วิธีพิมพ์ ของ ภาพพิมพ์แกะไม้ในประเทศญี่ปุ่น

"Shōki zu" (โชกิก้าวเท้า) โดย โอกูมูระ มาซาโนบุ ราว ค.ศ. 1741-ค.ศ. 1751 ตัวอย่างภาพพิมพ์ติดเสาที่เดิมสูงกว้าง 69.2 x 10.1 เซนติเมตร

วิธีการพิมพ์เนื้อความ และ ภาพจะคล้ายคลึงกัน ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดก็แต่ตรงปริมาณที่พิมพ์ และความซับซ้อนของสีที่ใช้ถ้าเป็นการพิมพ์ภาพ ภาพประกอบหนังสือส่วนใหญ่จะเป็นภาพเอกรงค์ที่ใช้หมึกดำเท่านั้น และในช่วงระยะเวลาหนึ่งการพิมพ์งานศิลปะจะเป็นแต่การพิมพ์เอกรงค์หรือเพียงสองหรือสามสีเท่านั้น

การพิมพ์ก็จะเริ่มด้วยการวาดตัวหนังสือหรือภาพบน "กระดาษวาชิ" (washi) และปิดบนแผ่นไม้ที่มักจะเป็นไม้เชอร์รี จากนั้นก็จะทำการแกะไม้ตามรอยที่วาดไว้ในรูป หลังจากนั้นก็ใช้ "บาเร็ง" (Baren) กดกระดาษให้ติดกับพิมพ์ที่ทาหมึกเพื่อให้ลวดลายหรือตัวหนังสือปรากฏบนกระดาษ ในระยะแรกการประคบก็อาจจะทำด้วยมือแต่ต่อมาก็ได้มีการประดิษฐ์เครื่องมือที่ใช้ในตรึงแม่แบบไว้ให้แน่นก่อนที่จะกดพิมพ์ ซึ่งทำให้การพิมพ์หลายสีทำได้ง่ายขึ้นเมื่อต้องการจะพิมพ์สีแต่ละสีซ้อนไปบนสีที่พิมพ์อยู่แล้วอย่างเหมาะเจาะ

ดังที่กล่าวแล้วว่าเนื้อหาของหนังสือและภาพส่วนใหญ่ที่พิมพ์จะเป็นเอกรงค์ แต่ความนิยมภาพอูกิโยะที่เพิ่มมากขึ้นทำให้ความต้องการของจำนวนสีที่ใช้และความซับซ้อนในการพิมพ์มากและซับซ้อนตามขึ้นไปด้วย การวิวัฒนาการของการพิมพ์แบ่งได้เป็นช่วง ๆ ดังนี้:

  • ภาพพิมพ์หมึก (ญี่ปุ่น: 墨摺り絵 โรมาจิSumizuri-e) - ภาพพิมพ์เอกรงค์ที่ใช้แต่หมึกดำ
  • ภาพพิมพ์สีแดง (ญี่ปุ่น: 紅摺り絵 โรมาจิBenizuri-e) - ภาพพิมพ์ที่มีรายละเอียดเป็นหมึกสีแดง หรือเน้นด้วยมือด้วยหมึกสีแดงหลังจากที่พิมพ์เสร็จแล้ว หรือบางครั้งก็จะใช้สีเขียวด้วย
  • ภาพพิมพ์สีคราม (ญี่ปุ่น: 藍摺り絵 โรมาจิAizuri-e) หรือ ภาพพิมพ์สีม่วง (ญี่ปุ่น: 紫絵 โรมาจิMurasaki-e) และภาพพิมพ์ลักษณะอื่นที่เพิ่มสีขึ้นอีกหนึ่งสีนอกไปจากสีดำ หรือแทนที่สีดำ
  • ภาพอูรูชิ (ญี่ปุ่น: 漆絵 โรมาจิUrushi-e) - ภาพพิมพ์ที่ใช้กาวผสมสีเพื่อให้สีมีความหนาขึ้นทำให้ภาพดูเข้มข้นขึ้น นอกจากนั้นก็ยังมีการประดับด้วยทองคำ ไมกา และ วัตถุอื่น ๆ เพื่อเพิ่มคุณค่าทางศิลปะของภาพให้มากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นภาพอูรูชิยังหมายถึงการวาดภาพบนเครื่องแล็กเกอร์แทนที่จะเพียงแต่ทาสีด้วย
  • ภาพนิชิกิ (ญี่ปุ่น: 錦絵 โรมาจิNishiki-e) - เป็นวิธีการพิมพ์ที่ใช้แม่แบบหลายแม่แบบที่แต่ละแม่แบบก็สร้างขึ้นเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของภาพ ที่ทำให้สามารถใช้ในการพิมพ์ภาพที่มีหลายสีที่สร้างความซับซ้อนและรายละเอียดให้แก่ภาพได้ แม่พิมพ์แต่ละส่วนก็จะแกะขึ้นต่างหากจากกัน และจะใช้แต่เฉพาะส่วนหนึ่งส่วนใดของภาพเฉพาะสีเดียวเท่านั้น แม่พิมพ์แต่ละส่วนก็จะได้รับเครื่องหมายที่เรียกว่า "เค็นโต" (見当) เพื่อที่จะได้ประสานแม่พิมพ์ส่วนต่างของภาพได้อย่างสะดวก