ประวัติ ของ ภาพพิมพ์แกะไม้ในประเทศญี่ปุ่น

หนังสือที่พิมพ์จากวิธีการพิมพ์แกะไม้จากวัดพุทธศาสนาในประเทศจีนพบในญี่ปุ่นมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 8 ในปี ค.ศ. 764 จักรพรรดินีโชโตกุ (Shotoku) จ้างให้ทำเจดีย์เล็ก ๆ หนึ่งล้านองค์ ("Hyakumanto Darani") แต่ละองค์ก็จะบรรจุม้วนกระดาษเล็ก (กว้างยาวประมาณ 6 x 45 เซนติเมตร) ที่มีคำสวดมนต์ และทรงแจกจ่ายไปยังวัดวาอารามทั่วประเทศเพื่อเป็นการฉลองการปราบกบฏเอมิ (Fujiwara no Nakamaro) ซึ่งเป็นตัวอย่างของการพิมพ์แกะไม้ที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่มีหลักฐานปรากฏในญี่ปุ่น

เมื่อมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 11 วัดในประเทศญี่ปุ่นก็เริ่มพิมพ์หนังสือพุทธศาสนาและภาพของตนเอง แต่การพิมพ์ก็จำกัดเฉพาะสิ่งที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เพราะการพิมพ์ยังเป็นสิ่งที่มีราคาสูงเกินกว่าที่จะผลิตเป็นจำนวนมากได้ และในขณะนั้นก็ยังไม่มีผู้ที่มีความรู้พอที่จะอ่านหนังสือที่พิมพ์ได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งทำให้การพิมพ์ไม่มีตลาด

จนกระทั่งเมื่อมาถึงปี ค.ศ. 1590 จึงได้มีการพิมพ์งานที่ไม่เกี่ยวกับศาสนาขึ้นเป็นครั้งแรกในญี่ปุ่น งานที่พิมพ์คือ "Setsuyō-shū" ซึ่งเป็นพจนานุกรมจีน-ญี่ปุ่นสองเล่ม แม้ว่านักบวชเยซูอิดจะใช้แท่นพิมพ์ในนางาซากิกันมาตั้งแต่ ค.ศ. 1590[1] แต่อุปกรณ์การพิมพ์ที่นำกลับมาโดยกองทัพของโทโยโตมิ ฮิเดโยชิที่ไปรุกรานเกาหลีในปี ค.ศ. 1593 กลับมามีอิทธิพลต่อความเปลี่ยนแปลงทางการพิมพ์ในญี่ปุ่นมากกว่า สี่ปีต่อมาก่อนที่โทกูงาวะ อิเอยาซุจะเป็นโชกุนก็ได้สร้างแท่นพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยใช้ไม้เป็นส่วนประกอบแทนที่จะเป็นโลหะ อิเอยาซุควบคุมการสร้างแม่แบบตัวอักษร 100,000 ชิ้นที่ใช้ในการพิมพ์เอกสารทั้งทางการเมืองและทางประวัติศาสตร์ ในฐานะโชกุนอิเอยาซุก็สนับสนุนการศึกษาและเป็นผู้นำในการให้การศึกษาแก่ประชาชนในเมือง การพิมพ์ในช่วงนี้มิได้นำโดยสถาบันโชกุน แต่เป็นสำนักพิมพ์เอกชนที่เริ่มปรากฏขึ้นในเกียวโตเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 นอกจากนั้นโทโยโตมิ ฮิเดะโยะริ ผู้เป็นปรปักษ์ต่อโทกูงาวะ อิเอยาซุก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่มีบทบาทในการพัฒนาและเผยแพร่การพิมพ์ในญี่ปุ่นด้วย

หนังสือขงจื๊อ "Analects" ได้รับการพิมพ์ในปี ค.ศ. 1598 โดยใช้แท่นพิมพ์เกาหลีตามพระบรมราชโองการของจักรพรรดิโกะ-โยเซ (Emperor Go-Yōzei) หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือฉบับที่เก่าที่สุดในญี่ปุ่นที่พิมพ์ด้วยแท่นพิมพ์ แม้ว่าการใช้แท่นพิมพ์จะดูว่ามีความสะดวกแต่ก็เป็นที่ตกลงกันว่าการพิมพ์อักษรญี่ปุ่นที่มีลักษณะเป็นแบบ "Semi-cursive script" พิมพ์ได้ดีกว่าเมื่อใช้การพิมพ์โดยวิธีแกะไม้ ฉะนั้นการพิมพ์จึงหันกลับไปเป็นการใช้การพิมพ์ด้วยพิมพ์แกะไม้ และเมื่อมาถึง ค.ศ. 1640 การพิมพ์ด้วยวิธีนี้ก็ใช้สำหรับการพิมพ์แทบจะทุกสิ่งทุกอย่าง

