ประวัติ ของ ฟร็องซัว-เรอเน_เดอ_ชาโตบรีย็อง

ช่วงต้นและการลี้ภัย

ฟร็องซัว-เรอเน เดอ ชาโตบรีย็อง เกิดในเมืองแซ็ง-มาโล เมื่อ 4 กันยายน ค.ศ. 1768 เป็นบุตรคนเล็กในจำนวนสิบคน เขาเติบโตขึ้นในปราสาทตระกูลซึ่งตั้งอยู่ในเมืองกงบูร์ แคว้นเบรอตาญ บิดาของเขา เรอเน เดอ ชาโตบรีย็อง (René de Chateaubriand) เป็นอดีตกัปตันเรือซึ่งทำธุรกิจค้าขายเรือและค้าทาส บิดาเขาเป็นคนอารมณ์ร้ายและขาดมนุษยสัมพันธ์ นั่นทำให้เด็กชายฟร็องซัวเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่ขาดความอบอุ่น ความอบอุ่นเดียวที่เขาหาได้คือการเดินเท้าไปหาพี่สาวที่ชื่อลูซีลซึ่งอาศัยอยู่แถบนอกเมืองเท่านั้น สภาพแวดล้อมอันเลวร้ายวัยเด็กเช่นนี้เคยถึงกับทำให้เขาคิดจะยิงตัวตายด้วยปืนไรเฟิลสำหรับล่าสัตว์

ชาโตบรีย็องได้รับการศึกษาที่เมืองดอล (Dol), แรน และดีน็อง (Dinan) ในช่วงแรกเขาตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเป็นทหารเรือหรือบวชเป็นพระดี แต่เมื่อเขามีอายุ 17 ปี เขาก็ตัดสินใจเป็นทหารและได้ยศร้อยตรีในกองทัพฝรั่งเศส ประจำการในนาวาร์ ภายในเวลาสองปีก็ได้เลื่อนยศเป็นร้อยเอก เขาเดินทางไปกรุงปารีสใน ค.ศ. 1788 และได้รู้จักกับเหล่านักเขียนแถวหน้าของฝรั่งเศสในยุคนั้น ยามที่การปฏิวัติฝรั่งเศสปะทุขึ้น ชาโตบรีย็องมีความเห็นอกเข้าใจพวกที่ก่อปฏิวัติในช่วงต้น แต่เมื่อเหตุการณ์ในปารีสรุนแรงขึ้น เขาจึงตัดสินใจเดินทางไปยังทวีปอเมริกาเหนือใน ค.ศ. 1791[2]

ผจญภัยอเมริกาเหนือ

ในหนังสือ การเดินทางสู่อเมริกา (Voyage en Amérique) ตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1826 ระบุว่าชาโตบรีย็องเดินทางถึงฟิลาเดลเฟียในวันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ. 1791 เขาได้ไปเยือนนิวยอร์ก, บอสตัน และเลกซิงตัน ก่อนที่จะนั่งเรือล่องแม่น้ำฮัดสันไปยังเมืองออลบานี เขายังได้ติดตามชนเผ่าอินเดียแดงไปยังน้ำตกไนแอการาและประสบอุบัติเหตุแขนหักที่นั่นจนต้องพักรักษาตัวเป็นเวลาหลายเดือนในความดูแลของเผ่าอินเดียแดง ในหนังสือของเขาได้เขียนถึงอุปนิสัยและเรื่องราวของอินเดียแดงไว้มากมาย ประสบการณ์เดินทางในอเมริกาเหนือครั้งนี้กลายเป็นต้นทุนในการเขียนนวนิยายของเขาหลายเรื่อง มี Les Natchez (ค.ศ. 1826), Atala (ค.ศ. 1801) และ René (ค.ศ. 1802) เป็นอาทิ

กลับฝรั่งเศสและลี้ภัยในลอนดอน

ชาโตบรีย็องในวัยหนุ่ม

ชาโตบรีย็องกลับมายังฝรั่งเศสใน ค.ศ. 1792 และเข้าทำหน้าที่ในกองทัพหลวงประจำโคเบล็นทซ์ภายใต้บัญชาของหลุยส์ โฌแซ็ฟ เดอ บูร์บง (Louis Joseph de Bourbon) ต่อมาเขาได้ถูกบิดามารดาคลุมถุงชนให้แต่งงานกับสตรีชั้นสูงชาวเมืองแซ็ง-มาโล ซึ่งเขาไม่เคยแม้แต่จะพบหน้าเธอมาก่อน ตลอดช่วงชีวิตคู่ของทั้งสอง ชาโตบรีย็องมีชู้กับหญิงหลายคนอย่างออกนอกหน้า งานราชการทหารของเขาก็ถึงจุดจบเช่นกัน เขาได้รับบาดเจ็บปางตายในการปิดล้อมตียงวีล ซึ่งเป็นการปะทะสำคัญระหว่างกองทหารฝ่ายนิยมเจ้ากับกองทัพปฏิวัติฝรั่งเศส เขาถูกพาตัวไปยังเจอร์ซีย์และขอลี้ภัยในประเทศอังกฤษ โดยทอดทิ้งภรรยาไว้ในฝรั่งเศส

