การตลาด ของ ฟุตบอลโลก_2014

สัญลักษณ์

สัญลักษณ์การแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 อย่างเป็นทางการ

สัญลักษณ์ของการแข่งขันมีชื่อว่า อิงส์ปีราเซา (โปรตุเกส: Inspiração) แปลว่า "แรงบันดาลใจ" ออกแบบโดยบริษัทอาฟรีกาจากประเทศบราซิล ดัดแปลงมาจากภาพถ่ายเชิงสัญลักษณ์ของมือผู้ชนะ 3 มือกำลังชูถ้วยรางวัลฟุตบอลโลกอยู่ นอกจากจะถ่ายทอดแนวคิดมนุษยธรรมผ่านรูปมือที่สอดประสานกันแล้ว การลงสีรูปมือด้วยสีเหลืองและสีเขียวก็ยังเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงบราซิล ประเทศเจ้าภาพที่จะต้อนรับทุกประเทศอย่างอบอุ่นอีกด้วย ได้มีการเปิดตัวสัญลักษณ์ไปเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 ที่เมืองโจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้

ฟีฟ่าและคณะกรรมาธิการจัดฟุตบอลโลก 2014 ได้เชิญชวนบริษัท 25 แห่งในบราซิลให้เข้าร่วมประกวดออกแบบสัญลักษณ์อย่างเป็นทางการของการแข่งขันครั้งนี้ โดยหน้าที่ในการคัดเลือกผู้ชนะเป็นของคณะกรรมการตัดสินที่ประกอบด้วยบุคคลที่มีชื่อเสียง 7 คนจากสาขาต่าง ๆ ได้แก่ รีการ์ดู เตย์เชย์รา ประธานสมาพันธ์ฟุตบอลบราซิล, เฌโรม วาลก์ เลขาธิการฟีฟ่า, จิเซล บุนเชน นางแบบชาวบราซิล, ออสการ์ นีเอไมเยร์ นักออกแบบสถาปัตยกรรม, เปาลู กูเอลยู นักเขียน, อีเวชี ซังกาลู นักร้อง และฮันส์ ดอนเนอร์ นักออกแบบ[27]

อาเลชังดรี วอลเนร์ นักออกแบบกราฟิกชาวบราซิล ได้วิจารณ์ว่าสัญลักษณ์นี้ดูคล้ายกับมือที่ปิดหน้าเพราะความอับอาย และยังวิจารณ์ถึงกระบวนการคัดเลือกสัญลักษณ์ด้วย ซึ่งกรรมการคัดเลือกนั้นส่วนใหญ่ไม่ใช่นักออกแบบกราฟิกมืออาชีพ[28]

โปสเตอร์

โปสเตอร์อย่างเป็นทางการได้รับการเปิดตัวในวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2556 โดยทูตฟุตบอลโลกชาวบราซิล โรนัลโด, เบแบตู, มารีอู ซากาลู, อามาริลดู ตาวาริส ดา ซิลเวย์รา, การ์ลุส อัลเบร์ตู ตอริส รวมไปถึงมาร์ตา นักฟุตบอลหญิงชาวบราซิล โดยงานเปิดตัวจัดขึ้นในเมืองรีโอเดจาเนโร[29][30]

โปสเตอร์นั้นได้รับการออกแบบโดยคาเรน ไฮดิงเกอร์[31] เป็นนักออกแบบจากบริษัทกรามาในบราซิล โดยมีลักษณะเป็นแผนที่ประเทศบราซิลที่วาดขึ้นจากขาของนักฟุตบอลที่กำลังเตะลูกฟุตบอล[32] นอกจากนี้ยังแสดงถึงวัฒนธรรมบราซิลและลักษณะเด่นอื่น ๆ ของชาติบราซิลเช่นพืชและสัตว์ท้องถิ่น สีสันที่สดใสของโปสเตอร์ก็สื่อถึงความงดงามและความหลากหลายของประเทศ เฌอโรม วาลก์ เลขาธิการฟีฟ่า กล่าวว่า โปสเตอร์ชิ้นนี้เป็นตัวอย่างงานศิลปะที่แสดงให้เห็นว่าบราซิลเป็นชาติที่มีความสามารถและมีความคิดสร้างสรรค์[33]