หลังจากนั้นการพิมพ์ด้วยวิธีนี้เริ่มเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในบรรดาศิลปิน และ ได้รับการนำไปใช้ในการพิมพ์งานที่มีขนาดเล็กและราคาถูก และการพิมพ์หนังสือ ผู้ที่เป็นผู้ริเริ่มและผู้นำในการสร้างหนังสือศิลปะด้วยวิธีนี้ที่นำไปสู่การผลิตเป็นอุตสาหกรรมสำหรับสาธารณชนคือโฮนามิ โคเอ็ตสึ (Honami Kōetsu) และ ซูมิโนกูระ โซอัง (Suminokura Soan) ในสำนักพิมพ์ที่ซากะทั้งสองคนก็สร้างพิมพ์ไม้สำหรับงานคลาสสิกของญี่ปุ่นที่รวมทั้งเนื้อหาและภาพประกอบ ซึ่งเท่ากับเป็นการเปลี่ยนจาก "ม้วนหนังสือ" (Emakimono) มาเป็นหนังสือสำหรับตลาดที่กว้างขึ้น ปัจจุบันหนังสือเหล่านี้เรียกว่าหนังสือโคเอ็ตสึ, หนังสือซูมิโนกูระ หรือหนังสือซากะ ซึ่งถือกันว่าเป็นสิ่งพิมพ์จากงานคลาสสิกแรก ที่มีฝีมือและคุณภาพดีที่สุด โดยเฉพาะที่มีชื่อเสียงที่สุดคืองานพิมพ์ซากะ "ตำนานอิเซะ" (Ise monogatari) ที่พิมพ์ในปี ค.ศ. 1608

วิธีการพิมพ์ที่แม้จะเป็นวิธีที่ยุ่งยากและมีราคาสูงกว่าวิธีการพิมพ์ต่อมาแต่กระนั้นก็ยังเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากกว่าวิธีที่ใช้กันมาก่อนหน้านั้นที่แต่ละเล่มมาจากการคัดลอกด้วยมือ ซึ่งทำให้เป็นการเริ่มต้นการผลิตหนังสือกันอย่างเป็นอุตสาหกรรมสำหรับสาธารณชน ขณะที่หนังสือซากะจะเป็นหนังสือที่พิมพ์บนกระดาษที่สวยงาม และใช้การตกแต่งหลายอย่างเพราะเป็นการพิมพ์สำหรับกลุ่มคนจำนวนไม่มากนักที่เป็นคอหนังสือ แต่สำนักพิมพ์อื่นในเกียวโตหันไปหาวิธีที่จะพิมพ์ให้มีราคาถูกกว่าและขายได้ในวงที่กว้างขึ้น เนื้อหาของหนังสือก็แตกต่างกันออกไปมากที่รวมทั้งหนังสือท่องเที่ยว, ตำราแนะนำ, "นวนิยายเชิงล้อเลียน" (kibyōshi) "วัฒนธรรมคนเมือง" (sharebon) หนังสือศิลปะ และบทละครสำหรับการเล่นหุ่นโจรูริ (jōruri) สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นภายในหนังสือแต่ละประเภท เช่นหนังสือบทละครสำหรับการเล่นหุ่น ก็จะมีการเลือกใช้ลักษณะการเขียนแบบใดแบบหนึ่ง ซึ่งก็หมายความว่าลักษณะการเขียนอักษรของผู้ได้รับเลือกก็จะใช้เป็นมาตรฐานของหนังสือประเภทนั้น

สำนักพิมพ์ต่าง ๆ ได้รับการก่อตั้งขึ้นมาและขยายตัวกันอย่างรวดเร็วที่พิมพ์ทั้งหนังสือและใบปลิว สำนักพิมพ์ที่มีชื่อเสียงที่สุดสำนักพิมพ์หนึ่งคือสึตายะ จูซาบูโร (Tsutaya Jūzaburō) สำนักพิมพ์จะเป็นเจ้าของแม่พิมพ์ที่แกะขึ้นซึ่งคล้ายกับการมีลิขสิทธิ์ในสมัยปัจจุบัน สำนักพิมพ์หรือเอกชนสามารถซื้อแม่พิมพ์จากกันและกันได้ เมื่อซื้อแล้วก็จะเป็นผู้มีสิทธิในการพิมพ์ด้วยแม่พิมพ์ที่ซื้อมา แต่ความคิดเรื่องการเป็นเจ้าของปัญญสมบัติยังไม่ปรากฏ

การพิมพ์ด้วยแม่พิมพ์แกะดำเนินต่อมาจนกระทั่งความนิยมภาพอูกิโยะเริ่มลดถอยลง และการใช้แท่นพิมพ์และวิธีการพิมพ์แบบอื่นเข้ามาแทนที่ในการพิมพ์งานศิลปะที่เป็นแบบใหม่