ชาโตบรีย็องใช้ชีวิตระหว่างลี้ภัยในลอนดอนอย่างแร้นแค้นแสนสาหัส มีรายได้ยังชีพจากการสอนภาษาฝรั่งเศสและรับจ้างแปลเอกสาร แต่ที่เทศมณฑลซัฟฟอล์ก เขาตกหลุมรักสาวอังกฤษผู้หนึ่งนามว่าชาร์ลอต แต่ความสัมพันธ์ของทั้งคู่เป็นอันจบลงเมื่อเขาถูกไล่ต้อนจนรับสารภาพว่าเขามีภรรยาแล้ว ระหว่างที่ลี้ภัยในอังกฤษนี้เอง ชาโตบรีย็องเริ่มจะคุ้นเคยกับวรรณกรรมอังกฤษ นวนิยายเรื่อง สวรรค์ลา ของจอห์น มิลตัน (ซึ่งต่อมาเขาได้แปลนิยายเรื่องนี้เป็นภาษาฝรั่งเศส) เป็นนิยายที่มีอิทธิพลต่องานของเขาในเวลาต่อมามาก

การลี้ภัยจากบ้านเกิดเมืองนอนทำให้ชาโตบรีย็องพยายามสืบหาว่าอะไรคือสาเหตุของการปฏิวัติฝรั่งเศสซึ่งพรากชีวิตสหายและครอบครัวของเขาไปมากมาย ข้อขบคิดนี้สะท้อนอยู่ในงานเขียนชิ้นแรกของเขา ความเรียงเรื่องปฏิวัติ (Essai sur les Révolutions) ตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1797 งานชิ้นนี้ได้อธิบายการปฏิวัติฝรั่งเศสด้วยสำนวนแบบคริสต์ศตวรรษที่ 18 และแทบไม่มีการใช้สำนวนแบบโรแมนติกอยู่เลย จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของชาโตบรีย็องคือการที่เขากลับมานับถือนิกายคาทอลิกใน ค.ศ. 1798

หวนคืนสู่ฝรั่งเศสของนโปเลียน

เมื่อการปฏิวัติฝรั่งเศสจบลงและมีการนิรโทษกรรมอดีตทหารฝ่ายนิยมเจ้า ชาโตบรีย็องเดินทางกลับฝรั่งเศสใน ค.ศ. 1800 (ภายใต้รัฐบาลกงสุล) งานเขียน อัจฉริยะคริสเตียน (Génie du christianisme) เพื่อกอบกู้ศรัทธาคาทอลิกได้สร้างชื่อเสียงแก่เขามากมายใน ค.ศ. 1802 งานชิ้นนี้ทำให้เขาได้รับความโปรดปรานจากกงสุลเอก นโปเลียน โบนาปาร์ต ซึ่งต้องการจะครอบงำเหนือศาสนจักรคาทอลิกในเวลานั้น นโปเลียนแต่งตั้งชาโตบรีย็องเป็นเลขานุการทูตฝรั่งเศสประจำสันตะสำนัก แต่ไม่นานเขาก็บาดหมางกับพระคาร์ดินัลราชทูต นโปเลียนจึงส่งเขาไปรับตำแหน่งเสนาบดีในรัฐวาเลแทน แต่เมื่อดยุกแห่งอ็องเกียงซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ถูกนโปเลียนสั่งประหารใน ค.ศ. 1804 ชาโตบรีย็องก็ลาออกจากตำแหน่งเพื่อแสดงความไม่พอใจ และหันไปทำงานด้านวรรณกรรมอย่างเดียว แล้วเขาก็ได้รับทรัพย์อย่างไม่คาดคิด จักรพรรดินีเอลิซาเบธ อเล็กเซเยฟนา แห่งรัสเซีย ได้ประทานเงินก้อนโตให้เขาในฐานะที่เขาเป็นผู้พิทักษ์คริสตจักรและควรคู่แก่การได้รับพระอุปถัมภ์

ชาโตบรีย็องใช้เงินที่ได้รับมาใน ค.ศ. 1806 นี้ออกเดินทางท่องเที่ยวยังกรีก, เอเชียน้อย, ปาเลสไตน์, อียิปต์, ตูนิเซีย และสเปน บันทึกที่เขาเขียนระหว่างการเดินทางนี้ถูกนำไปเขียนหนังสือ มรณสักขี (Les Martyrs) มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเบียดเบียนคริสต์ศาสนิกชนในยุคโรมัน, หนังสือ เส้นทางจากปารีสถึงเยรูซาเลม (Itinéraire de Paris à Jérusalem) และช่วงที่เดินทางในสเปนถูกนำมาเขียนนิยาย การผจญภัยของบะนูซัรรอจญ์คนสุดท้าย (Les aventures du dernier Abencérage)

ใกล้เคียง

ฟร็องก์ รีเบรี ฟร็องก์ เกซีเย ฟร็องซัว ออล็องด์ ฟร็องซิส ปีกาบียา ฟร็องซัว มีแตร็อง ฟร็องซัว ราวายัก ฟร็องส์แว็งต์-กัทร์ ฟร็องซัว ดยุกแห่งอ็องฌู ฟร็องซิส กอเกอแล็ง ฟร็องซัว ทรูว์โฟ