ตุ๊กตาสัญลักษณ์

ดูบทความหลักที่: ฟูแลกู

อาร์มาดิลโลเป็นสัตว์ที่ปกป้องตัวเองด้วยการกลิ้งเหมือนกับลูกบอล ทำให้มันได้ถูกเลือกมาเป็นตุ๊กตาสัญลักษณ์ของการแข่งขันอย่างเป็นทางการโดยฟีฟ่า และมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555[34] โดยมีการเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยรายการข่าว ฟังตัสชีกู (Fantástico)[35] ส่วนชื่อนั้นได้รับการคัดเลือกจากผู้คนและได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน[36] ซึ่งผู้คนถึง 1.7 ล้านคน และมากกว่าร้อยละ 48 เลือกชื่อ ฟูแลกู (Fuleco) ชนะชื่อ ซูแซกู (ร้อยละ 31) และอามีฌูบี (ร้อยละ 21) ทำให้ชื่อนี้ชนะอย่างเอกฉันท์ และตุ๊กตาสัญลักษณ์นี้เป็นที่ชื่นชอบของชาวบราซิล ซึ่งชาวบราซิลมากกว่าร้อยละ 89 ชื่นชอบมัน[37]

"ฟูแลกู" มีความหมายโดยแบ่งแยกเป็นตัวอักษรเป็นภาษาโปรตุเกสคือ "Futebol" ("ฟุตบอล") และ "Ecologia" ("นิเวศวิทยา")[36]

ลูกฟุตบอล

ดูบทความหลักที่: อาดิดาส บราซูกา

ลูกฟุตบอลอย่างเป็นทางการของการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 คือ อาดิดาส บราซูกา ซึ่งชื่อนั้นได้รับการคัดเลือกมากจากผู้ชมฟุตบอลชาวบราซิลมากกว่า 1 ล้านคน ซึ่ง บราซูกา ได้รับการโหวตมากกว่าร้อยละ 70[38] โดยอาดิดาส ออกแบบลูกฟุตบอลสำหรับการแข่งขันฟุตบอลโลก ตั้งแต่การแข่งขันฟุตบอลโลก 1970 เห็นถึงแรงบันดาลใจของวัฒนธรรมชาวบราซิลพลัดถิ่น ซึ่งชื่อนี้ชนะชื่อ บอสซาโนวาและคาร์นาวาเลสกา[38]

กาชีรอลา

ดูบทความหลักที่: กาชีรอลา

กาชีรอลา (caxirola) ได้รับการรับรองเมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2555 โดยกระทรวงกีฬาของประเทศบราซิลให้เป็นเครื่องดนตรีอย่างเป็นทางการของการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 คล้ายกับวูวูเซลา ในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2010 ที่ประเทศแอฟริกาใต้ โดยกาชีรอลาไม่ได้มีเสียงดังเหมือนกับวูวูเซลา และพวกมันได้รับการออกแบบมาพิเศษเพื่อให้ไม่ส่งเสียงรบกวนในสนามระหว่างการแข่งขัน[39] อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยภายในสนาม กาชีรอลาจะถูกห้ามไม่ให้นำเข้าไปในสนามแข่งขัน[40]

สิทธิการออกอากาศ

ฟีฟ่ากำหนดให้สิทธิในการออกอากาศ ครอบคลุมไปยังวิทยุกระจายเสียง, วิทยุโทรทัศน์, อินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยฟีฟ่าเป็นผู้จัดจำหน่าย ให้แก่ผู้ประกอบการสื่อ ของแต่ละประเทศเองโดยตรง หรือผ่านบริษัทตัวแทนผู้รับอนุญาต หรือผ่านองค์กรต่างๆ เช่นสหภาพการกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งยุโรป (อีบียู), องค์การโทรทัศน์แห่งอเมริกากลางและใต้ (โอไอที), องค์การเนื้อหาสื่อสากล (ไอเอ็มซี), บริษัทโฆษณาเดนต์สุของญี่ปุ่น เป็นต้น[41] โดยการจำหน่ายสิทธิเหล่านี้ คิดเป็นถึงร้อยละ 60 ของรายได้จากฟุตบอลโลกของฟีฟ่า[42]

สำหรับศูนย์กระจายเสียงแพร่ภาพนานาชาติ ตั้งอยู่ที่รีอูเซงตรู (Riocentro) ในย่านบาร์ราดาชีฌูกา (Barra da Tijuca) ของนครรีโอเดจาเนโร[43][44] ทั้งนี้ ฟีฟ่าจำหน่ายสิทธิในการออกอากาศ ให้แก่เครือข่ายโทรทัศน์จากทั่วโลก อาทิ บีบีซีกับไอทีวีของสหราชอาณาจักร, ซีซีทีวีของสาธารณรัฐประชาชนจีน, เอบีซีกับอีเอสพีเอ็นของสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

