ความหลากหลาย ของ ภาษาจีนหมิ่น

ภาษาจีนหมิ่นมีความหลากหลายของสำเนียงมากกว่าสำเนียงอื่น ๆ ของภาษาจีน ซึ่งแบ่งตามความสามารถในการเข้าใจกันได้เป็น 5-9 ภาษา เช่นภาษาหมิ่นต้ง (หมิ่นตะวันออก) ภาษาหมิ่นหนาน (หมิ่นใต้) ซึ่งพบการแบ่งแยกระหว่างกลุ่มภาษาหมิ่นบนแผ่นดินใหญ่ เช่น ภาษาหมิ่นเชาเจียง ภาษาหมิ่นเป่ย ภาษาหมิ่นจ้ง และกลุ่มภาษาหมิ่นตามแนวชายฝั่ง ได้แก่ ภาษาหมิ่นต้ง ภาษาหมิ่นผูเซียน ภาษาหมิ่นหนาน และภาษาซยงเหวิน ภาษาหมิ่นเชาเจียงอาจแยกเป็นกลุ่มย่อยต่างหากภายในภาษาจีนหมิ่น เพราะเป็นภาษาที่แตกออกไปเป็นภาษาแรก

ภาษาหมิ่นต้งเป็นภาษาที่มีศูนย์กลางที่เมืองฝูโจว สำเนียงฝูโจวถือเป็นสำเนียงมาตรฐานของสำเนียงหมิ่นต้ง ภาษาหมิ่นหนานโดดเด่นทางภาคใต้ของมณฑลฝูเจี้ยนและทางตะวันออกของมณฑลกวางตุ้ง ภาษาหมิ่นผูเซียนแต่เดิมเป็นสำเนียงของภาษาหมิ่นหนาน แต่ได้รับอิทธิพลจากภาษาหมิ่นต้งสำเนียงฝูโจว สำเนียงซยงเหวินที่ใช้พูดในเกาะไหหลำ ซึ่งบางครั้งจะแยกเป็นภาษาต่างหาก แต่เดิมเป็นสำเนียงของภาษาหมิ่นหนาน แต่ต่อมามีลักษณะทางสัทวิทยาเปลี่ยนไปมากขึ้น

ภาษาหมิ่นหนานยังเรียกตามสถานที่ที่ภาษานั้นใช้พูด เช่น ภาษาไต้หวัน สำเนียงอมอยแห่งเซี่ยเหมินเป็นสำเนียงของภาษาหมิ่นหนานที่ใช้พูดทั้งในจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวัน สำเนียงแต้จิ๋วกลายเป็นสำเนียงที่สำคัญอีกสำเนียงหนึ่ง

Glossika ได้แบ่งภาษาจีนหมิ่นออกเป็น 8 สำเนียงคือ ภาษาหมิ่นเหนือหรือหมิ่นเป่ยในเขตหนานผิงของฝูเจี้ยนแต่สำเนียงเจียนโอวเป็นสำเนียงมาตรฐานของภาษาหมิ่นเป่ย ภาษาหมิ่นเชาเจียงในบริเวณหนานผิงตะวันออกและใกล้เคียง ถ้าแบ่งอย่างกว้างจะนับเป็นสำเนียงของภาษาหมิ่นเป่ย ภาษาหมิ่นตะวันออก หรือหมิ่นต้งในฝูโจวและนิงเต ภาษาหมิ่นกลางหรือหมิ่นจ้งในเขตซานมิง ภาษาหมิ่นผูเซียนในเขนผูเซียน ภาษาหมิ่นใต้หรือหมิ่นหนานในจ้างโจว ชวานโจวและเซี่ยเหมิน รวมทั้งบนเกาะไต้หวัน (สำเนียงฮกเกี้ยน) และทางตะวันออกของกวางตุ้ง (สำเนียงแต้จิ๋ว) บางครั้งจัดให้สำเนียงฮกเกี้ยนและแต้จิ๋วเป็นภาษาต่างหาก ภาษาเหล่ยโจวบนคาบสมุทรเหล่ยโจว มณฑลกวางตุ้ง และภาษาไหหลำบนเกาะไหหลำ ถ้าแบ่งอย่างกว้างจะรวมภาษาเหล่ยโจวกับภาษาไหหลำเป็นภาษาเดียวกัน หรือเป็นสำเนียงของภาษาหมิ่นใต้

ภาษาหมิ่นใต้ในกวางตุ้งเรียกฮกโล ในไหหลำเรียกซยงเหวินหรือซยงโจว ฮวา ภาษาหมิ่นใต้เป็นสำเนียงที่โดดเด่นของชาวจีนในฟิลิปปินส์ที่รู้จักกันในชื่อภาษาลันนัง ในไต้หวัน ภาษาหมิ่นใต้เรียกว่าเฮอเล่อโอย ซึ่งใช้พูดเป็นภาษาแม่ของประชากรส่วนใหญ่ ภาษาหมิ่นหนานจะถูกเรียกว่าภาษาจีนฮกเกี้ยนในสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และประเทศอื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะสำเนียงแต้จิ๋ว