเกลาศิษย์ให้เอาใจใส่ต่อการศึกษา และมีคุณธรรม จริยธรรมอย่างขันแข็ง มีจิตวิทยาอย่างยอดเยี่ยม

อีกด้านที่ทั้งอัสสัมชนิกและสังคมทั่วไปรับรู้ คือ ความสามารถด้านภาษาไทย ของท่าน หลักฐานลำพังเฉพาะการแต่งแบบเรียนอัสสัมชัญ ดรุณศึกษานั้นก็แทบจะเพียงพอแล้ว เพราะได้รับการยอมรับไปทั่ว ทั้งโรงเรียนเอกชน และโรงเรียนรัฐบาล การได้รับเชิญให้เข้าร่วมวรรณคดีสโมสรในปี ค.ศ. 1932 ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ยืนยันว่าแม้แต่ชนชั้นนำของประเทศก็ให้การยอมรับ