ตัวอย่างและทัศนะในบทความนี้มิได้เสนอมุมมองที่เป็นสากลของเรื่อง คุณสามารถพัฒนาบทความได้ โดยเพิ่มมุมมองสากลให้มากขึ้น หรือแยกประเด็นย่อยไปสร้างเป็นบทความใหม่

สำหรับในประเทศไทย บริษัท อาร์เอส อินเตอร์เนชันแนล บรอดคาสติ้ง แอนด์ สปอร์ต แมเนจเมนต์ จำกัด (อาร์เอสบีเอส) ซึ่งอยู่ในเครืออาร์เอส เป็นผู้ถือครองสิทธิแต่ผู้เดียว นับแต่ปี พ.ศ. 2549 และ 2553 โดยครั้งนี้ดำเนินการด้วยชื่อของอาร์เอส ผ่านช่องโทรทัศน์ระบบดาวเทียมของตน ซึ่งเปิดขึ้นเพื่อการนี้โดยเฉพาะ และทางฟีฟ่าอนุญาตให้ใช้ชื่อว่า อาร์เอส-ฟีฟ่า เวิลด์คัพ แชนเนล (RS-FIFA World Cup Channel) โดยช่องดังกล่าวจะถ่ายทอดสด การแข่งขันครบทั้ง 64 นัดเป็นแห่งเดียวในประเทศไทย พร้อมทั้งถ่ายทอดบันทึกการแข่งขัน รวมถึงรายการต่างๆ ซึ่งทางฟีฟ่าผลิตขึ้น และจัดส่งให้แก่ผู้รับสิทธิทั่วโลกด้วย

ซึ่งช่องรายการดังกล่าวสามารถรับชม ในระบบโทรทัศน์ความละเอียดมาตรฐาน ผ่านกล่องรับสัญญาณดาวเทียมซันบ็อกซ์ และกล่องบอลโลกดิจิทัลทีวี ของอาร์เอสเท่านั้น อนึ่ง อาร์เอสทำสัญญาอนุญาตให้พีเอสไอ ผู้ประกอบการโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม รับดำเนินการแพร่ภาพช่อง อาร์เอส-ฟีฟ่า เวิลด์คัพ แชนเนล คู่ขนานในระบบโทรทัศน์ความละเอียดสูงด้วย นอกจากนี้ สำหรับการถ่ายทอดสด ผ่านโทรทัศน์ภาคพื้นดิน อาร์เอสมอบหมายให้ช่อง 8 ของตนเอง ซึ่งอยู่ในระบบดิจิทัล หมายเลข 27 ร่วมกับการทำสัญญาอนุญาต แก่สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ซึ่งอยู่ทั้งในระบบแอนะล็อก หมายเลข 7 และระบบดิจิทัล หมายเลข 35 เป็นจำนวนรวม 22 นัดการแข่งขัน

สำหรับการออกอากาศผ่านระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ อาร์เอสทำสัญญาอนุญาต ให้บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส เป็นผู้ดำเนินการผ่านแอปพลิเคชันชื่อ เอไอเอสออนแอร์ (AIS On Air) ที่เปิดให้ดาวน์โหลด ผ่านแอพสโตร์ในระบบไอโอเอส และกูเกิลเพลย์ในระบบแอนดรอยด์ โดยจะต้องเป็นผู้ใช้บริการในระบบเอไอเอส ที่ชำระค่าบริการอินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 199 บาทเท่านั้น[45] ซึ่งการถ่ายทอดสดในทุกช่องทาง จะไม่มีภาพยนตร์โฆษณาคั่นระหว่างการแข่งขัน

ต่อมาเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2557 เวลา 13:30 น. ศาลปกครองสูงสุด พิพากษาให้อาร์เอสบีเอส ไม่ต้องออกอากาศการแข่งขันฟุตบอลโลก ตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ว่าด้วยหลักเกณฑ์ รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้ เฉพาะกับโทรทัศน์ซึ่งให้บริการเป็นการทั่วไป เนื่องจากเป็นการตกลงซื้อขายสิทธิ ก่อนประกาศดังกล่าวจะมีผลใชับังคับ ซึ่งเป็นการพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้น[46] หลังจากนั้น เลขาธิการ กสทช. ฐากร ตัณฑสิทธิ์ แถลงว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ติดต่อมายังประธาน กสทช. พลอากาศเอก ธเรศ ปุณศรี เพื่อแจ้งให้ทาง กสทช.ดำเนินการให้ประชาชน สามารถรับชมถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกครั้งนี้ ทั้งหมด 64 นัดผ่านโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ซึ่งให้บริการเป็นการทั่วไป (ฟรีทีวี) กสทช.จึงเชิญผู้แทนอาร์เอสบีเอส หารือแนวทางในการชดเชย[47]

โดยฝ่ายอาร์เอสบีเอส เสนอให้มีค่าชดเชยเป็นเงิน 766.515 ล้านบาท ซึ่งในวันต่อมา (12 มิถุนายน) คณะกรรมการกองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) และคณะกรรมการ กสทช.ประชุมพิจารณาการชดเชยดังกล่าว โดยออกมติให้ใช้กองทุน กทปส.ชดเชยให้อาร์เอสบีเอส เป็นเงินไม่เกิน 427.015 ล้านบาท[48] เมื่อสามารถตกลงกันได้แล้ว ในเวลา 15:30 น. จึงจัดแถลงข่าวการถ่ายทอดสดร่วมกัน ระหว่างสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (38 นัด), สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 (29 นัด) และช่อง 8 ของอาร์เอส (56 นัด) โดยที่บางนัดมีถ่ายทอดสดมากกว่า 1 ช่องโทรทัศน์[49] มีรายงานข่าวด้วยว่า คสช.ประสานงานให้ ททบ.จัดเตรียมเวลาออกอากาศ เพื่อรองรับการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกดังกล่าว รวมกว่า 80 ชั่วโมง

สำหรับผู้ต้องการชมถ่ายทอดสดการแข่งขันฯ ซึ่งเตรียมการไว้ก่อนหน้านี้ โดยซื้อกล่องรับสัญญาณดาวเทียมของอาร์เอสไปแล้ว เมื่อสถานการณ์เป็นไปดังกล่าว จึงอาจส่งผลให้ผู้ชมกลุ่มนี้เกิดความรู้สึกว่า การลงทุนของตนเสียเปล่าหรือไม่[50] เป็นผลให้วันรุ่งขึ้น (13 มิถุนายน) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาร์เอส สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ต้องเปิดแถลงข่าวในประเด็นดังกล่าว โดยอาร์เอสยังคงจำหน่าย กล่องบอลโลกดิจิทัลทีวีต่อไป เนื่องจากยังมีบริการอีกหลายอย่างที่คุ้มค่า แต่หากลูกค้าไม่ต้องการใช้กล่องฯ ดังกล่าวอีก อาร์เอสจะพิจารณาจ่ายค่าชดเชยเยียวยา โดยจะคืนเงินสูงสุดไม่เกิน 1,590 บาทต่อกล่องฯ ส่วนตัวยินดีให้ความร่วมมือกับภาครัฐ สำหรับเงินจากทาง กสทช.ไม่ใช่การซื้อสิทธิต่อ หากแต่เป็นค่าชดเชยการเสียโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งยอมรับว่าไม่คุ้มค่ากับส่วนที่เสียไป แต่ยังมั่นใจว่าจะไม่ขาดทุน[51]

ใกล้เคียง

ฟุตบอลทีมชาติไทย ฟุตบอลโลก ฟุตบอล ฟุตบอลทีมชาติไทยรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ฟุตบอลโลก 2022 ฟุตบอลทีมชาติเยอรมนี ฟุตบอลทีมชาติอาร์เจนตินา ฟุตบอลทีมชาติบราซิล ฟุตบอลทีมชาติญี่ปุ่น ฟุตบอลทีมชาติเกาหลีใต้

แหล่งที่มา

WikiPedia: ฟุตบอลโลก_2014 http://theworldgame.sbs.com.au/2014-world-cup/news... http://www.internacional.com.br/pagina.php?modulo=... http://terramagazine.terra.com.br/interna/0,,OI455... http://copadomundo.uol.com.br/noticias/redacao/201... http://www1.folha.uol.com.br/internacional/en/spor... http://copa2014.gov.br/pt-br/noticia/embaixadores-... http://english.people.com.cn/200301/19/eng20030119... http://www.astrium-geo.com/en/4752-stadium-constru... http://www.boston.com/ae/celebrity/articles/2010/0... http://www.conmebol.com/en/content/fifa-revenue-es...